โชว์รายได้8บ.ก่อนเลิกกิจการ! ข้อมูลบ.สุพรีมฯ ขายกุญแจนักโทษปี58 เหมือนไฮย์ซีเคียวฯเป๊ะ
"...จากข้อมูลงบการเงินทั้งหมด ชี้ให้เห็นว่า นับตั้งแต่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท 4 ปี จนกระทั่งแจ้งเลิกกิจการ งานที่สร้างรายได้สำคัญให้กับบริษัท มีงานเดียวคือ การขายเครื่องพันธนาการ (กุญแจมือ กุญแจเท้า) จำนวน 374 ชุด เป็นเงิน 1,000,000 บาท ให้ กรมราชทัณฑ์ เท่านั้น ขณะที่ข้อมูลการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท และลักษณะการทำธุรกิจ ก็เหมือนกับ บริษัท ไฮย์ ซีเคียวริตี้ คอนซัลแตนส์ จำกัด ทุกประการ..."
บริษัท ไฮย์ ซีเคียวริตี้ คอนซัลแตนส์ จำกัด ผู้ชนะขายเครื่องพันธนาการรูปแบบใหม่ (กุญแจเท้าความมั่นคงสูงนักโทษ) จำนวน 1,000 ชุด วงเงิน 8,500,000 บาท ให้กับกรมราชทัณฑ์ ในรายการจัดซื้อ 2 รายการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (เลขที่โครงการ : 57105167897) ถูกสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า นับตั้งแต่จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 17 ต.ค.2557 ก่อนจะแจ้งเลิกกิจการ เมื่อวันที่ 18 ต.ค.2561 รวมระยะเวลา 4 ปี ได้รับงานว่าจ้างจากหน่วยงานรัฐเพียงสัญญาเดียว คือ ขายเครื่องพันธนาการรูปแบบใหม่ (กุญแจเท้าความมั่นคงสูง) ในช่วงปลายปี 2557 วงเงิน 8,500,000 บาท ขณะที่ช่วงแจ้งเลิกกิจการ แจ้งมีรายได้จากการประกอบธุรกิจ แค่ 627.10 บาท (อ่านประกอบ : ตั้ง 4ปี ขายกุญแจนักโทษงานเดียว! แกะรอยไฮย์ซีเคียวฯ โชว์รายได้ก่อนเลิกกิจการ 627บ.)
น่าสนใจว่า ข้อมูลเชิงลึก บริษัท สุพรีม ซีเคียวริตี้ เซอร์วิส จำกัด ที่ปรากฎชื่อเข้าร่วมประกวดราคาซื้อเครื่องพันธนาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (เลขที่โครงการ : 57105167897) ของกรมราชทัณฑ์ (โครงการเดียวกับบริษัท ไฮย์ ซีเคียวริตี้ คอนซัลแตนส์ จำกัด ) ในรายการเครื่องพันธนาการ (กุญแจมือ กุญแจเท้า) จำนวน 374 ชุด ราคาชุดละ 3,208.56 บาท วงเงิน 1,200,000 บาท ก่อนที่ บริษัท สุพรีม ซีเคียวริตี้ เซอร์วิส จำกัด จะได้รับการคัดเลือก เป็นผู้ขายในรายการเครื่องพันธนาการ (กุญแจมือ กุญแจเท้า) จำนวน 1,000,000 บาท ดังกล่าว เป็นอย่างไรบ้าง?
