E-project : ชำแหละเมกะโปรเจกต์ 'คสช.' ตีตั๋วกู้ 1.8 ล้านล.-ปิดเงียบข้อมูลไฮสปีดไทย-จีน
"...สิ่งที่ทำให้รัฐบาลลงทุนโครงการต่างๆได้เร็ว เพราะโครงการเหล่านี้มีการเตรียมการมานานแล้วก่อนหน้านี้ ขณะที่รัฐบาลเองก็มีวิธีที่จะทำให้โครงการเกิดขึ้นได้เร็ว เช่น เมื่อมีการนำโครงการไปรับฟังความเห็น หากมีคนไม่เห็นด้วยก็จะใช้วิธีแยกแก้ปัญหาเป็นชิ้นๆไป..."
เป็นรัฐบาลที่มีแผนงานลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) มากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยก็ว่าได้ สำหรับรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
เนื่องจากในช่วงระยะเวลาเพียง 3 ปีเศษ หรือตั้งแต่ส.ค.2557-ธ.ค.2560 ครม.ประยุทธ์ มีมติอนุมัติแผนลงทุนโครงการขนาดใหญ่ 2 แผนหลัก และในเร็วๆนี้กระทรวงคมนาคมจะเสนอแผนลงทุนเพิ่มเติมให้ครม.อนุมัติอีก 1 แผนงาน ซึ่งทั้ง 3 แผนมีเม็ดเงินลงทุนสูงถึง 2.78 ล้านล้านบาท มากกว่าร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... 2 ล้านล้านบาท ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญ 'ตีตก' ไปเมื่อเดือนมี.ค.2557 เสียอีก
ย้อนกลับไปวันที่ 1 ธ.ค.2558 ครม.ประยุทธ์มีมติอนุมัติ “แผนปฏิบัติการด้านการคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน พ.ศ.2559” จำนวน 20 โครงการ วงเงิน 1.79 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 โครงการรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง โครงการทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) 3 เส้นทาง โครงการรถไฟฟ้า 5 เส้นทาง โครงการรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง และโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือและศูนย์ขนส่งสินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง 2 โครงการ
แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน พ.ศ.2559
ที่มา : กระทรวงคมนาคม
โดยแหล่งเงินลงทุนตามแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมฯ ปี 2559 หลักๆจะมาจากการกู้เงิน 1.26 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 70.64% ของเม็ดเงินลงทุนทั้งหมด ส่วนที่เหลือมาจากการร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP) เงินงบประมาณ และรายได้ เป็นต้น
แหล่งเงินลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน พ.ศ.2559
1 ปีถัดมา คือ ในวันที่ 13 ธ.ค.2559 ครม.มีมติอนุมัติ “แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน พ.ศ.2560” จำนวน 36 โครงการ วงเงินลงทุน 8.95 แสนล้านบาท เช่น โครงการรถไฟทางคู่และเส้นทางรถไฟสายใหม่ 10 เส้นทาง โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายและรถไฟชานเมือง 8 โครงการ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 โครงการสร้างทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) 2 โครงการ และโครงการสร้างทางพิเศษ (ทางด่วน) 3 โครงการ เป็นต้น
แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน พ.ศ.2560
ที่มา : กระทรวงคมนาคม
เช่นเดียวกัน แหล่งเงินลงทุนโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมฯ ปี 2560 ยังคงมาจากการกู้เงินเป็นหลัก โดยกำหนดกรอบวงเงินกู้ที่ 5.75 แสนล้านบาท หรือ 64.29% ของเงินลงทุนทั้งหมด
แหล่งเงินลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน พ.ศ.2560
ที่มา : มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 13 ธ.ค.2559
