ชัด ๆ วิธีการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ฉบับ กรธ.-แบบไหนถึงเรียก Over Hang?
เว็บไซต์ กรธ.จัดให้! ดูกันชัด ๆ วิธีการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ทำอย่างไร สูตรตอนประกาศผล 95% กับ 100% ต้องทำแบบไหน ส.ส.พึงมีดูได้อย่างไร แบบไหนถึงจะเรียกว่า Over Hang
ประเด็น ‘คณิตศาสตร์การเมือง’ เรื่องการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ กำลังเป็นที่ถกเถียงในสังคมว่า ตกลงแล้วต้องใช้สูตรสมการแบบใด ?
เพราะข้อมูลแต่ละหน่วยงาน ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อดีตคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) หรือนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์หลายสำนัก ยังไม่ตรงกัน และยังไม่มีใคร ‘คอนเฟิร์ม’ สูตรที่แน่ชัดตายตัว
ส่งผลให้พรรคการเมืองทั้งเล็ก-ใหญ่ แสดงความกังวลเกี่ยวกับการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะมีบางประเด็นให้ถกเถียงว่า พรรคเล็กที่ไม่ได้ ส.ส.เขต จะถูกคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหรือไม่ หรือคะแนนเท่าใดกันแน่ถึงจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์ กรธ. พบว่า มีการเผยแพร่วิธีคำนวณจำนวน ส.ส. ตามมาตรา 91 (วิธีการหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ) ของรัฐธรรมนูญปี 2560 และมาตรา 128 และ 129 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ที่ค่อนข้างละเอียด เรียบเรียงโดยนายนาถะ ดวงวิชัย ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานประธานรัฐสภา รายละเอียดน่าสนใจ ดังนี้
กรณีประกาศผลการเลือกตั้งได้ร้อยละ 95
หนึ่ง กรณีประกาศผลการเลือกตั้งได้ร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้ง (333 เขต) ตามมาตรา 129 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
1.ให้นำจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่จะประกาศผลการเลือกตั้ง หารด้วย 350 อันเป็นจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมด เช่น 333 หาร 350 = 0.9514
2.นำผลลัพธ์ตามข้อ 1. คูณด้วย 500 อันเป็นจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร ผลลัพธ์ที่ได้คือจำนวน ส.ส. ที่จะประกาศทั้งหมด โดยให้ถือเอาเฉพาะจำนวนเต็ม เช่น 0.9514 คูณ 500 = 475
3.นำผลลัพธ์ตามข้อ 2. มาหักออกด้วยจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่จะประกาศผลการเลือกตั้ง ผลลัพธ์ที่ได้คือ จำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่จะจัดสรรให้พรรคการเมือง เช่น 475 – 333 = 142
4.เมื่อได้ผลลัพธ์ตามข้อ 3. แล้ว ให้นำมาคำนวณตามวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา 128 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 เพื่อจัดสรรจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อให้แต่ละพรรคการเมือง
สอง กรณีประกาศผลการเลือกตั้งได้ร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้ง (333 เขต) และมีที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อเกินจำนวน (Over Hang)
ถ้าเกิดกรณีตาม มาตรา 128 (7) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 จำนวน 150 ให้เปลี่ยนเป็นจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อที่จะจัดสรรตาม มาตรา 129 (2) แห่ง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว
เมื่อมีการประกาศผลการเลือกตั้งเพิ่มขึ้น ให้ดำเนินการคำนวณตามวิธี มาตรา 129 (1) และ (2) ใหม่ และจัดสรรจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อให้ถูกต้องตรงตามผลการคำนวณนั้นทุกครั้งที่มีการประกาศผลการเลือกตั้งเพิ่มขึ้น เว้นแต่จะพ้น 1 ปี นับแต่วันเลือกตั้งทั่วไป ตามมาตรา 129 (3)
ในกรณีที่การคำนวณใหม่ตามมาตรา 129 (3) ทำให้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใดลดลง ให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองลำดับท้ายตามลำดับพ้นจากตำแหน่ง ตามมาตรา 129 (4) ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองผู้ใดต้องพ้นจากตำแหน่งตาม มาตรา 129 (4) ให้ถือว่าผู้นั้นยังคงเป็นผู้สมัครลำดับหมายเลขเดิมในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น
----
กรณีประกาศผลเลือกตั้งครบทุกเขตเลือกตั้ง (350 เขต) การคำนวณหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อจะพึงได้รับ ให้คำนวณตามวิธีการ ดังต่อไปนี้ โดยในกรณีที่มีเศษให้ใช้ทศนิยม 4 ตำแหน่ง ตามมาตรา 128 (1) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
