- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ชำแหละ พฤติการณ์ อบจ.อุบลฯ ซิกแซกงบฯก่อสร้างถนน 30 ล. เอื้อเอกชน
ชำแหละ พฤติการณ์ อบจ.อุบลฯ ซิกแซกงบฯก่อสร้างถนน 30 ล. เอื้อเอกชน
เปิดหนังสือ สตง.ชำแหละละเอียดยิบกรณีสั่งเบรกก่อสร้างสะพาน-ถนน 32 ล. อบจ.อุบลฯ ผ่านป่าสงวนฯ ไร้บ้านคนอาศัย ซัดซิกแซกใช้เงินงบประมาณไม่อยู่ในแผน อ้างจำเป็นเร่งด่วน เบียดเบียนประโยชน์ส่วนรวม เข้าที่ดินเอกชน
กรณีสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 5 ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหนังสือถึงประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุบลราชธานี และนายก อบจ.อุบลฯ เพื่อให้ทบทวนหรือระงับยับยั้งการโอนงบประมาณรายงานประจำปี 2559 จากงบกลาง ประเภทเงินสำรองจ่าย ในการจัดจ้างโครงการก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามห้วยแจะระแม สายบ้านทุ่งบูรพา หมู่ที่ 11 ต.หนองขอน-บ้านหนองมะเขื่อ หมู่ที่ 17 ต.ขามใหญ่ อ.เมือง จ.อุบลราชธานีงบประมาณ 2,774,000 บาท และ แผนงานโครงการก่อสร้างถนนลาดยางผิวจราจรแอสฟัสท์ติกคอนกรีต จำนวน 4 ช่องจราจร งบประมาณ 30 ล้านบาท โดยระบุว่าโครงการดังกล่าวไม่ได้อยู่ในแผนงานโครงการในข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 แต่ผู้บริหาร อบจ.อุบลราชธานี ได้ดำเนินการโดยวิธีโอนงบประมาณจากงบกลาง ประเภทเงินสำรองจ่ายเพื่อใช้เป็นงบประมาณในการดำเนินโครงการ และอาจมีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน (อ่านประกอบ:สตง.ส่งหนังสือเบรก! อบจ.อุบลฯตัดถนน 30 ล.ผ่านป่าสงวนฯ เข้าที่ดินนักการเมือง)
สำนักข่าวอิศรานำหนังสือของ สตง.มาเสนอโดยสรุปประเด็นดังนี้
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โดยสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 5 (จังหวัดอุบลราชธานี) ได้ตรวจสอบโครงการก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามห้วยแจระแม สายบ้านทุ่งบูรพา หมู่ที่ 11 ต.หนองขอน-บ้านหนองมะเขื่อ หมู่ที่ 17 ต.ขามใหญ่ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ตามสัญญาจ้างเลขที่ 171/2558 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2558 จำนวนเงิน 2,774,000 บาท และแผนงานโครงการก่อสร้างถนนลาดยางผิวจราจรแอสฟัลท์ติกคอนกรีต จำนวน 4 ช่องจราจร งบประมาณ 30,000,000 บาท ผลการตรวจสอบสรุปได้ดังนี้
กรณีโครงการก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามห้วยแจระแม
โครงการก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามห้วยแจระแม องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ไม่ได้ตั้งแผนงานโครงการไว้ในข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 แต่ผู้บริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานีได้ดำเนินการโดยวิธีการโอนงบประมาณจากงบกลาง ประเภทเงินสำรองจ่าย จำนวนเงิน 95,859,160 บาท เพื่อตั้งเป็นรายการใหม่ในหมวดค่าครุภัณฑ์ ค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง จำนวนเงิน 2,900,000 บาท ในการดำเนินการโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นอำนาจอนุมัติของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี และสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีงประมาณขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2541 และที่ไก้ไขเพิ่มเติมข้อ 26 และข้อ 27
จากการตรวจสอบพบว่า การโอนงบประมาณดังกล่าว อาจไม่ได้เป็นไปเพื่อใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นที่มีสาธารณภัยเกิดขึ้น หรือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นส่วนรวมซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ได้ในระหว่างปีงบประมาณหรือไม่สามารถจัดทำรายละเอียดโครงการเพื่อรับงบประมาณไว้ล่วงหน้าได้ เช่น วาตภัย อุทกภัย การพัฒนาซ่อมแซมสิ่งสาธารณประโยชน์ การซ่อมหรือการสร้างถนน สะพาน ท่อระบายน้ำ ฯลฯ นอกจากนี้ไม่ได้เป็นการเบิกจ่ายตามนโยบายกระทรวงมหาดไทยที่จำเป็นเร่งด่วน ซึ่งไม่มีงบประมาณตั้งจ่ายไว้ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยที่กำหนดไว้ ตามวัตถุประสงค์และความจำเป็นในการตั้งงบกลาง ประเภทเงินสำรองจ่ายดังกล่าว
กรณีโครงการก่อสร้างถนนลาดยางผิวจราจรแอสฟัลท์ติกคอนกรีต
