จับตา รบ. คลอดเกณฑ์จำกัดใช้‘ไกลโฟเซต’หลังศาลสั่ง บ.มอนซานโตแพ้คดีชดใช้ 9.6 พันล.
จับตาท่าทีรัฐบาลไทยต่อนโยบายสารเคมีเกษตร หลัง ‘มอนซานโต’ ชดใช้ 9.6 พันล. คดีไม่มีคำเตือนเพียงพอ ‘ราวด์อั๊พ’ อาจก่อให้เกิดมะเร็ง จากส่วนประกอบ ‘ไกลโฟเซต’
เป็นประเด็นที่สังคมต้องจับตาอีกครั้ง!
โดยเฉพาะท่าทีของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ต่อนโยบายการจำกัดการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช ‘ไกลโฟเซต’ ซึ่งมีชื่อทางการค้าว่า ราวด์อั๊พ วันอัพ มาร์เก็ต ไกลโฟเซต 48 และอื่น ๆ
หลังจากคณะลูกขุนแห่งศาลแขวงรัฐบาลกลางในเมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ มีมติเอกฉันท์ให้บริษัท มอนซานโต มีความผิดฐานปราศจากความรับผิดชอบต่อลูกค้า เนื่องจากไม่มีคำเตือนเพียงพอว่าสารเคมีกำจัดวัชพืชในชื่อ "ราวด์อั๊พ" ( RoundUp ) อาจก่อให้เกิดมะเร็งกับผู้ใช้ จากการมีส่วนประกอบของไกลโฟเซต จึงมีคำสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 289 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 9,594.8 ล้านบาท แก่นายดีเวย์น จอห์นสัน วัย 42 ปี ซึ่งล้มป่วยด้วยมะเร็งมาตั้งแต่ ปี 2557
(อ่านประกอบ: "มอนซานโต" โดนปรับเกือบ1หมื่นล้านบาท คดีสารก่อมะเร็ง)
ข้อมูลจากเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thailand Pesticide Alert Network:Thai Pan) เคยระบุไว้เมื่อ 11 ก.ย. 2560 ถึงเหตุผลสนับสนุนให้จำกัดการใช้ ‘ไกลโฟเซต’ ไว้ก่อนหน้านี้ โดยอ้างอิงจากสถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ องค์การอนามัยโลก (The International Agency for Research on Cancer: IARC/WHO) ซึ่งเผยแพร่เมื่อ 20 มี.ค. 2558
รายงานฉบับดังกล่าว พบว่า ไกลโฟเซตเป็ น "สารที่น่าจะก่อมะเร็ง" (probably carcinogenic to humans) ในมนุษย์ (Category 2A) เนื่องจากมีหลักฐานเพียงพอ (sufficient evidence) ว่าก่อมะเร็งในสัตว์ทดลอง และหลักฐานที่หนักแน่น (strong evidence) ว่าก่อให้เกิด ความผิดปกติของสารพันธุกรรม (ทำลายยีนและ/หรือโครโมโซม)
ทั้งนี้ ตัวอย่างงานวิจัยสำคัญที่ทำในประเทศไทยและแพร่หลายไปทั่วโลก คือ งานวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Food and Chemical Toxicology ในปี 2556 พบว่าไกลโฟเซตสามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมชนิดพึ่งพาฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ในปริมาณที่ต่ำมากและเป็นช่วงที่พบได้ในสิ่งแวดล้อม
ผู้วิจัยคณะนี้พบว่าสารไกลโฟเซตระดับต่ำทำให้เซลล์มะเร็งที่ไวต่อเอสโตรเจนเพิ่มจำนวนขึ้น 5-13 เท่า ทั้งที่ส่วนใหญ่แล้วเซลล์มะเร็งเต้านมในมนุษย์จะไวต่อเอสโตรเจน
ขณะที่ทั่วโลกมีศรีลังกาและมอลตา เป็น 2 ประเทศที่ห้ามใช้ ‘ไกลโฟเซต’ ส่วนประเทศต่าง ๆ ในยุโรป เช่น เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ และโคลัมเบีย รวมถึงเมืองและเขตปกครองท้องถิ่นจำนวนมากในยุโรปและแคนาดา ได้จำกัดการใช้
ส่วนประเทศไทย มีมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ห้ามใช้ในพื้นที่ต้นน้ำ บริเวณแม่น้ำลำคลอง แหล่งน้ำ และพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงพื้นที่สาธารณะ เขตชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่เปราะบาง โรงเรียน โรงพยาบาล ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
อย่างไรก็ตาม รายละเอียดการจำกัดการใช้สารเคมีชนิดนี้ รวมถึง พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ปัจจุบันกำลังอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งกรมวิชาการเกษตร ได้ยื่นร่างหลักเกณฑ์ไปเมื่อ ก.ค. 2561 ตามกรอบเงื่อนไขเวลา 60 วัน ภายหลังมีมติไม่ยกเลิกการใช้ในประเทศ
รู้เช่นนี้แล้ว รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้กำกับนโยบาย อาจต้องตัดสินใจใหม่ว่าจะยกเลิกการใช้หรือกำหนดหลักเกณฑ์ให้รัดกุมเข้มงวดเพิ่มมากขึ้น เพื่อสุขภาพของคนไทยในอนาคต .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