- Home
- Isranews
- ตะกร้าข่าว
- ชาวบ้านพิจิตร จี้กรมอุตฯ เปิดผลวิจัยเหตุเหมืองทองรั่ว ชี้สาธารณะต้องรับรู้
ชาวบ้านพิจิตร จี้กรมอุตฯ เปิดผลวิจัยเหตุเหมืองทองรั่ว ชี้สาธารณะต้องรับรู้
ชาวบ้านรอบเหมืองอัครา สงสัยทำไม กรมอุตฯไม่เผยแพร่ผลวิจัยบ่อกักเก็บกากแร่รั่วเหมืองทองอัคราฯทั้งๆ ที่มีผลกระทบต่อสาธารณะ โดยเฉพาะคนในพื้นที่
เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 60 น.ส.สื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ตัวแทนชาวบ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตรให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org กรณีคำสั่งห้ามไม่ให้มีการเผยแพร่ผลวิจัยบ่อกักเก็บกากแร่รั่วเหมืองทองอัคราฯ
น.ส.สื่อกัญญา กล่าวว่า จากการไปร่วมประชุมกับคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงการรั่วซึมของบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 ของบริษัท อัคราฯ โดยมีนายประยูร เชี่ยววัฒนา เป็นประธาน และได้มีการมอบหมายให้สถาบันทางวิชาการทำวิจัยซึ่งมีผลสรุปแล้วว่า น้ำที่เก็บได้ตรวจจากพื้นที่นั้นมีส่วนประกอบของสารเคมีที่มาจากโรงงานชัดเจน แต่ในการประชุมครั้งนั้นกลับมีการสั่งห้ามไม่ให้การเผยแพร่กับสาธารณะ โดยประเด็นนี้ได้สร้างความไม่เข้าใจให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ผู้ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากผลกระทบนี้
น.ส.สื่อกัญญา ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันประเด็นเรื่องน้ำผุดในนาข้าวนั้นเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2558 ที่ชาวบ้านพบน้ำเน่า ซึ่งครั้งแรกมีการตรวจพบค่าไซยาไนด์ในระดับสูง แต่บริษัทเห็นแย้งโดยกล่าวว่ามีการกลุ่นแกล้ง เลยมีการจัดตั้งคณะกรรมการ 5 ฝ่าย ในการตรวจสอบ ในการตรวจครั้งที่สอง ตอนนั้นคณะทำงานฯยังไม่มีความเชี่ยวชาญในประเด็นการหาสารประกอบสำคัญ โดยยังมุ่งเน้นไปที่ไซยาไนด์อย่างเดียว ปรากฎว่าไม่เจอ เพราะความจริงไซยาไนด์สามารถระเหยออกไปเหลือสารตัวอื่น ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ในครั้งที่สามซึ่งถือเป้นครั้งล่าสุดนี้ เราจึงตรวจหาสารที่มีชื่อว่า ไทโอไซยาเนต ซึ่งเป็นสารที่ไม่มีในธรรมชาติ ก็พบว่ามีและยังพบ ซัลไฟด์ในปริมาณที่มากผิดปกติ ทั้งสองมีลักษณะเดียวกันกับสารที่พบในบ่อเก็บกักแร่
น.ส.สื่อกัญญา กล่าวด้วยว่าในสมัยที่ นางอรรชกา สีบุญเรืองเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการตั้งคณะตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยในคณะทำงานดังกล่าวแต่แบ่งย่อยทีมทำงานในแต่ประเด็นไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการรั่วไหลของบ่อเก็บกากแร่ ข้อสังเกตอย่างหนึ่งในคณะทำงานตรวจสอบด้านสุขภาพ มีการรายงานผลชัดเจนเเล้วว่าชาวบ้านรอบเหมืองป่วยจากสาเหตุการทำเหมืองของบริษัทจริง แต่รายงานดังกล่าวกลับไม่มีการเผยแพร่ จนกระทั่งมีกรรีที่นักวิชาการท่านหนึ่งโพสต์ภาพเอกสารดังกล่าว จึงถูกฟ้องโดยข้อหาว่า เอกสารนั้นยังไม่ีได้รับรองในที่ประชุม ขณะที่ทางด้านบริษัทยังแย้งว่าผลการตรวจนั้นเป็นเท็จด้วย ต่อมาเมื่อมีการสั่งย้ายรัฐมนตรี เรื่องนี้ก็เงียบหายไป ไม่มีการจัดประชุมใดๆ เช่นเดียวกันกับคณะทำงานในประเด็นการรั่วซึมของบ่อเก็บแร่ที่วันนี้ถูกสั่งห้ามไม่ให้มีการเผยแพร่ผลวิจัย