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอ “ร่างแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน พ.ศ.2561” ให้ครม.อนุมัติในเร็วๆนี้ เบื้องต้นมี 9 โครงการ วงเงินลงทุน 1.03 แสนล้านบาท ได้แก่ 1.ทางยกระดับอุตราภิมุขรังสิต-บางประอิน 2.ทางยกระดับกรุงเทพ-มหาชัย 3.ระบบขนส่งมวลชนทางราง จ.เชียงใหม่ 4.ระบบขนส่งมวลชนทางราง จ.นครราชสีมา 5.ระบบขนส่งมวลชนทางราง จ.ขอนแก่น 6.การพัฒนาธุรกิจท่าเรือบก 7.โครงการพัฒนาสนามบินกระบี่ 8.สนามบินขอนแก่น และ9.โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบบริหารการเดินอากาศ
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รวบรวมความคืบหน้าการดำเนินก่อสร้างโครงการต่างๆตามแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมฯ ของรัฐบาลคสช. พบว่า โครงการที่อยู่ภายใต้แผนปฏิบัติด้านคมนาคมฯ ปี 2559 จำนวน 20 โครงการ ขณะนี้มีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 10 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 2.รถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น 3.รถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี 4. รถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี 5.รถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง
6.มอเตอร์เวย์ สายพัทยา-มาบตาพุด 7.มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา 8.มอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี 9.โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ท่าเรือแหลมฉบัง 10.โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง
ส่วนโครงการที่เตรียมเสนอครม.เพื่ออนุมัติให้มีการเซ็นสัญญามี 4 โครงการ ได้แก่ 1.รถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ 2.รถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-หัวหิน 3.รถไฟทางคู่ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร และ4.รถไฟทางคู่ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ
ขณะที่โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า 2 โครงการ ได้แก่ 1รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง และ2.รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ขณะนี้อยู่ในช่วงเตรียมการเพื่อเปิดประมูล ซึ่งคาดว่าจะเปิดประมูลได้ในปี 2561
ด้านความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทางนั้น ขณะนี้มีเพียงโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย ,แก่งคอย-มาบตาพุด เท่านั้น ที่ได้รับอนุมัติจากครม. แต่ก็ต้องอาศัยอำนาจตามม.44 ของพล.อ.ประยุทธ์ จึงทำให้โครงการสามารถเริ่มก่อสร้างได้ภายในปีนี้ ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างช่วงกรุงเทพ-พิษณุโลกในปี 2562
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการลงทุนโครงการรถไฟไทย-จีน เส้นกรุงเทพ-นครราชสีมา และรถไฟไทย-ญี่ปุ่น เส้นกรุงเทพ-พิษณุโลก จะมีมูลค่ารวมกันกว่า 4.5 แสนล้านบาท และแหล่งเงินลงทุนหลักจะมาจากการกู้เงิน แต่ที่ผ่านมารัฐบาล คสช.ไม่เคยเปิดเผยตัวเลขจำนวนเงินกู้ อัตราดอกเบี้ย ตลอดจนเงื่อนไขและระยะเวลาที่ชำระหนี้คืนต่อสาธารณชนแต่อย่างใด โดยเฉพาะรถไฟไทย-จีน ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ที่ต้องใช้เงินลงทุน 1.79 แสนล้านบาท
ในขณะที่รถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-หัวหิน และรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-ระยอง ซึ่งเป็นโครงการรัฐร่วมทุนกับเอกชน แม้ว่าทั้งสองโครงการผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการร่วมทุนฯ (PPP) และครม.แล้ว อย่างไรก็ตาม มีเพียงรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-ระยอง ที่รัฐบาลผลักดันอย่างจริงจัง เนื่องจากถูกบรรจุไว้ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)
สำหรับความคืบหน้าการดำเนินก่อสร้างโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมฯ ปี 2560 มีเพียง 1 โครงการเท่านั้นที่เปิดประมูลไปแล้ว และจะมีการเซ็นสัญญาในปีนี้ ได้แก่ รถไฟทางคู่ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ส่วนโครงที่เหลืออีก 35 โครงการยังอยู่ในขั้นตอนเตรียมการเพื่อเสนอรายละเอียดโครงการให้ครม.อนุมัติก่อนเปิดประมูลต่อไป
ความคืบหน้าโครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมฯ ปี 2559
โครงการ |
วงเงิน (ล้านบาท) |
สถานะ |
1.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ |
51,067 |
กำลังก่อสร้าง |
2.รถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น |
26,004 |
กำลังก่อสร้าง |
3.รถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ |
29,853 |
รอเซ็นสัญญา |
4.รถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-หัวหิน |
20,036 |
รอเซ็นสัญญา |
5.รถไฟทางคู่ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร |
17,290 |
รอเซ็นสัญญา |
6.รถไฟทางคู่ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ |
24,840 |
รอเซ็นสัญญา |
7.รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี |
110,166 |
กำลังก่อสร้าง |
8.รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี |
56,690 |
กำลังก่อสร้าง |
9.รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง |
54,644 |
กำลังก่อสร้าง |
10.รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง |
44,157 |
เตรียมเปิดประมูล |
11.รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ |
131,004 |
จัดทำร่างทีโออาร์ |
12.มอเตอร์เวย์ สายพัทยา-มาบตาพุด |
20,200 |
กำลังก่อสร้าง |
13.มอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา |
84,600 |
กำลังก่อสร้าง |
14.มอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี |
55,620 |
กำลังก่อสร้าง |
15.พัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ท่าเรือแหลมฉบัง |
1,864 |
กำลังก่อสร้าง |
16.พัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง |
2,031 |
กำลังก่อสร้าง |
17.รถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ,แก่งคอย-มาบตาพุด |
369,148 |
เตรียมสร้างเฟสแรก กรุงเทพ-นครราชสีมา |
18.รถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ |
449,473 |
เสนอครม.สร้างเฟสแรกกรุงเทพ-พิษณุโลก |
19.รถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-หัวหิน |
94,673 |
คกก.PPPเห็นชอบ |
20.รถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-ระยอง |
152,528 |
คกก.PPPเห็นชอบ |
ที่มา : กระทรวงคมนาคม , มติคณะรัฐมนตรี และสำนักข่าวอิศรารวบรวม ณ 18 ธ.ค.2560
ขณะที่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เคยกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางต่างๆเมื่อกลางเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ในวันที่ 21 ธ.ค.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในพิธีเริ่มการก่อสร้างโครงการรถไฟไทย-จีนในเฟสแรก หรือโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ระยะทาง 252 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้าง 1.79 แสนล้านบาท โดยจะเริ่มก่อสร้างช่วงแรกก่อน 3.5 กิโลกเมตร คือ ช่วงกิโลเมตรที่ 170 ระหว่างสถานีปางอโศก-ปันไดม้า ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
