เปิดปมสตง.ชี้ปัญหาสหกรณ์ภาคเหนือทิ้งขว้างทรัพย์สินรัฐ-ลำปางดอดปล่อยเช่าเครื่องคัดลำไย!
"...ในส่วนจังหวัดลำปาง จากการสุ่มตรวจสอบสหกรณ์จำนวน 9 แห่ง ที่ได้รับการสนับสนุนทรัพย์สินจำนวน 28 รายการ ภายใต้โครงการ/งบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี แผนงานบูรณาการ ส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (งบพัฒนาจังหวัด) จำนวน 11 โครงการ พบว่าไม่มีการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทั้งสิ้น 14 รายการ คิดเป็นร้อยละ 50.00 ของจำนวนรายการทรัพย์สินที่ตรวจสอบ เป็นจำนวนงบประมาณ 2,702,000 บาท และในจำนวนนี้ สหกรณ์การเกษตรเสริมงาม จำกัด ยังนำเครื่องคัดเกรดลำไยที่ได้รับสนับสนุนไปให้ผู้อื่นเช่า..."
การบริหารจัดการทรัพย์สินของรัฐ ที่ดำเนินการโดยสำนักงานสหกรณ์หลายจังหวัดในภาคเหนือ ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบว่า ไม่มีการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินอย่างคุ้มค่า หรือใช้ประโยชน์ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ทำให้เกิดความเสียหายต่อการใช้จ่ายเม็ดเงินของรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับจังหวัดของรัฐบาล
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สตง. ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบการดำเนินงานบริหารจัดการทรัพย์สินของรัฐที่ดำเนินการ โดยสำนักงานสหกรณ์หลายจังหวัดในภาคเหนือ อาทิ ลำปาง น่าน แพร่ พะเยา และอุตรดิตถ์ ที่ได้รับงบประมาณตามยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด และงบประมาณอื่นๆ ต่อเนื่องทุกปี เพื่อดำเนินการให้สอดคล้องกับภารกิจหลักของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในจังหวัด
ผลการตรวจสอบการบริหารจัดการทรัพย์สินของรัฐ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553 – 2559 พบว่าสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเหล่านี้ ได้รับงบประมาณเพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง และจัดซื้อครุภัณฑ์เพื่อสนับสนุนให้สหกรณ์ต่างๆ ในจังหวัดลำปาง จำนวน 68 โครงการ จำนวนทรัพย์สิน 164 รายการ เพื่อสนับสนุนให้สหกรณ์ 58 แห่ง งบประมาณรวม 373,256,454 บาท
พบว่า มีปัญหาทรัพย์สินที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ส่วนใหญ่เป็นอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง เช่น โรงงานแปรรูปยางพารา เครื่องอบลดความชื้น โรงสีข้าว และห้องอบลำไยและผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น สำหรับครุภัณฑ์ที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ เช่น เครื่องคัดคุณภาพถั่วเหลือง เครื่องคัดเกรดลำไย เครื่องสีข้าว เครื่องแพคสูญญากาศและครุภัณฑ์สำหรับแปรรูปยางพารา เป็นต้น
ทั้งนี้ ในส่วนจังหวัดลำปาง นั้น จากการสุ่มตรวจสอบ สหกรณ์จำนวน 9 แห่ง ที่ได้รับการสนับสนุนทรัพย์สินจำนวน 28 รายการ ภายใต้โครงการ/งบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี แผนงานบูรณาการ ส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (งบพัฒนาจังหวัด) จำนวน 11 โครงการ พบว่าไม่มีการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทั้งสิ้น 14 รายการ คิดเป็นร้อยละ 50.00 ของจำนวนรายการทรัพย์สินที่ตรวจสอบ เป็นจำนวนงบประมาณ 2,702,000.00 บาท และในจำนวนนี้ สหกรณ์การเกษตรเสริมงาม จำกัด ยังนำเครื่องคัดเกรดลำไยที่ได้รับสนับสนุนไปให้ผู้อื่นเช่า จากการตรวจสอบเอกสารพบว่ามีรายได้จากค่าเช่าทั้งสิ้น 33,620.00 บาท
สำหรับข้อมูลทรัพย์สินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มีดังนี้
1. เครื่องคัดคุณภาพถั่วเหลือง งบประมาณ 1,500,000.00 บาท สนับสนุนให้ สหกรณ์เพื่อการเกษตรและการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. ลำปาง จำกัด
2. เครื่องคัดเกรดลำไย จำนวน 2 เครื่อง งบประมาณ 120,000.00 บาท สนับสนุนให้สหกรณ์การเกษตรแม่พริก จำกัด
3. เครื่องคัดเกรดลำไย จำนวน 2 เครื่อง งบประมาณ 120,000.00 บาท สนับสนุนให้สหกรณ์การเกษตรเสริมงาม จำกัด
4. เครื่องสายพานลำเลียง งบประมาณ 357,000.00 บาท สนับสนุนให้ สหกรณ์ผู้ปลูกสับปะรดลำปาง จำกัด
