คำพิพากษา พล.ร.ท.ไม่ต้องชดใช้ 7.9 ล. ทร.!ทำผิดระเบียบ-ได้เงินครบ-ไม่เสียหาย
เปิดคำพิพากษาศาล ปค.ฉบับเต็ม! คดี พล.ร.ท. ฟ้อง ผบ.ทร.-ผบ.สส. คดีสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหาย 7.9 ล.คดีให้ร้านเมียนายพลร่วมกิจการห้องเย็น กองทัพเรือ ระบุ เอื้อเอกชน ปฏิบัติผิดระเบียบ แต่ได้เงินคืนครบ พ้นตำแหน่งไปก่อน ความเสียหายเกิดยุคหลัง
กรณีคณะกรรมการสวัสดิการสัตหีบ กองบัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ กองทัพเรือ ได้ให้เอกชน (ร้าน เคโอ ผักสด ของภรรยา พล.ร.ต.) เข้ามาบริหารกิจการห้องเย็นสวัสดิการสัตหีบ จนเกิดความเสียหาย 39.9 ล้านบาท ต่อมา กรมบัญชีกลาง (สำนักความรับผิดทางแพ่ง) กระทรวงการคลัง โดย น.ส. สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงฯ มีความเห็นให้กองทัพเรือ เรียกค่าเสียหายจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรวม 14 คน ในจำนวนนี้คือ พล.ร.ต.ธงชัย ใจเย็น อดีตผู้จัดการห้องเย็นฯ (ต่อมาได้รับเลื่อนยศเป็น พล.ร.ท.) รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในอัตราร้อยละ 20 ของความเสียหาย 39,979,317.15 บาท คิดเป็น 7,995,863.43 บาท ต่อมา พล.ร.ต.ธงชัย ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองระยอง ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผู้ถูกฟ้องที่ 1) และ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผู้ถูกฟ้องที่ 2) ให้เพิกถอนคำสั่งของกองทัพเรือกรณีให้ชดใช้เงินจำนวนดังกล่าว
ต่อมา เมื่อวันที่ 22 ก.ย.2558 ศาลปกครองระยองได้มีคำพิพากษา เพิกถอนคำสั่งของ ผบ.ทร. สรุปว่า พล.ร.ต.ธงชัยได้พ้นตำแหน่งผู้จัดการฯก่อนที่ห้องเย็นสวัสดิการจะเกิดความเสียหาย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงคำพิพากษามาเสนอ
ศาลออกนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2558 โดยได้รับฟังสรุปข้อเท็จจริงของตุลาการเจ้าของสำนวน และคำชี้แจงด้วยวาจาประกอบคำแถลงการณ์เป็นหนังสือของตุลาการผู้แถลงคดีด้วยแล้ว
@ข้อเท็จจริง
ศาลได้ตรวจพิจารณาเอกสารทั้งหมดในสำนวนคดี กฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยแล้ว
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ปัจจุบันผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการบำนาญ เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2548 ขณะที่ผู้ฟ้องคดียังเป็นข้าราชการทหาร สังกัดกองทัพเรือ กองทัพเรือได้มีคำสั่งแต่งตั้งผู้ฟ้องคดีเป็นผู้จัดการกิจการห้องเย็น สวัสดิการสัตหีบ มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบบริหารกิจการห้องเย็น ซึ่งกิจการห้องเย็นเป็นกิจการ สวัสดิการภายในส่วนราชการของกองทัพเรือ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนกิจการในด้านการบริการเสบียงให้กับหน่วยกำลังรบ และให้การสนับสนุนแก่หน่วยงานต่างๆ ภายในกองทัพเรือ รวมทั้งจำหน่ายเครื่องอุปโภค บริโภค เพื่อเป็นสวัสดิการแก่ข้าราชการและลูกจ้างของกองทัพเรือ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการสวัสดิการสัตหีบ โดยขั้นตอนการจัดส่งเสบียงให้แก่หน่วยราชการต่างๆ ของกิจการห้องเย็นนั้น กิจการห้องเย็นจะเป็นผู้รวบรวมความต้องการเสบียงที่หน่วยซึ่งเป็นลูกค้าของกิจการห้องเย็นเสนอมา จากนั้นจะสั่งซื้อเสบียงดังกล่าวไปยังร้านค้า เพื่อจัดส่งเสบียงให้แก่หน่วยงานที่เป็นลูกค้า และเมื่อร้านค้านำเสบียงมาส่งที่กิจการห้องเย็น เวรประจำวันจะเป็นผู้ตรวจรับเสบียงแล้วนำส่งแก่หน่วยงานต่างๆ ที่สั่งซื้อเสบียงรับไว้ โดยในส่วนของร้านค้าที่ส่งเสบียงจะออกใบแจ้งหนี้เพื่อเรียกเก็บค่าเสบียงจากกิจการห้องเย็น จากนั้นกิจการห้องเย็นจะดำเนินการทางเอกสารเพื่อขออนุมัติเบิกค่าเสบียงจากสวัสดิการสัตหีบ โดยแต่งตั้งเจ้าหน้าที่จัดซื้อกรรมการตรวจรับพัสดุ เจ้าหน้าที่รับของเข้าคลังซึ่งเป็นการดำเนินการทางเอกสารให้ครบขั้นตอนการจัดซื้อตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ส่วนในการเรียกเก็บเงินจากหน่วยงานที่สั่งซื้อเสบียงจากกิจการห้องเย็นนั้น แผนกจัดส่งกิจการห้องเย็น เป็นผู้ดำเนินเรียกเก็บโดยบวกกำไรประมาณ 5-7 % ของราคาที่ซื้อมา โดยให้เครดิตแก่หน่วยงานที่สั่งซื้อเสบียงเป็นเวลา 1 เดือน