“โครงการรถไฟไทย-จีน ขนาดราง 1.435 เมตร ระยะทาง 608 กิโลเมตร จะเป็นรถไฟที่ให้บริการขนส่งผู้โดยสารอย่างเดียว ซึ่งจีนเขาก็บอกว่าคนไทยไม่ได้มากมายอะไร ทำไมไม่ใช้ขนส่งสินค้าด้วย เราก็บอกว่าถ้าขนสินค้า เราก็ใช้รถไฟทางคู่ได้ เราไม่อยากให้ใช้ปนกัน โดยในวันที่ 21 ธ.ค.นี้ เรามีกำหนดจะเริ่มก่อสร้างช่วงแรกที่สถานที่สถานีปากช่อง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของรถไฟไทย-จีนเฟสแรก คือ กรุงเทพ-นครราชสีมา 252 กิโลเมตร ส่วนการก่อสร้างในเฟสสองช่วงนครราชสีมา-หนองคาย สิ่งที่เราต้องการ คือ การถ่ายทอดเทคโนโลยี ดังนั้น ในระยะที่สองฝ่ายไทยจะออกแบบก่อสร้างเอง ซึ่งเป็นการเรียนรู้จากเขา แล้วเราจะเป็นตัวนำในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงช่วงนี้เอง”นายอาคมกล่าวในการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “เชียงใหม่…เชื่อมเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก” เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา
นายอาคม กล่าวว่า ในส่วนรถไฟไทย-ญี่ปุ่น หรือรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ ระยะทาง 672 กิโลเมตรนั้น ขณะนี้ญี่ปุ่นได้ส่งมอบรายงานการศึกษาฉบับสมบูรณ์ให้กับฝ่ายไทยแล้ว และคาดว่าจะมีการเสนอโครงการดังกล่าวให้ครม.อนุมัติได้ภายใน 3 เดือน ซึ่งการก่อสร้างจะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ กรุงเทพ-พิษณุโลก และช่วงพิษณุโลก-เชียงใหม่ โดยจะเริ่มเฟสแรกช่วงกรุงเทพ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กิโลเมตร วงเงินค่าก่อสร้าง 2.76แสนล้านบาท ไปก่อน และหากรถไฟความเร็วสูงเส้นนี้สร้างไปถึงเชียงใหม่ จะลดระยะเวลาการเดินทางจากกรุงเทพไปเชียงใหม่เหลือ 3.30 ชั่วโมง จากปัจจุบันที่การเดินทางไปเชียงใหม่ด้วยรถไฟใช้เวลา 12 ชั่วโมง
“กรุงเทพ-เชียงใหม่ ค่าตั๋วจะอยู่ที่ 1,088 บาท ซึ่งวันนั้นผมบอกกับญี่ปุ่นว่า ต้องบีบราคาให้แข่งขันกับโลคอสแอร์ไลน์ให้ได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่ารถไฟความเร็วสูงใช้เงินลงทุนสูง ต้องกัดฟัน ถ้าไม่กัดฟันทำไม่ได้ เพราะโครงการขนาดนี้ไม่มีประเทศไหนที่ลงทุนแล้วกำไรภายใน 30 ปี ต้อง 50 ปีไปแล้วถึงจะกำไร และต้องมีการพัฒนาเมืองตามเส้นทางด้วย รวมทั้งพัฒนาตัวสถานีและพื้นที่รอบนอกสถานีด้วย เพื่อใช้เป็นเงินลงทุนรถไฟ ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องหารายได้จากการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจเชิงพาณิชย์ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าที่เร็วขึ้น”นายอาคมคมกล่าว
นายอาคม กล่าวว่า เพื่อเร่งรัดให้มีการก่อสร้างโครงการรถไฟไทย-ญี่ปุ่น ช่วงกรุงเทพ-พิษณุโลก พล.อ.ประยุทธ์ เสนอว่าขอให้ทยอยสร้างที่ละสถานี เมื่อสร้างเสร็จแล้วจึงเปิดให้บริการได้หรือไม่ ซึ่งตนได้นำข้อเสนอนี้ไปหารือกับทางญี่ปุ่น ทางญี่ปุ่นก็เห็นด้วย
“รถไฟไทย-ญี่ปุ่นช่วงกรุงเทพ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กิโลเมตร จะมาเอาซอยลงมาสร้างเหลือช่วงละ 100 กิโลเมตร แล้วเจรจาซื้อตัวรถมาเลย ไม่เกิน 3 ปีก็พร้อมนั่ง ซึ่งทางญี่ปุ่นก็บอกว่าเห็นด้วยกับแนวคิดสร้างแล้วทยอยเปิดไป”นายอาคมกล่าว
ขณะที่ ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ต้องถือว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลมีความคืบหน้าตามแผน และเร็วกว่ารัฐบาลที่ผ่านมาด้วยซ้ำ เนื่องจากโครงการเหล่านี้มีการเตรียมการมาหลายรัฐบาลแล้ว ส่วนรถไฟความเร็วสูงที่ต้องใช้เวลา 2-3 ปี กว่าจะเริ่มก่อสร้างก็ถือเป็นเรื่องปกติ
“สิ่งที่ทำให้รัฐบาลลงทุนโครงการต่างๆได้เร็ว เพราะโครงการเหล่านี้มีการเตรียมการมานานแล้วก่อนหน้านี้ ขณะที่รัฐบาลเองก็มีวิธีที่จะทำให้โครงการเกิดขึ้นได้เร็ว เช่น เมื่อมีการนำโครงการไปรับฟังความเห็น หากมีคนไม่เห็นด้วยก็จะใช้วิธีแยกแก้ปัญหาเป็นชิ้นๆไป”ดร.สุเมธกล่าว
ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ
เมื่อถามถึงความคุ้มค่าของการลงทุนในโครงการต่างๆ ดร.สุเมธ กล่าวว่า โครงการต่างๆก็ผ่านการประเมินความคุ้มค่าในด้านการลงทุนมาแล้วทั้งนั้น ซึ่งไม่น่ามีปัญหาอะไร ยกเว้นโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นต่างๆ แม้ว่ารัฐบาลจะเห็นว่าเป็นการลงทุนมีความคุ้มค่า แต่ก็ปรากฏว่าที่ผ่านรัฐบาลไม่ปล่อยรายละเอียด เช่น ผลการศึกษาต่างๆ ออกมาให้สาธารณชนได้รับทราบเลย
