สดจากสตง.! ว่าด้วยยุคมืดแห่งการตรวจสอบทุจริต-เมื่อจนท.ถูกขู่เล่นงานโทษวินัยปมเอกสารหลุด
"... ด้วยปัจจุบันได้มีผู้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจสอบของ สตง. ให้สาธารณชนทราบ โดยมิได้รับมอบหมายจาก คตง. หรือผู้ว่าฯ สตง. ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมายระเบียบของ สตง. อันอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายและผลกระทบต่อการดำเนินงานของ สตง. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาพลักษณ์ขององค์กรโดยรวม ..."
ดูเหมือนว่าการบริหารงานภายในของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ภายหลังจากที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ชุดใหม่ ที่มี พลเอก ชนะทัพ อินทามระ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เข้ามาบริหารงานเป็นทางการ พร้อมปรากฎชื่อ นายพรชัย จํารูญพานิชย์กุล รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (ผู้มีอาวุโสสูงสุดในตําแหน่งรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน) เข้ามารับหน้าที่เป็นผู้รักษาการตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
จะยิ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นเรื่อยๆ ว่า กำลังถอยหลัง-ปิดประตูเข้าสู่ที่ตั้งอย่างเต็มรูปแบบ ไม่มุ่งเน้นการทำงานเชิงรุก เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบปัญหาการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน อันเป็นปรัชญาขั้นพื้นฐานที่สำคัญในการทำงานของข้าราชการสตง. ที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบปกป้องรักษาผลประโยชน์เงินแผ่นดินที่มาจากภาษีประชาชน อย่างเต็มรูปแบบ
เพราะถ้ายังจำกันได้ ในช่วงก่อนหน้านี้ เคยมีกระแสข่าวหลุดรอดออกมาว่า ในช่วงแรกหลังการเปลี่ยนผ่านตัวผู้บริหารชุดใหม่ทั้งในส่วนของ คตง.และสตง. เคยมีคำสั่งทางลับจากฝ่ายบริหารให้ สตง. เปลี่ยนแปลงนโยบายการทำงานใหม่ ให้เจ้าหน้าที่ลดระดับความเข้มข้นในการตรวจสอบลงเพื่อให้หน่วยงานราชการต่างๆ ทำโครงการใช้จ่ายเม็ดเงินเพื่อช่วยรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น
โดยให้เหตุผลว่า ได้รับการร้องเรียนจากหน่วยงานราชการหลายแห่งก่อนหน้านี้ว่าที่ผ่านมา สตง. เข้มงวดตรวจสอบการใช้จ่ายเม็ดเงินมากเกินไป จนทำให้หน่วยงานรัฐต่างๆ ไม่กล้าดำเนินงานโครงการจัดซื้อจัดจ้าง ส่งผลทำให้แผนการใช้จ่ายเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นไปด้วยความล่าช้า ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า นโยบายดังกล่าวมีลักษณะไม่ต่างอะไรกับการให้เจ้าหน้าที่ใส่เกียร์ว่างลดความเข้มข้นงานตรวจสอบลง ทำให้เกิดความไม่สบายใจในการปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างมาก เพราะเป็นนโยบายที่ขัดแย้งกับจุดยืนการทำงานของสตง. ที่ก่อนหน้านี้เน้นหนักการตรวจสอบปกป้องการใช้จ่ายเงินงบประมาณให้คุ้มค่าผ่านโครงการต่างๆ ไม่ปล่อยให้กลุ่มบุคคลใดเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบได้
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ดังขึ้นมาว่านั้นเป็นหน้าที่ที่เหมาะสมสำหรับข้าราชการสตง. ที่สมควรทำแล้วหรือ?
นโยบายและวิธีคิดแบบนี้ ถูกต้องแล้วหรือ สำหรับบุคคลที่จะเข้ามาบริหารดูแลองค์กรที่มีหน้าที่สำคัญในการดูแลรักษาผลประโยชน์เงินแผ่นดิน ซึ่งมีที่มาจากเงินภาษีประชาชน?
