เปิดคำพิพากษา2ศาล หมอชนบทไม่หมิ่นอดีตปลัดสธ.-ปมยื่นร้อง’บิ๊กตู่’บินขอเก้าอี้ 'ทักษิณ'
"...จำเลยทั้ง 9 ราย ต่างเป็นสมาชิกชมรมแพทย์ชนบทร่วมกันลงลายมือชื่อในหนังสือร้องเรียน และระบุในเอกสารดังกล่าวว่า เรียน นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็เพื่อให้นำข้อเท็จจริงไปประกอบการใช้ดุลยพินิจในการแต่งตั้งโจทก์กลับมาเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่าการบริหารองค์กรไม่ว่าบริหารภาครัฐหรือเอกชน การคัดเลือกบุคคลเข้าสู่ตำแหน่ง จะต้องใช้หลักคุณธรรมและเป็นไปตามระเบียบแบบแผน เพื่อให้ได้คนดีเข้ามาทำหน้าที่อันเป็นประโยชน์ต่อองค์กร สังคมและประเทศชาติ การกระทำของจำเลยทั้ง 9 มิได้กระทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นการแสดงข้อความเพื่อประโยชน์ของประชาชนและข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข จึงถือได้ว่าเป็นการแสดงข้อความโดยสุจริตด้วยความเป็นธรรมอันเป้นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ต้องตามมาตรา 329(3) แห่งประมวลกฎหมายอาญา..."
กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่กำลังถูกสังคมจับตามอง!
ต่อกรณีศาลจังหวัดนนทบุรี ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2561 ยกฟ้องคดีที่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นโจทก์ ฟ้องหมิ่นประมาทกลุ่มแพทย์ชนบท จำนวน 9 ราย ประกอบไปด้วย นายแพทย์เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท นายแพทย์อารักษ์ วงศ์วรชาติ นายแพทย์วชิระ บถพิบูลย์ นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ นายแพทย์วิโรจน์ รัตนอมรสกุล นายแพทย์พรเจริญ เจียมบุญศรี นายแพทย์รอชาลี ปัตยะบุตร นายแพทย์บรรพต พินิจจันทร์ และนายแพทย์ปวิตร วณิชชานนท์ กรณีทำหนังสือร้องเรียนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ รัชตะ รัชตะนาวิน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คัดค้านการกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข หลังจากที่ถูกออกคำสั่งให้ไปช่วยราชการประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ช่วงเดือนมิ.ย.2558 ที่ผ่านมา ซึ่งมีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุถึงพฤติการณ์ นพ.ณรงค์ ในช่วงดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมสุขภาพจิตว่า เดินทางไปฮ่องกงเพื่อพบกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อขอตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งในยุครัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องไปแล้ว ในช่วงเดือนก.ค.2560 ที่ผ่านมา
โดยศาลอุทธรณ์ฯ ได้พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น หลังเห็นพ้องว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 9 ราย เป็นการแสดงข้อความโดยสุจริต ติชม ด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำต้องตาม มาตรา 329(3) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์มาก่อน และไม่ปรากฏว่าการกระทำของจำเลยเป็นไปเพื่อกลั่นแกล้งโจทก์ ขณะที่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักอื่นใดมาสืบสนับสนุนเพิ่มเติมอีก
ทั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับคำพิพากษาคดีนี้มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา ได้สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ภาค 1 มานำเสนอให้ได้รับทราบเป็นทางการอีกครั้ง (อ่านประกอบ : ศาลอุทธรณ์ยืนหมอชนบทไม่หมิ่นอดีตปลัด สธ.-ยื่นร้อง’บิ๊กตู่’บินขอเก้าอี้ 'ทักษิณ'-บ.ยาออกค่าใช้จ่าย, เผยโฉมหนังสือหมอชนบทร้อง'บิ๊กตู่' สอบอดีตปลัดสธ.บินขอเก้าอี้ 'ทักษิณ'-เจ้าตัวยังไม่ชี้แจง)
