- Home
- Isranews
- ตะกร้าข่าว
- ‘บิ๊กตู่’ม.44 ขยายเวลาจดทะเบียนธุรกิจ-ใบอนุญาต รปภ.เป็น 360 วัน
‘บิ๊กตู่’ม.44 ขยายเวลาจดทะเบียนธุรกิจ-ใบอนุญาต รปภ.เป็น 360 วัน
‘บิ๊กตู่’ใช้ ม.44 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.รักษาความปลอดภัย ขยายเวลาจดทะเบียนผู้ประกอบธุรกิจ เดิม 120 วันเป็น 360 วัน - ผ่อนยื่นขอใบอนุญาตพนักงาน เดิม 90 วันเป็น 360 วัน ไม่มีผลย้อนหลังกรณีผู้ได้รับโทษคดีอาญายังเป็นได้ ยกเหตุขัดข้อง ขาดความพร้อม
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 10 ต.ค.2559 เผยแพร่ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 67/2559 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยธุรกิจรักษาความปลอดภัย เนื้อหาระบุว่า
ตามที่ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 ในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป กล่าวคือ ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคมพ.ศ. 2559 เป็นต้นไป ด้วยเหตุที่ต้องเตรียมการต่าง ๆ อันพึงต้องกระทำเพื่อให้การใช้บังคับกฎหมายแก่พนักงานรักษาความปลอดภัยจำนวนหลายแสนคน และบริษัทรักษาความปลอดภัยจำนวนหลายพันแห่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยนั้น
เนื่องจากการตราอนุบัญญัติและการกำหนดมาตรการรองรับตามที่กฎหมายบัญญัติยังคงมีปัญหาขัดข้อง ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเป็นจำนวนมาก เพราะเหตุแห่งคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของพนักงานรักษาความปลอดภัย ทั้งที่ประกอบอาชีพนี้อยู่แต่เดิมและที่จะเข้าสู่อาชีพนี้ในอนาคต แม้มีบทเฉพาะกาลยกเว้นหรือผ่อนผันไว้ให้แล้วในบางเรื่อง และหน่วยงานราชการต่าง ๆ ก็ให้ความช่วยเหลือในการแก้ไขข้อขัดข้องต่าง ๆแต่ผลกระทบต่อความรับรู้ความเข้าใจและการปรับตัวให้เข้ากับกฎเกณฑ์ใหม่ยังคงมีอยู่
นอกจากนั้นผู้ตรวจการแผ่นดินยังได้ให้ข้อสังเกตและคำแนะนำมาหลายประการ
คณะรักษาความสงบแห่งชาติและรัฐบาลจึงได้เชิญผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาหารือแล้วมีความเห็นร่วมกันว่า แม้เจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวซึ่งมุ่งจัดระเบียบธุรกิจรักษาความปลอดภัยให้ผู้ประกอบอาชีพนี้มีความพร้อมทั้งทางสมรรถนะ วุฒิภาวะและทัศนคติ จะเป็นเรื่องที่ดีเพื่อให้สมกับที่ได้รับความไว้วางใจให้ดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของผู้อื่น
แต่จากเหตุขัดข้องในด้านความพร้อม การรับรู้ และความเข้าใจของผู้ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยและพนักงานรักษาความปลอดภัย รวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้อง อาจมีผลให้การใช้บังคับกฎหมายกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและประโยชน์สาธารณะได้ จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 ในบางประการ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย
พ.ศ. 2558 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตาม (3) ให้เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศกำหนดให้ผู้บัญชาการตำ รวจนครบาลเป็นกรรมการและเลขานุการ และข้าราชการตำ รวจยศพันตำรวจตรีขึ้นไปในกองบัญชาการตำรวจนครบาลซึ่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาลแต่งตั้งจำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ”
ข้อ 2 ให้ยกเลิกความใน (3) ของ ก. ของมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(3) สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับที่ใช้อยู่ในขณะที่สำเร็จการศึกษา” (ก่อนหน้านี้ (3 ) สำเร็จการศึกษาภาคบังคับตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับ)
ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย
พ.ศ. 2558 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 73 ผู้ใดประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับหากประสงค์จะประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยต่อไป ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามมาตรา 16 วรรคหนึ่ง ภายในสามร้อยหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และเมื่อได้ยื่นคำขอแล้วให้ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยต่อไปได้จนกว่าจะได้รับแจ้งคำสั่งไม่อนุญาตจากนายทะเบียน”
ข้อ 4 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย
พ.ศ. 2558 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 74 ผู้ใดเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยในสังกัดของผู้ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้าประสงค์จะเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามมาตรา 33 วรรคหนึ่ง ภายในสามร้อยหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และเมื่อยื่นคำขอรับใบอนุญาตแล้ว ให้ประกอบอาชีพต่อไปได้จนกว่าจะได้รับแจ้งคำสั่งไม่อนุญาตจากนายทะเบียน ทั้งนี้ มิให้นำมาตรา 34 ก. (3) และมาตรา 34 ข. (3)มาใช้บังคับกับบุคคลดังกล่าว” (กรณีผู้ไม่สำเร็จการศึกษาภาคบังคับ และกรณี เป็นผู้เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกสำหรับความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ หรือความผิดเกี่ยวกับเพศ ฯ )
ข้อ 5 ในกรณีเห็นสมควรนายกรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องอาจเสนอให้คณะ
รักษาความสงบแห่งชาติแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้
ข้อ 6 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2559
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ_
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/E/256/9.PDF
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มาตรา 73 ก่อนแก้ไขระบุว่า
“มาตรา 73 ผู้ใดประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากประสงค์จะประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยต่อไป ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามมาตรา 16 วรรคหนึ่ง ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และเมื่อได้ยื่นคำขอแล้ว ให้ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยต่อไปได้จนกว่าจะได้รับแจ้งคำสั่งไม่อนุญาตจากนายทะเบียนในกรณีที่บุคคลตามวรรคหนึ่งมิได้เป็นบริษัทหรือเป็นบริษัทแต่มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นหรือกรรมการไม่เป็นไปตามที่กำหนดในมาตรา 17 (1) หรือ (2) ต้องดำเนินการจดทะเบียนบริษัทหรือแก้ไขสัดส่วนผู้ถือหุ้นหรือกรรมการ แล้วแต่กรณี ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง หากไม่สามารถดำเนินการได้จะต้องเลิกประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยนับแต่วันพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว”
มาตรา 74 ผู้ใดเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยในสังกัดของผู้ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้าประสงค์จะเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามมาตรา 33 วรรคหนึ่ง ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และเมื่อยื่นคำขอรับใบอนุญาตแล้ว ให้ประกอบอาชีพต่อไปได้จนกว่าจะได้รับแจ้งคำสั่งไม่อนุญาตจากนายทะเบียน ทั้งนี้ มิให้นำมาตรา 34 ก. (3) มาใช้บังคับกับบุคคลดังกล่าว
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/A/104/24.PDF