ละเอียดยิบ! ปลอมลายเซ็น ‘เกษม-พลากร’ เบิกเงินมูลนิธิอานันทมหิดล 56.6 ล.
ละเอียด! เปิดพฤติกรรมลูกจ้างหญิง ท้ายที่นั่ง สนง.พระคลังข้างที่ กับพวก คดีปลอมลายเซ็น องคมนตรี ‘เกษม วัฒนชัย-พลากร สุวรรณรัฐ’ ตั้งเรื่องขออนุมัติจ่ายเงินพระราชทานทุนส่งเสริมบัณฑิต แก้ไขตัวเลขในใบเบิกให้ผู้รับทุน ถอนจากบัญชีมูลนิธิอานันทมหิดล 4 ปี 56.6 ล้าน
กรณีเมื่อวันที่ 27 ก.พ.2562 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีคำสั่งที่ ย.34/2562 ยึดและอายัดทรัพย์สินจำนวน 15 รายการ มูลค่า 17,555,000 บาท น.ส.ณิชาพัชร นุ่มเมือง ลูกจ้างท้ายที่นั่งสำนักงานพระคลังข้างที่ ทำหน้าที่ ทำบัญชีรายรับรายจ่ายเงินของมูลนิธิอานันทมหิดล ปลอมลายมือชื่อ นายเกษม วัฒนชัย และ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี แล้วถอนเงินจากบัญชีมูลนิธิอานันทมหิดล ธนาคารไทยพาณิชย์ ในช่วง 4 ปี เป็นเงินทั้งสิ้น 56,610,783.60 บาท (อ่านประกอบ: อายัดทรัพย์ 17.5 ล. หญิงสาวปลอมลายเซ็น 2 องคมนตรี ถอนเงินมูลนิธิอานันทมหิดล 56.6 ล.)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงที่มาที่ไปและพฤติกรรมในคดีนี้อย่างละเอียด
@แจ้งความที่ ตร.กองปราบ
ด้วยสํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สํานักงาน ปปง.) ได้รับรายงาน จากกองบังคับการปราบปราม ตามหนังสือที่ ตช 0026.2/4668 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 เรื่อง รายงานความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และหนังสือที่ ตช 0026.2/4726 ลงวันที่ 7 ธันวาคม 2561 เรื่องรายงานความผิดมูลฐาน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เพิ่มเติม ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์ แห่งการกระทําความผิดเกี่ยวกับการปลอมเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และความผิดเกี่ยวกับการลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ กล่าวคือ
@ตั้งเรื่องขอเบิกจ่ายเงินพระราชทานทุนส่งเสริมบัณฑิต
เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2561 นางสาวณิชาพัชร นุ่มเมือง ซึ่งเป็นลูกจ้างท้ายที่นั่งสํานักงานพระคลังข้างที่ มีหน้าที่ทําบัญชีรายรับรายจ่ายของมูลนิธิอานันทมหิดล ได้จัดทําบันทึกการขออนุมัติจ่ายเงินพระราชทานทุนส่งเสริมบัณฑิตและใบถอนเงิน เพื่อเสนอนายเกษม วัฒนชัย และนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ลงนามในบันทึกการขออนุมัติจ่ายเงินและใบถอนเงินจากบัญชีมูลนิธิอานันทมหิดล ธนาคารไทยพาณิชย์ จํากัด (มหาชน) สาขาสํานักพระราชวัง (สนามเสือป่า) เลขที่บัญชี 401-061917-8 เพื่อมอบให้กับผู้รับทุน
@เสนอองคมนตรีลงนาม-แก้ไขจำนวนเงิน ปลอมลายเซ็น
ซึ่งหลังจากนายเกษม วัฒนชัย และนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ลงนามในบันทึกการขออนุมัติจ่ายเงินและ ใบถอนเงินดังกล่าวแล้ว นางสาวณิชาพัชร นุ่มเมือง ได้ทําการแก้ไขใบถอนเงินดังกล่าว โดยพิมพ์แก้ไขเพิ่มเติม จํานวนเงินในใบถอนเงิน หรือทําการปลอมลายมือชื่อนายเกษม วัฒนชัย และนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ในใบถอนเงิน ซึ่งเป็นการปลอมเอกสารสิทธิ
@เบิกถอนจากบัญชีมูลนิธิอานันทมหิดล บัญชีแบงก์ไทยพาณิชย์ สนามเสือป่า
จากนั้นนางสาวณิชาพัชร นุ่มเมือง ได้นําใบถอนเงินดังกล่าว ไปถอนเงินจากธนาคารไทยพาณิชย์ จํากัด (มหาชน) พร้อมสมุดคู่ฝากของมูลนิธิอานันทมหิดล ระหว่างวันที่ 27 เมษายน 2553 ถึงวันที่ 12 กันยายน 2561 ซึ่งทําให้ธนาคารไทยพาณิชย์ จํากัด (มหาชน) สาขาสํานักพระราชวัง (สนามเสือป่า) หลงเชื่อจึงให้นางสาวณิชาพัชร นุ่มเมือง ถอนเงินออกไป จากบัญชีเงินฝากมูลนิธิอานันทมหิดล จํานวน 56,610,783.60 บาท
@เอาเข้าบัญชีเครือญาติ คนใกล้ชิด