@ คำพิพากษาศาลชั้นต้น
ความอาญา
ระหว่าง
นายแพทย์เกรียงศักดิ์ สหเมธาพัฒน์ ในฐานะ โจทก์
กับ
จำเลยที่ 1 นายแพทย์เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ
จำเลยที่ 2 นายแพทย์อารักษ์ วงศ์วรชาติ
จำเลยที่ 3 นายแพทย์วชิระ บถพิบูลย์
จำเลยที่ 4 นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
จำเลยที่ 5 นายแพทย์วิโรจน์ รัตนอมรสกุล
จำเลยที่ 6 นายแพทย์พรเจริญ เจียมบุญศรี
จำเลยที่ 7 นายแพทย์รอซาลี ปัตยะบุตร
จำเลยที่ 8 นายแพทย์บรรพต พินิจจันทร์
จำเลยที่ 9 นายแพทย์ปวิตร วณิชชานนท์
เรื่อง หมิ่นประมาท
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2559 จำเลยทั้ง 9 คน ร่วมกันใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สาม ด้วยการพิมพ์ข้อความ จัดทำหนังสื่อที่ พชบ. 2558/79 ลงวันที่ 29 มิ.ย. 2558 ใส่ความโจทก์แก่ราชการกระทรวงสาธารณสุข ประชาชนและสื่อมวลชนว่า มีหลักฐานเชื่อได้ว่าก่อนเข้าสู่ตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสุขภาพจิต เดินทางไปฮ่องกง เพื่อไปพบอดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อขอตำแหน่ง โดยหลีกเลี่ยงเดินทางผ่านโครงการร่วมมือกับ Hunan Department of Health เมื่อวันที่ 15-21 มิ.ย. 2555 เดินทางจากประเทศไทยถึงกวางโจว และเดินทางโดยรถไฟฟ้า MRT เข้าฮ่องกงโดยใช้เวลาเพียง 1 ชม.
เมื่อบุคคลที่สามอ่านข้อความดังกล่าว ย่อมเข้าใจได้ว่าโจทก์ได้เลื่อนตำแหน่งเพราะยอมอยู่ใต้อาณัติของอดีตนายกรัฐมนตรี เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ชาติ กระทำผิดทำนองคลองธรรม ไม่ดำรงตนตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ด้วยการโฆษณา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 326, 328 และขอให้บังคับจำเลยทั้ง 9 โฆษณาคำพิพากษาของศาล ขนาด 1 ใน 2 ของหน้าหนังสือพิมพ์รายวันร่วมกัน 7 ฉบับ คือ ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน กรุงเทพธุรกิจ คมชัดลึก บ้านเมือง และแนวหน้า เป็นเวลา 7 วันต่อเนื่องกัน โดยจำเลยทั้ง 9 เป็นผู้ชำระค่าโฆษณาทั้งหมด
ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล จึงให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา
ทั้งนี้ จำเลยทั้ง 9 ให้การปฏิเสธ
พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยทั้ง 9 แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ก่อนที่จะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2555 ในการเข้ารับตำแหน่งดังกล่าว โจทก์เขียนใบลาออกไว้ 2 ฉบับ ต่อมาเดือน มิ.ย. 2558 โจทก์ได้รับคำสั่งย้ายไปช่วยราชการประจำ สำนักนายกรัฐมนตรี
จากนั้นวันที่ 29 มิ.ย. 2558 จำเลยทั้ง 9 กับพวกซึ่งเป็นสมาชิกชมรมแพทย์ชนบทร่วมประชุมที่สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับการร่วมกันลงลายมือชื่อ เพื่อยื่นหนังสือเรื่องข้าราชการทุจริตต่อหน้าที่และขัดนโยบายรัฐบาล ต่อนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ซึ่งเอกสารดังกล่าวมีระบุความระบุในข้อ 6 เช่นเดียวกับหนังสือเรื่องข้าราการทุจริตต่อหน้าที่และขัดนโยบายรัฐบาล ว่า “มีหลักฐานเชื่อได้ว่า ก่อนเข้าสู่ตำแหน่งปลัดสาธารณสุข นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสุขภาพ เดินทางไปฮ่องกงเพื่อไปพบอดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อของตำแหน่ง โดยหลีกเลี่ยง เดินทางผ่านโครงการความร่วมมือกับ Hunan Department of Health เมื่อวันที่ 15-21 มิ.