- Home
- Isranews
- เอ็กซ์คลูซีฟ: เปิดประกาศ บ.ญี่ปุ่น แจงเหตุจ่ายสินบน20ล.แลกเปิดท่าเรือ-พนง.โชว์สปิริตคืนเงินด.
เอ็กซ์คลูซีฟ: เปิดประกาศ บ.ญี่ปุ่น แจงเหตุจ่ายสินบน20ล.แลกเปิดท่าเรือ-พนง.โชว์สปิริตคืนเงินด.
'...ช่วงเดือน ก.พ.ปี 2558 เจ้าหน้าที่ของบริษัท MHPS ที่รับผิดชอบด้านการขนส่งชิ้นส่วนได้รับข้อความว่าเมื่อผู้รับเหมารายย่อยของบริษัทซึ่งทำหน้าที่ขนส่งชิ้นส่วนที่จำเป็นในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทางเรือ จะขนย้ายชิ้นส่วนขึ้นบนท่าเทียบเรือชั่วคราวใกล้กับไซต์งานก่อสร้างโรงไฟฟ้า ประชาชนในพื้นที่ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งคาดว่าน่าจะมาจาก กรมเจ้าท่า จ.นครศรีธรรมราช ได้ปิดท่าเรือชั่วคราว เพื่อไม่ให้ขนย้ายชิ้นส่วนก่อสร้าง โดยเรียกร้องเงินเป็นจำนวน 20 ล้านบาท เพื่อแลกกับการเปิดท่าเรือ...'
ยังคงเป็นประเด็นที่ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ให้ความสำคัญติดตามตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง!
สำหรับ กรณี สำนักงานสืบสวนพิเศษของอัยการกรุงโตเกียว ได้สืบสวนบริษัทมิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ จำกัด หรือ MHPS ในข้อหาละเมิดกฎหมายป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ในการจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ทางการของประเทศไทย เกี่ยวกับงานโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าโรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 4 โดยมีรายงานข่าวว่า เจ้าหน้าที่ของบริษัทมิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ ได้ให้สินบนกับเจ้าหน้าที่ทางการของไทย ผ่านนายหน้ารายหนึ่ง เป็นมูลค่ากว่า 60 ล้านเยน หรือราว 20 ล้านบาท ขณะที่ นายวิทยา อาคมพิทักษ์ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยกับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 20 ก.ค.2561 ว่า ป.ป.ช.ได้รับการร้องเรียนเรื่องนี้ และมีการตรวจสอบไปแล้ว 70-80 % โดยได้ร่วมมือกับอัยการญี่ปุ่นในการรวบรวมข้อมูล พยานหลักฐาน ซึ่งพบว่ามีผู้เกี่ยวข้องเป็นระดับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ 4-5 คน ที่เรียกรับสินบน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วย เช่น กรมศุลกากร กรมเจ้าท่า เจ้าของพื้นที่ และท้องถิ่น ทั้งนี้ข้อมูลที่ได้เพียงพอต่อการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว โดยจากนี้ก็ต้องรอผลสรุปเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาและเปิดโอกาสเพื่อให้ความเป็นธรรมให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงต่อไป แต่ตอนนี้ยังไม่ได้นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ป.ป.ช. คาดว่าเร็ว ๆ นี้จะดำเนินการได้ (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.สอบสินบน บ.ญี่ปุ่น20 ล. คืบหน้า80% เผยจนท.พื้นที่เอี่ยว 4-5 ราย-มีกรมศุลฯด้วย)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2561 ที่ผ่านมา บริษัทมิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ จำกัด หรือ MHPS ได้ออกประกาศข่าวการดำเนินการภายในองค์กร ณ เมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
