เปิดภาพชุดตึก'สนง.ปรมาณู' 518ล. หลังถูกร้องล่าช้า-สร้าง 3 ปีไม่เสร็จ
"...เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา หลังจากเสร็จจากการสัมภาษณ์ที่ห้องรับรองแล้ว เจ้าหน้าที่ ปส. นำโดย นายภานุพงศ์ พินกฤษ วิศวกรนิวเคลียร์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ นำผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราชมแบบจำลองอาคารมาตรวิทยารังสีแห่งชาติและอาคารจริงที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง โดย นายภานุพงศ์ กล่าวว่า ในการปฏิบัตินั้น มีการเร่งรัดอยู่ตลอด ซึ่งขณะนี้ก่อสร้างได้ถึงชั้นสามแล้ว โดยระยะเวลาตามสัญญาจะต้องเสร็จภายในวันที่ 14 เม.ย. 2562 ซึ่งทางด้านผู้รับจ้างยืนยันว่าแล้วเสร็จทันตามกำหนดแผนงาน "ชั้นใต้ดินนั้นใช้เวลาก่อสร้างนาน เพราะ ทำยาก แต่ชั้น 1-9 นั้น ตามแผนงานจะใช้เวลาสร้างได้อย่างรวดเร็ว เพราะทำได้ง่ายกว่า ซึ่งประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา สามารถสร้างได้ถึง 3 ชั้น (ชั้น 1-3)"..."
“ตอนนี้ก็ยอมรับข้อผิดพลาดตรงนั้น เพราะว่า ห้องปฏิบัติในชั้น 7-9 ออกแบบครบถ้วนตามหลักการการป้องกันอันตรายจากรังสี รวมถึงพื้นชั้นใต้ดินด้วยว่า ต้องอยู่ลึกกว่าพื้นดินลงไป 10 ม. ในห้องดังกล่าวจะต้องมีความหนาของผนังและฐานอย่างน้อย 1.5 ม. ตามข้อแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญจากประเทศฟินแลนด์ แต่พอไปตรวจสอบกลับพบว่า ความหนาของพื้นชั้น 1 หรือเพดานชั้นใต้ดินนั้น มีความหนาเพียง 10 ซม. อาจเป็นข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ปส. ไม่ได้เกี่ยวข้องในการเขียนแบบ แต่ในส่วนนี้ข้อมูลอยู่แล้ว ขอให้ผู้สื่อข่าวทำเรื่องขอข้อมูลตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาที่ ปส. อีกครั้ง เพราะ ไม่ทราบข้อมูลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเขียนแบบแปลน เพียงแต่ ปส. มาทราบในเวลาต่อมาในหน้างานที่ต้องปรับเพิ่มความหนา”
คือคำสัมภาษณ์ของ นางสาวอัมพิกา อภิชัยบุคคล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาระบบบริหาร สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ในฐานะที่เป็น ประธานคณะกรรมการตรวจการจ้าง โครงการก่อสร้างอาคารมาตรวิทยารังสีแห่งชาติ วงเงิน 518 ล้านบาท ณ ห้องรับรอง สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เลขที่ 16 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา (อ่านประกอบ : เอ็กซ์คลูซีฟ: 'สนง.ปรมาณู' รับมีข้อผิดพลาดตรวจสอบไม่ถี่ถ้วน ปมสร้างตึก518 ล. ล่าช้า)
หลังจาก สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับเรื่องร้องเรียนให้ช่วยตรวจสอบการดำเนินโครงการก่อสร้างอาคาร มูลค่า 600 ล้านบาท ของ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) โดยอ้างว่า โครงการก่อสร้างดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงทีโออาร์ ก่อสร้างล่าช้า ผ่านไปกว่า 3 ปี แต่งานก่อสร้างชั้นใต้ดินก็ยังไม่แล้วเสร็จ และเริ่มมีปัญหาน้ำซึมเนื่องจากการเปลี่ยนแบบฐานรากของอาคารดังกล่าว
ขณะที่ นางสาวกรรณิกา มณีวรรณ์ นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการพิเศษ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รักษาการแทนเลขานุการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ชี้แจงว่า โครงการก่อสร้างอาคารของ ปส. มีโครงการเดียว คือ โครงการก่อสร้างอาคารมาตรวิทยารังสีแห่งชาติ วงเงิน 518 ล้านบาท ไม่ถึง 600 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวมีการเปลี่ยนแก้ไขแบบและก่อสร้างล่าช้าจริง เนื่องจากเป็นอาคารแบบพิเศษ แต่ได้มีการชี้แจงเหตุผลต่างๆ เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างดังกล่าวกับหน่วยการต่างๆ ทั้ง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ วท. รวมทั้งหน่วยงานจากต่างประเทศ (อ่านประกอบ : ร้อง ‘อิศรา’ สอบปมตึกสนง.ปรมาณู 518ล. เปลี่ยนทีโออาร์แบบฐานรากวุ่น สร้าง 3 ปีไม่เสร็จ)
