เผยแพร่ระเบียบฯ คุมเข้มอปท.กู้เงิน -กู้ได้มีภาระหนี้ไม่เกิน 10% ของรายได้
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ระเบียบคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การกู้เงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2561 คุมเข้มอปท.กู้เงิน ระบุชัด ให้อปท.กู้เงินลงุทนได้เมื่อการกู้นั้นไม่ก่อให้เกิดภาระชำระหนี้เกินกว่าร้อยละ 10 ต่อรายได้เฉลี่ย
วันที่ 17 กรกฎาคม ราชกิจจนานุเบกษา เผยแพร่ ระเบียบคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การกู้เงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2561 โดยนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 (3) แห่งพระราชบัญญัติบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีออกระเบียบไว้
สาระสำคัญ ของระเบียบดังกล่าว อาทิ
ข้อ 4 ระเบียบนี้ใช้บังคับกับการกู้เงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยกเว้นการกู้เงินจากเงินทุนส่งเสริมกิจการองค์การบริหารส่วนจังหวัด เงินทุนส่งเสริมกิจการเทศบาล เงินทุนส่งเสริมกิจการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น
การกู้เงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ข้อ 6 การกู้เงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องกระทำโดยความรอบคอบและคำนึงถึงความคุ้มค่า ความยั่งยืนทางการคลัง ความสามารถในการจัดหารายได้ การชำระหนี้ การกระจายภาระการชำระหนี้ เสถียรภาพและความยั่งยืนทางการคลัง ทั้งนี้ ให้มีการติดตามประเมินผลการรายงาน การใช้จ่ายเงินกู้ และการเปิดเผยต่อประชาชนในท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง
ข้อ 7 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกู้เงินได้เฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
1) การดำเนินโครงการลงทุน
2) การปรับโครงสร้างหนี้
3) ทุนหมุนเวียน
ข้อ 8 โครงการลงทุนที่จะดำเนินการกู้เงินตามข้อ 7 (1) ต้องมีลักษณะเป็นโครงการที่มีเป้าหมายในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต ส่งเสริมการประกอบอาชีพหรือสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน หรือก่อให้เกิดการเพิ่มพูนรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือเป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
1) เป็นโครงการตามอำนาจหน้าที่และภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
2) เป็นโครงการที่อยู่ในแผนพัฒนาท้องถิ่น
3) ไม่เป็นโครงการที่ดำเนินการแข่งขันกับเอกชน
4) ไม่เป็นโครงการเกี่ยวกับการศึกษาวิจัย ทัศนศึกษาดูงาน หรือการจัดซื้อวัสดุครุภัณฑ์ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวม
5) ไม่เป็นโครงการที่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
การจัดทำโครงการลงทุนเพื่อขอความเห็นชอบหรืออนุมัติการกู้เงินดังกล่าวตามที่กฎหมายกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมทางด้านเทคนิค และแสดงให้เห็นถึงรายได้หรือผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคม พร้อมทั้งรายละเอียดและวงเงินกู้ของโครงการฯ รวมถึงแผนการชำระหนี้เงินกู้จากผลตอบแทนของโครงการ
หากโครงการลงทุนที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสนอขอกู้เงินตามวรรคหนึ่งอาจมีผลกระทบต่อชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นวิเคราะห์ผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และปัจจัยอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นและเปิดเผยต่อสาธารณชน และต้องจัดให้มีการรับฟังความเห็นตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่ ข้อ 11 ระบุ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะกู้เงิน ตามข้อ 7(1) ได้เมื่อการกู้นั้นไม่ก่อให้เกิดภาระชำระหนี้เกินกว่าร้อยละ 10 ต่อรายได้เฉลี่ย
รายได้เฉลี่ยตามวรรคหนึ่งให้คำนวณจากประมาณการรายได้ตามเอกสารงบประมาณท้องถิ่นในปีที่กู้เงิน และรายได้ย้อนหลังสองปี
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจกู้เงินเมื่อมีภาระชำระหนี้เกินกว่าอัตราที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่งได้ หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความสามารถในการชำระหนี้โดยไม่กระทบต่อรายได้ประจำ ทั้งนี้ให้ดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในข้อ 22
ข้อ 22 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการกู้เงินก่อนการกู้เงิน เพื่อดำเนินโครงการลงทุนตามข้อ 7 (1) และการกู้เงินเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้ตามข้อ 7 (2) แก่ประชาชนในท้องถิ่นเพื่อรับฟังความคิดเห็นเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วันก่อนเสนอผู้มีอำนาจพิจารณาให้ความเห็นชอบหรืออนุมัติตามกฎหมาย
นอกจากการดำเนินการตามวรรคหนึ่งในกรณีที่เป็นการกู้เงินตามข้อ 11 วรรคสาม ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสนอข้อมูลก่อนการกู้เงินต่อกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอความเห็นชอบหรืออนุมัติ
ให้ผู้ซึ่งมีอำนาจพิจารณาให้ความเห็นชอบหรืออนุมัติการกู้เงินองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำผลการรับฟังความเห็นตามวรรคหนึ่งประกอบการพิจารณา
อ่านฉบับเต็ม ระเบียบคณะกรรมการหนี้สาธารณะให้ อปท.กู้เงินได้http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/E/170/1.PDF