- Home
- Isranews
- ตะกร้าข่าว
- โพลยกย่อง 'ตูน' บุคคลแห่งปี60-ปชช.อยากให้รัฐฯแก้ปัญหาราคาผลผลิตการเกษตรเป็นของขวัญปีใหม่
โพลยกย่อง 'ตูน' บุคคลแห่งปี60-ปชช.อยากให้รัฐฯแก้ปัญหาราคาผลผลิตการเกษตรเป็นของขวัญปีใหม่
ยกย่อง 'ตูน บอดี้สแลม' ช่วยเหลือสังคมเหมาะเป็นบุคคลแห่งปี 2560 ด้าน 'บิ๊กตู่' รั้งอันดับสองครองใจมหาชน ถามสิ่งที่อยากได้มากที่สุดจากรัฐบาลเป็นของขวัญปีใหม่ 2561 ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 28.51 ระบุ อยากให้แก้ไขปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตร
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “บุคคลแห่งปี 2560 และ สิ่งที่อยากได้จากรัฐบาลเป็นของขวัญปี 2561” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 20 – 22 ธ.ค. 2560 โดยสอบถาม ความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,203 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับบุคคลแห่งปี 2560 และ สิ่งที่อยากได้จากรัฐบาลเป็นของขวัญปี 2561
จากการสำรวจเมื่อถามถึงบุคคลแห่งปี 2560 ที่ประชาชนชื่นชอบมากที่สุด (10 อันดับแรก) พบว่า ส่วนใหญ่ อันดับ 1 ร้อยละ 56.94 ระบุว่าเป็น ตูน บอดี้แสลม เพราะ มีความเสียสละ ช่วยเหลือสังคม รองลงมา อันดับ 2 ร้อยละ 16.71 ระบุว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะ ชื่นชอบเป็นการส่วนตัว อันดับ 3 ร้อยละ 2.49 ระบุว่าเป็น ดร.ทักษิณ ชินวัตร เพราะ ชื่นชอบเป็นการส่วนตัว อันดับ 4 ร้อยละ 1.75 ระบุว่าเป็น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพราะ ชื่นชอบเป็นการส่วนตัว อันดับ 5 ร้อยละ 1.08 ระบุว่าเป็น เมย์ รัชนก อินทนนท์ เพราะ เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป อันดับ 6 ร้อยละ 1.00 ระบุว่าเป็น เจ ชนาธิป สรงกระสินธ์ เพราะ ชื่นชอบเป็นการส่วนตัว อันดับ 7 ร้อยละ 0.91 ระบุว่าเป็น บัวขาว บัญชาเมฆ เพราะ ชื่นชอบเป็นการส่วนตัว อันดับ 8 ร้อยละ 0.75 ระบุว่าเป็น บิณฑ์ บันลือฤทธิ์ เพราะ มีความเสียสละ ช่วยเหลือสังคม อันดับ 9 ร้อยละ 0.58 ระบุว่าเป็น อั้ม พัชราภา ไชยเชื้อ เพราะ ชื่นชอบเป็นการส่วนตัว และไผ่ พงศธร เพราะ ชื่นชอบเป็นการส่วนตัว และปีนี้มีผลงานที่โดดเด่นมาก เป็นที่พูดถึงในวงกว้าง ในสัดส่วนที่เท่ากัน อันดับ 10 ร้อยละ 0.50 ระบุว่าเป็น ณเดชน์ คูกิมิยะ เพราะ ชื่นชอบเป็นการส่วนตัว และ ดร.สมคิด จตุศรีพิทักษ์ เพราะ ปีนี้มีผลงานที่โดดเด่นมาก เป็นที่พูดถึงในวงกว้าง ในสัดส่วนที่เท่ากัน
เมื่อถามถึงสิ่งที่อยากได้มากที่สุดจากรัฐบาลเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2561 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 28.51 ระบุว่า อยากให้แก้ไขปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตร รองลงมา ร้อยละ 27.68 ระบุว่า อยากให้แก้ไขปัญหาปากท้องของประชนชน / ปัญหาการว่างงาน ร้อยละ 13.63 ระบุว่า อยากให้รัฐบาลปลดล็อคพรรคการเมืองและมีการเลือกตั้งภายในปี 2561 ร้อยละ 11.14 ระบุว่า อยากให้รัฐบาลแจกเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยเป็นของขวัญปีใหม่ ร้อยละ 7.07 ระบุว่า อยากให้แก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ร้อยละ 5.07 ระบุว่า อยากให้ลดปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติด ร้อยละ 3.08 ระบุว่า อยากให้มีนโยบายช่วยลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ ร้อยละ 3.41 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ พัฒนาระบบราชการให้รวดเร็ว ทันใจ ประชาชน อยากให้พัฒนาระบบสาธารณูปโภคให้ดีกว่านี้ เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เพิ่มเงินสวัสดิการข้าราชการ และพัฒนาระบบประกันสุขภาพ พัฒนาระบบการศึกษาไทย ให้โอกาสทางการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาส เร่งแก้ไขปัญหาความไม่สงบชายแดนภาคใต้ และสร้างความเสมอภาค ความสามัคคี ความปรองดอง และความสงบเรียบร้อยให้กับบ้านเมือง และร้อยละ 0.42 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงสิ่งที่อยากทำให้ประเทศชาติเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2561 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 37.56 ระบุว่า ตั้งใจเรียน ตั้งใจทำงาน ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด รองลงมา ร้อยละ 27.80 ระบุว่า ไม่เบียดเบียนหรือทำให้ผู้อื่นในสังคมเดือดร้อน ร้อยละ 27.38 ระบุว่า ช่วยเหลือสังคมและผู้ด้อยโอกาส ร้อยละ 24.04 ระบุว่า ปฏิบัติตามกฎหมาย และทำตามระเบียบของสังคม ร้อยละ 22.95 ระบุว่า ไม่ทุจริตคอร์รัปชัน ร้อยละ 10.68 ระบุว่า ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขและยาเสพติด ร้อยละ 9.60 ระบุว่า ไม่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความแตกแยกในสังคม และร้อยละ 8.68 ระบุว่า รักษาสิ่งแวดล้อมและความสะอาดพื้นที่สาธารณะ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 4.74 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 26.27 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑล และภาคกลาง ร้อยละ 19.78 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 34.33 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.88 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 54.53 เป็นเพศชาย ร้อยละ 45.39 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.08 เป็นเพศทางเลือก ตัวอย่างร้อยละ 8.40 มีอายุไม่เกิน 25 ปี ร้อยละ 14.13 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 22.53 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 32.67 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 18.70 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 3.57 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่างร้อยละ 90.19 นับถือศาสนาพุทธ ตัวอย่างร้อยละ 4.41 นับถือศาสนาอิสลาม ตัวอย่างร้อยละ 0.83 นับถือศาสนาคริสต์/ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 4.57 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 23.77 ระบุว่าสถานภาพโสด ร้อยละ 66.33 สมรสแล้ว ร้อยละ 5.07 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 4.82 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส
ตัวอย่างร้อยละ 28.43 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 28.35 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.74 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 25.60 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 6.73 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 5.15 ไม่ระบุการศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 12.14 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 11.72 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 20.20 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 16.79 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 14.63 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 15.63 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 3.08 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.17 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 5.65 ไม่ระบุอาชีพ
ตัวอย่างร้อยละ 11.64 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 26.18 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 22.28 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 11.80 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 5.82 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 8.48 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 13.80 ไม่ระบุรายได้