เปิดปม! สวมสิทธิ์หักหัวคิวเบี้ยเลี้ยงส.กีฬาฮอกกี้น้ำแข็ง-โค้ชแจงไม่จริงแค่ปรับแผนใช้งบ
"...ถ้าหากทางสมาคมฯตัดสินใจคืนเงินในส่วนผู้ที่ไม่ได้ไปร่วมการแข่งขันกลับไปยัง กกท. ในปีหน้า กกท. ก็อาจจะไม่ให้เงินของนักกีฬาตรงนี้กลับมายัง สมาคมฯได้ เพราะเขามองว่าเอาไปแล้วก็ไม่ได้ใช้ ดังนั้นสมาคมก็ต้องแปลงเงินตรงนี้ไปใช้อย่างอื่นเพื่อพัฒนาสมาคม..."
การจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงค่าฝึกซ้อมนักกีฬา ของ สมาคมกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งแห่งประเทศไทย กำลังถูกจับตามอง!
เมื่อสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจาก นายณัฏฐ์ ธีรณัฐสุภานนท์ เลขาธิการสมาคมธรรมาภิบาลแห่งชาติ ว่า มีการร้องเรียนจากนักกีฬาฮอกกี้น้ำแข็ง ใน 2 ประเด็น คือ 1. มีการสวมสิทธิ์รับเบี้ยเลี้ยงนักกีฬาเกิดขึ้น โดยในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ที่เมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ฤดูหนาว ที่เมืองซัปโปโระ ประเทศญี่ปุ่น ที่ผ่านมา มีนักกีฬาบางส่วนไม่ได้ไปร่วมการแข่งขัน แต่ปรากฏข้อมูลว่าในการเบิกงบประมาณของสมาคมฯ จากการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายนักกีฬา ค่าเบี้ยเลี้ยงนักกีฬา มีการนำชื่อนักกีฬาที่ไม่ได้ไปร่วมการแข่งขัน เข้าไปอยู่ในใบเบิกด้วย และในท้ายที่สุดนักกีฬาที่ไม่ได้ไปร่วมการแข่งขันก็ไม่ได้รับเงินแต่อย่างใด
2. มีประเด็นเรื่องของการหักหัวคิวการจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงให้กับนักกีฬา โดยสมาคมกีฬาฮอกกี้น้ำแข็ง ไปเบิกเงินจาก กกท.ให้เงินเบี้ยเลี้ยงกับนักกีฬาไม่ตรงตามยอดที่เบิกจาก กกท.
ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยังสมาคมกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งฯเพื่อขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงข้อร้องเรียนดังกล่าว เบื้องต้น ทางสมาคมฯ ได้ให้ทางสตาฟโค้ชรายหนึ่งเป็นผู้ชี้แจงแทน
โดยสตาฟโค้ชรายนี้ กล่าวถึงประเด็นการสวมสิทธิ์รับเงิน ว่า ไม่มีปัญหาเรื่องการสวมสิทธิ์รับเงินตามที่มีการร้องเรียนกับสื่อ การดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย
"ในกระบวนการขอเงินสนับสนุนจาก กกท. ทางสมาคมฯ จำเป็นต้องส่งรายชื่อนักกีฬาทั้งหมดที่มีไปให้กับ กกท. แต่ในเวลาต่อมา ทางสมาคมฯ ก็จะต้องคัดเลือกนักกีฬาที่ดีที่สุด 20 คน เพื่อเอาไปแข่งขัน แต่ถ้าหากทางสมาคมฯไม่ได้ส่งชื่อให้ กับ กกท.ไปตั้งแต่ต้น ก็หมายความว่าคนที่ไม่ถูกส่งชื่อไปจะหมดสิทธิ์การแข่งขัน หลังจากนั้นในช่วง 2 เดือนก่อนการไปแข่งขัน กกท. ก็จะต้องเอางบประมาณในการฝึกซ้อมมาดูว่าต้องทำอย่างไรบ้าง"
“สมมติว่ามีชื่ออยู่ 40 คน ส่งไปให้ กกท. เราก็ต้องตัดออกไปให้เหลือ 20 คน ซึ่งทุกสมาคมกีฬาทำแบบนี้กันหมด” สตาฟโค้ชรายนี้ระบุ
เมื่อถามว่า ถ้าหากมีการเสนอชื่อเบิกไปยัง กกท. แล้วปรากฏว่านักกีฬารายนั้นไม่ได้ไป แล้วเงินจะไปไหน สตาฟโค้ชรายนี้ กล่าวว่า "ก็ต้องมีการปรับแผน เงินก็จะไปเข้าค่าลานซ้อม มีการถัวเฉลี่ยมาเพื่อบริหารสมาคม หรือมาจัดแข่งลีกต่างๆ ยืนยันว่าไม่มีการนำไปเข้ากระเป๋าใครอย่างแน่นอน"
สตาฟโค้ชรายนี้ ยังย้ำว่า "จริงๆแล้วเรื่องนี้ ถ้าจะมีข้อผิดพลาดก็คงเป็นในส่วนของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การกีฬาแห่งประเทศไทย ที่ต้องให้สมาคมส่งตัวนักกีฬาทั้งหมดไป ซึ่งการแข่งขันโอลิมปิกโตเกียวในปี 2563 ทางสมาคมฯ ก็ต้องส่งตัวนักกีฬาที่มีไปทั้งหมดประมาณ 70 คน แต่ท้ายที่สุดก็ต้องมาคัดออกให้เหลือประมาณ 22 คน หรืออย่างกีฬาซีเกมส์ครั้งหน้าที่จะจัดแข่งขันกันที่ประเทศฟิลิปปินส์ ก็ต้องมาเตรียมนักกีฬาแล้ว โดยดูว่าจะมีใครบ้างที่จะเข้าข่ายได้ไปบ้างกี่คน ซึ่งผู้ที่ดูว่าเข้าข่ายนั้นท้ายที่สุดแล้วเขาก็อาจจะมีข้อจำกัดบางประการทำให้เขาไม่สามารถไปร่วมแข่งขันได้"
"ถ้าหากทางสมาคมฯตัดสินใจคืนเงินในส่วนผู้ที่ไม่ได้ไปร่วมการแข่งขันกลับไปยัง กกท. ในปีหน้า กกท. ก็อาจจะไม่ให้เงินของนักกีฬาตรงนี้กลับมายังสมาคมฯได้ เพราะเขามองว่าเอาไปแล้วก็ไม่ได้ใช้ ดังนั้น สมาคมก็ต้องแปลงเงินตรงนี้ไปใช้อย่างอื่นเพื่อพัฒนาสมาคม"
สตาฟโค้ชรายนี้ รายนี้ ยังระบุว่า ส่วนตัวแล้วเข้าใจว่าปัญหาอีกประการหนึ่งที่ทำให้มีการกล่าวหากันในประเด็นเรื่องการสวมสิทธิ์รับเบี้ยเลี้ยงในครั้งนี้ น่าจะเป็นเพราะเรื่องของตัวนักกีฬาเองที่เขาถูกตัดชื่อออกโดยโค้ชเพราะความสามารถไม่ถึง เขาก็เลยมาฟ้องร้องกัน เป็นคดีความไปเมื่อประมาณ 2 ปีก่อน ซึ่งเรื่องก็ยุติไปแล้ว"
เมื่อสอบถามถึงประเด็นข้อครหาการหักหัวคิวนักกีฬา สตาฟโค้ชรายนี้ ยืนยันว่า "ไม่มีเรื่องแบบนี้แน่นอน วิธีการรับเงินนั้นจะจ่ายเป็นแคชเชียร์เช็ค โดยสมาคมฯ ส่งให้กับตัวนักกีฬา ซึ่งเช็คนั้นเป็นชื่อสั่งจ่ายไปถึงตัวนักกีฬาโดยตรงอย่างแน่นอน และไม่มีการหักเงินที่ได้จาก กกท.แต่อย่างใด"
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/