"สืบเนื่องจากกรณีที่มีการรายงานข่าวตามหน้าสื่อมวลชน ถึงข้อกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ของบริษัทซึ่งอยู่ในเครือบริษัท Mitsubishi Hitachi Power Systems, Ltd. (MHPS) มีส่วนพัวพันกับคดีสินบนจำนวน 20 ล้านบาท ในวันนี้ MHPS ได้รับแจ้งข้อมูลว่าอดีตพนักงานระดับบริหาร ได้แก่ อดีตรองประธานบริษัทฝ่ายบริหาร หัวหน้าศูนย์วิศวกรรมของบริษัท และรองประธานบริษัทระดับอาวุโส ผู้จัดการทั่วไปในแผนกจัดซื้อจัดจ้างและแผนกจัดหาทรัพยากร และอดีตผู้จัดการทั่วไปของแผนกโลจิสติกส์ ทั้งหมดถูกดำเนินคดีเนื่องจากต้องสงสัยว่าจะมีพฤติกรรมที่ละเมิดกฎหมายป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม(Unfair Competition Prevention Act) สืบเนื่องจากการเสนอเงินสินบนให้กับเจ้าพนักงานของรัฐ ในต่างประเทศ
ทางบริษัท MHPS ขอนำเรียนว่าที่ผ่านมาบริษัทได้ดำเนินกิจการตามกฎหมายและระเบียบ ข้อห้ามต่างๆอย่างเคร่งครัด ดังนั้นทางบริษัทจึงรู้สึกเสียใจและต้องขออภัยอย่างสุดซึ้งต่อลูกค้าและผู้ถือหุ้นของบริษัท ต่อเหตุการณ์นี้ มา ณ ที่นี้ด้วย
บริษัท MHPS ได้ตระหนักถึงความร้ายแรงของข้อกล่าวหานี้ และจะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อสร้างความมั่นใจว่า หลังจากนี้พนักงานและเจ้าหน้าที่ของบริษัท MHPS จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือมีพฤติกรรมการทำผิดกฎหมายเช่นนี้อีก เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นและมั่นใจในบริษัท MHPS ให้กลับมาโดยเร็ว
1.ข้อเท็จจริงโดยรวมเกี่ยวกับคดีนี้
ข้อกล่าวหาดังกล่าวนั้นเกี่ยวข้องกับโครงการการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนของบริษัท MHPS ในพื้นที่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช โดยช่วงเดือน ก.พ.ปี 2558 เจ้าหน้าที่ของบริษัท MHPS ที่รับผิดชอบด้านการขนส่งชิ้นส่วนได้รับข้อความว่าเมื่อผู้รับเหมารายย่อยของบริษัทซึ่งทำหน้าที่ขนส่งชิ้นส่วนที่จำเป็นในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทางเรือ จะขนย้ายชิ้นส่วนขึ้นบนท่าเทียบเรือชั่วคราวใกล้กับไซต์งานก่อสร้างโรงไฟฟ้า ประชาชนในพื้นที่ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งคาดว่าน่าจะมาจาก กรมเจ้าท่า จ.นครศรีธรรมราช ได้ปิดท่าเรือชั่วคราว เพื่อไม่ให้ขนย้ายวัตถุดิบ โดยเรียกร้องเงินเป็นจำนวน 20 ล้านบาท เพื่อแลกกับการเปิดท่าเรือ
การที่ท่าเรือถูกปิดนั้นเป็นความผิดพลาดที่ทางผู้ให้บริการขนส่งไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้น ดังนั้น ความจำเป็นอย่างเร่งด่วนก็คือการเปิดท่าเทียบเรือให้ใช้การได้ตามปกติ เพราะถ้าหากการปิดท่าเทียบเรือยังดำเนินต่อไป ก็จะส่งผลทำให้การขนส่งชิ้นส่วนมีความล่าช้า และจะส่งผลทำให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าล่าช้าตามไปด้วย ซึ่งกรณีนี้จะทำให้บริษัท MHPS ต้องเสียค่าใช้จ่ายอีกจำนวนมาก เพราะฉะนั้นเพื่อหลีกเรื่องไม่ให้บริษัทต้องพบเจอกับสถานการณ์เลวร้ายดังกล่าว เจ้าหน้าที่ของบริษัท MHPS จึงได้มอบเงินจำนวน 20 ล้านบาทให้กับผู้รับเหมารายย่อยเพื่อนำเงินไปจ่ายตามคำเรียกร้องของผู้ที่ปิดท่าเรือ สถานการณ์จึงถูกคลี่คลายด้วยดี
