กาง กม.พรรคการเมือง ชำแหละปม ‘ธนาธร’ปล่อยกู้อนาคตใหม่ได้ไหม-ใช้คืนอย่างไร?
“…มาตรา 132 หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรค และเหรัญญิกพรรค ผู้ใดนำหรือยินยอมให้บุคคลอื่นนำเงิน หรือทรัพย์สินของพรรคการเมืองไปใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ส่วนตัว หรือบุคคลอื่น หรือนำไปใช้เพื่อการอื่นใด อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 87 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 1-2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ…”
"ให้ผมเปิดเผยถึงวิธีบริหารการเงินของพรรคนี้สักหน่อย พรรค (อนาคตใหม่) เป็นหนี้ผมอยู่ ผมให้เงินพรรคยืมอยู่ 110 ล้านบาท ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งรอบนี้ พรรคไม่สามารถระดมทุนได้ทันเวลาสำหรับการหาเสียง อย่างที่ผมบอกไปว่าพรรคเพิ่งมีตัวตนในทางกฎหมายเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2561 ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะสามารถระดมเงินได้ทันการหาเสียงเลือกตั้ง แต่เราก็ไม่ต้องการทำเหมือนพรรคอื่น เราต้องการความโปร่งใส”
“ดังนั้นผมจึงไม่ได้ให้เงินพรรค แล้วบอกว่าให้พรรคใช้เงินก้อนนี้โดยไม่ต้องแจ้ง (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ผมต้องการที่จะเปิดเผยตรงไปตรงมา และเราก็แจ้งเรื่องเงินก้อนนี้ รวมถึงวิธีการใช้เงินของเรา ตอนนี้ในบัญชีของพรรคผมเป็นเจ้าหนี้การค้า (Account Payable) ร้อยกว่าล้าน ผมจำตัวเลขที่แน่ชัดไม่ได้ แต่น่าจะประมาณ 105 หรือ 110 ล้านบาทไทย ผมให้พรรคยืมเงิน”
เป็นคำยืนยันจากปากของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ที่กล่าวต่อผู้สื่อข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2562 ที่ผ่านมาว่า ได้ให้พรรคอนาคตใหม่ ‘ยืมเงิน’ จำนวน 110 ล้านบาท (อ้างอิงข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์)
ต่อมาเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2562 น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ชี้แจงกรณีนี้ระบุว่า ไม่ได้ ‘ยืมเงิน’ แต่เป็นการ ‘ปล่อยกู้’ ให้แก่พรรคอนาคตใหม่ โดยมีเพดานวงเงินสูงสุดที่อยู่ที่ 250 ล้านบาท แต่การดำเนินกิจกรรมจนถึงวันเลือกตั้งพรรคอนาคตใหม่กู้ไปแล้วประมาณ 90 ล้านบาท และจนถึงขณะนี้มีการกู้เพิ่มอีกนิดหน่อยเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของพรรค ตัวเลขจึงอยู่ที่ 110 ล้านบาท โดยยืนยันว่า การกู้เงินครั้งนี้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารพรรคแล้ว และพรรคจะเป็นผู้จ่ายเงินคืนนายธนาธรทั้งหมด (อ้างอิงข้อมูลจาก โพสต์ทูเดย์)
สาระสำคัญของประเด็นนี้คือ นายธนาธร สามารถให้พรรค ‘ยืมเงิน’ หรือว่า ‘ปล่อยกู้’ ได้หรือไม่ ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 พบว่า มีมาตราที่บัญญัติเกี่ยวกับวิธีการหาเงินเข้าพรรค ดังนี้
ตามมาตรา 58 59 และ 60 ระบุไว้สรุปได้ว่า พรรคการเมืองต้องจัดทำบัญชีของพรรค ประกอบด้วย บัญชีรายวันแสดงรายได้หรือรายรับ และแสดงค่าใช้จ่ายหรือรายจ่าย บัญชีแสดงรายรับจากการบริจาค บัญชีแยกประเภท และบัญชีแสดงสินทรัพย์และหนี้สิน โดยงบแสดงฐานะการเงินต้องแสดงรายการสินทรัพย์ หนี้สิน และทุนของพรรคการเมือง ทั้งต้องแสดงที่มาของรายได้ตามมาตรา 62 และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของพรรคการเมืองไว้ชัดเจน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง และรายการอื่นตามที่ กกต. กำหนด
มาตรา 62 ระบุว่า พรรคการเมืองอาจมีรายได้ ดังต่อไปนี้
1.เงินทุนประเดิมตามมาตรา 9 วรรคสอง (ทุนประเดิมไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท โดยผู้ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองทุกคนต้องร่วมกันจ่ายเพื่อเป็นทุนประเดิมคนละไม่น้อยกว่า 1 พันบาท แต่ไม่เกินคนละ 5 หมื่นบาท) 2.เงินค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมืองตามที่กำหนดในข้อบังคับ 3.เงินที่ได้จากการจำหน่ายสินค้าหรือบริการของพรรค 4.เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรค 5.เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการรับบริจาค 6.เงินอุดหนุนจากกองทุน 7.ดอกผล และรายได้ที่เกิดจากเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดของพรรคการเมือง
โดยการได้มาซึ่งรายได้ตาม 2. 3. 4. 5. ต้องมีใบเสร็จรับเงิน หรือหลักฐานการได้มาซึ่งรายได้นั้นเป็นหนังสือ ทั้งนี้ตามที่ กกต. กำหนด ส่วนการจำหน่ายสินค้าหรือบริการตาม 3. และการจัดกิจกรรมระดมทุนพรรคตาม 4. ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่ กกต. กำหนด ทั้งนี้รายไดของพรรคการเมืองจะนำไปใช้เพื่อการอื่นใด นอกจากการดำเนินงานของพรรคมิได้
ขณะที่มาตรา 66 ระบุว่า บุคคลใดจะบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมือง มีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทต่อพรรคการเมืองต่อปีมิได้ และในกรณีที่บุคคลนั้นเป็นนิติบุคคล การบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองไม่ว่าพรรคเดียว หรือหลายพรรค เกินปีละ 5 ล้านบาท ต้องแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นทราบในการประชุมใหญ่คราวต่อไปหลังจากบริจาคไปแล้ว
พรรคการเมืองจะรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งมีมูลค่าเกินกว่าวรรคหนึ่งมิได้
เมื่อพิจารณาตามข้อกฎหมายข้างต้นเห็นได้ว่า ในส่วนของรายได้เข้าพรรคนั้น ไม่มีข้อใดบัญญัติอย่างชัดเจนว่า สามารถกู้เงิน หรือยืมเงิน เพื่อมาเป็นทุนในการทำกิจกรรมของพรรคได้ ?