@ มติ คกก.สัตหีบ 26 ธ.ค.49 หัวเชื้อ ผูกซื้อร้านเมียนายพลแห่งเดียว
ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2549 คณะกรรมการสวัสดิการสัตหีบ ในการประชุมครั้งที่ 12/2549 ได้มีมติเห็นชอบให้กิจการห้องเย็นจัดซื้อเสบียงจากร้าน KO ผักสด เพียงร้านเดียว ผู้ฟ้องคดีจึงให้ร้าน KO ผักสด ดำเนินการจัดส่งเสบียงให้แก่กิจการห้องเย็นแต่เพียงร้านเดียว ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2550 เป็นต้นมา
ต่อมาประมาณเดือนกรกฎาคม 2550 ต่อมาร้าน KO ผักสด ได้เสนอนำลูกค้าของร้าน KO ผักสด มาเป็นลูกค้าของกิจการห้องเย็นด้วย แต่ให้กิจการห้องเย็นออกเงินทุนค่าเสบียงให้ก่อน ผู้ฟ้องคดีจึงได้ตกลงด้วยวาจาให้ร้าน KO ผักสด เป็นผู้จัดส่งเสบียงและเก็บเงินจากลูกค้าเอง โดยกิจการห้องเย็นจ่ายเงินทุนค่าเสบียงให้แก่ร้าน KO ผักสดก่อน เมื่อร้าน KO ผักสด เก็บเงินจากลูกค้าได้ก็จะนำส่งคืนเงินทุนพร้อมผลตอบแทนในอัตราร้อยละ 1 ต่อเครดิต 1 เดือน แต่ในส่วนของขั้นตอนการสั่งซื้อและการจัดส่งเสบียงนั้น ผู้ฟ้องคดียังคงให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามเดิม กล่าวคือ มีการทำคำสั่งซื้อโดยฝ่ายจัดหาเสบียง จากนั้นมีการตั้งคณะกรรมการจัดซื้อ คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ จนถึงขั้นตอนการเบิกจ่ายให้แก่ร้าน KO ผักสด ทั้งที่ความจริงไม่มีการสั่งซื้อและจัดส่งสินค้าต่อกัน
@ยุค พล.ร.ท.ศรีวิสุทธิ์ เปลี่ยนวิธีการจ่ายเงินทุนจากเงินสด เป็นเช็คล่วงหน้า
ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ดั้งกล่าวจนถึงปลายเดือนกันยายน 2550 จากนั้น พล.ร.ต. สุรชัย โภคามาศ ได้รับตำแหน่งแทนตั้งแต่วันที่ 1 ตุ.ค. 2550 โดยมี พล.ร.ท. ศรีวิสุทธิ์ รตารุณ ผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบคนใหม่เป็นประธานกรรมการสวัสดิการสัตหีบ ระหว่างที่พล.ร.ต. สุรชัย โภคามาศ และพล.ร.ท. ศรีวิสุทธิ์ รตารุณ ปฏิบัติหน้าที่ก็ได้ดำเนินการตามวิธีการที่ผู้ฟ้องคดีเคยปฏิบัติ แต่ได้เปลี่ยนวิธีการจ่ายเงินทุนจากเดิมที่จ่ายคืนเงินสด เป็นให้ร้าน KO ผักสด สั่งจ่ายเช็คล่วงหน้าไว้ และเพิ่มผลตอบแทนจากเดิมร้อยละ 1 ต่อเครดิต 1 เดือน เป็นร้อยละ 2.5 ต่อเครดิต 2 เดือน และ 4.5 ต่อ 3 เดือน
ต่อมาคณะกรรมการสวัสดิการสัตหีบได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้วเห็นว่า แม้การให้ร้าน KO ผักสดเป็นการจัดส่งเสบียงแทนจะมีผลดีแก่กิจการห้องเย็น แต่การให้เครดิตแก่ร้าน KO ผักสด ถึง 3 เดือน ในรอบ 90 วัน จะทำให้เงินของกิจการห้องเย็นไปอยู่กับร้าน KO ผักสด จำนวนมาก จึงให้คณะกรรมการสวัสดิการสัตหีบร่วมกันหาวิธีการกำหนดเครดิตกิจการห้องเย็น และมีมตีให้กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการฯ (นธน.) ดำเนินการทำสัญญาระหว่างกิจการห้องเย็นกับร้าน KO ผักสด แต่จนถึงเดือนกันยายน 2552 ซึ่งเป็นวันที่ พล .ร.ต. สุรชัย โภคามาศ พ้นจากหน้าที่ผู้จัดการกิจการห้องเย็น และ พล.ร.ท. ศรีวิสุทธิ์ รตารุณ ผู้บัญชาการฐานทัพเรือ (ต่อมาเป็น พล.ร.อ.) พ้นจากหน้าที่ประธานคณะกรรมการสวัสดิการสัตหีบ สัญญาดังกล่าวก็ยังมิได้จัดทำให้แล้วเสร็จ
@พล.ร.ท. ธีรวัฒน์ สั่งสอบปมห้องเย็นขาดสภาพคล่อง-เสียหาย 39.9 ล.
ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2552 พล.ร.ท. ธีรวัฒน์ ศรีถาพร ซึ่งเป็นผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ และประธานคณะกรรมการสวัสดิการสัตหีบคนใหม่ ตรวจพบว่าเงินทุนหมุนเวียนของสวัสดิการสัตหีบมีปัญหาเรื่องเงินขาดสภาพคล่อง จึงสั่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ผลการตรวจสอบปรากฏว่า มีเงินที่สวัสดิการสัตหีบยังไม่ได้รับคืนจากร้าน KO ผักสด รวมทั้งสิน 39,979,317.15 บาท ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด
@ คกก. ทร.สรุปเชือดแค่ 6 คน - ก.คลัง แย้ง ต้อง 14 คน
เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2553 คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ได้จัดทำรายงานผลการตรวจสอบลงวันที่ 4 ม.ค. 2554 เสนอผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2554 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณาแล้วเห็นว่า มีเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะต้องรับผิดจำนวนทั้งสิ้น 6 คน แต่ไม่รวมถึงผู้ฟ้องคดีจากนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้เสนอความคิดเห็นต่อกระทรวงการคลังพิจารณา กระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะต้องรับผิดจำนวนทั้งสิ้น 14 คน รวมทั้งผู้ฟ้องคดี โดยในส่วนของผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีให้เงินทุนค่าเสบียงแก่ร้าน KO ผักสดก่อน และร้าน KO ผักสด จะดำเนินการจัดส่งเสบียงพร้อมกับเรียกเก็บเงินจากลูกค้าเอง โดยร้าน KO ผักสด จะให้ผลประโยชน์แก่กิจการห้องเย็นร้อยละ 1 ต่อเครดิต 1 เดือน มิใช่การดำเนินการตามปกติ เนื่องจากกิจการห้องเย็นไม่มีส่วนร่วมในการบริหารหรือดำเนินการกับร้าน KO ผักสด เพียงแต่จ่ายเงินทุนให้และรับผลประโยชน์ตอบแทน โดยไม่ปรากฎว่าที่ประชุมคณะกรรมการสวัสดิการสัตหีบได้รับทราบหรืออนุญาตให้การกระทำได้ถือเป็นการกระทำโดยพลการ จึงเป็นการให้เอกชนกู้ยืมเงินของทางราชการไปหมุนเวียน การกระทำของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นการให้ความร่วมมือใช้วิธีหลีกเลี่ยงโดยอาศัยขั้นตอนหรือวิธีการจ่ายเงินค่าเสบียงตามปกติเพื่อให้สามารถจ่ายเงินทุนให้แก่ร้าน KO ผักสดได้ พฤติการณ์และการกระทำของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นการจงใจกระทำละเมิดเป็นเหตุให้กองทัพเรือได้รับความเสียหายโดยตรง แม้ผู้ฟ้องคดีจะพ้นหน้าที่ผู้จัดการห้องเย็นตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน 2550 และความเสียหายขณะนั้นยังไม่เกิดขึ้นก็ตาม แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นผลมาจากการกระทำของผู้ฟ้องคดี จึงให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชอบใช้ค่าสินไหมทดแทนในอัตราร้อยละ 20 ของค่าเสียหาย 39,979,317.15 บาท คิดเป็นเงินจำนวนทั้งสิน 7,995,863.43 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงได้มีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลังตามหนังสือกองทัพเรือ ลับ ที่ กห 0500/77 ลงวันที่ 29 เม.ย. 2556 เรียกให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กองทัพเรือเป็นเงินจำนวน 7,995,863.43 บาท ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือลงวันที่ 6 พ.ค. 2556 อุทธรณ์คำสั่งต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ว่าไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งหมดผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล
@วินิจฉัย 3 ประเด็น
คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยรวม 3 ประเด็น ดังต่อไปนี้
ประเด็นที่หนึ่ง ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ได้ให้โอกาสผู้ฟ้องคดีที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตนอย่างเพียงพอ ก่อนมีคำสั่งเรียกให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 7,995,863.43 บาท หรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งเรียกให้ผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีกระทำละเมิดต่อกองทัพเรือ เป็นเงินจำนวน 7,995,863.45 บาท เป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ซึ่งมาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติว่า ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองอาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณี เจ้าหน้าที่ต้องให้คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน ประกอบกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ข้อ 15 กำหนดว่าคณะกรรมการสอบความรับผิดทางละเมิดต้องให้โอกาสแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหรือผู้เสียหายได้ชี้แจงข้อเท็จจริง และโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนอย่างเพียงพอและเป็นธรรม
