- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เสี่ยง! เขื่อนท่าแซะสร้างบนรอยเลื่อนเปลือกโลก
เสี่ยง! เขื่อนท่าแซะสร้างบนรอยเลื่อนเปลือกโลก
“... เขื่อนท่าแซะจะสร้างบนรอยเลื่อนแผ่นดินไหวที่มีพลัง คนที่อยากได้เขื่อนต้องคิดสักนิดว่าเขื่อนไม่ใช่แค่ให้น้ำอย่างที่ท่านคิดแต่สิ่งที่จะมาควบคู่คือความเสี่ยงและหายนะที่คนที่ออกมาเรียกร้องไม่สามารถจะรับผิดชอบได้” ดร.ไชยณรงค์เศรษฐเชื้อ
ภายหลังจากการกรมชลประทานมีความพยายามหยิบยกโครงการเขื่อนท่าแซะขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง โดยที่ก่อนหน้านี้มีการสั่งชะลอโครงการฯตามมติครม.เมื่อวันที่ 15 ม.ค.2551 ที่กำหนดว่าในระหว่างการทบทวนรายงานการศึกษา ห้ามมิให้กรมชลประทานดำเนินการใดๆ ในพื้นที่ทั้งยังให้จังหวัดตั้งคณะกรรมการเพื่อบริหารลุ่มน้ำท่าตะเภา ซึ่งคลองท่าแซะคือหนึ่งในคลองสาขา
ทั้งนี้ในเว็ปไซต์ของกรมชลประทานระบุว่า โครงการเขื่อนท่าแซะ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำในเขตพื้นที่ให้ได้รับประโยชน์สูงสุด และเกิดผล กระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด มีความเป็นไปได้ทั้งในด้านวิศวกรรมและในด้านเศรษฐศาสตร์ สามารถส่งน้ำเพื่อการชลประทานให้แก่พื้นที่เพาะปลูก ประมาณ 61,000 ไร่ ครอบคลุมเขตอำเภอท่าแซะ รวม 7 ตำบล มี ตำบลท่าแซะ ตำบลสองพี่น้อง ตำบลหงษ์เจริญ ตำบลคุริง ตำบลนากระดาน และตำบลท่าข้าม
หากนับตั้งแต่มีแนวคิดที่จะสร้างเขื่อนแห่งนี้ และเริ่มมีการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ซึ่งปรากฎว่าไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) รวมไปถึงการต่อต้านจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ องค์กรภาคประชาสังคมเป็นวงกว้างจนนำมาสู่การสั่งชะลอโครงการฯในที่สุด
แต่แล้วเรื่องนี้ก็เหมือนผีที่ถูกปลุกกลับมาอีกครั้ง ทั้งยังปรากฏเหตุการณ์ที่ทหารมีการใช้กำลังข่มขู่ โดยในคืนวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 16.30 น.ทหารจาก มทบ.44 ค่ายเขตอุดมศักดิ์จังหวัดชุมพร ได้เข้ามาเชิญตัวแกนนำชาวบ้านคือ นายพิชัย จันทร์ช่วง และนางวัชรี จันทร์ช่วง และมารดา ไปในค่ายชุมพรเขตอุดมศักดิ์ อ้างเป็นคำสั่งม.44 คสช. จนถึงเริ่มมีการปิดล้อมชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหวภายหลังชาวบ้านพยายามเดินทางเข้ามายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมไปถึงศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล (อ่านประกอบ:เขื่อนท่าแซะสะท้อนนโยบายอีหลักอีเหลื่อ นักวิชาการถามใครได้ประโยชน์กันแน่)
ท่ามกลางข้อถกเถียงจากฝ่ายสนับสนุนที่ต้องการให้สร้างเขื่อนแห่งนี้ กับคำถามที่ฝ่ายนักวิชาการถามถึงความคุ้มค่ากับสิ่งที่ต้องแลกหากมีการก่อสร้างโครงการฯนี้ขึ้นมาจริงๆ
โดยหนึ่งในข้อมูลทางวิชาการที่น่าสนใจพบว่า เขื่อนท่าแซะสร้างบนรอยเลื่อนแผ่นดินไหวที่มีพลัง เรื่องนี้ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ชี้แจ้งข้อมูลผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว ระบุว่าภาคใต้มีรอยเลื่อนแผ่นดินไหวสองกลุ่มที่มีพลังก็คือ
1. รอยเลื่อนระนอง วางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ เกือบเป็นแนวตั้ง พาดผ่านพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดระนอง จังหวัดชุมพร และจังหวัดพังงา มีความยาวประมาณ 270 กิโลเมตร
2. รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย วางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ พาดผ่านอำเภอบ้านตาขุน และอำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอทับปุด และอำเภอเมืองฯ จังหวัดพังงา ลงไปถึงทะเลอันดามัน ระหว่างอำเภอเมืองฯ จังหวัดภูเก็ต กับเกาะยาว จังหวัดพังงา มีความยาวประมาณ 148 กิโลเมตร