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า บริษัท ไฮย์ ซีเคียวริตี้ คอนซัลแตนส์ จำกัด และ บริษัท สุพรีม ซีเคียวริตี้ เซอร์วิส จำกัด แจ้งจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทวันเดียวกัน คือ วันที่ 17 ต.ค.2557 และแจ้งเลิกบริษัทวันเดียวกัน คือ 18 ต.ค.2561 โดยการดำเนินการทั้ง 2 ส่วน ปรากฎชื่อพยานและผู้รับมอบอำนาจชุดเดียวกัน (อ่านประกอบ : ใช้พยานผู้รับมอบอำนาจตั้งบ.-เลิกกิจการชุดเดียวกัน! หลักฐาน2บ.ขายกุญแจนักโทษกรมราชทัณฑ์, ตั้งบ.วันเดียวกัน-แจ้งเลิกธุรกิจพร้อมกัน! เปิดตัว 2 เอกชน ขายกุญแจนักโทษกรมราชทัณฑ์ ปี58)
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลเอกสารหลักฐานจดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท สุพรีม ซีเคียวริตี้ เซอร์วิส จำกัด ที่แจ้งไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ในช่วงเริ่มต้นจดทะเบียนจัดตั้ง เมื่อวันที่ 17 ต.ค.2557 นายวสุพล ยงวัฒนานันท์ ปรากฎชื่อเป็นกรรมการผู้มีอำนาจ แจ้งทุน 1 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 1769 ถนนสุขุมวิท แขวงพระโขนงเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ
ผู้ริเริ่มก่อการตั้งบริษัท มี 3 ราย คือ นายวสุพล ยงวัฒนานันท์ (ถือหุ้นใหญ่สุด 8,000 หุ้น, เป็นผู้แจ้งจองชื่อตั้งบริษัท) นายวราวุฒิ บำรุงพันธ์ (ถือหุ้น 1,000 หุ้น) และนายโชติพัฒน์ นิธิสิริพงศ์ (ถือหุ้น 1,000 หุ้น)
นายสินชัย ตรีสุทธิวงษา และน.ส.สุดารัตน์ บรรเจิดรุ่งรวี ลงลายมือชื่อเป็นพยาน (ชุดเดียวกับที่ลงนามเป็นพยานให้กับ บริษัท ไฮย์ ซีเคียวริตี้ คอนซัลแตนส์ จำกัด)
แจ้งประกอบธุรกิจขายวัสดุเสริมความมั่นคงและวัสดุป้องกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินลวดหีบเพลง โล่ปราบจราจล และอุปกรณ์จราจล (ระบุเหมือนกับบริษัท ไฮย์ ซีเคียวริตี้ คอนซัลแตนส์ จำกัด ทั้งข้อความและตัวอักษร)
15 ก.พ.2559 บริษัทฯ แจ้งเปลี่ยนตัวกรรมการใหม่ จาก นายวสุพล ยงวัฒนานันท์ เป็น นายวรวุฒิ บำรุงพันธ์
นายวสุพล แจ้งเหตุผลลาออก เนื่องจากมีธุรกิจส่วนตัวมาก ไม่อาจช่วยบริหารงานบริษัทต่อไปได้
จากนั้นไม่ได้แจ้งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้บริหารเพิ่มเติมอีก
จนกระทั่งวันที่ 18 ต.ค.2561 ได้แจ้งจดทะเบียนเลิกบริษัทฯ โดยใช้ผู้รับมอบ และพยานคนเดียวกัน กับบริษัท ไฮย์ ซีเคียวริตี้ คอนซัลแตนส์ จำกัด คือ นายคุณาพันธ์ หอมแก่นจันทร์ และนางสาวนวพร นันทโยธาวุฒิ
ขณะที่จากการตรวจฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐ พบว่า บริษัท สุพรีม ซีเคียวริตี้ เซอร์วิส จำกัด ปรากฎชื่อเป็นคู่สัญญาขายเครื่องพันธนาการ (กุญแจมือ กุญแจเท้า) จำนวน 374 ชุด เป็นเงิน 1,000,000 บาท ให้กับกรมราชทัณฑ์ เพียงสัญญาเดียวเท่านั้น
สำหรับข้อมูลงบการเงิน ที่นำส่งให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้ารับทราบ มี 4 ปี คือ
ปี 2557 แจ้งว่า มีรายได้รวม 937.83 บาท รวมรายจ่าย 14,900 บาท ขาดทุนสุทธิ 13,962.17 บาท
ปี 2558 แจ้งว่า มีรายได้รวม 934,883.71 บาท รวมรายจ่าย 539,962.90 บาท กำไรสุทธิ 385,476.59 บาท (ช่วงขายเครื่องพันธนาการ ให้ กรมราชทัณฑ์ วงเงิน 1,000,000 บาท)
ปี 2559 แจ้งว่า มีรายได้รวม 531.19 บาท รวมรายจ่าย 14,350 บาท ขาดทุนสุทธิ 13,818.81 บาท
ปี 2560 แจ้งว่า มีรายได้รวม 8 บาท รวมรายจ่าย 9,200 บาท ขาดทุนสุทธิ 9,192 บาท