@กก.คลังเรียกชี้แจง 2 ครั้ง แต่ไม่ไป
คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า แม้ในชั้นสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดกรณีการดำเนินกิจการห้องเย็นสวัสดิการสัตหีบได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวน 39,979,317.15 บาท คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดจะไม่ได้ทำการสอบสวนผู้ฟ้องคดี เนื่องจากเห็นว่าผู้ฟ้องคดีมิได้เกี่ยวข้องกับความเสียหายดังกล่าวด้วยก็ตาม แต่เมื่อกระทรวงกลาโหมได้รายงานผลการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดต่อกระทรวงการคลัง พร้อมทั้งเสนอความเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ที่จะต้องรับผิดจำนวน 6 ราย โดยไม่รวมผู้ฟ้องคดี กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางพิจารณาแล้วได้มีหนังสือ ลงวันที่ 3 ก.พ. 2555 ให้กระทรวงกลาโหมสอบปากคำผู้ฟ้องคดีเพิ่มเติมว่ามีส่วนในการนำร้าน KO ผักสด เข้าร่วมกับกิจการห้องเย็นอย่างไร จากนั้น คณะกรรมการฯ ได้มีหนังสือคณะกรรมการสอบสวนฯ ที่ พิเศษ 1/55 ลงวันที่ 9 มี.ค. 2555 และหนังสือคณะกรรมการสอบสวนฯ ที่ พิเศษ 3/55 ลงวันที่ 20 มี.ค. 2555 เรียกให้ผู้ฟ้องคดีมาให้ถ้อยคำตามที่กระทรวงการคลังแจ้งให้ทราบ โดยผู้ฟ้องคดีได้รับหนังสือทั้ง 2 ฉบับ เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2555 และวันที่ 29 มี.ค. 2555 ตามลำดับ แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ไปให้ปากคำต่อคณะกรรมการฯ โดยให้เหตุผลในคำคัดค้านคำให้การเพียงว่าผู้ฟ้องคดีเข้าใจว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับผู้ฟ้องคดีจึงไม่ได้ไปพบคณะกรรมการฯ กรณีจึงเห็นว่าได้ว่าการที่คณะกรรมการฯ ได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีไปให้ถ้อยคำถึง 2 ครั้ง แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ไปตามคำสั่งดังกล่าว ถือได้ว่าคณะกรรมการฯ ได้ให้โอกาสผู้ฟ้องคดีที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตนอย่างเพียงพอตามมาตรา 30 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติวิธิปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 แล้ว แต่การที่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตนเป็นความบกพร่องของผู้ฟ้องคดีเอง ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีฟังไม่ขึ้น
ประเด็นที่สอง การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีคำสั่งกองทัพเรือ ลับ ที่ กห 0500/77 ลงวันที่ 29 เม.ย.2556 เรียกให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้เงินจำนวน 7,995,863.43 บาท ตามความเห็นของกระทรวงการคลัง ทั้งที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้สอบสวนแล้วเห็นว่าผู้ฟ้องคดีไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 10 วรรคสอง บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ทั้งสองประการตามวรรคหนึ่ง ให้มีอายุความสองปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนและกรณีที่หน่วยงานของรัฐเห็นว่าเจ้าหน้าที่ผู้นั้นไม่ต้องรับผิด แต่กระทรวงการคลังตรวจสอบแล้วเห็นว่าต้องรับผิด ให้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนั้นมีกำหนดอายุความหนึ่งปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ข้อ 8 