เก่งกม.-อิสระ-ไร้แผล-เข้าใจงานสตง.! จับตาเคาะเลือกปธ.คตง.ใหม่ ปลอดภาพ'รบ.ทหาร'คุม?
"...บุคคลที่สมควรได้รับการคัดเลือกให้ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นประธานคตง.ชุดใหม่ กำลังถูกจับตามองจากหลายฝ่ายเป็นอย่างมาก เพราะ คตง. มีหน้าที่สำคัญในการพิจารณาผลการตรวจสอบของสตง. บุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่นี้ ควรจะต้องเป็นคนที่รู้เข้าใจกระบวนการทำงานของสตง.เป็นอย่างดี ทั้งในเรื่องกฎหมาย การบัญชี และมีประสบการณ์ในการตรวจสอบเรื่องการเงิน เพื่อจะทำให้การทำงานระหว่างคตง.และสตง. สอดประสานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เกิดปัญหาความขัดแย้ง ขัดแข้งขัดขาในการทำงาน ช่วยกันอดช่องโหว่ปัญหาการทำงานในช่วงที่ผ่านมาระหว่างกัน..."
นับจนถึงเวลานี้ สาธารณชนคงได้รับทราบข้อมูลกันไปแล้วว่า ผลการประชุมคณะกรรมการสรรหากรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ที่มีนายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกาเป็นประธาน เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้พิจาณาคัดเลือกบุคคลผู้สมควรได้รับการสรรหาเป็นคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ชุดใหม่ จำนวน 7 ราย จากผู้สนใจเข้าสมัครจำนวน 58 คน
โดยที่ประชุมได้ลงมติเลือกผู้สมควรเป็นคตง. ด้านต่างๆ ทั้ง 7 ราย ประกอบไปด้วย
1. นางยุพิน ชลานนท์นิวัฒน์ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็น คตง. ด้านการตรวจเงินแผ่นดิน
2. นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เป็น คตง. ด้านกฎหมาย
3. นางอรพิน ผลสุวรรณ์สบายรูป อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เป็น คตง.ด้านกฎหมาย
4. น.ส.จินดา มหัทธนวัฒน์ อดีตรองอธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นคตง.ด้านบัญชี
5. พล.อ.ชนะทัพ อินทามระ อดีต ผอ.สำนักงานตรวจสอบภายในทหารบก เป็น คตง.ด้านการตรวจสอบภายใน
6. นายวีระยุทธ ปั้นน่วม รองผอ.สำนักงบประมาณ เป็น คตง.ด้านการเงินการคลัง
และ 7.นายสรรเสริฐ พลเจียก เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นคตง.ด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจเงินแผ่นดิน
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันว่า ในวันที่ 23 ส.ค.2560 นี้ เวลา13.00 น. คตง.ชุดใหม่ จะมีการนัดหมายประชุมเป็นทางการครั้งแรก ซึ่งมีวาระสำคัญที่ต้องจับตามอง คือ การเลือกบุคคลขึ้นมาทำหน้าที่เป็นประธานคตง.ชุดใหม่ ซึ่งว่ากันว่า มีหลายคน ที่ถูกระบุว่าเป็นตัวเก็งที่จะได้รับการคัดเลือกให้ทำหน้าที่สำคัญนี้
ทั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชนได้รับข้อมูลเส้นทางของ คตง.ทั้ง 7 ราย ก่อนที่จะมีการนัดหมายประชุมเลือกบุคคลขึ้นมาทำหน้าที่เป็นประธานคตง.ชุดใหม่ สำนักข่าว อิศรา ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจาก แหล่งข่าวระดับสูงที่รัฐสภา เกี่ยวกับผลการลงคะแนนเลือก คตง.ชุดใหม่ ทั้ง 7 คน ซึ่งพบว่า มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย
โดยเฉพาะกรรมการคตง.บางราย ที่กว่าจะได้รับการคัดเลือกต้องผ่านการลงคะแนนถึง 5-7 รอบ ปรากฎรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. บุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เกี่ยวกับ ด้านการตรวจเงินแผ่นดิน 1 ราย
มีผู้เสนอชื่อจำนวน 3 ราย คือ น.ส.ประพีร์ อังกินันท์ นายศิริพงษ์ วีระแสงพงษ์ และ นางยุพิน ชลานนท์นิวัฒน์
ลงคะแนน 1 รอบ จนได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการสรรหาที่มีอยู่
นางยุพิน ได้ 6 คะแนน ส่วนน.ส.ประพีร์ และ นายศิริพงษ์ ได้คนละ 1 คะแนน
นางยุพิน ได้รับการเสนอชื่อให้เป็น คตง. ด้านการตรวจเงินแผ่นดิน
2. บุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เกี่ยวกับ ด้านกฎหมาย
มีผู้เสนอชื่อจำนวน 3 ราย คือ นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ ศาสตราจารย์อรพิน ผลสุวรรณ์สบายรูป และนายชวลิต ชูขจร
ลงคะแนน 4 รอบ จนได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการสรรหาที่มีอยู่
รอบแรก นายพิมล และ ศาสตราจารย์อรพิน ได้คะแนนเท่ากัน คนละ 3 คะแนน นายชวลิต ได้ 2 คะแนน
รอบสอง นายพิมล และ ศาสตราจารย์อรพิน ได้คะแนนเท่ากัน คนละ 3 คะแนน นายชวลิต ได้ 2 คะแนน
รอบสาม นายพิมล ได้ 4 คะแนน ศาสตราจารย์อรพิน ได้ 3 คะแนน นายชวลิต ได้ 1 คะแนน
รอบสี่ นายพิมล ได้ 6 คะแนน ศาสตราจารย์อรพิน ได้ 2 คะแนน
นายพิมล ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นคตง.ด้านกฎหมาย
3. บุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เกี่ยวกับ ด้านบัญชี
มีผู้เสนอชื่อจำนวน 4 ราย คือ นางกมลทิพย์ กรวิจิตรกุล นางชลาลัย สุขสถิตย์ นางดนูนาถ สุวรรณานนท์ และนางสาวจินดา มหัทธนวัฒน์
ลงคะแนน 4 รอบ จนได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการสรรหาที่มีอยู่
รอบแรก นางกมลทิพย์ และ นางสาวจินดา ได้คะแนนเท่ากัน คนละ 3 คะแนน นางชลาลัย และ นางดนูนาถ ได้คะแนนเท่ากัน คนละ 1 คะแนน
รอบสอง นางกมลทิพย์ ได้ 3 คะแนน นางดนูนาถ ได้ 1 คะแนน นางสาวจินดา ได้ 4 คะแนน
รอบสาม นางกมลทิพย์ ได้ 3 คะแนน นางสาวจินดา ได้ 5 คะแนน
รอบสี่ นางกมลทิพย์ ได้ 2 คะแนน นางสาวจินดา ได้ 6 คะแนน
นางสาวจินดา ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นคตง.ด้านบัญชี
4. บุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เกี่ยวกับ ด้านการตรวจสอบภายใน
มีผู้เสนอชื่อจำนวน 3 ราย คือ พลเอก ชนะทัพ อินทามระ นายสุวัฒน์ หลายเจริญทรัพย์ และนายกิจจา อ่อนละมัย
ลงคะแนน 2 รอบ จนได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการสรรหาที่มีอยู่
รอบแรก พลเอกชนะทัพ ได้ 4 คะแนน นายสุวัฒน์ ได้ 1 คะแนน นายกิจจา ได้ 3 คะแนน