ที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นบุคคล หรือนิติบุคคลจะบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่พรรคมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทต่อปีมิได้ (นิติบุคคลถ้าเกิน 5 ล้านบาท/ปี ต้องแจ้งที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นด้วย) รวมถึงพรรคการเมืองจะรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลธรรมดาที่มีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทต่อปีมิได้เช่นกัน
แม้ว่าท้ายที่สุดแล้วนายธนาธร ปล่อยกู้พรรคอนาคตใหม่ ไม่ว่าในนามส่วนตัว หรือนิติบุคคลก็ตาม พรรคอนาคตใหม่ มีสิทธิ์ ‘คืนเงิน’ แก่นายธนาธรหรือไม่ ?
นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ให้ความเห็นถึงเรื่องดังกล่าวผ่านทางเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า การให้พรรคอนาคตใหม่ยืมเงินอาจเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืน พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ มาตรา 62 และตามมาตรา 87 หรือไม่ เนื่องจากจะนำเงินของพรรคการเมืองไปใช้หนี้เงินกู้ยืมไม่ได้ ถ้าฝ่าฝืนจะมีความผิดตามมาตรา 132 ที่กำหนดไว้ว่ามีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 1 แสนถึง 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (อ้างอิงข้อมูลจาก สยามรัฐออนไลน์)
อย่างไรก็ดีการตีความของนายชูชาติในส่วนนี้ เป็นแค่ความคิดเห็นส่วนบุคคลเท่านั้น แต่ตามข้อเท็จจริง ไม่มีกฎหมายมาตราใดบัญญัติว่า การกระทำดังกล่าทำไม่ได้ เพียงแต่ไม่มีการระบุไว้ในกฎหมาย ดังนั้นจึงจำเป็นที่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญ หรือเจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายในสำนักงาน กกต. พิจารณาอีกครั้ง
ในหมวดการใช้จ่ายของพรรคการเมือง มาตรา 87 ระบุว่า เงินและทรัพย์สินของพรรคการเมือง ต้องนำไปใช้จ่ายเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรค ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งของพรรค และสมาชิก และค่าใช้จ่ายในการบริหารพรรค
พรรคการเมืองต้องเปิดเผยค่าใช้จ่ายในการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์การดำเนินกิจกรรมของพรรคไม่ว่าในรูปแบบใด ให้สมาชิกและประชาชนทราบเป็นการทั่วไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่ กกต. กำหนด
หากพบว่า มีการกระทำที่อาจขัดกับหลักเกณฑ์การบริจาค หรือให้ทรัพย์สินแก่พรรคการเมืองเกิดขึ้นจริง นายธนาธร และกรรมการบริหารพรรค อาจต้องถูกดำเนินการตามมาตรา 124 คือ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 5 ปี
มาตรา 125 ระบุว่า พรรคการเมืองใดรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันมีมูลค่าเกินกว่าที่กำหนดไว้ในมาตรา 66 วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค มีกำหนด 5 ปี และให้เงิน หรือทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ส่วนที่เกินมูลค่าที่กำหนดไว้ตามมาตรา 66 ตกเป็นของกองทุน
และมาตรา 132 หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรค และเหรัญญิกพรรค ผู้ใดนำหรือยินยอมให้บุคคลอื่นนำเงิน หรือทรัพย์สินของพรรคการเมืองไปใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ส่วนตัว หรือบุคคลอื่น หรือนำไปใช้เพื่อการอื่นใด อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 87 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 1-2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นี่คือข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมายทั้งหมด เกี่ยวกับเงื่อนปมการปล่อยเงินกู้ของนายธนาธร แก่พรรคอนาคตใหม่ ที่กำลังร้อนแรง และมีบุคคลยื่นร้องเรียนให้ กกต. ตรวจสอบอยู่ขณะนี้!
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายธนาธร จาก mthai