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า เมื่อเกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐแห่งใด และหัวหน้าหน่วยงานของรัฐแห่งนั้นมีเหตุอันควรเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐแห่งนั้น ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐดังกล่าวแต่งตั้งคณะกรรมการสอบเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดขึ้นคณะหนึ่งโดยไม่ชักช้า เพื่อพิจารณาเสนอความเห็นเกี่ยวกับผู้ต้องรับผิดและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ผู้นั้นต้องชดใช้ ข้อ 17 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า เมื่อผู้แต่งตั้งได้รับผลการพิจารณาของคณะกรรมการแล้ว ให้วินิจฉัยสั่งการว่ามีผู้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ และเป็นจำนวนเท่าใด แต่ยังมิต้องแจ้งการสั่งการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ วรรคสอง กำหนดว่า ให้ผู้แต่งตั้งส่งสำนวนภายในเจ็ดวันนับแต่วันวินิจฉัยสั่งการให้ระทรวงการคลังเพื่อตรวจสอบ... วรรคสาม กำหนดว่า ให้กระทรวงการคลังพิจารณาโดยไม่ชักช้า... ข้อ 18 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า เมื่อกระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว ให้ผู้แต่งตั้งมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง และแจ้งคำสั่งนั้นให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ...
@คำสั่ง ทร.เรียกชดใช้ 7.9 ล. ชอบ
คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบความรับผิดทางละเมิดเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2553 คณะกรรมการฯทำการสอบสวนเสร็จและได้เสนอความเห็นต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2554 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2554 โดยเห็นว่าผู้ฟ้องคดีไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย และได้ส่งสำนวนให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ กระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 7,995,863.43 บาท จึงมีหนังสือลงวันที่ 11 มี.ค. 2556 แจ้งกระทรวงกลาโหมทราบ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลังตามหนังสือกองทัพเรือ ลับ ที่ กห 0500/77 ลงวันที่ 29 เม.ย. 2556 เรียกให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้เงินจำนวนดังกล่าว
กรณีจึงเห็นได้ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่หน่วยงานของรัฐเห็นว่าเจ้าหน้าที่ผู้นั้นไม่ต้องรับผิด แต่กระทรวงการคลังเห็นว่าต้องรับผิด หน่วยงานของรัฐจึงต้องมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง อันเป็นการดำเนินการตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ประกอบข้อ 18 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มิใช่เป็นการดำเนินการโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างแต่อย่างใด ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีฟังไม่ขึ้น
ประเด็นที่สาม คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่เรียกให้ผู้ฟ้องคดีขดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่กองทัพเรือจำนวน 7,995,863.45 บาท ตามหนังสือกองทัพเรือ ลับ ที่ กห 0500/77 ลงวันที่ 29 เมษายน 2556 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่เจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำละเมิด ต่อหน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ผู้นั้นอยู่ในสังกัดหรือไม่ ถ้าเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ให้นำบทบัญญัติมาตรา 8 มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้ามิใช่การกระทำการปฏิบัติในหน้าที่ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเพื่อการละเมิดของเจ้าหน้าที่ ให้หน่วยงานของรัฐมีสิทธิให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นว่า เจ้าหน้าที่ผู้ใดจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่หน่วยงานของรัฐหรือไม่ ต้องปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ผู้นั้นได้กระทำการละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น กรณีจึงมีปัญหาที่ต้องพิจารณาก่อนว่า ผู้ฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อกองทัพเรือหรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 บัญญัติว่า ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำเป็นต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น เห็นว่าองค์ประกอบของการกระทำละเมิดมี 3 ประการ คือ (1) กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ (2) กระทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย และ (3) กระทำให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหาย คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ขณะที่ผู้ฟ้องคดียังเป็นข้าราชการทหาร สังกัดกองทัพเรือ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการกิจการห้องเย็น สวัสดิการสัตหีบ ตั้งแต่เดือนพ.ย. 2548 มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบกำกับ ดูแล แผนงานและการปฏิบัติงานของกิจการ อำนวยการและสั่งการเก็บเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี และงบประมาณของกิจการห้องเย็นให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ ซึ่งกิจการห้องเย็น เป็นกิจการสวัสดิการภายในส่วนราชการของกองทัพเรือ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนกิจการในด้านการบริการเสบียงให้กับหน่วยกำลังรบ และให้สนับสนุนแก่หน่วยงานต่างๆ ภายในกองทัพเรือ รวมทั้งจำหน่าย เครื่องอุปโภค บริโภค เพื่อเป็นสวัสดิการแก่ข้าราชการและลูกจ้างของกองทัพเรือ ภายใต้ การกำกับดูแลของคณะกรรมการสวัสดีการสัตหีบ โดยขั้นตอนการจัดเสบียงให้แก่ หน่วยราชการต่างๆ ของกองทัพเรือนั้น กิจการห้องเย็นจะเป็นผู้รวบรวมความต้องการเสบียงที่หน่วยซึ่งเป็นลูกค้าของกิจการห้องเย็นเสนอต่อกิจการห้องเย็น จากนั้นกิจการห้องเย็นจะสั่งซื้อเสบียงดังกล่าวไปยังร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าราคาส่ง และเมื่อร้านค้านำสินค้ามาส่งที่กิจการห้องเย็น เวรประจำวันจะเป็นผู้ตรวจรับเสบียง จากนั้นกิจการห้องเย็นจะนำส่งแก่หน่วยงานต่างๆ ที่สั่งซื้อเสบียงรับไว้ โดยคิดกำไรประมาณ 5–7% ของราคาที่ซื้อมาและให้เครดิตแก่ลูกค้าในการจ่ายค่าเสบียงประมาณ 1 เดือน ในส่วนของร้านค้าที่ส่งสินค้าให้แก่กิจการห้องเย็นนั้น เมื่อกิจการห้องเย็นได้รับใบแจ้งหนี้จากร้านค้าแล้ว กิจการห้องเย็นจะดำเนินการทางเอกสารเพื่อขออนุมัติเบิกค่าเสบียงจากสวัสดิการสัตหีบ โดยแต่งตั้งเจ้าหน้าที่จัดซื้อ กรรมการตรวจรับพัสดุ เจ้าหน้าที่รับของเข้าคลังซึ่งเป็นการดำเนินการทางเอกสารให้ครบขั้นตอนการจัดซื้อตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 25439 และจ่ายเงินค่าเสบียงให้แก่ร้านค้าดังกล่าวต่อไป
ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2549 ผู้ฟ้องคดีได้เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการสวัสดิการสัตหีบ ในการประชุมครั้งที่ 12/2549 เห็นควรซื้อสินค้าจากร้าน KO ผักสด แต่เพียงร้านเดียว เนื่องจากสามารถนำสินค้าที่มีราคาถูกลงมาส่งให้แก่กิจการห้องเย็นได้ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนลดลง และทำให้กิจการห้องเย็นมีกำไรมากขึ้น คณะกรรมการสวัสดิการสัตหีบจึงได้มีมติเห็นชอบให้กิจการห้องเย็นจัดซื้อเสบียงจากร้าน KO ผักสด แต่เพียงร้านเดียว ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า เนื่องจากร้านค้าอื่นได้เตรียมสต๊อกสินค้าเพื่อจัดส่งเสบียงให้แก่กิจการห้องเย็นด้วยแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ร้านค้าเหล่านั้น จึงซื้อเสบียงจากร้านค้าดังกล่าวจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2550 จากนั้นได้ให้ร้าน KO ผักสด จัดส่งเสบียงให้แก่กิจการห้องเย็นแต่เพียงร้านเดียวตั้งแต่เดือนมี.