รอบสอง พลเอกชนะทัพ ได้ 6 คะแนน นายสุวัฒน์ ได้ 1 คะแนน นายกิจจา ได้ 1 คะแนน
พลเอก ชนะทัพ ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นคตง.ด้านการตรวจสอบภายใน
5. บุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เกี่ยวกับ ด้านการเงินการคลัง
มีผู้เสนอชื่อจำนวน 4 ราย คือ นางเยาวลักษณ์ มานะตระกูล นายพัลลภ ศักดิ์โสภณกุล นางสาวสุรีย์รัตน์ โง้ววัฒนา และนายวีรยุทธ ปั้นน่วม
ลงคะแนน 2 รอบ จนได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการสรรหาที่มีอยู่
รอบแรก นางเยาวลักษณ์ นายพัลลภ นางสาวสุรีย์รัตน์ ได้คะแนนเท่ากันคนละ 1 คะแนน นายวีรยุทธ ได้ 5 คะแนน
รอบสอง นายวีรยุทธ ได้ 8 คะแนน
นายวีรยุทธ ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นคตง.ด้านการเงินการคลัง
6. บุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เกี่ยวกับ ด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจเงินแผ่นดิน
มีผู้เสนอชื่อจำนวน 5 ราย คือ พลตำรวจตรี พชร บุญญสิทธิ์ นายสรรเสริญ พลเจียก นายวิชาญ อมรโรจนาวงศ์ นายสุวัฒน์ เทพอารักษ์ นายพศวีร์ จิตวรพันธ์
ลงคะแนน 7 รอบ จนได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการสรรหาที่มีอยู่
รอบแรก พลตำรวจตรี พชร นายพศวีร์ ได้คะแนนคนละ 1 คะแนน นายสรรเสริญ นายวิชาญ นายสุวัฒน์ ได้คะแนนคนละ 2 คะแนน
รอบสอง นายสรรเสริญ นายวิชาญ ได้คะแนนคนละ 3 คะแนน นายสุวัฒน์ ได้ 2 คะแนน
รอบสาม นายสรรเสริญ ได้ 4 คะแนน นายวิชาญ ได้ 3 คะแนน นายสุวัฒน์ ได้ 1 คะแนน
รอบสี่ นายสรรเสริญ ได้ 5 คะแนน นายวิชาญ ได้ 3 คะแนน
รอบห้า นายสรรเสริญ ได้ 5 คะแนน นายวิชาญ ได้ 3 คะแนน
รอบหก นายสรรเสริญ ได้ 5 คะแนน นายวิชาญ ได้ 3 คะแนน
รอบเจ็ด นายสรรเสริญ ได้ 6 คะแนน นายวิชาญ ได้ 2 คะแนน
นายสรรเสริญ ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นคตง.ด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจเงินแผ่นดิน
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ประชุมได้พิจารณาดำเนินการสรรหากรรมการตรวจเงินแผ่นดินจนครบทุกด้านรวม 6 ด้านแล้ว คณะกรรมการสรรหากรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ได้มีการปรึกษาหารือเกี่ยวกับการเสนอชื่อบุคคลให้เป็นกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่เหลืออีกจำนวน 1 คน เพื่อให้มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการตรวจเงินแผ่นดินครบจำนวน 7 คน ตามที่กฎหมายบัญญัติ
โดยที่ประชุมพิจารณาแล้วจึงได้มีมติให้พิจารณาดำเนินการเลือกจากผู้สมัครที่มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม ซึ่งยังไม่ได้รับการพิจารณาเสนอชื่อเป็นกรรมการตรวจเงินแผ่นดินในส่วนที่เหลือทั้งหมดทุกคน จากบัญชีรายชื่อผู้สมัครทั้งหมดในทุกด้านทั้ง 6 ด้าน ปรากฎผลดังนี้
รอบแรก มีผู้ได้รับคะแนนดังนี้ ศาสตราจารย์อรพิน 3 คะแนน นางกมลทิพย์ 2 คะแนน นายวิชาญ 3 คะแนน