ย. 2555 โดยเดินทางจากประเทศไทยถึงกวางโจว แล้วได้เดินทางโดยรถไฟฟ้า เอ็มอาร์ที เข้าฮ่องกงโดยใช้เวลาเพียง 1 ชม. และได้ขออนุมัติให้เจ้าของบริษัทด้านจิตเวชเดินทางไปพร้อมกับคณะเพื่ออำนวยความสะดวกและสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างทาง ซึ่งสวนทางกับหลักธรรมาธิบาล ที่มักกล่าวอ้างต่อสาธารณชนเสมอ ส่อเจตนาทุจริตและได้มีการออกนอกเส้นทาง โดยไม่ได้ขออนุมัติปลัดกระทรวงสาธารณสุขก่อน ต่อมาวันที่ 5 ส.ค. 2558 โจทก์ได้รับคำสั่งให้กลับมาปฏิบัติราการในตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้ง 9 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่”
เห็นว่า การที่จำเลยทั้ง 9 กับพวก มีหนังสือร้องเรียนโจทก์ โดยมีข้อความในข้อที่ 6 ของหนังสือดังกล่าวว่า “มีหลักฐานเชื่อได้ว่า ก่อนเข้าสู่ตำแหน่ง ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายเมธาพัฒน์ สหเมธาพัฒน์ ขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสุขภาพจิตเดินทางไปฮ่องกงเพื่อไปพบอดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อขอตำแหน่ง”
เมื่อวิญญูชนทั่วไปอ่านข้อความดังกล่าวแล้ว ย่อมเข้าใจและตั้งข้อสงสัยว่า การเข้าสู่ตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขของโจทก์ มิได้เป็นไปตามระเบียบขั้นตอนของทางราชการ เพราะโจทก์ต้องเดินทางไปถึงฮ่องกงเพื่อขอตำแหน่งจากอดีตนายกรัฐมนตรี อันเป็นการอาศัยอำนาจของนักการเมืองเพื่อให้ได้รับตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทำให้โจทก์ดูเป็นคนไม่ดี ข้อความดังกล่าวมีลักษณะเป็นการใส่ความโจทก์
แต่อย่างไรก็ดี จำเลยทั้ง 9 ราย นำสืบถึงที่มาการลงข้อความในหนังสือร้องเรียนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ รัชตะ รัชตะนาวิน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คัดค้านการกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ระบุเนื้อถึงพฤติการณ์ นพ.ณรงค์ ในช่วงดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมสุขภาพจิตว่า เดินทางไปฮ่องกงเพื่อพบกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อขอตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งในยุครัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า ในช่วงเวลาที่โจทก์เดินทางไปจีนใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พำนักอยู่ที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ขณะนั้นน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวเป็นนายกรัฐมนตรี และจำเลยบางรายได้รับทราบจาก นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีสิทธิได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น ว่า นายวิทยา บูรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้พูดคุยกับนายแพทย์พรเทพ ว่า จำใจต้องตั้งโจทก์ แต่มีเงื่อนไขว่า ให้โจทก์เขียนใบลาออกไว้ 2 ฉบับ ต่อมาโจทก์ได้รับการแต่งตั้งจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้เป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข และต่อมา จำเลยรายหนึ่ง ได้ไปเยี่ยมนายแพทย์ประเสริิฐ หลุยเจริญ สามีของนางเบญจา หลุยเจริญ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง โดยนายประเสริฐ ได้เล่าให้ฟังถึงสาเหตุที่โจทก์ ได้เป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข ว่ามีการแนะนำโดยบุคคลชื่อ 'เสี่ยเปี๋ยง' (หมายเหตุ : เสี่ยเปี๋ยง คือ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร อดีตผู้ก่อตั้งบริษัทสยามอินดิก้า จำกัด จำเลยในคดีระบายข้าวจีทูจี) ซึ่งเป็นคนจังหวัดพิจิตร บ้านเดียวกับโจทก์ และสนิทกับอดีตนายกฯ