ค. 2550 เป็นต้นมา ต่อมาประมาณเดือนก.ค. 2550 ร้าน KO ผักสด ได้เสนอนำลูกค้าของร้าน KO ผักสด มาเป็นลูกค้าของกิจการห้องเย็นด้วย แต่ให้กิจการห้องเย็นออกเงินทุนค่าเสบียงให้ก่อน ผู้ฟ้องคดีจึงได้ตกลงด้วยวาจาให้ร้าน KO ผักสด เป็นผู้จัดส่งเสบียงและเก็บเงินจากลูกค้าเองโดยตรง โดยกิจการห้องเย็นจะจ่ายเงินทุนพร้อมผลตอบแทนในอัตราร้อยละ 1 ของเงินทุนค่าเสบียง โดยให้ระยะเวลาในการส่งคืนเงินทุน
และผลตอบแทนประมาณ 1 เดือน แต่ในส่วนของขั้นตอนการสั่งซื้อและการจัดส่งเสบียงนั้น ผู้ฟ้องคดียังคงให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามเดิม กล่าวคือ มีการทำคำสั่งซื้อโดยฝ่ายจัดหาเสบียง จากนั้นมีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อ คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ จนถึงขั้นตอนการเบิกจ่ายเงินให้แก่ร้าน KO ผักสด ทั้งที่ความจริงไม่มีการสั่งซื้อและจัดส่งสินค้าต่อกัน โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการดำเนินการดังกล่าวของผู้ฟ้องคดีได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสวัสดิการสัตหีบแต่อย่างใด ดังนั้น การกระทำดังกล่าวของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นการกระทำโดยพลการ และผิดระเบียบแบบแผนของทางราชการตามข้อ 6.8 ของระเบียบสวัสดิการสัตหีบ ว่าด้วยการเงินและบัญชี กองทุนสวัสดิการสัตหีบ พ.ศ. 2543 อันเป็นการดำเนินการที่ผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม โดยที่ข้อเท็จจริงปรากฏตามหนังสือบันทึกข้อความ ที่ อนุฯ 2/53 ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2553 เรื่อง รายงานผลการตรวจสอบการดำเนินการของกิจการห้องเย็น สวัสดิการสัตหีบ ในการประกอบการร่วมกับร้าน KO ผักสด (เอกสารประกอบคำให้การ) ซึ่งคณะอนุกรรมการตรวจสอบภายในของคณะกรรมการสวัสดิการทหารเรือ รายงานผลการตรวจสอบประกอบการร่วมกับร้าน KO ผักสด ระหว่างเดือนมี.ค. 2550 ถึงเดือนก.ย. 2550 อันเป็นช่วงระยะเวลาที่ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่งผู้จัดการกิจการห้องเย็น ต่อรองประธานกรรมการสวัสดิการทหารเรือ ผลการสอบตรวจสอบในเดือนมี.ค. 2550 ถึงเดือนก.ย. 2550 รวม 7 เดือน กิจการห้องเย็นได้จ่ายเงินค่าซื้อสินค้าให้แก่ร้าน KO ผักสด ทุกเดือน โดยข้อเท็จจริงปรากฏว่าเงินทุนและผลตอบแทนดังกล่าว กิจการห้องเย็นได้รับคืนครบถ้วนแล้วเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2551
@เอื้อเอกชนผิดระเบียบ แต่ได้เงินครบ-ความเสียหายเกิดทีหลัง
กรณีจึงรับฟังได้ว่า แม้การดำเนินการของผู้ฟ้องคดีที่จ่ายเงินทุนค่าเสบียงให้แก่ร้าน KO ผักสดก่อน โดยให้ร้าน KO ผักสด เป็นผู้จัดส่งเสบียงให้แก่ลูกค้าและเก็บเงินจากลูกค้าเองโดยตรง และเมื่อร้าน KO ผักสด เก็บเงินจากลูกค้าได้แล้วจะส่งคืนเงินทุนและผลตอบแทนแก่กิจการห้องเย็นในภายหลัง จะเป็นการดำเนินการที่ผิดระเบียบแบบแผนของทางราชการ ตามข้อ 6.8 ของระเบียบสวัสดิการสัตหีบ ว่าด้วยการเงินและบัญชีกองทุนสวัสดิการสัตหีบ พ.ศ. 2543 แต่เมื่อกิจการห้องเย็นได้รับเงินทุนค่าเสบียงและผลตอบแทนคืนจากร้าน KO ผักสด จนครบถ้วนแล้ว กองทัพเรือจึงไม่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด ความเสียหายเพิ่งจะมาเกิดแก่กองทัพเรือเมื่อเดือนเม.ย. 2552 ถึงเดือนต.ค. 2552 ซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลังที่ผู้ฟ้องคดีพ้นจากหน้าที่ไปแล้วเกือบสองปี การกระทำของผู้ฟ้องคดีจึงมิได้เป็นการกระทำละเมิดต่อกองทัพเรือ ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
@ชดใช้ 7.9 ล. คำสั่งมิชอบ
