กาง กม.-เปิดไทม์ไลน์ กกต.ชงยุบ ทษช.-ถ้าผิด กก.บริหารปิดฉากการเมืองตลอดชีพ
“…อธิบายให้ง่ายคือ หากถูกยุบพรรค กรรมการบริหารพรรค (กรณี ทษช. มี 13 ราย) จะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งโดยไม่มีกำหนด และภายใน 10 ปี จะไม่สามารถไปร่วมจัดตั้ง หรือจดทะเบียนพรรคการเมือง หรือไปเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่ได้อีก นั่นหมายความว่า หากพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งถูกยุบพรรค เท่ากับว่า ‘ปิดฉาก’ ชีวิตการเป็น ส.ส.-รัฐมนตรี ไปได้เลย…”
เป็นระยะเวลาเพียง 3 วันเท่านั้น พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ก็เข้าสู่กระบวนการถูกวินิจฉัยว่าพรรคจะถูกยุบหรือไม่ ?
โดยเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2562 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาประชุมถึงกรณีข้อร้องเรียนว่า การเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ทษช. เข้าข่ายถูกยุบพรรคการเมืองหรือไม่ เนื่องจากมีการนำสถาบันพระมหากษัตริย์มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ถือว่าไม่เหมาะสม โดยวันดังกล่าว กกต. ได้ประกาศรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี รวม 45 พรรค 69 ราย และไม่มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของ ทษช. แต่อย่างใด (อ่านประกอบ : กกต.ประกาศ69แคนดิเดตนายกฯ ไม่มีพระนาม'ทูลกระหม่อมฯ'เหตุทรงอยู่เหนือการเมือง-ขัด รธน.)
ขณะที่มีกระแสข่าวสะพัดว่า กกต. ประชุมกันตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว โดยอาจเชิญคนนอกมาร่วมด้วยประมาณ 5-7 ราย เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และมีความเกี่ยวพันกับสถาบันเบื้องสูง
ต่อมาช่วงดึกคืนวันที่ 12 ก.พ. 2562 ช่วงเวลาดึกดื่น คณะกรรมการ กกต. มีมติเอกฉันท์อย่างเป็นทางการว่า พรรค ทษช. กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 92 (2) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 โดยมีกระแสข่าวสะพัดมาตั้งแต่ช่วงเย็นแล้วว่า กกต. มีมติดังกล่าวแล้ว แต่ช่วงค่ำกลับเผยแพร่เอกสารข่าว ระบุว่ายังพิจารณาไม่เสร็จ (อ่านประกอบ : สะพัด! ส่งศาล รธน.วินิจฉัยยุบ ทษช.-กกต.ยันยังพิจารณาไม่เสร็จ)
หลังจากนั้นเมื่อช่วงก่อนเที่ยง วันที่ 13 ก.พ. 2562 ความชัดเจนก็ปรากฏเมื่อสำนักงาน กกต. เผยแพร่เอกสารข่าวระบุว่า การกระทำของ ทษช. กรณีการเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ถือว่ากระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดย พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง นำเอกสารคำร้องมายื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยยุบพรรค ทษช. โดยให้สัมภาษณ์สั้น ๆ ว่า มติดังกล่าวเป็นเอกฉันท์ตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ. 2562 แล้ว
วันเดียวกันคล้อยหลังไปไม่กี่ชั่วโมง ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารข่าว ระบุว่า หลังจากเลขาธิการ กกต. นำมติของ กกต. มาส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยยุบพรรค ทษช. นั้น สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะนำเสนอเรื่องดังกล่าวแก่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นรอดูว่าจะมีมติรับ หรือไม่รับคำวินิจฉัยดังกล่าวมาพิจารณา ในวันที่ 14 ก.พ. 2562 (อ่านประกอบ : มติทางการ กกต.ส่งศาล รธน.วินิจฉัยยุบ ทษช. เหตุกระทำปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย)
หากพิจารณากระบวนการข้างต้นจะเห็นได้ว่าเกิดขึ้นภายใน 3 วัน (11-13 ก.พ. 62) เท่านั้น ส่วนศาลรัฐธรรมนูญจะรับวินิจฉัยหรือไม่ต้องลุ้นกันในวันที่ 14 ก.พ. 2562
(นายปรีชาพล พงษ์พานิช หน.ทษช. มาพรรคครั้งแรกหลังจากเสนอแคนดิเดตนายกฯ ท่ามกลางกระแสข่าวยุบพรรค, ขอบคุณภาพจาก ไทยโพสต์ออนไลน์)
ประเด็นถัดมาคือ ขั้นตอนในการพิจารณาส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค ทษช. เกิดขึ้นได้อย่างไร บทลงโทษมีอะไรบ้าง
ตามมาตรา 92 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ ระบุว่า เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น
(1) กระทําการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
(2) กระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(3) กระทําการฝ่าฝืนมาตรา 20 วรรคสอง มาตรา 28 มาตรา 30 มาตรา 36 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 46 มาตรา 72 หรือมาตรา 74
(4) มีเหตุอันจะต้องยุบพรรคการเมืองตามที่มีกฎหมายกําหนด
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดําเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทําการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง
สำหรับข้อกล่าวหาของ ทษช. ที่ กกต. ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญคือ มาตรา 92 (2) การกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ส่วนคำถามที่หลายคนสงสัยคือ ตอนแรก กกต. บอกว่าจะตั้งคณะกรรมการไต่สวน แต่ต่อมากลับส่งเรื่องเลยโดยไม่ตั้งคณะกรรมการไต่สวนนั้น ตามมาตรา 93 ตามกฎหมายฉบับเดียวกัน ระบุว่า เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนว่า พรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92 ให้นายทะเบียนรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการ กกต. เพื่อพิจารณา ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
ในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 92 กกต. จะยื่นคำร้องเอง หรือจะมอบหมายให้นายทะเบียนเป็นผู้ยื่นคำร้องและดำเนินคดีแทนก็ได้ และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดี นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของ กกต. จะขอให้อัยการสูงสุด (อสส.) ช่วยเหลือดำเนินการในชั้นการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญจนกว่าจะเสร็จสิ้นก็ได้
ในกรณีที่เห็นสมควร ศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งให้พรรคการเมืองระงับการกระทำใดไว้เป็นการชั่วคราวตามคำร้องของ กกต. นายทะเบียน หรือ อสส. แล้วแต่กรณีก็ได้
ดังนั้น กกต. อาศัยช่องทางตามมาตรา 93 โดยให้เลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนโดยตำแหน่ง เป็นผู้รวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมเสนอความเห็นให้ กกต. กระทั่ง กกต. มีมติว่า การกระทำของ ทษช. อาจเข้าข่ายถูกยุบพรรคตามมาตรา 92 (2) จึงส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั่นเอง
ขั้นตอนถัดมาคือ หากศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคการเมืองแล้ว มาตรา 94 ในกฎหมายฉบับเดียวกัน ระบุว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใดแล้ว ให้นายทะเบียนประกาศคำสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นในราชกิจจานุเบกษา และห้ามมิให้บุคคลใดใช้ชื่อ ชื่อย่อ หรือภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองซ้ำ หรือพ้องกับชื่อ ชื่อย่อ หรือภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองที่ถูกยุบนั้น
ห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคของพรรคการเมืองที่ถูกยุบ และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเพราะเหตุดังกล่าว ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก ภายในกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นถูกยุบ
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2562 นายอุดม รัฐอมฤต กล่าวว่า การตัดสิทธิทางการเมือง ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่มีระยะเวลาระบุไว้ ก็เท่ากับว่าหากถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง กรรมการบริหารพรรคนั้นจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต และประเด็นที่เกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องที่กรรมการร่าง รธน.ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะเกิดเหตุการณ์ยุบพรรคก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง (อ้างอิงข่าวจาก ไทยโพสต์ออนไลน์)
หรืออธิบายให้ง่ายคือ หากถูกยุบพรรค กรรมการบริหารพรรค (กรณี ทษช. มี 13 ราย) จะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งโดยไม่มีกำหนด และภายใน 10 ปี จะไม่สามารถไปร่วมจัดตั้ง หรือจดทะเบียนพรรคการเมือง หรือไปเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่ได้อีก
ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 98 เรื่องคุณลักษณะต้องห้ามของการเป็น ส.ส. และมาตรา 160 เรื่องคุณลักษณะต้องห้ามของการเป็นรัฐมนตรี ระบุไว้ชัดเจนว่า ห้ามผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งลงสมัคร ส.ส. หรือดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี
นั่นหมายความว่า หากพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งถูกยุบพรรค เท่ากับว่า ‘ปิดฉาก’ ชีวิตการเป็น ส.ส.-รัฐมนตรี ไปได้เลย อาจอยู่เคลื่อนไหวได้แค่เป็นกรรมการบริหารพรรค หรือสมาชิกพรรค ภายหลังพ้น 10 ปีไปแล้วเท่านั้น
ส่วนท้ายที่สุด ทษช. จะถูกยุบหรือไม่ คงต้องรอว่าศาลรัฐธรรมนูญ จะรับวินิจฉัยหรือไม่ภายในวันที่ 14 ก.พ. 2562
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
เปิดครบ! ส.ส.เขต-ปาร์ตี้ลิสต์ ทษช. ก่อนเผชิญวิบากกรรม กกต.ส่งศาล รธน.ยุบพรรค?
มติทางการ กกต.ส่งศาล รธน.วินิจฉัยยุบ ทษช. เหตุกระทำปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย
เหมือนถูกประหารชีวิตทางการเมือง!ทษช. ใช้ความจริงใจแจง กกต.ปมถูกร้องยุบพรรค
สะพัด! ส่งศาล รธน.วินิจฉัยยุบ ทษช.-กกต.ยันยังพิจารณาไม่เสร็จ
กกต.ตั้ง กก.สอบปม ทษช.เสนอแคนดิเดตนายกฯ-เชิญคนนอกร่วม เหตุเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
กกต.ประกาศ69แคนดิเดตนายกฯ ไม่มีพระนาม'ทูลกระหม่อมฯ'เหตุทรงอยู่เหนือการเมือง-ขัด รธน.
ตอนเขียน กม.ไม่มีใครรู้! ‘เรืองไกร’ พร้อมสู้ ทษช.ถูกร้องยุบ-ยื่น‘บิ๊กตู่ ’ขัดคุณสมบัติ
ไทยรักษาชาติโพสต์ยันจุดยืนเดิม เดินหน้าต่อในสนามเลือกตั้ง-ขอบคุณทุกกำลังใจ
ทษช.น้อมรับพระราชโองการสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรธน.ด้วยความจงรักภักดี ร.10 -พระราชวงศ์
พระราชโองการฯพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ทรงอยู่เหนือการเมือง-นำเกี่ยวข้องขัดราชประเพณี- รธน.
ทษช. เสนอพระนาม 'ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ' บัญชีรายชื่อนายกฯ-บิ๊กตู่ตอบรับ พปชร.
ฟังเหตุผล หัวหน้า ทษช. เสนอพระนาม 'ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ' เป็นนายกฯ
ราชกิจจาฯปี 2515 ประกาศ ลาออกจากฐานันดรศักดิ์ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัลยา
รวมคำราชาศัพท์ที่ใช้กับพระอิสริยยศ ‘ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ’