ทำความรู้จัก‘รุ่งเรือง’อดีตที่ปรึกษา รมต.ยุค‘ทักษิณ’ ก่อนชิงออก กก.ทษช.คนแรก?
“…บทบาททางการเมืองของนายรุ่งเรือง เท่าที่ตรวจสอบพบ เมื่อปี 2544-2545 สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษา รมช.คลัง (นายวราเทพ รัตนากร) ปี 2546 เขยิบขึ้นไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา รมว.คลัง (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ต่อมาปี 2547 ได้เป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี…”
พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กำลังระส่ำระส่ายอย่างหนัก!
นอกจากปัญหาประเด็นการเสนอแคนดิเดตชื่อนายกรัฐมนตรี ที่ถูกหลายฝ่ายกดดันให้แสดงรับผิดชอบ และถูกบางฝ่ายยื่นเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการสอบสวนด้วยว่ากรณีดังกล่าวเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญ และอาจเข้าข่ายถูกยุบพรรคหรือไม่นั้น ยังมีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องการส่งผู้สมัคร ส.ส.เขต ในพื้นที่ กทม. ว่า อาจเข้าข่าย ‘ฮั้ว’ กับพรรคเพื่อไทยหรือไม่อีกกรณีหนึ่งด้วย ?
เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2562 ตั้งแต่เวลา 10.00 น. กกต. นัดประชุมพิจารณาเรื่องนี้ โดย นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ระบุว่า จะพิจารณาอย่างครบถ้วนรอบคอบ
วันเดียวกัน นายรุ่งเรือง พิทยศิริ อดีตกรรมการบริหารพรรค ทษช. ทวงถามความคืบหน้ากับ กกต. โดยระบุว่า ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคไปแล้วตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมา พร้อมกับโชว์หนังสือลาออกให้สื่อดู ยืนยันว่า ที่ผ่านมาครอบครัวไม่ต้องการให้ลงเล่นการเมือง ตอนนี้ลูกยังเล็ก และตั้งใจจะลาออกตั้งแต่เดือน ม.ค. 2562 ที่ผ่านมาแล้ว ยืนยันว่าไม่ทราบเรื่องการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของ ทษช. และวันดังกล่าวไม่ได้อยู่ร่วมประชุมแต่อย่างใด
หลายคนอาจจะไม่รู้จักว่า นายรุ่งเรืองเป็นใคร ทำไมถึงเข้ามาเป็นกรรมการบริหารพรรค ทษช. ก่อนกลับลำขอลาออก ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปประวัติให้ทราบ ดังนี้
นายรุ่งเรือง เป็นบุตรคนสุดท้องของนายมิตร พิทยศิริ และนางนิศารัตน์ พิทยศิริ โดยเป็นน้องชายร่วมสายเลือดของนางชนัดดา จิราธิวัฒน์ ภรรยานายธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ทายาทหมื่นล้านเครือ ‘เซนทรัล’
เมื่อปี 2552 นายรุ่งเรือง สมรสกับนางภูริกา บุตรนายพรหทัย ทวีเลิศกุลธร ที่ห้องเวิลด์บอลรูม โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ โดยภายในงานมี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรีมาเป็นประธานในพิธีด้วย
บทบาททางการเมืองของนายรุ่งเรือง เท่าที่ตรวจสอบพบ ช่วง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นหัวหน้าพรรคความหวังใหม่ นายรุ่งเรือง เคยเป็นหนึ่งในทีมเศรษฐกิจของพรรค กระทั่ง เมื่อปี 2544-2545 สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษา รมช.คลัง (นายวราเทพ รัตนากร)
ต่อมาปี 2546 ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์ให้คำปรึกษาทางการเงินสำหรับวิสาหกิจ ขนาดกลาง และขนาดย่อม และประชาชน (ศงป.) ปีเดียวกันเขยิบขึ้นไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา รมว.คลัง (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ต่อมาปี 2547 ได้เป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี
ระหว่างปี 2547-2549 เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และเป็นที่ปรึกษาสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง
ในช่วงปี 2548-2549 ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษา รมช.คมนาคม (พล.อ.ชัยนันท์ เจริญศิริ เพื่อนร่วมรุ่น พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร) นอกจากนี้ในช่วงเวลาเดียวกันยังเป็นที่ปรึกษากรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังด้วย
ข้อมูลทางธุรกิจพบว่า เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท นิวแอสเซท แอดไวเซอรี่ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2547 ทุนปัจจุบัน 30 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 9 ซอยบางนา-ตราด 17 ถนนบางนา-ตราด แขวงบางนา เขตบางนา กทม. แจ้งประกอบธุรกิจ บริการเป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุน การปรับปรุงโครงสร้างทางการเงิน
ปรากฏชื่อนายรุ่งเรือง พิทยศิริ นายสุรัตน์ พลาลิขิต นายวุฒิชัย อุบลโกมุท นายชาติชัย พราราสุข นายวีระยุด พันธุเพชร นายสุวรรณ ดำเนินทอง นางภาวสุทธิ์ จึงอนุวัตร เป็นกรรมการ โดยมีนายรุ่งเรือง เป็นกรรมการผู้จัดการ
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2560 มีรายได้รวม 19,653,745 บาท ต้นทุนการขาย 15,846,839 บาท ค่าใช้จ่ายในการขายและบริการ 3,327,598 บาท รายจ่ายรวม 19,190,507 บาท กำไรสุทธิ 299,234 บาท
นี่คือประวัติเบื้องต้นของนายรุ่งเรือง กรรมการบริหารพรรค ทษช. รายแรก ที่ออกมาเคลื่อนไหวขอ ‘ถอย’ ออกจากพรรค ภายหลังการเสนอแคนดิเดตเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมา
ส่วน กกต. จะมีผลสรุปออกมาอย่างไร ต้องติดตามกันด้วยใจระทึก!
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ไทยรักษาชาติโพสต์ยันจุดยืนเดิม เดินหน้าต่อในสนามเลือกตั้ง-ขอบคุณทุกกำลังใจ
ทษช.น้อมรับพระราชโองการสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรธน.ด้วยความจงรักภักดี ร.10 -พระราชวงศ์
พระราชโองการฯพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ทรงอยู่เหนือการเมือง-นำเกี่ยวข้องขัดราชประเพณี- รธน.
ทษช. เสนอพระนาม 'ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ' บัญชีรายชื่อนายกฯ-บิ๊กตู่ตอบรับ พปชร.
ฟังเหตุผล หัวหน้า ทษช. เสนอพระนาม 'ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ' เป็นนายกฯ
ราชกิจจาฯปี 2515 ประกาศ ลาออกจากฐานันดรศักดิ์ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัลยา
รวมคำราชาศัพท์ที่ใช้กับพระอิสริยยศ ‘ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ’
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายรุ่งเรือง จาก พรรค ทษช.