เปิดกรุหนังไทยโดนแบน ทำไมถูกห้ามฉาย ?
“เป็นที่แน่นอนแล้วนะครับว่า หนังเรื่องนี้ คนไทยคงไม่ได้ดู ขอบคุณครับ ยุทธเลิศ : (“
เป็นประเด็นที่น่าสนใจอีกครั้งสำหรับวงการภาพยนตร์ไทย เมื่อภาพยนตร์เรื่อง "ปิตุภูมิ พรมแดนแห่งรัก" ไม่ได้เข้าฉายตามโปรแกรมที่วางไว้ หลังก่อนหน้านี้ภาพยนตร์เรื่อง ‘ฟ้าต่ำ แผ่นดินสูง’ ถูกแบนในชั้นแรก แต่ต่อมากลับมาฉายได้อย่างหวุดหวิด โดยได้รับเรท 18+
‘ปิตุภูมิ พรมแดนแห่งรัก’ หรือชื่อในภาษาอังกฤษว่า ‘Fatherland’ ภาพยนตร์ใหม่แกะกล่องของ ‘ต้อม’ ยุทธเลิศ สิปปภาค ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง
สำหรับเหตุผลที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้ฉายนั้น ยังเป็นที่ “คลุมเครือ” ว่าเป็นเพราะไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์หรือไม่?
ทั้งนี้ภาพยนตร์ดังกล่าวดัดแปลงมาจากนิยายเรื่อง ‘พรมแดน’ ของ พล.ต.อ. วิสิษฐ เดชกุญชร เคยตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ โดยเนื้อหาของภาพยนตร์ปิตุภูมิ พรมแดนแห่งรักเป็นการตีแผ่ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยเมื่อช่วงดึกคืนวันที่ 28 เมษายน ต้อม ยุทธเลิศ ได้โพสต์เฟซบุ๊กในชื่อ Yuthlert Sippapak ลงแฟนเพจ ‘ปิตุภูมิ / Pitupoom / ภาพยนตร์โดย ยุทธเลิศ’ ว่า
“เป็นที่แน่นอนแล้วนะครับว่า หนังเรื่องนี้ คนไทยคงไม่ได้ดู ขอบคุณครับ ยุทธเลิศ : (“
แต่ไม่มีการระบุถึงเหตุผลการห้ามฉายแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวว่า ก่อนหน้านี้ ยุทธเลิศได้เคยให้สัมภาษณ์ว่า หนังไม่ได้มีปัญหากับกองเซ็นเซอร์ แต่อาจเป็น "นายทุน"ที่กำลังตัดสินใจว่าจะฉายหรือไม่ฉายหนังเรื่องนี้ และพิจารณาว่าหนังมีผลกระทบในทางใดทางหนึ่งหรือไม่ เนื่องจากหนังมีประเด็นที่ละเอียดอ่อนและ "ซีเรียส" ค่อนข้างมาก และกลัวว่าจะมีคนที่มีเจตนาไม่ดีนำเอาประเด็นและภาพในหนังไปขยายความในทางที่ไม่ดี
ทั้งนี้เมื่อย้อนกลับไปดูหนังไทยที่เคยถูกห้ามฉาย
สำนักข่าวอิศราพบมี "ภาพยนตร์ไทย" อย่างน้อยจำนวน 5 เรื่องที่ถูกห้ามฉาย ด้วยข้อหาต่าง ๆ กัน ตั้งแต่หลังปี 2500 จนถึงปัจจุบัน
1.ทองปาน (Tongpan) ภาพยนตร์กึ่งสารคดี กำหนดฉายปี 2519 เล่าถึงชีวิตชาวนาภาคอีสานที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนยักษ์กั้นแม่น้ำโขง ซึ่งเมื่อสร้างเสร็จแล้วจะทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดทางภาคอีสาน และบางส่วนของประเทศลาว จมอยู่ใต้น้ำ ทั้งนี้ มีข่าวลือว่าบรรดานักแสดงและทีมงานถูกใส่ร้ายว่าเป็นผู้ต้องหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกห้ามฉายอยู่นาน โดยเฉพาะช่วงใกล้เคียงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 อย่างไรก็ตาม ‘ทองปาน’ มีโอกาสได้ฉายที่สถาบันเกอเธ่, บ้านพระอาทิตย์ และที่สยามสมาคม ในช่วงปลายปี 2520
2.คนกราบหมา (My Teacher Eats Biscuits) ภาพยนตร์ตลกร้าย กำหนดฉายปี 2540 กำกับโดย สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เล่าถึงลัทธิประหลาดที่ผู้คนพากันกราบไหว้หมา ทั้งนี้มีกำหนดฉายครั้งแรกในงานในเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพ ครั้งที่ 1 (Bangkok Film Festival) ปี พ.ศ. 2540 อย่างไรก็ตามก่อนงานเปิดมีผู้ส่งโทรสารร้องเรียนไปยังกองเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ว่า บทภาพยนตร์เรื่องนี้มีการดูหมิ่นศาสนาพุทธ เมื่อกองเซ็นเซอร์ตรวจสอบดูแล้ว จึงไม่อนุญาตให้ฉาย รวมถึงห้ามการเผยแพร่ตัวอย่างภาพยนตร์อีกด้วย
