พุ่งเกิน 500 ฉบับ 5 ปี กับการพิจารณากฎหมายของ สนช.
8 สิงหาคม 2557- 25 กุมภาพันธ์ 2562 มีร่างพระราชบัญญัติที่เสนอต่อ สนช.พิจารณา จำนวน 506 ฉบับ เห็นชอบในวาระที่สามแล้ว 419 ฉบับ ประกาศราชกิจจาฯ 322 ฉบับ มีผลใช้บังคับแล้ว 320 ฉบับ
โค้งสุดท้ายสำหรับการทำหน้าที่ของสภานิติบัญญัติ (สนช.) โดยกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) ได้ออกมาขีดเส้นการทำงานแล้วว่า การพิจารณากฎหมายต่าง ๆ จะให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ส่วนการพิจารณารายงานการศึกษาของกรรมาธิการคณะต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จประมาณกลางเดือนมีนาคม
ในห้วงเวลาที่สังคมไทยกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่การเลือกตั้ง เครือข่ายภาคประชาชน ก็ออกมาเรียกร้องให้ สนช.ยุติการพิจารณาร่างกฎหมายทุกฉบับทันที เนื่องจากมีความกังวลว่ากฎหมายที่ออกมานั้นจะมีความไม่รอบคอบ
ซึ่งประเด็นดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่า การพิจารณากฎหมายต่างๆ ของสนช.อยากให้ดูว่ากฎหมายเหล่านั้นค้างมานาน มีเป็นร้อยๆฉบับที่เข้าคิวอยู่ บางกฎหมายมีการทักท้วง ไม่เห็นชอบ ประชาพิจารณ์ ก็เลยไม่ผ่าน เลยต้องมาสร้างความเข้าใจกันกับประชาชน เพื่อให้กฎหมายมันทำให้ได้
เช่นเดียวกับนายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกวิป สนช. ออกมาระบุถึงการที่สนช.ถูกม็อบเรียกร้องให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในการตรากฎหมายว่า สภามีกำหนดตารางการทำงานที่ประกาศชัดเจนมาก่อนแล้ว กำหนดการพิจารณาร่างกฎหมายโดยรวมจะยุติลงในปลายเดือนกุมภาพันธ์เพื่อให้สอดคล้องกับวันเลือกตั้งทั่วไปที่กำหนดไว้ วันที่ 24 มีนาคม 2562 ยกเว้นกม.ที่ถูกเบียดหลุดไป1-2ฉบับ
"สนช.ยุติการรับพิจารณาร่างกฎหมายที่เข้าใหม่มาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ก็ต้องยอมรับว่า ก่อนปิดรับร่างกฎหมายใหม่นั้น กระทรวงทบวงกรมต่างๆ รวมทั้งกฤษฎีกาต่างเร่งผลักดันกฎหมายออกมามากมาย แม้จะมีเงื่อนไขให้รับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องและวิเคราะห์ผลกระทบอย่างรอบด้านและเป็นระบบตามรัฐธรรมนูญมาตรา77 แต่ร่างกฎหมายจำนวนมากถูกนำเข้าพิจารณาในสภาพร้อมๆกันเหมือนนักเรียนส่งการบ้านครูวันสุดท้าย"
เมื่อมีเวลาจำกัด นพ.เจตน์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า กฎหมายที่กมธ. พิจารณาเสร็จสิ้นแล้วจึงรอบรรจุเข้าสภาในวาระ2/3พร้อมๆกัน
สภาจึงต้องเพิ่มวันเวลาในการพิจารณาร่างกฎหมายขึ้นมาอีก จากวันพฤหัสและวันศุกร์ เป็นตั้งแต่วันอังคารถึงวันศุกร์ และจากเวลาเริ่มประชุม 10.00 น.ก็เพิ่มเป็นตั้งแต่เวลา 9.00 น.