ขณะที่ พยานจำเลย คือ นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ และเป็นสมาชิกชมรมแพทย์ชนบท เบิกความว่า ได้กินข้าวกับโจทก์หลายครั้ง และได้ถามโจทก์ว่า ใครสนับสนุนให้ได้ตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข โจทก์บอกว่าต้องเขียนในหนังสืองานศพเท่านั้น
จากข้อเท็จจริงดังกล่าว จำเลยทั้ง 9 ได้ยินได้ฟังมาย่อมทำให้จำเลยทั้งเก้า เกิดความสงสัยเกี่ยวกับ การเดินทางไปราชการที่ประเทศจีน ว่าเหตุใดโจทก์จึงต้องแลกเปลี่ยนการเดินทางจากเมือง ฮาบินไปเมืองกวางโจว ซึ่งอยู่ใกล้กับฮ่องกง ที่นายทักษิณ พัก และเหตุใดในการเข้ารับตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข ต้องเขียนใบลาออกไว้ 2 ฉบับ
ซึ่งเมื่อประกอบกับข้อความอื่น ที่ว่า ...และได้ขออนุมัติให้เจ้าของบริษัทยาด้านจิตเวชเดินทางไปพร้อมคณะเพื่ออำนวยความสะดวกและสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างเดินทาง ซึ่งสวนทางกับหลักธรรมาภิบาลที่มักกล่าวอ้างต่อสาธารณชนเสมอ ส่อเจตนาทุจริตและได้มีการออกนอกเส้นทางโดยไม่ขออนุมัติปลัดกระทรวงสาธารณสุขก่อน ... และข้อความที่ระบุว่า ..หาก ฯพณฯ สั่งการให้นายแพทย์ณรงค์กลับไปปฏิบัติหน้าที่ในกระทรวงสาธารณสุข จะเป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ และเป็นบาปร้ายแรงต่อประเทศชาติ... แสดงให้เห็นว่า จำเลยทั้ง 9 ราย ต่างเป็นสมาชิกชมรมแพทย์ชนบทร่วมกันลงลายมือชื่อในหนังสือร้องเรียน และระบุในเอกสารดังกล่าวว่า เรียน นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็เพื่อให้นำข้อเท็จจริงไปประกอบการใช้ดุลยพินิจในการแต่งตั้งโจทก์กลับมาเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่าการบริหารองค์กรไม่ว่าบริหารภาครัฐหรือเอกชน การคัดเลือกบุคคลเข้าสู่ตำแหน่ง จะต้องใช้หลักคุณธรรมและเป็นไปตามระเบียบแบบแผน เพื่อให้ได้คนดีเข้ามาทำหน้าที่อันเป็นประโยชน์ต่อองค์กร สังคมและประเทศชาติ การกระทำของจำเลยทั้ง 9 มิได้กระทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นการแสดงข้อความเพื่อประโยชน์ของประชาชนและข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข จึงถือได้ว่าเป็นการแสดงข้อความโดยสุจริตด้วยความเป็นธรรมอันเป้นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ต้องตามมาตรา 329(3) แห่งประมวลกฎหมายอาญา
พิพากษายกฟ้อง
@ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฯ ระบุว่า นพ.ณรงค์ ในฐานะโจทก์ เคยดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมสุขภาพจิต ซึ่งก่อนได้รับตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2555 ได้เขียนใบลาออกไว้ 2 ฉบับ ก่อนเข้ารับตำแหน่ง ต่อมาเดือน มี.ค.2558 ได้รับคำสั่งให้ย้ายไปช่วยราชการประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จากนั้นวันที่ 29 มิ.ย.2558 จำเลยทั้ง 9 ราย ได้ร่วมกันลงลายมือชื่อยื่นหนังสือเรื่องข้าราชการทุจริตต่อหน้าที่และขัดต่อนโยบายรัฐบาล ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ รัชตะ รัชตะนาวิน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คัดค้านไม่ให้นพ.ณรงค์ กลับเข้าสู่ตำแหน่ง มีข้อความระบุว่า มีหลักฐานเชื่อได้ว่า ก่อนเข้าสู่ตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ณรงค์ ที่ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมสุขภาพจิต เดินทางไปฮ่องกงเพื่อพบกับอดีตนายกรัฐมนตรีเพื่อขอตำแหน่ง โดยหลีกเลี่ยงการเดินทางผ่านโครงการความร่วมมือกับ Hunan Provincial Department of Health เมื่อวันที่ 15-21 มิ.