แต่อย่างไรก็ตาม บริษัท MHPS ไม่สามารถจะยืนยันข้อมูลได้ว่าผู้รับเหมารายย่อยได้นำเงินไปมอบให้กับเจ้าหน้าพนักงานรัฐของไทยหรือไม่
สำหรับที่ไปที่มาของเงินจำนวน 20 ล้านบาทนั้นมาจากเงินที่ทางเจ้าหน้าที่สังกัดบริษัทในเครือ MHPS ในช่วงเวลาดังกล่าว ได้ตระเตรียมเอาไว้เพื่อจะว่าจ้างผู้รับเหมาในระดับท้องถิ่นให้ทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งให้ ซึ่งงานที่ว่านั้นไม่มีอยู่จริง
2.ท่าทีของบริษัท MHPS หลังจากรับรู้ว่ามีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้น
ในช่วงเดือน มี.ค. 2558 บริษัท MHPS ตระหนักว่าอาจจะมีการจ่ายเงินด้วยกระบวนการทางการเงินซึ่งไม่ถูกต้องให้กับเจ้าหน้าที่ทางการไทย ภายหลังจากที่มีบุคลากรในบริษัทออกมาเปิดโปงเรื่องนี้ ซึ่งหลังจากกรณีดังกล่าวบริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด แต่ได้ดำเนินการสอบสวนเป็นการภายในโดยทันที และในเดือนเดียวกันนั้นเองบริษัทก็ได้ว่าจ้างสำนักกฎหมายให้ดำเนินการสอบสวนเพื่อจะให้ได้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องมากขึ้น โดยมีการสัมภาษณ์เก็บข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้องรวมไปถึงการรวบรวมหลักฐานต่างๆ โดยสำนักกฎหมายซึ่งบริษัทได้จ้างมา
ท้ายที่สุด เนื่องจากมีแนวโน้มว่ากรณีนี้อาจจะมีการละเมิดกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้น ในเดือน มิ.ย.ปี 2558 ทางบริษัทจึงได้นำเรื่องรายงานไปยังสำนักงานอัยการประจำเขตกรุงโตเกียว
3.การใช้ระบบข้อตกลงฟ้องร้อง
ในปี 2558 ในช่วงเวลาที่บริษัทได้รายงานเรื่องนี้ให้กับสำนักอัยการ ในช่วงเวลานั้น ยังไม่มีการบังคับใช้ระบบข้อตกลงฟ้องร้องเกิดขึ้น ในช่วงเวลา 3 ปีหลังจากนั้น บริษัท MHPS จึงได้ให้ความร่วมมือกับสำนักงานอัยการฯอย่างเต็มที่เพื่อดำเนินการสืบสวนคดี และสำนักอัยการฯก็รับรู้ความร่วมมือในด้านคดีของบริษัทเป็นอย่างดี ดังนั้นในเดือน มิ.ย. 2561 จึงมีการตกลงว่าจะใช้ระบบข้อตกลงฟ้องในคดีนี้
แต่อย่างไรก็ตาม บริษัท MHPS เข้าใจดีว่าแม้ว่าจะใช้ระบบข้อตกลงฟ้องหรือไม่ก็ตาม ข้อหาที่ถูกฟ้องต่อพนักงานระดับบริหารของบริษัท MHPS ก็ยังคงไม่เปลียนแปลงไป แต่ทั้งนี้บริษัท MPHS เชื่อว่าการให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับสำนักงานอัยการฯภายใต้ระบบข้อตกลงฟ้อง เพื่อเปิดเผยข้อเท็จจริงของคดีนี้นั้นเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลและควรกระทำ เพื่อจะรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นและสร้างความเชื่อมั่นว่าพนักงานของบริษัทซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคดีนี้จะได้รับการคุ้มครอง
4.การออกมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีแบบนี้ขึ้นมาอีก
บริษัท MPHS ได้รวบรวมผลการสอบสวนภายในซึ่งได้ดำเนินการจนได้ผลการสอบสวนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อจะหาแนวทางการป้องกันเหตุการณ์ในลักษณะคล้ายกันซึ่งอาจจะเกิดได้ในอนาคต ซึ่งหลังจากนี้เจ้าหน้าที่บริษัทจะต้องปฏิบัติตามมาตรการ ข้อบังคับของบริษัทอย่างเคร่งครัด และบริษัทจะต้องเสริมสร้างกลไกการตรวจสอบภายในให้มีความเข้มแข็งมากกว่าเดิม
โดยมาตรการของบริษัทเพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดกรณีการเข้าไปพัวพันกับคดีสินบนจะมีดังต่อไปนี้
การสร้างกลไกเพื่อรายงานถึงสิ่งที่เกิดขึ้นภายในบริษัท โดยใช้วิธีที่หลากหลาย รวมไปถึงการใช้ช่องทางออนไลน์ และการติดตั้งโทรศัพท์ไม่เสียเงินภายในองค์กรของ MHPS เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของบริษัทได้รายงานถึงสิ่งที่ต้องการได้อย่างทันท่วงที
การสร้างกลไกการตรวจสอบอย่างเป็นระบบและระเบียบด้วยความละเอียด และความรอบคอบ ทั้งก่อนหน้าและหลังจากที่บริษัทได้รับคำสั่งให้ดำเนินการก่อสร้างต่างๆ
การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบตรวจสอบทางบัญชีของบริษัทโดยมุ่งเน้นไปที่การใช้จ่ายซึ่งกระทำจากบุคคลากรของบริษัทซึ่งทำหน้าที่ในไซต์งานที่ต่างประเทศ
การเสริมสร้าง พัฒนาทักษะให้กับบุคลากรระดับบริหารเพื่อสร้างหลักประกันว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกโดยจะมีการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกบริษัทซึ่งมีควาเชี่ยวชาญในการป้องกันการให้สินบนมาฝึกอบรมให้กับบุคคลากรของบริษัทด้วย
5.การดำเนินการทางวินัยกับบุคลากรในบริษัท
เมื่อเดือน ก.พ.ปี 2559 ได้มีการดำเนินการทางวินัยกับบุคลากรของบริษัทซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการจ่ายเงินโดยมิชอบไปแล้ว นอกจากนี้ผู้ที่ทำหน้าที่ทั้งในระดับผู้จัดการ ระดับประธาน และระดับพนักงานผู้รับผิดชอบตรวจสอบด้านฝ่ายขายและปฏิบัติการณ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในเดือน ก.พ. 2558 ยังได้แสดงความรับผิดชอบ โดยทั้งหมดได้ติดสินใจคืนเงินเดือน ค่าตอบแทนที่ได้รับจากบริษัทเป็นจำนวนดังต่อไปนี้
1.ระดับประธานบริษัท จะคืนเงินเดือนที่ได้รับจำนวน 30 เปอร์เซ็นต์เป็นระยะเวลา 3 เดือน
2.ระดับผู้บริหารอาวุโสซึ่งทำหน้าที่เป็นรองประธานบริษัทรับผิดชอบในด้านฝ่ายขาย จะคืนเงินเดือนเป็นจำนวน 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นระยะเวลา 3 เดือน
3.ระดับผู้ดูแลด้านธุรกิจและวางแผนเชิงกลยุทธ์ จะคืนเงินเดือนให้จำนวน 20 เปอร์เซ็นต์เป็นระยะเวลา 3 เดือน
4.ระดับผู้จัดการอาวุโสซึ่งดูแลในแผนกการจัดการและบริหาร จะคืนเงินเดือนให้จำนวน 10 เปอร์เซ็นต์เป็นระยะเวลา 3 เดือน"
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีการจ่ายเงินสินบน 20 ล้านบาท ให้กับเจ้าหน้าที่ทางการไทย ที่ถูกเปิดเผยล่าสุดจาก บริษัท MHPS ซึ่งสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบ และนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบข้อเท็จจริง
บทความดั้งเดิมจาก เว็บไซต์ของบริษัท MHPS (http://www.mhps.com/news/20180720.html)
อ่านประกอบ :
ป.ป.ช.สอบสินบน บ.ญี่ปุ่น20 ล. คืบหน้า80% เผยจนท.พื้นที่เอี่ยว 4-5 ราย-มีกรมศุลฯด้วย
ผู้บริหารฯ ยังไม่ชี้แจงอะไร! เปิดตัวบ.MHPS ก่อนบริษัทแม่ญี่ปุ่น ถูกสอบจ่ายสินบนจนท.ไทย20ล.
เช็คโพรไฟล์ธุรกิจ MHPS ก่อนบ.แม่ญี่ปุ่น ถูกสอบปมจ่ายสินบนจนท.ไทย20ล.
กัลฟ์ฯ แจ้งตลท.ยันโครงการโรงไฟฟ้าทั้งหมดไม่เกี่ยวข้องกรณี MHPS จ่ายสินบนจนท.ไทย
ชัดแล้ว! สินบน20ล.บ.ญี่ปุ่น โยงงานขนส่งโรงไฟฟ้าขนอม-ป.ป.ช.ตั้งอนุฯ ลุยสอบสนง.เจ้าท่านครศรีฯ
ทำความรู้จัก'การต่อรองการรับสารภาพ'จุดเริ่มต้นคดีบ.ญี่ปุ่นจ่ายสินบน 20ล.-เหตุเกิดที่ขนอม