จากข้อมูลงบการเงินทั้งหมด ชี้ให้เห็นว่า นับตั้งแต่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท 4 ปี จนกระทั่งแจ้งเลิกกิจการ งานที่สร้างรายได้สำคัญให้กับบริษัท มีงานเดียวคือ การขายเครื่องพันธนาการ (กุญแจมือ กุญแจเท้า) จำนวน 374 ชุด เป็นเงิน 1,000,000 บาท ให้ กรมราชทัณฑ์ เท่านั้น เหมือน บริษัท ไฮย์ ซีเคียวริตี้ คอนซัลแตนส์ จำกัด
ขณะที่ข้อมูลการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ลักษณะการทำธุรกิจ ก็เหมือนกับ บริษัท ไฮย์ ซีเคียวริตี้ คอนซัลแตนส์ จำกัด เช่นกัน
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยัง นายวสุพล ยงวัฒนานันท์ ซึ่งปรากฎชื่อกรรมการผู้อำนาจ บริษัทสุพรีม ซีเคียวริตี้ เซอร์วิส จำกัด ช่วงตั้งบริษัทเมื่อปี 2557 เพื่อขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง บริษัท ไฮย์ ซีเคียวริตี้ คอนซัลแตนส์ จำกัด
นายวสุพล ยืนยันว่า ส่วนตัวแล้วไม่รู้จักกับทางบริษัท ไฮย์ ซีเคียวริตี้ฯ รวมถึงบริษัทคาร์โก แอนด์ ซัพพลายแต่อย่างใด และก็ไม่ได้ยุ่งกับบริษัทสุพรีมนานแล้ว นับตั้งแต่วันที่ไปทำธุรกิจและไปเรียนที่ประเทศจีน
"ส่วนการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ที่ผ่านมาก็จ้างคนอื่นทำงานให้ในเรื่องของการจดทะเบียนหมดเลย ส่วนเหตุผลที่ต้องใช้คนอื่นดำเนินการให้ก็เพื่อจะทำให้มั่นใจว่าจะไม่ได้ทำผิดในเรื่องของการชำระภาษีแต่อย่างใด"
เมื่อถามถึงประเด็นการจัดตั้งบริษัทเพียงแค่ 10 วันก่อนจะมีการออกประกาศจัดซื้อจัดจ้างของกรมราชทัณฑ์ นั้น นายวสุพลกล่าวว่า "ไม่ทราบรายละเอียดจริงๆเพราะว่าให้คนอื่นดำเนินการให้หมด"
นายวสุพล กล่าวต่อว่า "เท่าที่จำได้บริษัทเคยได้สัญญาขายกุญแจมือกับทางกรมราชทัณฑ์จริง เพราะส่วนตัวก็มีเส้นสายในการไปติดต่อกับบริษัทผลิตกุญแจมือที่สหรัฐอเมริกา และขอยืนยันว่าส่วนตัวแล้วไม่รู้จักกับนายวรวุฒิ บำรุงพันธุ์ ที่ปรากฏชื่อเป็นกรรมการผู้มีอำนาจคนล่าสุดก่อนที่บริษัทจะเลิกกิจการไปด้วย”
ขณะที่ นายพรนเรศ กลีบบัว กรรมการผู้มีอำนาจบริษัท ไฮย์ ซีเคียวริตี้ คอนซัลแตนส์ จำกัด ก็ยืนยันข้อมูลในลักษณะเดียวกัน ว่า ไม่รู้จักกับบริษัท สุพรีม ซีเคียวริตี้ เซอร์วิส จำกัด และไม่รู้เรื่องการจดทะเบียนก่อตั้งบริษัท และการแจ้งเลิกบริษัทวันเดียวกับบริษัท สุพรีม ซีเคียวริตี้ เซอร์วิส จำกัด แต่อย่างใด
ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ว่า แท้จริงแล้ว บริษัทเอกชนทั้ง 2 แห่ง เป็นกลุ่มเดียวหรือไม่ และการเข้าไปร่วมเข้าประกวดราคาแข่งขันงานขายเครื่องพันธนาการ 2 รายการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 ของกรมราชทัณฑ์ พร้อมกัน ก่อนจะได้รับงานกันไปบริษัทละ 1 รายการ จะมีเบื้องหน้าเบื้องหลังหรือไม่
คงเป็นหน้าที่ของ กรมราชทัณฑ์ รวมไปถึงหน่วยงานด้านตรวจสอบอย่างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่จะต้องเข้าไปตรวจสอบเพื่อทำความจริงให้ปรากฎต่อสาธารณชนโดยเร็ว
อ่านประกอบ :
ถึงคิว! อิศรา'ถาม'-กรมราชทัณฑ์ 'ตอบ' บ.ขายกุญแจความมั่นคงสูง ในไทยมีเจ้าเดียวจริงหรือ?
ไส้ใน 8 สัญญา จัดซื้อกุญแจมือ-เท้านักโทษ กรมราชทัณฑ์ 97 ล. 'คาร์โก้' คว้าเจ้าเดียว 86 ล.
เผยโฉมกุญแจมือ-เท้าความมั่นคงสูง'Peerlesss' บ.เจ้าเดียวในไทยขายกรมราชทัณฑ์ชุดละ9.9พัน
เบื้องลึก! กรมราชทัณฑ์จัดซื้อกุญแจเท้านักโทษ 49 ล. เอกชนเจ้าเดียวในไทย-อธิบดียันโปร่งใส
เผยโฉมกุญแจเท้านักโทษ Smith&Wesson หลังบ.คาร์โก้ฯ แจงไม่มีจำหน่ายในไทย-คู่ละ5.7พัน
อิศรา'ถาม'-บ.คาร์โก้เคมี 'ตอบ' ว่าด้วยปมผูกขายกุญแจมือ-เท้า กรมราชทัณฑ์ 85ล.