- Home
- Isranews
- ตะกร้าข่าว
- "ประจิน"ย้ำ ‘ปฏิรูปการศึกษา’ ต้องบูรณาการข้ามหน่วยงาน
"ประจิน"ย้ำ ‘ปฏิรูปการศึกษา’ ต้องบูรณาการข้ามหน่วยงาน
รองนายกฯประจินย้ำ ‘ปฏิรูปการศึกษา’ ต้องบูรณาการข้ามหน่วยงานสู่การพัฒนากำลังคนที่สอดคล้องกับความต้องการในอนาคต สอดรับผลวิจัยตลาดแรงงานชี้ 5 บทเรียนพัฒนาคนสู่ไทยแลนด์ 4.0 ต้องฟังภาคธุรกิจ-วิเคราะห์ต้นทุนจังหวัด ด้านรมว.ศธ.ชี้ ‘ประเมินยุค 4.0’ ต้องไม่ใช้มาตรฐานเดียว
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัดการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน ครั้งที่ 1/2560 โดยมีพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการบอร์ด สสค. มีวาระสำคัญในการรายงานความก้าวหน้าโครงการต่างๆ
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวทางการทำงานว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังเดินหน้าเต็มที่ในการนำประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 ตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยหนึ่งในโจทย์สำคัญคือการพัฒนาคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิตัล จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาคนในระดับพื้นที่ให้เข้มแข็ง ฉะนั้นข้อมูลวิจัยที่ สสค. ทำขึ้นจึงจะเกิดประโยชน์หากสามารถฉายภาพการเตรียมพร้อมกำลังคนได้ตรงตามความต้องการของพื้นที่ ประเด็นสำคัญคือการเชื่อมการทำงานระหว่างหน่วยงานอื่นๆ มิใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายประชารัฐ ที่ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมจัดการการศึกษาได้
“สสค. ต้องพยายามทำฝันที่มองแล้วให้เป็นเรื่องจริง ดึงภาพในอนาคตให้เห็นชัดขึ้นในปัจจุบัน หากภาคธุรกิจสามารถสะท้อนความต้องการตลาดแรงงานในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมได้ชัดเจนแล้ว จะเป็นประโยชน์ต่อกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้มีการหารือกับรัฐมนตรีกระทรวงศึกษามาโดยตลอด เชื่อว่าสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ภายใน 6 เดือน" รองนายกรัฐมนตรีกล่าว
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวสรุปความก้าวหน้าของโครงการวิจัยสถานการณ์ตลาดแรงงานใน 18 กลุ่มจังหวัด ซึ่งมีการวิเคราะห์ข้อมูลแนวโน้มในการจ้างงานในระดับจังหวัด ซึ่งมาจากเสียงสะท้อนของผู้ประกอบการทั่วประเทศจำนวน 40,000 แห่ง พบ 5 บทเรียนสำคัญที่เกิดประโยชน์แก่จังหวัดในการพัฒนากำลังคน ดังนี้
1) คณะทำงานจังหวัดมีข้อมูลในการวางแผนการทำงานร่วมกันในพื้นที่ เห็นภาพเศรษฐกิจและการจ้างงานที่ชัดเจน ทำให้เกิดความเข้าใจบริบทและความต้องการแรงงานในจังหวัดตนเอง
2) สามารถจัดการศึกษาให้สอดคล้องที่เข้ากับทิศทางจังหวัดได้มากขึ้น เช่น เชียงใหม่เดิมการท่องเที่ยวถูกตั้งให้เป็นยุทธศาสตร์สำคัญ แต่เมื่อสำรวจต้นทุนในอนาคตจะพบว่า ภาคเกษตรกรรมและการบริการทางสุขภาพ กลับเป็นต้นทุนสำคัญในอนาคต
3) จังหวัดมีเครื่องมือในการสื่อสารเพื่อให้เกิดการส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาด้านอาชีพกับครู ผู้ปกครอง และเด็กเยาวชน
4) บุคลากรในพื้นที่มีทักษะในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลโครงสร้างการจ้างงานได้เองในทุกปี จังหวัดจึงสามารถดึงข้อมูลไปใช้ในการวางแผนพัฒนาจังหวัด และพัฒนาคนที่ล้อไปกับยุทธศาสตร์จังหวัดได้
และ 5) เกิดโมเดลการศึกษาประชารัฐที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และมองการเชื่อมโยงบูรณาการข้ามหน่วยงานอื่นๆ นอกเหนือจากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายขับเคลื่อนประชารัฐ
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวสนับสนุนให้ สสค. และ สกว. ดำเนินโครงการวิจัยปฏิบัติการโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง (School Quality Improvement Program: sQip) เพื่อมุ่งพัฒนาประสิทธิภาพของมาตรการการศึกษาด้านต่างๆ เช่น คุณภาพของการเรียนการสอน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโรงเรียน มาตรฐานการพัฒนาคุณภาพระดับโรงเรียนที่เหมาะสมกับโรงเรียน ความคุ้มค่าของการลงทุนกับผลที่ได้รับ เป็นต้น โดยเชื่อว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทำให้ผลการเรียนรู้เพิ่มขึ้น เด็กมีโอกาสในชีวิต มีอาชีพที่สูงขึ้น และชุมชนศรัทธาเชื่อมั่นโรงเรียน ซึ่งจะเริ่มต้นกับกลุ่มโรงเรียนแกนนำที่สมัครใจจำนวน 200 โรงเรียนใน 14 จังหวัด ตั้งแต่เดือน พ.ค. 60 โดยที่ประชุมแนะนำให้มีการขยายผลโดยเร็วเมื่อเห็นผลสำเร็จ
“ผมเสนอให้มีการเชื่อมการทำงานกับ สมศ. ในประเด็นการประเมินผล ให้มีการปรับการประเมินตามสภาพความเป็นจริงและบริบทพื้นที่ มิใช่มาตรฐานประเมินแบบเดียว ฉะนั้นต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างโรงเรียน ครูและพื้นที่ โดยเฉพาะชุมชนทำอย่างไรให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ทำโครงการฯ นี้กับโรงเรียนทั้งในเรื่องแนวคิด เพื่อให้ครูผู้ปฏิบัติยอมรับกติกา และมาตรการว่าเป็นเครื่องมือในการพัฒนาต่อไป ส่วนเรื่องงบประมาณสามารถปรับเพิ่มรายละเอียดและเชื่อมงานกับ ศธ. เพื่อให้เกิดการสนับสนุนงบเชื่อมโยงกันต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว