ใกล้เป็นจริงแล้ว! ประเทศไทยปลอดไขมันทรานส์
การออกกฎหมายมาบังคับใช้จากนี้ ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ไขมันทรานส์ นอกจากทำให้คนไทยปลอดภัยมากขึ้นแล้ว เชื่อว่า ผู้ประกอบการ ทั้งผู้ผลิต และนำเข้า ผลิตภัณฑ์อาหาร จะสามารถปรับปรุงสูตรได้ทัน เนื่องจากที่ผ่านมามีการรับรู้ถึงผลกระทบต่อสุขภาพ มีการปรับตัวเรื่องนี้มาตลอด
“ประเทศไทยปลอดไขมันทรานส์” อีก 6 เดือนนับจากนี้ นับเป็นฝันที่เป็นจริง เมื่อกระทรวงสาธารณสุขของไทย ออกประกาศเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2561 ให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partiallydrogenated Oils) และอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน เป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย (อ่านประกอบ:อีก 6 เดือน ห้ามผลิต นำเข้า จำหน่าย กรดไขมันทรานส์)
ในความหมายที่เข้าใจกันก็ คือ กรดไขมันทรานส์ (Trans Fatty Acids) นั่นเอง
หลายปีมาแล้วที่ทั่วโลกให้ความสนใจ กรดไขมันทรานส์ เนื่องจากพบว่า มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชัดเจนว่า มีอันตรายต่อสุขภาพทั้งในการเพิ่มปริมาณ LDL -Cholesterol และลดปริมาณ HDL-Cholesterol ในเลือด ส่งผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
การปนเปื้อนกรดไขมันทรานส์ จึงเป็นประเด็นที่รัฐบาลประเทศพัฒนาแล้วมีการควบคุมอย่างเข้มงวด ในบ้านเราได้เคยมีการสำรวจสถานการณ์การปนเปื้อนของกรดไขมันชนิดทรานส์ ในผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศ เมื่อปี 2550 โดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ระบุถึงผลการศึกษาพบว่า ในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐ แคนนาดา สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ได้มีข้อกำหนดและคำแนะนำการบริโภคกรดไขมันทรานส์ (TFA) ที่หลากหลาย แต่อยู่ในทิศทางเดียวกัน คือ เน้นให้มีปริมาณ "ต่ำสุด" และกำหนดว่า ต้องแจ้งให้ผู้บริโภคทราบ
- ในปี 2006 องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ได้กำหนดให้อาหารทุกประเภทที่จำหน่ายในประเทศ ต้องระบุปริมาณกรดไขมันทรานส์ไว้บนฉลากโภชนาการของผลิตภัณฑ์ บางรัฐในสหรัฐ เช่น นิวยอร์ก และชิคาโก ได้มีมาตรการเพิ่มเติมในการควบคุมไม่ให้มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่ปนเปื้อน TFA
- หรืออย่าง ล่าสุด ประเทศแคนนาดา ก็ห้ามใช้ trans fats เป็นส่วนประกอบในอาหาร และผลิตภัณฑ์อาหาร คาดว่า มีผลบังคับใช้เดือนกันยายน 2561 นี้ ซึ่งที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอาหารที่ใช้ไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบในอาหาร ก็เลิกใช้ด้วยความสมัครใจเอง จนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแคนนาดา ออกมาระบุถึงความสำเร็จในการปกป้องสุขภาพคนบ้านเขา (ที่มา:https://www.ctvnews.ca/health/health-canada-announces-ban-on-oils-used-in-making-trans-fats-1.3591766
ขณะที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็แนะนำให้บริโภคไขมันทรานส์ไม่เกิน 2.2 กรัมต่อวัน หรือ 0.5 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค เพื่อสุขภาพที่ดี
นอกจากนี้ สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เคยสำรวจปริมาณไขมันทรานส์ในอาหารและผลิตภัณฑ์อาหาร โดยมีการสุ่มตัวอย่างจำนวน 162 ตัวอย่าง พบว่า อาหารที่มีการปนเปื้อนไขมันทรานส์เป็นลำดับต้นๆ ได้แก่
- มาการ์รีน
- โดนัททอด
- พาย
- พัฟและเพสตรี
- เวเฟอร์ช็อกโกแลต
ตามลำดับ
หรือแม้แต่ในเครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผงบางยี่ห้อ นิตยสารฉลาดซื้อ ก็เคยสุ่มตรวจพบ มีปริมาณกรดไขมันดังกล่าวสูง (อ่านประกอบ:‘ฉลาดซื้อ’ เผยเครื่องดื่มทรีอินวันบางยี่ห้อ มีไขมันทรานส์สูง แนะเลี่ยงบริโภค)
ส่วนงานวิจัยของประเทศเดนมาร์ก พบว่า การบริโภคไขมันทรานส์น้อยลง มีความสัมพันธ์กับการลดลงอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจทั้งในกลุ่มเพศชายและเพศหญิง
จะเห็นว่า มีหลักฐานงานวิจัยและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ปรากฎชัดและแสดงให้เห็นถึงการบริโภคไขมันทรานส์ที่เกิดจากกระบวนการอุตสาหกรรม ทำให้เกิดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดสูง และเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ขณะที่การบริโภคไขมันทรานส์ที่มาจากแหล่งธรรมชาติไม่มีผลต่อการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้สอบถามผู้เชี่ยวชาญที่ติดตามเรื่องนี้ ระบุว่า ที่ผ่านมา อย.ไทยยังไม่ได้มีการควบคุมไขมันทรานส์อย่างจริงจัง อาจด้วยการบริโภคยังไม่มากเหมือนสหรัฐฯ แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มบริโภคไขมันทรานส์เพิ่มมากขึ้น พร้อมกันเชื่อว่า ประกาศสธ.ฉบับนี้ กระทบผู้ประกอบการ และอุตสาหกรรมอยู่พอสมควร ทั้ง เบเกอรี่ เฟรนฟราย คอฟฟีเมต นมใส่กาแฟสด ฯลฯ
ส่วนหน่วยงานภาครัฐเอง ก็มองต่างถึงการออกกฎหมายมาบังคับใช้จากนี้ ทั้งห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย นอกจากทำให้คนไทยปลอดภัยมากขึ้นจากการกินอาหารที่ไม่มีการปนเปื้อนไขมันทรานส์แล้ว เชื่อว่า ผู้ประกอบการ ทั้งผู้ผลิต และนำเข้าน้ำมันและไขมัน ผู้ผลิตและผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์อาหาร จะสามารถปรับปรุงสูตรได้ทัน เนื่องจากที่ผ่านมามีการรับรู้ถึงผลกระทบต่อสุขภาพ มีการปรับตัวเรื่องไขมันทรานส์กันมาตลอด
ที่สำคัญ ทราบมาว่า วันนี้เทคโนโลยีพัฒนาไปไกล มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะมาทดแทนการใช้เทคนิกการเติมไฮโดรเจนบางส่วนในน้ำมันแล้ว เช่น การผสมน้ำ (Oil-Blending) ว่ากันว่า เป็นวิธีที่ผู้ผลิตนิยมใช้เนื่องจากต้นทุนไม่สูงมากนัก ...