โดยโครงการดังกล่าวคือ โครงการก่อสร้างอาคารมาตรวิทยารังสีแห่งชาติ วงเงิน 518 ล้านบาท มีการจัดประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (เลขที่โครงการ : 58045054570) ตั้งราคากลางไว้ที่ 538,937,000 บาท จากวงเงินงบประมาณ 539,312,000 บาท ก่อนจะมีการตกลงจ้างงานอยู่ที่ตัวเลข 518,000,000 บาท ลงนามเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2558 โดยผู้ชนะการเสนอราคาได้รับงานไป คือ บริษัท รวมนครก่อสร้าง (ประเทศไทย) จำกัด (อ่านประกอบ : เจาะสัญญาตึกสนง.ปรมาณู518ล. ก่อนถูกร้องเปลี่ยนทีโออาร์แบบฐานรากวุ่นสร้าง3ปีไม่เสร็จ)
ปัจจุบันการก่อสร้างอาคารมาตรวิทยารังสีแห่งชาติเป็นอย่างไร
เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา หลังจากเสร็จจากการสัมภาษณ์ที่ห้องรับรองแล้ว เจ้าหน้าที่ ปส. นำโดย นายภานุพงศ์ พินกฤษ วิศวกรนิวเคลียร์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ นำผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราชมแบบจำลองอาคารมาตรวิทยารังสีแห่งชาติและอาคารจริงที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง
นายภานุพงศ์ กล่าวว่า ในการปฏิบัตินั้น มีการเร่งรัดอยู่ตลอด ซึ่งขณะนี้ก่อสร้างได้ถึงชั้นสามแล้ว โดยระยะเวลาตามสัญญาจะต้องเสร็จภายในวันที่ 14 เม.ย. 2562 ซึ่งทางด้านผู้รับจ้างยืนยันว่าแล้วเสร็จทันตามกำหนดแผนงาน
"ชั้นใต้ดินนั้นใช้เวลาก่อสร้างนาน เพราะ ทำยาก แต่ชั้น 1-9 นั้น ตามแผนงานจะใช้เวลาสร้างได้อย่างรวดเร็ว เพราะทำได้ง่ายกว่า ซึ่งประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา สามารถสร้างได้ถึง 3 ชั้น (ชั้น 1-3)" นายภานุพงศ์ กล่าว
@ ภาพโมเดลจำลองอาคารมาตรวิทยารังสีแห่งชาติ
อาคารมาตรวิทยารังสีแห่งชาติ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนที่เชื่อมตัวกัน คือ อาคารสำนักงาน 9 ชั้น (ไม่รวมชั้นใต้ดิน) และอาคารจอดรถ 5 ชั้น แต่ละชั้นแบ่งย่อยพื้นที่จอดรถเป็น 2 ชั้น
@ ภาพอาคารมาตรวิทยารังสีแห่งชาติ
บริเวณชั้น 1 อาคารสำนักงาน โดยพื้นชั้น 1 หรือเพดานชั้นใต้ดินมีความหนา 1.5 ม.
พื้นที่ว่างระหว่างตัวอาคารกับกำแพงกันดินซึ่งถูกถมด้วยทราย กว้างประมาณ 2 ม. โดยความลึกของกำแพงกันดินประมาณ 11 ม.
บันไดทางลงสู่ชั้นใต้ดิน ซึ่งชั้นใต้ดินบริเวณดังกล่าวมีความลึก 6 ม.
ชั้นใต้ดินบริเวณที่มีความลึก 10 ม.
บริเวณอาคารจอดรถ
มีป้ายระบุว่า ห้องผู้ควบคุมงาน โดยปรากฏสัญลักษณ์ กรมโยธาธิการและผังเมือง และ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ติดเหนือประตู
ติดกับห้องผู้ควบคุมงาน เป็นห้องที่ติดป้าย บริษัท รวมนครก่อสร้าง (ประเทศไทย) จำกัด
ภาพมุมสูง อาคารมาตรวิทยารังสีแห่งชาติ ซึ่งก่อสร้างถึงบริเวณชั้นที่ 3
ทั้งหมดนี้คือภาพล่าสุดของการก่อสร้างอาคารมาตรวิทยารังสีแห่งชาติ ที่สำนักข่าวอิศรานำมาเสนอ
ข้อสังเกตคือ จะเห็นว่า อาคารดังกล่าวก่อสร้างได้เพียงชั้นใต้ดินและชั้น 1-3 ซึ่งมีเพียงโครงสร้างหลักเท่านั้น เป็นที่น่าติดตามต่อไปว่า ชั้น 4-9 และส่วนที่เหลือ ไม่ว่าจะเป็นระบบไฟฟ้า ระบบปรับอากาศ สุขาภิบาล ประตูหน้าต่าง รวมถึงรายละเอียดทั้งภายในและภายนอก จะสามารถเสร็จได้ทันเวลาตามสัญญา 14 เม.ย. 2562 หรือไม่ ถึงแม้ว่า ปส. จะชี้แจงว่า หากเอกชนผู้รับจ้างทำไม่ทันตามกำหนดการก็ต้องเสียค่าปรับวันละ 0.01% ของมูลค่าโครงการ หรือประมาณ 500,000 บาท/วัน คำถามต่อมาคือ สาเหตุของความล่าช้านั้น เกิดจากการก่อสร้างที่ล่าช้าของเอกชนเอง หรือปัญหาจากการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐกันแน่ ต้องติดตามต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
เอ็กซ์คลูซีฟ: 'สนง.ปรมาณู' รับมีข้อผิดพลาดตรวจสอบไม่ถี่ถ้วน ปมสร้างตึก518 ล. ล่าช้า
ฉบับเต็ม! ผลสอบ คตร. ชุด 'อนันตพร' ก่อนชี้สร้างตึกสนง.ปรมาณู 518 ล.วางแผนจัดทำงบไม่รอบคอบ
เผยเบื้องหลังสร้างตึกสนง.ปรมาณู518ล.ล่าช้า! คตร.ชุด'อนันตพร' ชี้วางแผนจัดทำงบไม่รอบคอบ
เจาะสัญญาตึกสนง.ปรมาณู518ล. ก่อนถูกร้องเปลี่ยนทีโออาร์แบบฐานรากวุ่นสร้าง3ปีไม่เสร็จ
ร้อง ‘อิศรา’ สอบปมตึกสนง.ปรมาณู 518ล. เปลี่ยนทีโออาร์แบบฐานรากวุ่น สร้าง 3 ปีไม่เสร็จ