ย.2555 โดยเดินทางจากประเทศไทยถึงกวางโจว แล้วได้เดินทางโดยรถไฟฟ้า MRT เข้าฮ่องกงโดยใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง และได้ขออนุมัติให้เจ้าของบริษัทยาด้านจิตเวชเดินทางไปพร้อมคณะเพื่ออำนวยความสะดวกและสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างเดินทาง ซึ่งสวนทางกับหลักธรรมาภิบาลที่มักกล่าวอ้างต่อสาธารณชนเสมอ ส่อเจตนาทุจริตและได้มีการออกนอกเส้นทางโดยไม่ขออนุมัติปลัดกระทรวงสาธารณสุขก่อน จากนั้นวันที่ 5 ส.ค.2558 โจทก์รับคำสั่งให้กลับมาปฏิบัติราชการในตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฯ ระบุว่า คดีนี้มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้ง 9 ได้ร่วมกันกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ โดยโจทก์ เบิกความว่า เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2558 ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับคำสั่งจากนายกฯ ในฐานะผู้บังคับบัญชาให้ย้ายไปช่วยราชการประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต่อมาได้รับแจ้งจากเลขาฯว่า กลุ่มจำเลยเตรียมที่จะเปิดแถลงข่าวกับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ก่อนจะนำเอกสารมาให้ดู ซึ่งมีข้อความเกี่ยวกับเรื่องที่โจทก์เดินทางไป ฮ่องกงพบกับอดีตนายกรัฐมนตรีเพื่อขอตำแหน่ง แต่โจทก์ไม่เห็นเหตุการณ์การแจกเอกสารดังกล่าว เลขาฯก็ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ที่มีการแถลงข่าวด้วย ขณะที่โจทก์ก็ยอมรับว่าเจ้าของบริษัทยาด้านจิตเวชร่วมเดินทางไปต่างประเทศด้วย
ในคำพิพากษาดังกล่าว ระบุว่า จำเลยที่ 1 ทราบข้อมูลจากผู้ทรงคุณวุฒิกรมสุขภาพจิตรายหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า เดิมที่ผู้ทรงคุณวุฒิกรมสุขภาพจิตรายนี้ จะต้องเดินทางไปเมืองหูหนานในโครงการดังกล่าว แต่เมื่อใกล้ถึงวันเดินทาง โจทก์ที่ครั้งแรกเลือกเดินทางไปเมืองฮาบินได้มาขอแลกการเดินทางโดยไม่ทราบเหตุผล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมสุขภาพจิตรายนี้ จึงเกิดความสงสัย และได้สอบถามคณะเดินทางเมื่อมีการเดินทางกลับมา ทราบว่า โจทก์เดินทางออกนอกเส้นทางและไม่ได้เข้าร่วมสัมมนาที่เมืองหูหนาน โดยให้นายแพทย์อีกรายหนึ่ง เป็นผู้กล่าวสุนทรพจน์ในนามประเทศไทยแทน ขณะที่คณะที่เดินทางไปกับโจทก์มีการไปดื่มไปตีกอล์ฟ เจ้าหน้าที่จีนเห็นว่าไม่ใช่ความรับผิดชอบที่จะต้องจ่ายเงินให้ จึงให้เจ้าของบริษัทยาด้านจิตเวช เป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในจีน
ผลการยื่นหนังสือของกลุ่มจำเลยต่อนายกฯ ทำให้มีการชะลอคำสั่งที่จะให้โจทก์กลับมาปฏิบัติราชการที่กระทรวงสาธารณสุข และโจทก์ยังมีความขัดแย้งกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และมีเรื่องสอบวินัยร้ายแรงตามที่ปรากฏเป็นข่าว ขณะที่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักอื่นใดมาสืบสนับสนุนอีก ทำให้รับฟังได้ว่า จำเลยทั้ง 9 ราย ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์มาก่อน ไม่ปรากฏว่าการกระทำของจำเลยเพื่อกลั่นแกล้งโจทก์ ประกอบกับเมื่อพิจารณาจากหนังสือข้อร้องเรียนโจทก์ที่มีข้อความเรื่องการเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อขอตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ น้องสาวนายทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯ ซึ่งจำเลยที่ 2 และ 4 ทราบจากบุคคลที่มีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข ว่า นายวิทยา บุรณศิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในขณะนั้น ได้พูดคุยกับตนเองว่า จำใจต้องตั้งโจทก์ แต่มีเงื่อนไขว่าให้เขียนใบลาออกไว้ 2 ฉบับ ซึ่งโจทก์ก็เบิกความเจือสมกับคำเบิกความของพยานจำเลยทั้ง 9 รับว่า ก่อนได้รัการแต่งตั้งเป็นปลัดกระทรวงฯ ได้เขียนใบลาออกให้นายวิทยาไว้ 2 ฉบับ ต่อมาก็ได้รับการแต่งตั้งจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข
ขณะที่จำเลยที่ 5 ได้รับทราบจากนายแพทย์ประเสริฐ หลุยเจริญ สามีของนางเบญจา หลุยเจริญ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ว่าสาเหตุที่โจกท์ได้เป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพราะมีการแนะนำโดย 'เสี่ยเปี๋ยง' (หมายเหตุ : เสี่ยเปี๋ยง คือ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร อดีตผู้ก่อตั้งบริษัทสยามอินดิก้า จำกัด จำเลยในคดีระบายข้าวจีทูจี) ซึ่งเป็นคนจังหวัดพิจิตร บ้านเดียวกับโจทก์และสนิทกับอดีตนายกฯ และก็มีการเบิกความจากพยานว่า โจทก์ทานข้าวกับพยานหลายครั้ง พยานถามว่าใครสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงฯ โจทก์ก็บอกว่า ต้องเขียนในหนังสืองานศพเท่านั้น
และในข้อความเอกสาร ที่ระบุว่า ... และได้ขออนุมัติให้เจ้าของบริษัทยาด้านจิตเวชเดินทางไปพร้อมกับคณะเพื่ออำนวยความสะดวกและสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างเดินทาง ซึ่งสวนทางกับหลักธรรมาภิบาลที่มักกล่าวอ้างต่อสาธารณชนเสมอ ส่อเจตนาทุจริตและได้มีการออกนอกเส้นทางโดยไม่ได้ขออนุมัติปลัดกระทรวงสาธารณสุขก่อน.. และข้อความที่ว่า ..หาก ฯพณฯ สั่งการให้นายแพทย์ณรงค์กลับไปปฏิบัติหน้าที่ในกระทรวงสาธารณสุข จะเป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ และเป็นบาปร้ายแรงต่อประเทศชาติ" ศาลฯ เห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 9 ซึ่งเป็นสมาชิกของชมรมแพทย์ชนบท ร่วมกันลงลายมือชื่อกับพวกในหนังสือร้องเรียนถึง พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยระบุข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้ง 9 กับพวกทราบมาว่าเป็นข้อมูลเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ และการกระทำอาจส่อไปในทางไม่เหมาะสมกับการดำรงตำแหน่งดังกล่าว เพื่อประกอบในการใช้ดุลยพินิจในการแต่งตั้งโจทก์กลับมาเป็นปลัดกระทรวงฯ ซึ่งจำเลยทั้ง 9 เห็นว่าในการคัดเลือกบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งปลัดกระทรวงฯ จะต้องใช้หลักคุณธรรม และเป็นไปตามระเบียบของทางราชการ เพื่อให้ได้คนดีเข้ามาทำหน้าที่ ในตำแหน่งระดับสูงของกระทรวงอันจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ จึงเป็นการแสดงข้อความเพื่อประโยชน์ของข้าราชการกระทรวงฯ และประชาชนโดยทั่วไป มิใช่เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้ง 9 เป็นการแสดงข้อความโดยสุจริต ถือได้ว่าเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(3) ที่ศาลชั้นต้น พิจารณาพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นพ้องด้วย คำอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศราได้พยายามติดต่อไปยัง นพ.ณรงค์ เมื่อเวลา 15.00 น. (9 ก.ค.2561) เพื่อสอบถามข้อมูลว่าได้ยื่นใบลาออกและได้ไปพบกับอดีตนายกรัฐมนตรีเพียงไม่กี่วันก่อนรับตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขจริงหรือไม่ และจะยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาเพื่อสู้คดีต่อหรือไม่
แต่พอแนะนำตัวว่ามาจากสำนักข่าวอิศรา นพ.ณรงค์ กล่าวเพียงแค่ว่า "ไม่สะดวกที่จะพูดคุย"