ตัวอย่างการรับของขวัญ-นาฬิกา-รองเท้า "จัสติน ทรูโด" นายกฯ แคนนาดา ทำอะไรต่อ ?
ที่ประเทศแคนนาดา มีสำนักผู้ตรวจจริยธรรมและผลประโยชน์ทับซ้อนในรัฐสภา เผยแพร่ข้อมูลการรับของขวัญหรือการเดินทางของสมาชิกผู้แทนราษฎร ในเว็บไซต์ของสำนักงานให้สาธารณชนได้รับทราบ ทั้งข้อมูลการเดินทางต่างประเทศมีรายละเอียด เช่น เหตุผลของการเดินทาง รายชื่อผู้สนับสนุนค่าใช้จ่าย มูลค่าของที่ระลึก ค่าเดินทาง ค่าที่พัก
จากกรณีชาร์ตไฟมือถือเรื่องเล็ก ประโยชน์ทับซ้อนเรื่องใหญ่ ข้อความเชิญชวนจาก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ทำให้เราต้องคลิกเข้าไปอ่านบทวิเคราะห์ ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกัน ระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชนส่วนรวม พ.ศ. …. (ฉบับเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2560) โดย คุณธิปไตร แสละวงศ์ และ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (https://tdri.or.th/2018/01/conflict-of-interest-law/) ที่มาความยาว 49 หน้า
การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและผลประโยชน์ส่วนรวมนั้น ไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปของตัวเงินเสมอไป ซึ่งในบทวิเคราะห์นี้ ชี้ว่า แม้ผลประโยชน์ทับซ้อน ยังไม่ถือเป็นการคอร์รัปชั่น แต่เป็น "ก้าวแรก" ที่นำไปสู่ปัญหาคอร์รัปชั่น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องป้องกันปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนของเจ้าหน้าที่รัฐก่อน
พร้อมกันนี้ มียกตัวอย่างมาตรการป้องกันและแก้ไขผลประโยชน์ทับซ้อนในภาครัฐในต่างประเทศ ไว้อย่างน่าสนใจ
มีตัวอย่างที่ประเทศแคนนาดา สำนักผู้ตรวจจริยธรรมและผลประโยชน์ทับซ้อนในรัฐสภา (Office of the Conflict of Interest and Ethics Commissioner-CEIC) เขาจะเผยแพร่ข้อมูลการรับของขวัญหรือการเดินทางของสมาชิกผู้แทนราษฎร (House of the Commons) ในเว็บไซต์ของสำนักงานให้สาธารณชนได้รับทราบ ทั้งข้อมูลการเดินทางต่างประเทศมีรายละเอียด เช่น เหตุผลของการเดินทาง รายชื่อผู้สนับสนุนค่าใช้จ่าย มูลค่าของที่ระลึก ค่าเดินทาง ค่าที่พัก
เช่นเดียวกับของขวัญที่จะต้องระบุลักษณะสิ่งของที่มอบให้อย่างละเอียด (มูลค่าเกินกว่า 200 ดอลล่าร์แคนนาดา หรือ 5,000 บาท ต้องแจ้งข้อมูล) ชื่อผู้มอบให้ และที่สำคัญ คือ โอกาสหรือเหตุผลที่มอบให้ และต้องแจ้งภายใน 30 วันหลังการรับมอบของขวัญ
ข้อมูลเหล่านี้บ่งชี้ว่า การตรวจสอบผลประโยชน์ทับซ้อนที่ดีนั้น นอกจากกฎระเบียบเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงรายงานข้อมูลการรับสิ่งของ หรือประโยชน์ตอบแทนแก่หน่วยงานตรวจสอบแล้ว ยังต่อเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนด้วย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ลองเข้าไปตามเว็บไซต์ที่บทวิเคราะห์ของทีดีอาร์ไอแนะนำ ค้นชื่อ Trudeau, Justin มีข้อมูลอัพเดท ปลายปีที่ผ่านมา และคลิกเลือกประเภทการได้รับของขวัญ พบว่า
- วันที่ 13 ตุลาคม 2560 พบว่า นายจัสติน ทรูโด ได้รับของขวัญจากนักออกแบบรองเท้าชื่อดัง Jessica Bedard เป็นรองเท้าหนังสีดำมอบให้ภริยาเขา ก็มีการแจ้งให้สาธารณชนรับทราบ วันที่ 21 ธันวาคม 2560 ข้อมูลมีทั้งประเภทของขวัญ ที่มาของของขวัญ ได้รับจากใคร ในโอกาสอะไร ซึ่งในกรณีรองเท้าที่มอบให้สตรีหมายเลข 1 แคนนาดานั้น ระบุเอาไว้ว่า Introduction to designer shoes
- วันที่ 27 สิงหาคม 2560 กษัตริย์จอร์แดน เสด็จเยือนแคนนาดา ได้มอบของที่ระลึก Metal Arabic Calligraphy Sculpture ก็มีการแจ้งให้สาธารณชนรับทราบวันที่ 31 ตุลาคม 2560
หรือคนไทยอาจสงสัย ลองเทียบเคียงกับรัฐมนตรีบ้านเราบ้างที่เป็นข่าวเกี่ยวกับที่มาของนาฬิกาข้อมือ
เราก็พบเช่นกันว่า นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีหนุ่มแคนนาเคยได้รับของขวัญเป็นนาฬิกา Gavox Watch จากนายชาร์ลส มิเชล นายกรัฐมนตรีเบลเยียม ครั้งมาเยือนแคนนาดา ระหว่างวันที่ 14-16 มิถุนายน 2560 ต่อมาแจ้งสาธารณชนรับทราบเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2560
จากนั้นก็มีนาฬิกา Birks men’s sports watch ได้รับจากบริษัท Birks Group Inc. ในงาน Calgary Stampede
แม้แต่การไปประชุม G7 ที่ญี่ปุ่น เมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น ก็ได้มอบนาฬิกา Men’s Grand Seiko Watch ให้เขา รวมถึงภริยา ก็ได้นาฬิกาแบบผู้หญิงจากนายกฯ ญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้นเช่นกัน ซึ่งก็มีการแจ้งให้สาธารณชนรับทราบในเวลาต่อมา
ไม่เว้นแม้แต่ของขวัญประเภทงานศิลปะ ภาพเขียน ภาพ antique map อาทิ ภาพศิลปะได้รับจากสตรีหมายเลข 1 ของเวียดนาม ได้รับเมื่อครั้งไปประชุมเอเปค 2017 ที่เวียดนาม มีการแจ้งอย่างละเอียดให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้
นี่คือตัวอย่างแค่ประเทศเดียวที่เมื่อมีการมอบของขวัญให้กับเจ้าหน้าที่รัฐจะมีการระมัดระวังเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ขณะเดียวกันก็มีการกำกับดูแล สร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้น นอกจากเหนือไปจากการออกเพียงตัวบทกฎหมายมาบังคับใช้อย่างเดียว
ที่มาภาพ:
http://www.macleans.ca
http://calgaryherald.com