หลังจากนั้น นางสาวณิชาพัชร นุ่มเมือง ได้เอาเงินดังกล่าวไปฝากเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารต่างๆ ของเครือญาติและคนใกล้ชิด ในลักษณะร่วมกันกระทําผิดโดยแบ่งหน้าที่กันทําหรือโดยรู้ว่าทรัพย์นั้นได้มาจากการกระทําความผิด จากนั้นกลุ่มเครือญาติและคนใกล้ชิดดังกล่าว ได้โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จํากัด (มหาชน) สาขาพระบรมมหาราชวัง เลขที่บัญชี 061-206241-4 ของนางสาวณิชาพัชร นุ่มเมือง ต่อไป
@ แบ่งหน้าที่กันทำ-ตร.ฟันหนักหลายข้อหา ฉ้อโกง ฟอกเงิน
พนักงานสอบสวน ได้ดําเนินคดีอาญากับนางสาวณิชาพัชร นุ่มเมือง กับพวก เป็นสำนวนคดีอาญาที่ 67/2561 ว่านางสาวณิชาพัชร นุ่มเมืองกับพวก มีเจตนาทุจริต ร่วมกันกระทําผิดโดยแบ่งหน้าที่กันทําอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน โดยพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหานางสาวณิชาพัชร นุ่มเมือง ว่าปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม ร่วมกัน ลักทรัพย์โดยร่วมกระทําความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป ร่วมกันฉ้อโกง และสมคบกันฟอกเงิน อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 มาตรา 268 มาตรา 335 (7) มาตรา 341 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 (18) มาตรา 5 (1) (2) (3) มาตรา 9 และมาตรา 60 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
@ ยักย้ายถ่ายเท ปิดบังซ่อนเร้นทรัพย์
จากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้น รับฟังได้ว่านางสาวณิชาพัชร นุ่มเมือง กับพวก มีการกระทําความผิดอันมีลักษณะเป็นการปลอมเอกสารสิทธิ ลักทรัพย์ และฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐาน ตามมาตรา 3 (14) และ 3 (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านางสาวณิชาพัชร นุ่มเมือง กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าว
ในการนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน ในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 22/2561 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2561 ที่ประชุมมีมติมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดําเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ประกอบกับคําสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ที่ ม. 1/2562 ลงวันที่ 7 มกราคม 2562 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรม หรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด รายนางสาวณิชาพัชร นุ่มเมือง กับพวก พนักงานเจ้าหน้าที่ ได้ดําเนินการตรวจสอบรายงานการทําธุรกรรมหรือข้อมูลเกี่ยวกับการทําธุรกรรมของบุคคลดังกล่าวแล้ว ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่านางสาวณิชาพัชร นุ่มเมือง กับพวก มีพฤติการณ์แห่งการกระทําอันเข้าลักษณะ เป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (14) และ (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 หรือเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทําความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน
@โฉนดที่ดิน บ้าน ห้องชุด
และจากการตรวจสอบข้อมูลการทําธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด รวมทั้งจากการ รวบรวมพยานหลักฐาน ปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด จํานวน 15 รายการ พร้อมดอกผล และเนื่องจากทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดในคดีนี้ เป็นสังหาริมทรัพย์ ประเภทรถยนต์ รถจักรยานยนต์ อันเป็นทรัพย์สินที่ปรากฏหลักฐานในทางทะเบียน ในการควบคุมการเสียภาษีหรือการเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินดังกล่าว โดยผู้มีชื่อเป็นผู้ครอบครองอาจดําเนินการโอนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้มีสิทธิครอบครองในทางทะเบียนได้โดยง่าย และอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ดิน ตามโฉนดที่ดิน พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และห้องชุด อันเป็นทรัพย์สินที่ปรากฏหลักฐานในทางทะเบียนในการเป็น ผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยผู้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ อาจดําเนินการทางนิติกรรมโอนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ ในทางทะเบียนได้ หากมิได้มีการออกคําสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินดังกล่าวไว้ชั่วคราว เมื่อเจ้าของหรือผู้มีส่วน ได้เสียหรือผู้มีสิทธิในทรัพย์สินดําเนินการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าวไปเสีย และหากต่อมาศาลได้มีคําสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน สํานักงาน ปปง. อาจไม่สามารถติดตาม ทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนมาได้ จึงเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านางสาวณิชาพัชร นุ่มเมือง กับพวกได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดและอาจมีการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นเสีย ทรัพย์สินดังกล่าว
@ยึดอายัดทรัพย์ 15 รายการ
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 34 (3) และมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มติคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุม ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 และระเบียบคณะกรรมการธุรกรรมว่าด้วยการรับเรื่อง การตรวจสอบ การพิจารณาดําเนินการ และการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2556 ข้อ 25 คณะกรรมการธุรกรรม จึงมีคําสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไว้ชั่วคราว จํานวน 15 รายการ พร้อมดอกผล มีกําหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน) กล่าวคือ มีคําสั่งให้ยึดทรัพย์สิน จํานวน 9 รายการ ได้แก่ รายการที่ 1 ถึงรายการที่ 9 นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 ถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2562 และมีคําสั่งให้อายัดทรัพย์สิน จํานวน 6 รายการ ได้แก่ รายการที่ 10 ถึงรายการที่ 15 นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 ถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2562 โดยมีรายการทรัพย์สินที่ยึดและอายัดปรากฏตามบัญชีทรัพย์สินแนบท้ายคําสั่งนี้ ทั้งนี้ ให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจําหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวหรือสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์หรือดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวด้วย
ในกรณีผู้ซึ่งถูกยึดและอายัดทรัพย์สินตามคําสั่งนี้หรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินดังกล่าว ประสงค์จะขอให้มีการเพิกถอนคําสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินดังกล่าวนั้น ให้ยื่นคําขอต่อเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพร้อมด้วยหลักฐานที่เกี่ยวข้องที่แสดงว่าเงินหรือทรัพย์สินที่ถูกยึด และอายัดดังกล่าวนั้น มิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งหรือ ทราบคําสั่งนี้
อนึ่ง การยักย้าย ทําให้เสียหาย ทําลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทําให้สูญหายหรือทําให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานยึดหรืออายัดไว้หรือที่ตนรู้หรือควรรู้ว่าจะตกเป็นของแผ่นดิน อาจมีความผิด ทางอาญาและต้องระวางโทษตามนัยมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพ.ศ. 2542
สั่ง ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/