- Home
- Isranews
- ตะกร้าข่าว
- ‘ศาลปกครองสูงสุด’ กลับคำสั่ง ตัดสิทธิ ‘เอ็นพีซี’ ประมูลแหลมฉบังเฟส 3
‘ศาลปกครองสูงสุด’ กลับคำสั่ง ตัดสิทธิ ‘เอ็นพีซี’ ประมูลแหลมฉบังเฟส 3
‘ศาลปกครองสูงสุด’ กลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ยกคำขอทุเลาคำสั่งให้ ‘กลุ่มเอ็นพีซี’ ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ เข้าร่วมประมูลท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 เหตุไม่เข้าเงื่อนไขที่ศาลปกครองจะมีอำนาจออกคำสั่ง
เมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่ให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่ให้กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพีเป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 ซองคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอฯ เป็นยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองตามคำขอของกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี
เนื่องจากศาลฯเห็นว่า กรณีตามคำขอของกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี ยังไม่เข้าเงื่อนไขในการที่ศาลปกครองจะมีอำนาจออกคำสั่งทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองได้
สำหรับคดีดังกล่าว กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี ซึ่งประกอบด้วย บริษัท นทลิน จำกัด ,บมจ.พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) ,บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด ,บริษัท PHS Organic farming จำกัด และบริษัท China Railway construction Corporation ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น ขอให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่ให้กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพีเป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินซองที่ 2 ซองคุณสมบัติ
ต่อมาศาลปกครองชั้นต้น มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ไว้เป็นการชั่วคราวจนกล่าวคดีจะถึงที่สุด ซึ่งเท่ากับว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯ ต้องเปิดซอง 3 (ข้อเสนอเทคนิค) , ซอง 4 (ข้อเสนอผลตอบแทน ) และซองที่ 5 (ข้อเสนอเพิ่มเติม) ของกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี เพื่อแข่งขันกับกลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี (บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ , บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล และChina Harbour Engineering Company Limited)
แต่ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองตามคำขอของกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี เนื่องจากพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำสั่งของของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ไม่ทำให้กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นชีพีเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาในภายหลังแต่อย่างใด แม้ว่าในชั้นนี้ ศาลจะยังไม่พิจารณาถึงความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็ตาม
นอกจากนี้ การที่ศาลจะมีอำนาจสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองนั้น จะต้องประกอบด้วยเงื่อนไข 3 ประการ คือ 1.กฎหรือคำสั่งทางปกครองดังกล่าวที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย 2.การให้กฎหรือคำสั่งทางปกครองดังกล่าวมีผลบังคับใช้ต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายและยากแก่การเยียวยาในภายหลัง และ3.การทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองนั้นไม่เป็นอุปสรรคต่อแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะ
ดังนั้น ศาลจึงไม่มีอำนาจสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองของคณะกรรมการคัดเลือกฯแต่อย่างใด คำร้องอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ฟังขึ้น
"การที่ศาลปกคองชั้นต้นมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ให้กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี เป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 ซองคุณสมบัติ ในโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 2 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกนั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นตัน เป็นยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองตามคำขอของผู้ฟ้องคดี" คำพิพากษาระบุ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/