รอบสอง ศาสตราจารย์อรพิน 3 คะแนน นางกมลทิพย์ 2 คะแนน นายวิชาญ 3 คะแนน
รอบสาม เนื่องจากกรรมการสรรหาได้ลงคะแนนเลือกบุคคลที่ได้รับเลือกไปแล้ว คณะกรรมการสรรหาฯ จึงมีมติให้การลงคะแนนของกรรมสรรหาในรอบนี้เป็นโมฆะ
รอบสี่ ศาสตราจารย์อรพิน 4 คะแนน นางกมลทิพย์ 1 คะแนน นายวิชาญ 3 คะแนน
รอบห้า ศาสตราจารย์อรพิน 7 คะแนน นายวิชาญ 1 คะแนน
จึงถือได้ว่าผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เพิ่มเติมอีก 1 คน คือ ศาสตราจารย์อรพิน (ด้านกฎหมาย)
ขณะที่แหล่งข่าวจากรัฐสภาให้สัมภาษณ์แสดงความเห็นกับสำนักข่าวอิศรา ว่า บุคคลที่สมควรได้รับการคัดเลือกให้ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นประธานคตง.ชุดใหม่ กำลังถูกจับตามองจากหลายฝ่ายเป็นอย่างมาก เพราะ คตง. มีหน้าที่สำคัญในการพิจารณาผลการตรวจสอบของสตง. บุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่นี้ ควรจะต้องเป็นคนที่รู้เข้าใจกระบวนการทำงานของสตง.เป็นอย่างดี ทั้งในเรื่องกฎหมาย การบัญชี และมีประสบการณ์ในการตรวจสอบเรื่องการเงิน เพื่อจะทำให้การทำงานระหว่างคตง.และสตง. สอดประสานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เกิดปัญหาความขัดแย้ง ขัดแข้งขัดขาในการทำงาน ช่วยกันอดช่องโหว่ปัญหาการทำงานในช่วงที่ผ่านมาระหว่างกัน
"จุดสำคัญที่น่าสนใจอีกประการ คือ เรื่องของภาพลักษณ์องค์กรที่มีความเป็นอิสระในการทำงาน เป็นกลางไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของหน่วยงานใด ซึ่งในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทย อยู่ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลทหาร ที่ผ่านมาการตรวจสอบของสตง.หลายเรื่องถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่กล้าที่จะเข้าไปแตะต้องทหาร ประธานคตง.คนใหม่ ควรจะต้องไม่มีปัญหาภาพลักษณ์แบบนี้เกิดขึ้น"
อย่างไรก็ตาม หัวใจที่สำคัญที่สุดคือ บุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่ประธานคตง. จะต้องมีภาพลักษณ์การทำงานที่โปร่งใส ไม่เคยถูกตรวจสอบหรือมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการใช้จ่ายเงิน ซึ่งทราบข่าวมาว่ามีคตง.บางราย กำลังถูก สตง.ตรวจสอบเรื่องการใช้จ่ายเงินงบลับในหน่วยงานที่ตนเองเคยสังกัดอยู่ด้วย
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อมูลความเคลื่อนไหวล่าสุด เกี่ยวกับการประชุมคตง.นัดแรก ในวันที่ 23 ส.ค.60 นี้ ซึ่งมีวาระสำคัญอยู่ที่การคัดเลือกบุคคลขึ้นมาทำหน้าที่เป็นประธานคตง.คนใหม่ และเมื่อผลการประชุมนัดแรกออกมา สาธารณชนน่าจะได้รับทราบคำตอบที่ชัดเจนประการหนึ่งว่า การทำงานของคตง.ชุดใหม่ นับจากนี้ จะออกมาเป็นอย่างไร
ทั้งในเรื่องความเป็นอิสระ ความเป็นกลางในการทำงาน จะมีปัญหาความขัดแย้งขัดแข้งขัดขาในการทำงานกับ สตง. จะซ้ำรอยเหมือนคตง. หลายชุดในอดีตหรือไม่?