“โครงการลงทุนส่วนใหญ่ เช่น รถไฟทางคู่ ก่อนได้รับการอนุมัติเขาประเมินความคุ้มค่าเรียบร้อยแล้วถึงให้ผ่าน ยกเว้นรถไฟความเร็ว แม้ว่ารัฐบาลจะบอกว่าคุ้มค่าต่อการลงทุน แต่ที่ผ่านมาเขายังไม่ปล่อยข้อมูลอะไรออกมา เราก็เลยไม่รู้ว่าโครงการคุ้มหรือไม่คุ้ม เพราะอะไร”ดร.สุเมธกล่าว
ด้านผศ.ดร.พงษ์ชัย อธิคมรัตนกุล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ให้ความเห็นกับสำนักข่าวอิศราว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของรัฐบาลคืบหน้าไปตามแผน ทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าในกรุงเทพและปริมณฑล และมอเตอร์เวย์ มีเพียงรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทางเท่านั้นที่ยังล่าช้าอยู่ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้การลงทุนรถไฟความเร็วสูงล่าช้า เป็นเพราะโครงการเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะขาดทุนสูง
ผศ.ดร.พงษ์ชัย อธิคมรัตนกุล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
“ตอนนี้รัฐบาลก็ทยอยลงทุนโครงการต่างๆตามแผน เพราะเป็นสิ่งที่ต้องเร่งทำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในยามที่เครื่องยนต์การลงทุนเอกชน การบริโภคในประเทศ และการส่งออกไม่ดี แต่ถ้าถามในแง่ความคุ้มค่าของโครงการในแผนก็ต้องบอกว่าคุ้ม เพราะหลายๆโครงการเป็นโครงการที่ต้องลงทุนเพื่อสร้างรากฐานให้ประเทศ และล่าช้ามานาน เช่น รถไฟทางคู่ ท่าเรือ และมอเตอร์เวย์ ซึ่งในความจริงเราต้องลงทุนมาตั้งแต่ปี 2550 แล้ว แต่ทุกอย่างเลื่อนออกไปเรื่อยๆ เพราะปัญหาในประเทศ”ผศ.ดร.พงษ์ชัยกล่าว
ไม่เพียงแต่รัฐบาลคสช.จะเร่งรัดการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมฯ เท่านั้น รัฐบาลยังเดินหน้าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อรองรับการลงทุนใหม่ๆจากต่างประเทศไปพร้อมกันด้วย โดยล่าสุดเมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ให้เร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆในอีอีซี พ.ศ.2560-2564
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภายใต้แผน EEC พบว่ามีจำนวน 103 โครงการมูลค่าสูงถึง 7.45 แสนล้านบาท โดยมีโครงการที่สำคัญๆ เช่น การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินพาณิชย์ระดับนานาชาติ และการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน วงเงินลงทุน 1.68 แสนล้านบาท การพัฒนาท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ 1,846 ล้านบาท ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 วงเงิน 10,154 ล้านบาท โครงการรถไฟทางคู่เชื่อมต่อระหว่างท่าเรือแหลมฉบังและเท่าเรือน้ำลึกทวาย วงเงิน 8.58 หมื่นล้านบาท เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หากตัดโครงการลงทุนตามแผนอีอีซีที่ไปซ้ำซ้อนกับแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมฯ ปี 2559-2560 ที่มีอย่างน้อย 2 โครงการ คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นกรุงเทพ-ระยอง วงเงิน 1.52 แสนล้านบาท และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท ก็จะเหลือวงเงินลงทุน 5.6 แสนล้านบาทเลยทีเดียว
แผนลงทุนภายใต้แผนงาน EEC พ.ศ.2560-2564
เหล่านี้เป็นการตอกย้ำว่ารัฐบาลคสช.ให้ความสำคัญกับการลงทุนอย่างมหาศาล และมีเม็ดเงินรวมไม่ต่ำกว่า 3.3 ล้านล้านบาท แต่ปรากฏว่าหลายโครงการ โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงที่ต้องกู้หนี้ยืมสินต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และเสี่ยงต่อการขาดทุนอย่างหนัก รัฐบาลคสช. กลับปิดบังไม่ให้เล็ดลอดสู่สายตาคนไทย
ทั้งๆภาระเหล่านี้จะตกกับลูกหลานไม่น้อยกว่า 50 ปี