3.แสงศตวรรษ (Syndromes and a Century) กำหนดฉายปี 2550 กำกับโดย อภิชาติพงศ์ วีรเศรษฐกุล เล่าถึงแพทย์หญิงในโรงพยาบาลชนบท และแพทย์ทหารหนุ่มในโรงพยาบาลในเมือง โดยได้รับอิทธิพลจากพ่อและแม่ของผู้กำกับ ทั้งนี้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์มีเงื่อนไขให้ตัดฉากสำคัญออก 4 ฉากจึงจะสามารถฉายในไทยได้ คือ 1) ฉากพระเล่นกีตาร์ 2) ฉากหมอดื่มเหล้าในโรงพยาบาลขณะปฏิบัติหน้าที่ 3) ฉากหมอชายจูบแสดงความรักกับแฟนสาวที่แวะมาเยี่ยมที่โรงพยาบาล และเกิดอารมณ์ทางเพศจนเห็นความผิดปกติของเป้ากางเกง และ 4) ฉากพระเล่นเครื่องร่อน ซึ่งอภิชาติพงศ์ ได้ตัดสินใจที่ไม่ฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ในประเทศไทย
4.เช็คสเปียร์ต้องตาย (Shakespeare Must Die) ภาพยนตร์นอกกระแส กำหนดฉายปี 2555 กำกับโดย สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ดัดแปลงจากบทละครโศกนาฏกรรมแม็คเบ็ธ ของเชกสเปียร์ ใช้วิธีเล่าเรื่องแบบละครซ้อนละคร แบ่งเป็นสองส่วนคือละครเวที และโลกภายนอก เล่าถึงขุนนางที่ล้มกษัตริย์ และสถาปนาตัวเองเป็นกษัตริย์แทน แต่ลุ่มหลงในอำนาจ จนต้องฆ่าคนอื่นเพื่อตัวเอง ทั้งนี้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ ให้เหตุผลในการแบนว่า มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ เพราะมีการพาดพิงถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และเหตุการณ์ไม่สงบเดือนเมษายน 2552
5.อินเซค อิน เดอะ แบ็คยาร์ด (Insects in the Backyard) ภาพยนตร์สะท้อนปัญหาสังคม กำหนดฉายปี 2553 กำกับโดย ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ เล่าถึงโลกของเพศที่สาม, โลกของเด็กหญิงบ้าแฟชั่น และโลกของเด็กชายอายุ 15 ปี ที่ติดไซเบอร์และหมกมุ่นเรื่องเซ็กส์ ทั้งนี้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ ให้เหตุผลในการแบนว่า ขัดต่อศีลธรรมอันดีต่อประชาชน และบางฉากมีการนำเสนอภาพขององคชาต, การร่วมเพศ และการค้าประเวณี
เป็นที่น่าสังเกตว่าภาพยนตร์ที่ถูกห้ามฉายในไทย มักถูกระบุว่า ขัดต่อศีลธรรมอันดี รวมถึงมีบางฉากที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมือง เสียเป็นส่วนใหญ่
นอกจากนี้ยังไม่รวมถึงภาพยนตร์ต่างประเทศอีกจำนวนไม่น้อยที่ถูกห้ามฉายในประเทศไทยด้วยเช่นเดียวกัน.
________________________________________________________________________________________________
ทั้งนี้ระบบการพิจารณาให้หนังไทยเรื่องใดได้ฉายหรือไม่ได้ฉาย เมื่อก่อนจะใช้คณะกรรมการเซ็นเซอร์ ซึ่งแต่งตั้งโดย ผบ.ตร. จนกระทั่งมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งได้เปลี่ยนมาใช้รูปแบบคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ ในรูปแบบการจัดเรท และคณะกรรมการดังกล่าวก็มีอำนาจที่จะไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ที่ขัดกับกฎกระทรวงที่กำหนดไว้ว่า ภาพยนตร์ที่ห้ามฉายในราชอาณาจักรมีลักษณะ 6 ประการ ดังต่อไปนี้
1. เนื้อหาที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
2. สาระสำคัญของเรื่องเป็นการเหยียดหยามหรือนำความเสื่อมเสียมาสู่ศาสนาหรือไม่เคารพต่อปูชนียบุคคล ปูชนียสถาน หรือปูชนียวัตถุ
3. เนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ
4. เนื้อหาที่กระทบกระเทือนต่อสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ
5. สาระสำคัญของเรื่องเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์
6. เนื้อหาที่แสดงการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นอวัยวะเพศ
________________________________________________________________________________________________
(ที่มาข้อมูล http://bit.ly/ZwRdqr)