ด้านดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โพสต์ตั้งข้อสังเกตในเฟซบุ๊คส่วนตัวถึงกรณีนี้ว่า งานวิจัยนี้นักวิจัยตรวจพบการปนเปิ้อนของแมงกานีสในน้ำผุดอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของชุมชนได้ น้ำในบ่อเฝ้าระวังน้ำใต้ดินระดับตื้นและลึกที่ได้รับผลกระทบจากการรั่วไหลของน้ำเหมืองจากบ่อเก็บกากแร่ที่ 1 (TSF) มีความเป็นไปได้ว่า การรั่วไหลจากบ่อเก็บกากแร่ที่ 1 (TSF) อาจจะเคลื่อนที่มาถึงนาข้าวใกล้บ่อเก็บกากแร่ที่ 2 (TSF) น้ำผุดจากป่าบัว ป่าบอน และน้ำดำไหลในนาข้าวค่อนข้างชัดเจน ซึ่งมีลักษณะผิดปกติจากน้ำธรรมชาติ หรือจากน้ำเสียชุมชนทั่วไป ซึ่งเป็นลักษณะของน้ำเสียอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ยังพบการปนเปื้อนแอมโมเนียเท่ากับ 0.11 mg/L แอมโมเนียเป็นสารปนเปื้อนที่ตรวจพบในบ่อเก็บกากแร่ที่ 1 (TSF) พบความเข้มข้นของซัลเฟตในน้ำผุดจากป่าบัว 192mg/L ในน้ำดำในนาข้าว 70.8 ถึง 167 mg/L ยังพบการปนเปื้อนของสารหนูในน้ำผุดจากป่าบัว และป่าบอน สูงถึง0.01 และ 0.15 mg/L ตามลำดับ ในขณะที่ต้นน้ำมีแค่ 0.0006 mg/L และยังพบการปนเปื้อนเหล็ก และแมงกานีส ความเข้มข้นสูงมากจากน้ำผุดในป่าบัว และป่าบอน 5.59 ถึง 17.9 mg/L ในน้ำดำมี 2.65 ถึง6.31 mg/L ซึ่งเกินค่าที่ยอมรับได้ ในขณะที่ต้นน้ำมีเพียง 0.22 mg/L และพบไทโอไซยาเนตเพิ่มเติมจากน้ำตามธรรมชาติทั้งสองจุดประมาณ 3 ถึง 4.5 เท่า (ไทโอไซยาเนตคือไซยาไนด์ที่ทิ้งร่องรอยไว้ ดังนั้นตรวจไม่พบไซยาไนด์เพราะไซยาไนด์สลายเร็วแต่ทิ้งร่องรอยไว้คือไทโอไซยาเนต)
ทั้งนี้เหมืองทองคำชาตรี ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่ที่ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด คือ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เริ่มประกอบกิจการขุดหาแร่ทองคำตั้งแต่ปี 2544 ก่อนมีประเด็นเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ส่งผลให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงมีคำสั่งที่ 72/2559 เรื่องการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ สั่งให้หยุดดำเนินกิจการตั้งแต่ 1 ม.ค. 60 ที่ผ่านมา โดยปัจจุบันทางบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดดเต็ด จำกัดซึ่งเป็นบริษัทแม่ในการประกอบการเหมืองได้ยื่นอนุญาโตตุลาการ กรณีการละเมิดข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (Thailand-Australia Free Trade Agreement: TAFTA) ของรัฐบาลไทย
หมายเหตุ: ภาพประกอบจาก ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์