และเมื่อการกระทำของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อกองทัพเรือเสียแล้ว ผู้ฟ้องคดีในฐานะเจ้าหน้าที่ของกองเรือจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่กองทัพเรือ ตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้เงินจำนวน 7,995,863.43 บาท แก่กองทัพเรือตามหนังสือกองทัพเรือ ลับ ที่ กห 0500/77 ลงวันที่ 29 เม.ย. 2556 จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อได้วินิจฉัยดังนี้แล้วย่อมเป็นผลให้คำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน
กรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองอ้างว่า แม้ขณะที่ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งผู้จัดการกิจการห้องเย็น จะยังไม่เกิดความเสียหายแก่กองทัพเรือ แต่ความเสียหายดังกล่าวสามารถคำนวณเป็นเงินได้ในเวลาต่อมา นับว่ามีจุดเริ่มต้นมาจากการกระทำของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่กองทัพเรือนั้น
เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งผู้จัดการกิจการห้องเย็นตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 2550 และได้ส่งมอบหน้าที่ดังกล่าวให้แก่พล.ร.ต. สุรชัย โภคามาศ ผู้จัดการกิจการห้องเย็นคนใหม่แล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีหน้าที่อันใดในกิจการห้องเย็นอีกต่อไป รวมทั้งไม่มีหน้าที่ป้องกันผลที่อาจเกิดความเสียหายแก่กิจการห้องเย็นในภายหน้าจากการดำเนินการที่ผิดกฎหมายของตนด้วย ประกอบกับคณะกรรมการสวัสดิการสัตหีบได้ทราบถึงการดำเนินการที่ผิดระเบียบดังกล่าวตั้งแต่การประชุมครั้งที่ 3/2551 เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2551 แต่มิได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาหรือดำเนินการยกเลิกสัญญากับร้าน KO ผักสดให้เสร็จสิ้นไป กลับยังคงปล่อยให้มีการดำเนินการเช่นเดิม
@ ยุคต่อมายังจ่ายเงินเพิ่มให้เอกชน
นอกจากนั้นข้อเท็จจริงปรากฏตามหนังสือบันทึกข้อความ ที่ อนุฯ 2/53 ลงวันที่ 10 พ.ค. 2553 เรื่อง รายงานผลการตรวจสอบการดำเนินการกิจการห้องเย็น สวัสดิการสัตหีบ ในการประกอบการร่วมกับร้าน KO ผักสด ว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2551 คณะกรรมการสวัสดิการสัตหีบ ยังได้อนุมัติให้กิจการห้องเย็นยืมเงินทุนหมุนเวียนเพื่อใช้ทดรองจ่ายในการซื้อเสบียงและค่าใช้จ่ายต่างๆ ในกิจการ จาก 6 ล้านบาทเป็น 10 ล้านบาท และพล.ร.ต. สุรชัย โภคามาศ ยังได้ขยายระยะเวลาในการเรียกให้ร้าน KOผักสด ชำระเงินทุนค่าเสบียงและผลตอบแทนคืนออกไปเป็น 3 เดือน และ 4 เดือน แต่ร้าน KO ผักสด มิได้ชำระคืนแก่กิจการห้องเย็นภายในระยะเวลาที่กำหนด ทำให้เงินทุนไปอยู่กับร้าน KO ผักสด เป็นจำนวนมากถึง 39,979,317.15 บาท อันเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้แก่กิจการห้องเย็น โดยหาใช่ความผิดของผู้ฟ้องคดีไม่ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าความเสียหายของกองทัพเรือเกิดจากการกระทำของผู้ฟ้องคดี ข้ออ้างของผู้ถูกฟ้องทั้งสองจึงไม่อาจรับฟังได้
พิพากษาเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่เรียกให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่กองทัพเรือจำนวน 7,995,863.43 บาท ตามหนังสือกองทัพเรือ ลับ ที่ กห 0500/77 ลงวันที่ 29 เม.ย. 2556 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี โดยให้มีผลย้อนหลังนับตั้งแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 มีคำสั่งดังกล่าว
อ่านประกอบ:
ศาลปกครองเพิกถอน คำสั่ง ทร.! พล.ร.ท.ไม่ต้องชดใช้ 7.9 ล. คดีทุจริตห้องเย็น
เปิดชื่อ กก.ไต่สวน พล.ร.ต.-เมียนายพล ทุจริตห้องเย็น ทร.- พล.อ.อกนิษฐ์ ด้วย
น.ท.ร้อง 5 ปีไม่คืบ!คดีทุจริตห้องเย็น ทร. 39.9 ล.-ป.ป.ช.เปลี่ยน กก.สอบชุดสอง
เปิดคำพิพากษา!เมียนายพลชดใช้ 44 ล.ร่วมกิจการ ทร.-พล.ร.ท.ชวนเข้าหุ้น
ศาลอุทธรณ์ยืนสั่ง ‘เมีย’นายพล ชดใช้เงิน 44 ล.ปมร่วมกิจการห้องเย็นฯทัพเรือ
ไทม์ไลน์!มหากาพย์ คดีห้องเย็น 39.9 ล. เอื้อเมียนายพล-เชือด พล.ร.อ. 14 ทหาร