- Home
- Isranews
- ใช้ IP-address ปริศนาแพร่ประกาศเชิญชวนย้อนหลัง! ข้อมูลลับคดีปลอมเอกสารงานเขื่อนจว.ตาก(6)
ใช้ IP-address ปริศนาแพร่ประกาศเชิญชวนย้อนหลัง! ข้อมูลลับคดีปลอมเอกสารงานเขื่อนจว.ตาก(6)
"... นอกเหนือจากประเด็นการเผยแพร่ข้อมูลทีโออาร์ผ่านทางเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง ที่ถูกระบุว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลทีโออาร์ ทางเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง ย้อนหลังจากที่มีการขออนุมัติจัดจ้างแล้ว ยังมีข้อมูลสำคัญอีกชุดหนึ่งที่น่าสนใจ และไม่เคยถูกเปิดเผยมาก่อน คือ กลุ่มบุคคลที่นำประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมการดำเนินงานโครงการไปเผยแพร่ในเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง ไม่เป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดตาก แต่เป็นคนในบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร.."
ในการขยายผลการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการจ้างก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมลำห้วย ของ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดตาก ที่ถูกสำนักงานการตรวจสอบเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบว่า มีพฤติการณ์ปกปิดการเผยแพร่การดำเนินงานการประมูล และการจัดทำข้อมูลเป็นเท็จ ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับไปดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงอยู่ในขณะนี้
ข้อมูลสำคัญที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอต่อสาธารณชนไปแล้ว คือ
1. โครงการที่ถูกตรวจสอบพบว่ามีปัญหา คือ โครงการจ้างก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำวัง ในส่วนของ แม่ละเมา หมู่ 6 , หมู่ 9 และบ้านวังน้ำผึ้ง บ้างวังไคร้ และบ้านคลองไม้แดง (เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า งานว่าจ้างก่อสร้าง ในพื้นที่ที่ถูกระบุว่า มีจำนวน 4 สัญญา รวมวงเงินทั้งสิ้น กว่า 55 ล้านบาท ปรากฏชื่อ หจก.สีแควการโยธา เป็นผู้รับจ้างงานทั้งหมด)
2. ในขั้นตอนการดำเนินงานโครงการ มีการเผยแพร่ข้อมูลทีโออาร์ ทางเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง ย้อนหลังจากที่มีการขออนุมัติจัดจ้าง ถือและเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 ข้อ 8(1) ที่กำหนดว่า ให้หัวหน้าหน่วยงานที่จัดหาพัสดุแต่งตั้งคณะกรรมการร่างขอบเขตของงาน และร่างเอกสารประกวดราคาก่อนเริ่มจัดหาพัสดุตามระเบียบนี้ เมื่อร่างขอบเขตงานได้รับอนุมัติให้นำสาระสำคัญที่สามารถเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลาง เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 วัน เพื่อให้สาธารณชนเสนอแนะวิจารณ์ หรือมีความเห็นเป็นลาย ลักษณ์อักษร หรือทางเว็บไซต์ มายังหน่วยงานโดยเปิดเผยตัว
3. สตง.ระบุว่า มีผู้รับเหมาบางราย ยืนยันว่าไม่ได้ไปซื้อเอกสารประกวดราคาโครงการแต่อย่างใด แต่กลับมีชื่อซื้อเอกสารประกวดราคา บัญชีขายเอกสารการดำเนินการประมูล จึงถือเป็นเอกสารราชการปลอม
(อ่านประกอบ : แพร่ร่างทีโออาร์ย้อนหลังอนุมัติจ้าง!เปิดปมสำนักโยธาฯตาก ใช้ข้อมูลเท็จสร้างเขื่อน22ล.(1) , เปิดชื่อผู้รับเหมาสร้างเขื่อนจว.ตาก22ล. พันคดีสอบปมจนท.ใช้ข้อมูลเท็จอนุมัติจ้าง?(2),ปลอมเอกสารราชการ? เปิดหลักฐานสตง.มัด 'จัดฉาก' ประกวดราคาสร้างเขื่อนจว.ตาก 22 ล.(3), ยันไม่เคยซื้อซองประกวดราคา! เปิดคำให้การหจก.ถูกปลอมชื่อจัดฉากแข่งงานเขื่อนตาก 22 ล.(4) , ลามโครงการแม่น้ำวัง! พบข้อมูลใหม่คดีสร้างเขื่อนจว.ตาก-งบพุ่ง55ล.ผู้รับเหมาเจ้าเดิม(5))
ทั้งนี้ นอกเหนือจากประเด็นการเผยแพร่ข้อมูลทีโออาร์ผ่านทางเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง ที่ถูกระบุว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลทีโออาร์ ทางเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง ย้อนหลังจากที่มีการขออนุมัติจัดจ้างแล้ว ยังมีข้อมูลสำคัญอีกชุดหนึ่งที่ยังไม่เคยถูกเปิดเผยมาก่อน คือ กลุ่มบุคคลที่นำประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมการดำเนินงานโครงการไปเผยแพร่ในเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดตาก แต่เป็นคนในบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร
โดยในรายงานผลการตรวจสอบ สตง. ระบุว่า ตามที่ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดตาก ได้มีการเผยแพร่ประกาศเชิญชวนโครงการจ้างก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมลำห้วยแม่ละเมาะ หมู่ที่ 6 และ 9 ที่พิมพ์มาจากหน้าเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลาง แสดงว่าได้มีการเผยแพร่ประกาศเชิญชวนในโครงการ เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2556
แต่จากการตรวจสอบข้อมูลที่สำนักงานมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พบว่า สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดตาก ได้มีการเผยแพร่ประกาศเชิญชวนโครงการ หมู่ที่ 6 เมื่อวันที่ 27 ก.ค.2556 และโครงการหมู่ที่ 9 เมื่อวันที่ 24 ก.ค.2556
ดังนั้น ในวันที่ 20 มี.ค.2556 สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดตาก จึงไม่ได้มีการเผยแพร่ประกาศเชิญชวนในเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลางแต่อย่างใดเอกสารที่อ้างว่ามีการเผยแพร่ จึงถือเป็นเอกสารราชการปลอม!
ขณะที่จากการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกของ สตง. พบว่า เมื่อตรวจสอบ IP address ที่ถูกใช้ในการเผยแพร่ประกาศเชิญชวนย้อนหลัง พบว่า ไม่ได้มีการใช้ IP address ที่ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดตาก แต่อย่างใด
แต่กลับพบว่า ได้มีการใช้ IP address ดังกล่าว ที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร
พฤติการณ์ดังกล่าว สตง.เชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกับข้อมูลการปลอมเแปลงเอกสาร เพื่อปกปิดข่าวสารการดำเนินการประมูลจ้างงานโครงการนี้ และนำส่งข้อมูลส่วนนี้ ให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. นำไปใช้ประกอบการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีนี้ ด้วย
ส่วนบริษัทเอกชนรายนี้ เป็นใครมาจากไหน เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ได้อย่างไร สำนักข่าวอิศรา จะตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกมานำเสนอในตอนต่อไป