- Home
- Isranews
- เปิดมติ3หน่วยงานรัฐ บีบดีเอสไอชะลอสอบคดีเลี่ยงภาษีก๊าซไทย-มาเลฯ ชงบิ๊กตู่ใช้ม.44 แก้กม.?
เปิดมติ3หน่วยงานรัฐ บีบดีเอสไอชะลอสอบคดีเลี่ยงภาษีก๊าซไทย-มาเลฯ ชงบิ๊กตู่ใช้ม.44 แก้กม.?
"...เป็นผลสืบเนื่องจากการที่ดีเอสไอ ได้แจ้งข้อกล่าวหากับบริษัทผู้ได้รับสัญญาในพื้นที่พัฒนาร่วมฯ เกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงอากรขาออก โดยได้มีการเรียกอดีตผู้บริหารระดับสูงของบริษัทผู้รับสัญญาชาวมาเลเซียให้ปากคำ ภายหลังสืบสวนพบว่าการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวดังกล่าว มีการโอนถ่ายกรรมสิทธิ์ไปเป็นของบริษัทต่างชาติ ก่อนที่บริษัทเอกชนรายหนึ่งจะรับซื้อต่อและส่งก๊าซธรรมชาติเหลวเข้าไทย แต่ใบขนสินค้าไม่มีการสำแดงที่มาของสินค้า ซึ่งดีเอสไอ เห็นว่าเป็นการแสดงพิกัดที่จะหลีกเลี่ยงภาษี ..."
การสอบสวนคดีการจัดเก็บอากรศุลกากรขาออก จากการขายก๊าซธรรมชาติเหลวของพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ของ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กำลังถูกจับตามองจากสาธารณชน
เมื่อ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับแจ้งข้อมูลว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้บริหารระดับสูงของ กระทรวงพลังงาน กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการคลัง พร้อมด้วยตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดประชุมเพื่อหาข้อยุติและพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีการจัดเก็บอากรศุลกากรขาออกจากการขายก๊าซธรรมชาติเหลว ของพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ตามที่ได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการที่ดีเอสไอ ได้แจ้งข้อกล่าวหากับบริษัทผู้ได้รับสัญญาในพื้นที่พัฒนาร่วมฯ เกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงอากรขาออก โดยได้มีการเรียกอดีตผู้บริหารระดับสูงของบริษัทผู้รับสัญญาชาวมาเลเซียให้ปากคำ ภายหลังสืบสวนพบว่าการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวดังกล่าว มีการโอนถ่ายกรรมสิทธิ์ไปเป็นของบริษัทต่างชาติ ก่อนที่บริษัทเอกชนรายหนึ่งจะรับซื้อต่อและส่งก๊าซธรรมชาติเหลวเข้าไทย แต่ใบขนสินค้าไม่มีการสำแดงที่มาของสินค้า ซึ่งดีเอสไอ เห็นว่าเป็นการแสดงพิกัดที่จะหลีกเลี่ยงภาษี
โดยเบื้องต้น ที่ประชุมร่วมหน่วยงานรัฐดังกล่าว เห็นควรให้ กรมศุลกากร ตีความข้อกฎหมายการจัดเก็บอากรศุลกากรขาออกกรณีนี้ให้เกิดความชัดเจน โดยเฉพาะการยืนยันพิธีการจัดเก็บอากรขาออกฯ ให้พิจารณาจากการขนส่งไปยังประเทศปลายทางเป็นหลัก และเห็นพ้องให้ ดีเอสไอ ชะลอการสอบปากคำคดีความออกไปก่อนจนกว่าจะได้ข้อยุติด้วย นอกจากนี้ ยังขอให้กรมเชื่อเพลิงธรรมชาติ ประสานองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ในการยกร่างหนังสือรายงานประเด็นดังกล่าว เพื่อใช้ประกอบการนำเสนอขอรับความเห็นชอบตามความในมาตรา 44 เพื่อขอยกเว้นพิธีการศุลกากรและสรรพากรสำหรับก๊าซธรรมชาติส่วนของมาเลเซียต่อไป
ขณะที่ความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและมาเลเซีย เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2533 ในข้อ 16 (1) (ก) กำหนดให้ “อัตราอากรขาออกที่จะต้องจ่ายโดยผู้ได้รับสัญญาในส่วนที่เกี่ยวกับส่วนแบ่งของผู้ได้รับสัญญาในน้ำมันดิบส่วนที่เป็นกำไรที่ขายนอกราชอาณาจักรไทยและมาเลเซียให้เป็นร้อยละ 10..” โดยมีเจตนารมณ์เพื่อส่งเสริมให้นำก๊าซธรรมชาติเหลวที่ผลิตจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียมาใช้ประโยชน์ในประเทศทั้งสอง ซึ่งโดยทางปฏิบัติของอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมนั้น จะเป็นการประมูลแข่งขันเพื่อให้ได้ราคาสูงสุด โดยผู้เข้าร่วมการประมูลส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทผู้ค้าน้ำมัน (ซึ่งอาจจดทะเบียนในประเทศที่สาม) แม้ว่าในที่สุดก๊าซธรรมชาติเหลวดังกล่าวจะนำมาใช้ในประเทศ ซึ่งแนวทางปฏิบัติที่ผ่านมา ก๊าซธรรมชาติเหลวที่นำมาใช้ประโยชน์ในประเทศไทยและมาเลเซียจะไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร (อ่านประกอบ : ชงใช้ม.44 แก้ปัญหา! ปูดมติ3หน่วยงานรัฐ บีบดีเอสไอชะลอสอบเอกชนคดีเลี่ยงภาษีก๊าซไทย-มาเลฯ)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำบันทึกข้อความของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ที่ พน 0306/457 ลงวันที่ 6 ก.ค.2560 ที่สรุปสาระสำคัญผลการประชุมหารือเรื่องนี้ดังกล่าวอย่างละเอียดมานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น (ดูเอกสารประกอบ)
ส่วนข้อเท็จจริงอื่นๆ คงต้องรอตัวแทน 3 หน่วยงานรัฐ และบุคคลที่ปรากฎชื่อเข้าร่วมประชุม พร้อมเสนอความเห็น ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสาธารณชน รวมถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้วย
เมื่อท่านพูดคนจะฟัง เมื่อท่านลงมือทำคนจะเชื่อถือ?