“เขื่อนท่าแซะและอ่างเก็บน้ำของเขื่อนจะตั้งอยู่บนรอยเลื่อนระนอง ซึ่งรอยเลื่อนแห่งนี้เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2555 เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 4 ริกเตอร์มาแล้ว แต่โชคที่มีความลึกลงไปในแผ่นดินประมาณ 10 กิโลเมตร จึงไม่ได้สร้างความเสียหายมาก” ดร.ไชยณรงค์ แสดงหลักฐาน พร้อมกับเห็นว่านักธรณีวิทยาเชื่อว่า การเคลื่อนไหวของรอยเลื่อนดังกล่าวเป็นผลมาจากการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนสุมาตรา
หันมาดูในกรณีของกรมชลประทานเจ้าของโครงการเขื่อนท่าแซะ หลังเหตุการณ์สึนามิ ก็เคยมีข่าวว่า กรมชลประทานได้เตรียมของบประมาณถึง 3,000 ล้านบาทเพื่อหาทางป้องกันเขื่อนจากแผ่นดินไหว นั่นหมายความว่า ที่แท้แล้ว กรมชลประทานเองก็รู้ว่า เขื่อนไม่ปลอดภัยจากแผ่นดินไหว
ในกรณีของเขื่อนท่าแซะที่ตั้งบนรอยเลื่อนระนอง ดร.ไชยณรงค์ บอกว่า แม้กรมชลประทานอาจจะโต้แย้งโดยอาจจะออกแบบและสร้างเพื่อให้เขื่อนมีแรงต้านทานแผ่นดินไหว ที่เรียกว่าค่า "g" เพื่อให้เขื่อนมั่นคงแข็งแรงรองรับแผ่นดินไหวได้ แต่ปัญหาที่กรมชลประทานไม่ได้เปิดเผยก็คือ จะต้องเพิ่มงบค่าก่อสร้างอีกกี่พันล้านบาท สำหรับการทำให้เขื่อนรองรับแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้ และงบที่เพิ่มขึ้นนี้จะทำให้เขื่อนแห่งนี้ยิ่งไม่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์มากขึ้นหรือไม่
ปัจจุบันพื้นที่ชลประทานที่อ้างก็เป็นการทำเกษตรกรรม ก็ไม่ได้ต้องการน้ำจากระบบชลประทานของเขื่อนแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ดร.ไชยณรงค์ ยังตั้งข้อสังเกตถึงการใช้งบประมาณมากขนาดไหนในการจัดทำแผนรองรับความเสี่ยงจากเขื่อนท่าแซะวิบัติ และหากเกิดเขื่อนวิบัติขึ้นกรมชลประทานจะรับมือไหวหรือไม่ เพราะแค่เขื่อนเล็กๆ ที่บางสะพาน น้ำล้นสันเขื่อน กรมชลประทานยังไม่มีปัญญา แม้แต่เตือนภัย อ่านประกอบ แกะรอยโศกนาฏกรรมบางสะพาน กับคำถามที่กรมชลฯ-รัฐต้องตอบตอน1 และ ตอน 2
“คนที่อยากได้เขื่อนท่าแซะต้องคิดสักนิดว่า เขื่อนไม่ใช่แค่ให้น้ำอย่างที่ท่านคิด แต่สิ่งที่จะมาควบคู่กับเขื่อนท่าแซะ คือ ความเสี่ยงและหายนะที่คนที่ออกมาเรียกร้องไม่สามารถจะรับผิดชอบได้”
ทั้งนี้ รอยเลื่อนทั้งสองรอย รศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้สัมภาษณ์ระหว่างการประชุมโต๊ะกลม “2012 แผ่นดินไหวข่าวลือ หรือความจริง” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 เม.ย.2555 ระบุว่า เคยเกิดการแผ่นดินไหวบนบก 6-7 ริกเตอร์ จากรอยเลื่อนระนองและรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย เมื่อ 2,000 ปีที่แล้ว และ 4,000 ปีที่แล้ว ซึ่งตอนนี้ “ใกล้คาบอุบัติซ้ำ” ของการเกิดแผ่นดินไหวใหญ่แล้ว
รศ.ดร.ปัญญายังระบุถึงรอยเลื่อนกำลังสะสมพลังงานอยู่และไม่รู้ว่าปลดปล่อยออกมาเมื่อไหร่ ไม่มีใครระบุได้ ฉะนั้น ปัญหาของการสร้างเขื่อนบนรอยเลื่อนของเปลือกโลกก็คือ การเร่งให้เกิดแผ่นดินไหวและทำให้เขื่อนวิบัติหรือภาษาง่ายๆ คือ “เขื่อนพัง”
ศาสตราจารย์บรูซ เอ. โบลต์ แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบอร์กเลย์ ระบุไว้ในหนังสือเรื่องแผ่นดินไหว (Earthquake) ว่า น้ำในเขื่อนที่สร้างขึ้นบริเวณแนวเลื่อนของเปลือกโลกเปรียบเสมือนตัวการในการลั่นไก (triggering) ทำให้เกิดแผ่นดินไหว ซึ่งมีผลมาจากน้ำหนักของน้ำที่ไปกระตุ้นให้เกิดพลังงานในชั้นหิน โดยผู้ที่รายงานแผ่นดินไหวลักษณะนี้คนแรกคือคาร์เคอร์ (Carder) เมื่อ พ.ศ.2488 พบการเกิดแผ่นดินไหวจากเขื่อนฮูเวอร์ในอเมริกา เขื่อนยุคใหม่แห่งแรกของโลก