"กมธ.บางคณะต้องทำงานเพิ่มในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เช่น กมธ.พิจารณากฎหมายจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษาฯ ที่มีจำนวนถึง 11 ฉบับ ประชุมวันจันทร์ถึงวันศุกร์และต่อวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งพร้อมจะส่งเข้าพิจารณาในสภาในวันที่ 1 มีนาคมนี้แล้ว" โฆษกวิป สนข. ระบุ
อย่างไรก็ดี ตลอดช่วงระยะเวลาเกือบ 5 ปี นับตั้งแต่ สนช.เข้ามาทำหน้าที่ระหว่างวันที่ 8 สิงหาคม 2557- 25 กุมภาพันธ์ 2562 จากสถิติพบว่า
1.ร่างพระราชบัญญัติที่เสนอต่อ สนช.เพื่อพิจารณา จำนวน 506 ฉบับ (เป็นจำนวนตามที่สำนักงานเลขาธิการฯ ลงรับเรือง)
1.1 ร่างพระราชบัญญัติที่สนช.มีมติรับหลักการในวาระที่หนึ่งแล้ว 463 ฉบับ
1.2 ร่างพระราชบัญญัติที่ สนช.ยังไม่ได้พิจารณารับหลักการวาระที่หนึ่ง 12 ฉบับ
1.3 ร่างพระราชบัญญัติที่รอการวินิจฉัยว่า เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินหรือไม่ 1 ฉบับ
1.4 ร่างพระราชบัญญัติที่ยุติกระบวนการ 30 ฉบับ (เป็นร่างเกี่ยวกับการเงิน 14 ฉบับ ผู้เสนอขอถอน 14 ฉบับ ผู้เสนอขอยุติกระบวนการ 1 ฉบับ รัฐสภาไม่ยืนยัน 1 ฉบับ )
2.ร่างพระราชบัญญัติที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสนช.วาระที่ สอง 33 ฉบับ
2.1 ร่างพระราชบัญญัติที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ 17 ฉบับ
2.2 ร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว 16 ฉบับ
3.ร่างพระราชบัญญัติที่สนช.พิจารณาให้ความเห็นชอบในวาระที่สามแล้ว 419 ฉบับ (ประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้ว 322 ฉบับ มีผลใช้บังคับแล้ว 320 ฉบับ)
ทั้งนี้ ยังมีสถิติการพิจารณากฎหมาย ที่น่าสนใจ เช่น
ผู้เสนอกฎหมาย พบว่า ส่วนใหญ่ คือ ครม. (366 ฉบับ) รองลงมา คสช. (21 ฉบับ), กรรมาธิการ (10 ฉบับ), ครม.+สนช. (9 ฉบับ), สปช./สปท.+ครม. (6ฉบับ),สนช. (5 ฉบับ),องค์กรอิสระ (1 ฉบับ) และ ครม.+สนช.+ประชาชน (1 ฉบับ)
ประเภทกฎหมาย ส่วนใหญ่เป็นการพิจารณากฎหมาย ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเดิม (237 ฉบับ) รองลงมา เป็นกฎหมายใหม่ (115 ฉบับ) ปรับปรุงกฎหมายเดิม 63 ฉบับ และพิจารณายกเลิกกฎหมาย (4 ฉบับ)
ขณะที่กฎหมาย 419 ฉบับ ที่สนช.ให้ความเห็นชอบวาระ 3 พบว่า ปีที่เห็นชอบ
ปี 2557 (5 เดือน) เห็นชอบกฎหมาย 49 ฉบับ
ปี 2558 เห็นชอบกฎหมาย 91 ฉบับ
ปี 2559 เห็นชอบกฎหมาย 75 ฉบับ
ปี 2560 เห็นชอบกฎหมาย 58 ฉบับ
ปี 2561 เห็นชอบกฎหมาย 72 ฉบับ
และปี 2562 แค่ 2 เดือน สนช.เห็นชอบกฎหมายไปแล้วถึง 74 ฉบับ
ทั้งหมด คือ ผลงานของสนช. ซึ่งการพิจารณาร่างกฎหมาย โดยรวมกำลังจะยุติลงในสัปดาห์นี้ตรงตามความต้องการของหลายฝ่ายที่แสดงความเป็นห่วงถึงความเหมาะสม และหลังจาก15 มีนาคมเป็นต้นไป สภาจะมีการพิจารณาเฉพาะรายงานการศึกษาเท่านั้น