อย่างไรก็ดี พลเอก ชนะทัพ อินทามระ ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า กระแสข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง น่าจะเป็นการปล่อยข่าวเพื่อดิสเครดิตกรรมการคตง.ชุดใหม่มากกว่า พร้อมยืนยันว่า ตนเองได้ขอให้สตง.ตรวจสอบทุกโครงการเต็มที่เหมือนเดิม แต่ต้องมีข้อมูลที่รอบด้าน เพื่อให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย
"รัฐบาลไม่เคยมาสั่งอะไรผม เขาสั่งผมไม่ได้ และผมคิดว่าเขาก็คงไม่สั่งอะไรแบบนี้หรอก น่าจะเป็นการปล่อยข่าวเพื่อดิสเครดิตกรรมการคตง.ชุดใหม่ ผมก็กำลังไล่ข้อมูลดูอยู่ เพื่อทำความเข้าใจกัน เพราะรัฐบาลไม่ได้สั่งอะไรผมมาเลย หากมาพูดแบบไม่มีมูลก็ต้องทำความเข้าใจกัน ไม่เช่นนั้นมันจะเสียหาย"
นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ เวลาผ่านพ้นไปไม่นานนัก ดูเหมือนจะมีความจริงบ้างอย่างค่อยๆ ปรากฎให้สังคมได้รับทราบกัน
เมื่อล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2560 นายพรชัย จํารูญพานิชย์กุล รักษาการผู้ว่าฯ สตง. ได้ลงนามในบันทึกแจ้งเวียนคำสั่งเรื่องการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจสอบของ สตง. ถึงผู้บริหารทุกหน่วยงานในสตง.
ระบุใจความสรุปว่า ด้วยปัจจุบันได้มีผู้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจสอบของ สตง. ให้สาธารณชนทราบโดยมิได้รับมอบหมายจาก คตง. หรือผู้ว่าฯ สตง. ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมายระเบียบของสตง. อันอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายและผลกระทบต่อการดำเนินงานของ สตง. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาพลักษณ์ขององค์กรโดยรวม
"สตง.จึงขอให้ผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของสตง.ทุกท่านถือปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบและคำสั่งโดยเคร่งครัด หากฝ่าฝืนอาจได้รับโทษตามที่กฎหมายกำหนดรวมทั้งอาจมีความผิดทางวินัยข้าราชการด้วย"
ว่ากันว่า บันทึกฉบับนี้ ถูกจัดทำขึ้นอย่างเร่งรีบ ภายหลังผู้บริหาร สตง. บางราย ถูกต่อว่าต่อขาน จากใครบางคน เกี่ยวกับผลตรวจสอบโครงการสำคัญระดับของประเทศมูลค่าเป็นหมื่นล้าน หลุดรอดออกไปสู่สาธารณะ ผ่านการนำเสนอของสื่อมวลชนไปเมื่อเร็วๆ นี้ ทั้งที่ในความเป็นจริงเอกสารเหล่านี้ มีที่มาจากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่จากคนสตง.
ขณะที่ แหล่งข่าวระดับสูงจาก สตง. รายหนึ่ง เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า การแจ้งเวียนบันทึกคำสั่งของ นายพรชัย ดังกล่าว น่าจะมีผลต่อการทำงานตรวจสอบปัญหาการใช้จ่ายเงินแผ่นดินของเจ้าหน้าที่ สตง.อย่างมาก โดยเฉพาะการแสวงหาความร่วมมือจากสื่อมวลชน และภาคประชาชน ให้เข้ามามีส่วนรวมในการตรวจสอบปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา สตง.และสื่อมวลชน รวมถึงภาคประชาชน มีความร่วมมือในการทำงานเชิงรุก แสวงหาข้อมูลการทุจริตเป็นอย่างดี เห็นได้จากผลงานการตรวจสอบคดีสำคัญๆ ของสตง.หลายเรื่องที่ผ่านมา