ในชั้นแรกคิดกันว่า แผ่นดินไหวลักษณะนี้เป็นขนาดเล็กๆ ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ แต่ต่อมาก็เกิดแผ่นดินไหวกับเขื่อนอื่นๆ อีกหลายเขื่อนที่มีการสร้างหลังเขื่อนฮูเวอร์ ที่รุนแรงก็เช่น ภายหลังการสร้างเขื่อนคอยนา (Koyna) ในอินเดีย ทำให้เกิดแผ่นดินไหวเมื่อ พ.ศ.2510 ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 177 คน บาดเจ็บ 1,500 คน บ้านเรือนเสียหายเป็นจำนวนมาก ทั้งที่บริเวณนั้นไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวมาก่อน
ด้านศาสตราจารย์ปริญญา นุตาลัย ได้แบ่งสาเหตุการวิบัติของเขื่อนจากแผ่นดินไหวออกเป็น 3 ลักษณะ
ลักษณะแรก เกิดจากหินใต้เขื่อนเลื่อนตามแนวเลื่อนทำให้ตัวเขื่อนฉีกขาดออกจากกัน ตัวอย่างเช่น การพังของเขื่อนบอลด์วินฮิลล์ในลอสแอนเจลิส เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2506 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 คน บริษัทประกันภัยจ่ายค่าเสียหายร้อยกว่าล้านเหรียญ และมีการฟ้องร้องตามมาอีกมากมาย
ลักษณะที่สอง เกิดจากการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ตัวอย่างเช่น เขื่อนแวนนอร์แมน (Van Norman Dam) ในลอสแอนเจลิส ทำให้สันเขื่อนด้านเหนือน้ำถล่มลงมา
ลักษณะที่สาม เกิดจากมวลดินถล่มลงมาในอ่างเก็บน้ำ ทำให้เกิดคลื่นยักษ์ในอ่างเก็บน้ำ เช่น เขื่อนไวยอนต์ (Vajont Dam) ในประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2506 ได้เกิดมวลหินถล่มลงมาทำให้เกิดคลื่นยักษ์กระฉอกล้นออกจากเขื่อนและพัดพาเอา บ้านเรือนท้ายเขื่อนมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,600 คน
ประเทศไทยเองก็เคยเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ โดยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.9 ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2526 มีศูนย์กลางใกล้อ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ทำให้หินแตกเลื่อนออกจากกันยาวประมาณ 4 กิโลเมตร เกิดดินถล่มลงในอ่างเก็บน้ำหลายแห่งและทำให้เกิดคลื่นยักษ์ตามมา แต่โชคดีที่บริเวณดินถล่มห่างจากตัวเขื่อนมาก จึงไม่เกิดหายนะอย่างเขื่อนไวยอนต์
จากกรณีตัวอย่างทั้งหมด ดร.ไชยณรงค์ พยายามชี้ให้เห็นว่า ประเด็นเรื่องความปลอดภัยของเขื่อนกับแผ่นดินไหวในประเทศไทยมักถูกละเลยจาก 'นักสร้างเขื่อน' ดังจะเห็นได้จากรายงาน การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่มักประเมินว่า แนวเลื่อนของเปลือกโลกที่สร้างเขื่อนนั้นตายแล้ว ทั้งนี้ก็เพราะเหตุผลทางการเมืองที่อยู่เบื้องหลังเพียงเพื่อให้เขื่อนได้รับการอนุมัติ
ดังนั้น การตัดสินใจจะเอาเขื่อนหรือไม่เอาเขื่อนจึงต้องมองอย่างรอบด้าน มีเหตุผลหลายๆ มุม และต้องใช้ความรู้และการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ไม่ใช่ใช้วิธีระดมสรรพกำลังทั้งทหาร ข้าราชการ และมวลชน มาหนุนเขื่อน.
อ่านประกอบ
ยืนยันค้านเขื่อนท่าแซะ กลุ่มชาวบ้านติงรัฐทำงานสองมาตรฐาน
หมายเหตุ: ขอบคุณภาพประกอบคลองท่าแซะ สำนักข่าวชายขอบhttp://transbordernews.in.th/
ภาพแผนที่รอยเลื่อนจากChainarong Sretthachau
ภาพเขื่อนไวยอนต์จากhttps://file.ejatlas.org/docs/vajont.jpg
https://image.slidesharecdn.com/1genevoisthevajontlandslides-131031053250-phpapp01/95/genevois-the-vajont-landslides-26-638.jpg?cb=1383198142
https://1.bp.blogspot.com/-SN9ekDULdo8/VtNEJorMoHI/AAAAAAAALXA/SN7fVmpZ5XY/s1600/Vajont8Mark.jpg