- Home
- Isranews
- ตะกร้าข่าว
- ขสมก.เล็งสั่งเลิกติดตั้งเครื่องหยอดเหรียญ cash box บนรถเมล์
ขสมก.เล็งสั่งเลิกติดตั้งเครื่องหยอดเหรียญ cash box บนรถเมล์
ขสมก.เล็งสั่งเลิกติดตั้งเครื่องหยอดเหรียญ (cash box) บนรถเมล์ หลังทำสัญญาเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์ (e-Ticket) กับกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน บริษัท ช ทวี วงเงิน 1,665 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี
เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุถึงการติดตั้งระบบอีทิคเก็ต (e-Ticket) และเครื่องชำระค่าโดยสารแบบหยอดเหรียญอัตโนมัติ (Cash box) ว่า ขณะนี้ได้มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับความจำเป็นในการมีแคชบล๊อกบนรถเมล์ จึงมีข้อเสนอแนะต่อไป นโยบายที่ดีเหล่านี้ ก่อนจะมีการจัดซื้อจัดจ้างอาจต้องทำพื้นที่ทดลองก่อน โดยเชิญผู้สนใจเข้ามาร่วม อาจใช้เวลา 3 เดือน หรือ 6 เดือน เพื่อเรียนรู้ปัญหา ก่อนออกข้อกำหนด และจัดซื้อจัดจ้างต่อไป
“ขสมก. มักจัดซื้อจัดจ้าง โดยลืมคำนึงว่า โครงการมักมีข้อจำกัดแบบไทย ๆ ทั้งที่นโยบายดี แต่ไม่ถูกกับบริบทพื้นที่ ดังนั้น อยากให้มีการทดลองก่อนใช้จริง เหมือนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ทดลองการใช้จ่ายเงินผ่านคิวอาร์โค้ดในพื้นที่ทดลองของแต่ละธนาคาร เพื่อศึกษาผลดีผลเสีย ก่อนเสนอให้เปลี่ยนแปลงระบบในอนาคต”
รมช.คมนาคม กล่าวด้วยว่า สำหรับ ขสมก. อนาคตอาจต้องมองข้ามเรื่องอีทิคเก็ต และแคชบล๊อกแล้ว เพราะขณะนี้ที่ประเทศจีน มีการใช้ระบบจ่ายค่ารถเมล์ผ่านคิวอาร์โค้ด ดังนั้น ประชาชนในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มีโทรศัพท์มือถือทุกคน ฉะนั้นขณะนี้อาจต้องทดลองระบบดังกล่าวในรถเมล์บางสาย เพื่อปรับเปลี่ยนระบบ จะได้ไม่ต้องมาทะเลาะกันเรื่องรื้อแคชบล๊อก
ด้านนายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานคณะกรรมการบริหารกิจการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บอร์ด ขสมก.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สั่งบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO ยุติการติดตั้งเครื่องเก็บค่าโดยสาร หรือ Cash boxบนรถโดยสารแล้ว หลังจากที่พบมีปัญหาทางเทคนิค ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งตามสัญญา จะมีการติดตั้งบนรถเมล์ 2,600 คัน ซึ่งบริษัทได้ดำเนินการติดตั้งล็อตแรก 800 คันอยู่ ดังนั้นจะให้เดินหน้าทำให้เสร็จ ภายในวันที่ 12 ธ.ค.60 ตามสัญญาไปก่อน ซึ่งหากไม่เสร็จในส่วนนี้จะปรับ ส่วนที่เหลืออีก 1,800 คัน จะเร่งเจรจาเพื่อแก้ไขสัญญา
นอกจากปัญหาทางเทคนิคของ Cash box ยังมีข้อจำกัดในการใช้งาน เช่น ในชั่วโมงเร่งด่วน ที่อาจจะรองรับไม่ไหว จนทำให้เกิดปัญหาจราจรเพิ่ม อีกทั้งเทคโนโลยีจะพัฒนาไปเป็น E-Ticketและบัตรแมงมุม หรือตั๋วร่วมทั้งหมด ภายใน 2 ปี จะไม่มีการใช้เงินสด ทุกอย่างจะใช้บัตรหมด ซึ่งประชาชนจะมีการปรับตัวแล้ว
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ สหภาพแรงงานองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. เรียกร้องผู้บริหารชี้แจงข้อเท็จจริงการติดตั้ง Cash Box โดยตั้งข้อสังเกตว่า อาจไม่บรรลุผลตามเป้า
ทั้งนี้ ขสมก. ได้ทำสัญญาเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์ (e-Ticket)กับกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน(บ.ช ทวี จำกัด,บ.จัมป์ อัพ จำกัด,บ. เอ็มโอแอล เพย์เมนท์ จำกัด) วงเงิน 1,665 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ 15 มิ.ย. 60- 15 มิ.ย. 65
ขณะที่ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) ได้จัดตั้งกิจการค้าร่วมกับบริษัทสแกนอินเตอร์ จำกัด (มหาชน) ในนามกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO เสนอราคาเข้าร่วมโครงการซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 489 คันด้วย
ที่มาภาพ:workpointnews.com