" ในบางครั้งสตง. เข้าไปตรวจสอบเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือทำหนังสือแจ้งท้วงติงหน่วยงานอะไรไป หน่วยงานต่างๆ จะนิ่งเฉยไม่ค่อยปฏิบัติตาม แต่เมื่อมีข่าวปรากฎออกไป ว่าสตง.เข้าไปตรวจสอบเรื่องนั้นอยู่ ก็ทำให้หน่วยงานรับตรวจต่างๆ ตระหนักถึงความสำคัญ เกรงกลัวต้องรีบดำเนินการตามข้อเสนอของสตง. โดยเร็ว กลัวถูกจับตามอง ขณะที่หน่วยงานรับตรวจอื่นๆ เมื่อข่าวลักษณะนี้ออก เห็นว่าสตง.เอาจริง ทำงานเชิงรุกของสตง. ก็ไม่กล้าทำอะไรผิด การใช้จ่ายเงินมีความระมัดระวังรอบคอบมากขึ้น"
"ส่วนที่ไปกล่าวอ้างว่า ทำให้เกิดความเสียหายกับภาพลักษณ์ขององค์กรโดยรวม ยังนึกไม่ออกเหมือนกันว่า มันเสียหายตรงไหน ในทางตรงกันข้าม การที่ สตง. อุบเงียบ ไม่บอกกล่าวแจ้งข้อมูลแก่ประชาชนว่า กำลังตรวจสอบเรื่องอะไรบ้าง จนอาจถูกเอาไปนินทาว่าไม่ทำอะไรจริงจัง ไปมีข้อตกลงกับใครหรือเปล่า แบบนี้มันไม่เสียหายมากกว่าหรือ "
แหล่งข่าวยังระบุด้วยว่า "อีกหนึ่งประเด็น ที่คนในสตง.เริ่มวิพากษ์วิจารณ์กันมากขึ้น คือ อำนาจของ คตง.ในปัจจุบัน ที่ดูเหมือนจะมีคตง.บางคนที่ใช้อำนาจมากเกินไป สตง.จะทำอะไรก็ต้องไปรายงานให้ทราบก่อน จะไปตรวจสอบเรื่องอะไร จะเอากำลังคนเจ้าหน้าที่ไปไหนบ้าง ก็ต้องรายงานให้ทราบด้วย และบางเรื่องก็ดูเหมือนจะเข้ามาก้าวก่ายก้าวล้วงลูกการทำงานเกินความเหมาะสม ซึ่งจากบันทึกแจ้งเวียนที่ รองพรชัย ลงนามออกมาล่าสุด ก็ใช้ให้เห็นแล้วว่า อำนาจการบริหารงานของ สตง.ในยุคปัจจุบัน ผูกขาดอยู่ที่ใคร"
นี่ยังไม่นับรวมเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ดังตามมาว่า นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเป็นทางการ เมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา ผ่านมาแล้ว 2 เดือนกว่า ยังไม่มีใครเห็นวี่แวว นโยบายการทำงานของ คตง.เป็นทางการเลยว่าจะออกมาแบบไหน
นอกจากคำมั่นสัญญาแบบลอยๆ ว่าจะขอเป็นผู้ปิดทองหลังพระ
ขณะนี้ สิ่งสำคัญที่คน สตง. กำลังจับตาดูอยู่ คือ นายประจักษ์ บุญยัง รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ได้รับการสรรหาด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ 7:0 ให้เป็นว่าที่ผู้ว่าฯ สตง. คนใหม่ ผู้ที่เป็นข้าราชการลูกหม้อ สตง. มีฝีมือดี มีผลงานตรวจสอบดำเนินงานหลายเรื่องที่โดดเด่น อาทิ การตรวจสอบการดำเนินงานโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล สมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะมีจุดยืนการทำงานเป็นอย่างไร
จะเหมือนหรือแตกต่างกันกับ ในช่วงที่นายพรชัย รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าฯ สตง.หรือไม่
โดยเฉพาะการมุ่งเน้นทำงานเชิงรุก ตรวจสอบปัญหาการใช้จ่ายเงินแผ่นดินในทุกด้าน ความมีอิสระในการทำงานอย่างเต็มที่ ไม่เกรงกลัวหรือตกอยู่ภายใต้อิทธิพลหรืออำนาจใคร สร้างชื่อฝากผลงานไว้ ให้สาธารณชนได้ 'ประจักษ์' สมชื่อ
แต่ถ้าไม่...
บทบาทของสตง. นับจากนี้ ก็จะมีสภาพเป็นเพียงแค่หน่วยงานรัฐแห่งหนึ่ง ที่ยังอยู่ห่างไกลกับคำว่า เป็นหนึ่งในเสาหลัก ที่คอยทำหน้าที่ตรวจสอบปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทย เฝ้ารักษาเงินแผ่นดิน เป็นที่พึ่งพาของประชาชนได้
กลายเป็น 'ยุคมืด' ไม่รุ่งโรจน์โดดเด่นเหมือนดั่งที่เคยเป็นมาในอดีต ก็เป็นได้