1.นำคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง หารด้วย 500 อันเป็นจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร เช่น รวม 29,571,126 คะแนน หาร 500 = 59,142.2520 คะแนน
2.นำผลลัพธ์ตามข้อ 1. ไปหารจำนวนคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ได้รับจากการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งทุกเขต จำนวนที่ได้รับให้ถือเป็นจำนวน ส.ส. ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ เช่น พรรค ก ได้ 13,132,563 คะแนน หาร 59,142.2520 = 222.0504
3.นำจำนวน ส.ส. ที่พรรคการเมืองจะพึงมีได้ตามข้อ 2. ลบด้วยจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมดที่พรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้ง ผลลัพธ์คือจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับ เช่น พรรค ก ได้ ส.ส. เขต 187 คน นำ 222.0504 – 187 = 35.0504
4.ให้จัดสรรจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองจะได้รับให้ครบ 150 คน โดยจัดสรรให้พรรคการเมืองตามผลลัพธ์ตามข้อ 3. เป็นจำนวนเต็มก่อน หากยังไม่ครบจำนวน 150 คน ให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคำนวณมากที่สุดได้รับการจัดสรรจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มอีก 1 คน ตามลำดับจนครบจำนวน 150 คน
กรณีประกาศผลการเลือกตั้งครบทุกเขต 350 เขต และมีที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อเกินจำนวน (Over Hang)
5.ถ้าพรรคการเมืองใดมีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่ากับหรือสูงกว่าจำนวน ส.ส. ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตามข้อ 2. ให้พรรคการเมืองนั้นมี ส.ส. ตามจำนวนที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ และให้นำจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งต่ำกว่าจำนวน ส.ส. ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตามข้อ 2. ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองดังกล่าวมี ส.ส. เกินจำนวนที่จะพึงมีได้
6.ในการจัดสรรตามข้อ 5. แล้ว ปรากฏว่ายังจัดสรรจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อไม่ครบ 150 คน ให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคำนวณมากที่สุดได้รับการจัดสรรจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีก 1 คน ตามลำดับ จนครบจำนวน 150 คน
กรณีที่เศษที่เหลือของแต่ละพรรคการเมืองเท่ากันจนทำให้ไม่สามารถจัดสรร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อได้ครบจำนวน 150 คน ให้นำค่าเฉลี่ยคะแนนของแต่ละพรรคการเมืองต่อจำนวน ส.ส. ที่พึงมี 1 คนมาพิจารณา โดยหากพรรคการเมืองใดมีค่าเฉลี่ยคะแนนของพรรคการเมืองต่อจำนวน ส.ส. ที่พึงมี 1 คน มากกว่าพรรคการเมืองอื่น ให้พรรคการเมืองนั้นมีสิทธิได้รับการจัดสรร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีก 1 คน และหากยังมีจำนวนค่าเฉลี่ยดังกล่าวเท่ากันอีก ให้ใช้วิธีจับสลาก
7.ในกรณีที่เมื่อมีคำนวณตามข้อ 5. แล้วปรากฏว่าพรรคการเมืองทุกพรรคได้รับจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อรวมกันแล้วเกิน 150 คน ให้ดำเนินการคำนวณปรับจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อใหม่ โดยคำนวณตามอัตราส่วนที่ทุกพรรคจะได้รับการจัดสรรจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อเมื่อรวมกันแล้วไม่เกิน 150 คน โดยให้นำจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับคูณด้วย 150 หารด้วยผลบวกของ 150 กับจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่เกินจำนวน 150 คน และให้นำข้อ 4. มาใช้ในการคำนวณด้วยโดยอนุโลม
8.เมื่อได้จำนวนผู้ได้รับการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองแล้ว ให้ผู้สมัครตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.
อ่านรายละเอียดทั้งหมดได้จาก : https://cdc.parliament.go.th/draftconstitution2/download/cal_member_house.pdf
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ส่อง 5 เขตปัญหานับคะแนนไม่ถูก? กกต.สั่งจัดเลือกตั้งใหม่ เพื่อไทยได้ 3 -พปชร.มี 2
กกต.สั่งเลือกตั้งใหม่ 6 หน่วย 5 จว.ผู้มาใช้สิทธิไม่ตรงกับบัตร-นับคะแนนใหม่ 2 หน่วย
กกต.เชิญ'ประพันธ์-อุดม' 2 อดีต กรธ.ถกเจตนารมณ์ รธน.-สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
กกต.แพร่ผลคะแนนดิบเลือกตั้งไม่เป็นทางการ พปชร. 8.4 ล. พท. 7.9 ล. อนค. 6.2 ล.
INFO : ผลเลือกตั้งไม่เป็นทางการ 95% พท. 137 พปชร. 97 ภท. 39 ปชป. 33 อนค. 30
INFO : ผลเลือกตั้งไม่เป็นทางการ 5 พรรคดัง บัตรเสีย 1.8 ล้านใบ เพื่อไทย 129 ที่นั่ง