5. ชุดตู้อบวัตถุดิบและตะแกรงร่อน งบประมาณ 200,000.00 บาท สนับสนุน ให้สหกรณ์การเกษตรสมุนไพรตำบลแม่มอก จำกัด
6. เครื่องบันทึกเงินสดพร้อมอุปกรณ์จำนวน 2 เครื่อง งบประมาณ 60,000.00 บาทสนับสนุนให้สหกรณ์การเกษตรสมุนไพรตำบลแม่มอก จำกัด
7. เครื่องสีข้าว งบประมาณ 200,000.00 บาท สนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวลุ่มน้ำจาง
8. เครื่องวัดความชื้น งบประมาณ 15,000.00 บาท สนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวลุ่มน้ำจาง
9. เครื่องชั่งดิจิตอล งบประมาณ 10,000.00 บาท สนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวลุ่มน้ำจาง
10. เครื่องแพคสูญญากาศ งบประมาณ 50,000.00 บาท สนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวลุ่มน้ำจาง
11. เครื่องตู้อบแห้งมีพัดลม งบประมาณ 70,000.00 บาท สนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวลุ่มน้ำจาง
เบื้องต้น สตง. ระบุว่า ทรัพย์สินที่เกิดจากงบประมาณแผ่นดิน เกิดการสูญเปล่าไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับจังหวัดจากโครงการ/งบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี แผนงานบูรณาการ ส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (งบพัฒนาจังหวัด) คิดเป็นจำนวนเงินที่เกิดการสูญเปล่าจำนวน 2,702,000.00 บาท
ขณะที่ สหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับสนับสนุนทรัพย์สินจากภาครัฐ ไม่สามารถเสริมสร้างความเข้มแข็ง พัฒนาศักยภาพ รวมทั้งพัฒนาธุรกิจของกลุ่มได้ เป็นผลให้ไม่สามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรได้ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ เกิดการเสียโอกาสที่จะนำงบประมาณ หรือทรัพย์สินจำนวนดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาหรือเพิ่มศักยภาพให้กับสหกรณ์ หน่วยงาน หรือองค์กรที่มีความพร้อมในการบริหารจัดการทรัพย์สินที่เกิดจากงบประมาณแผ่นดิน
ส่วนกรณีสหกรณ์การเกษตรเสริมงาม จำกัด นำเครื่องคัดเกรดลำไยให้ผู้อื่นเช่าโดยไม่นำเงินค่าเช่าส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ จำนวน 33,620.00 บาท และอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของรัฐ ทั้งยังเป็นผลให้การใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินไม่เกิดความคุ้มค่า
ข้อเสนอแนะ
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โดยสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 9 มีข้อเสนอแนะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. ในโอกาสต่อไปให้สหกรณ์จังหวัดลำปางพิจารณาถึงความเหมาะสมของโครงการและศักยภาพของสหกรณ์ที่ขอรับการสนับสนุนในทุกด้าน รวมทั้งตรวจสอบความพร้อมของการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้อง
2. สั่งการให้สหกรณ์จังหวัดลำปางวางแผนการบริหารจัดการทั้งด้านการส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาศักยภาพบุคลากรของสหกรณ์ที่ได้รับการสนับสนุนทรัพย์สินของรัฐ ให้สามารถใช้ทรัพย์สินของรัฐเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
3. ตรวจสอบและติดตามประเมินผลการใช้ประโยชน์รวมทั้งสภาพการใช้งานในทรัพย์สินของรัฐ และสั่งการให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการ วางแผนการบริหารจัดการให้เกิดการใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าต่องบประมาณแผ่นดิน
4. กรณีสหกรณ์การเกษตรเสริมงาม จำกัด นำเครื่อง คัดเกรดลำไยไปให้ผู้อื่นเช่าโดยไม่นำเงินค่าเช่าส่งเป็นรายได้แผ่นดิน จำนวน 33,620.00 บาท ให้ดำเนินการเรียกเงินจำนวนดังกล่าวจากสหกรณ์การเกษตรเสริมงาม จำกัด ส่งเป็นรายได้แผ่นดินโดยเร็ว
5. แต่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงกับเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ติดตามการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินหากพบว่าปฏิบัติหน้าที่บกพร่องมีเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหาย ให้ดำเนินการหาผู้รับผิดทางละเมิดและพิจารณาโทษตามควรแก่กรณี
ส่วน น่าน แพร่ พะเยา และอุตรดิตถ์ ก็ล้วนแล้วแต่ประสบปัญหาแบบเดียวกันแทบทั้งสิ้น!