ส่วนโครงการก่อสร้างถนนลาดยางผิวจราจรแอสฟัลท์ติกคอนกรีต องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ไม่ได้ตั้งแผนงานโครงการดังกล่าวไว้ในข้อบัญญัติงบระมาณรายจ่ายประจำปี 2558 และข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 แต่มีมูลเหตุอันน่าเชื่อได้ว่า ผู้บริหารขององค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี จะดำเนินการโดยวิธีโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 จากงบกลาง ประเภทเงินสำรองจ่าย จำนวนเงิน 42,932,650 บาท เพื่อตั้งเป็นรายการใหม่ในหมวดครุภัณฑ์ ค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง สำหรับการดำเนินงานโครงการก่อสร้างถนนดังกล่าว ในลักษณะเดียวกันข้างต้น
ผลจากการตรวจสอบ
จากการตรวจสอบพบว่า การโอนงบประมาณดังกล่าวมิได้เป็นไปเพื่อใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นที่มีสาธารณภัยเกิดขึ้น หรือบรรเทาปัญหาเดือดร้อนของประชาชนเป็นส่วนรวมซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ได้ในระหว่างปีงบประมาณหรือไม่สามารถจัดทำรายละเอียด โครงการเพื่อรับงบประมาณไว้ล่วงหน้าได้ เช่น วาตภัย อุทกภัย การพัฒนาบูรณะซ่อมซมสิ่งสาธารณประโยชน์ การซ่อมหรือการสร้างถนน สะพาน ท่อระบายน้ำ หรือเหตุจำเป็นเร่งด่วนอย่างอื่นที่มีผลกระทบต่อสาธารณะ เป็นต้น
@อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติดงฟ้าห่วน
นอกจากนี้ไม่ได้เป็นการจะเบิกจ่ายตามนโยบายกระทรวงมหาดไทยที่จำเป็นเร่งด่วน ซึ่งไม่มีงบประมาณตั้งจ่ายไว้ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยที่กำหนดไว้ ตามวัตถุประสงค์และความจำเป็นในการตั้งงบกลาง ประเภทเงินสำรองจ่ายดังกล่าว เนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างถนนลาดยางผิวจราจรแอสฟัลท์ติกคอนกรีต มีสภาพเป็นถนนดินเดิมอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงฟ้าห่วน และมีความยาวของถนนตามแนวเสาไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งไม่มีบ้านพักอาศัยของประชาชนและไม่ได้เป็นเส้นทางสัญจรไป-มาตามปกติ ของประชาชนส่วนรวมโดยทั่วไป ลักษณะของโครงสร้างถนนดังกล่าว จึงเป็นการขออนุญาตทำประโยชน์ หรือใช้พื้นที่หรือการผ่านหรือใช้ทางภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติดงฟ้าห่วน สวนพฤกษาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ดงฟ้าห่วน) กรมอุทยาแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อถมดินและก่อสร้างถนนลาดยางผิวจราจรแอสฟัลท์ติกคอนกรีต จำนวน 4 ช่องจราจรเป็นเส้นทางสัญจรไป-มาแห่งใหม่ มีความยาวของถนนลาดยาง ๆ ตามแนวเสาไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ประมาณ 2.70 กิโลเมตร
@ไม่จำเป็นเร่งด่วน-เอื้อประโยชน์เจ้าของที่ดิน-ผิดวินัยงบฯ
จากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานแล้ว พบว่ามีประชาชนที่จะได้รับประโยชน์จากการก่อสร้างถนนลาดยางผิวจราจรแอสฟัลท์ติกตอนกรีตดังกล่าวอยู่ในวงจำกัดและอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเพียงบางรายที่ครอบครองที่ดินในบริเวณดังกล่าว และอยู่ระหว่างการขอออกเอกสารสิทธิ์หรือหนังสือรับรองการกระทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินกับสำนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี
สำนักตรวจสอบพิเศษภาค 5 (จังหวัดอุบลราชธานี) พิจารณาเบื้องต้นแล้วเห็นว่า โครงการก่อสร้างถนนลาดยางผิวจราจรแอสฟัลท์ติกคอนกรีตดังกล่าวอาจเป็นไปเพื่อประโยชน์โดยทางตรงหรือทางอ้อมกับเอกชนเจ้าของที่ดินในบริเวณใกล้เคียงหรือตามแนวการก่อสร้างถนนดังกล่าวเพียงบางรายเท่านั้น แต่หากคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมโดยทั่วไป ถือว่าโครงการก่อสร้างถนนลาดยางผิวจราจรแอสฟัลท์ติกคอนกรีตดังกล่าวยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนส่วนรวมโดยทั่วไปให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว และความปลอดภัยในการสัญจรไป-มา หากไม่รีบดำเนินการแล้วจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนส่วนรวมโดยทั่วไปได้ หรือมิได้เป็นไปเพื่อใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นที่มีสาธารณภัยเกิดขึ้น หรือบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นส่วนรวมซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ได้ในระหว่างปีงบประมาณหรือไม่สะดวกจัดทำรายละเอียดโครงการ เพื่อรับงบประมาณไว้ล่วงหน้าได้ตามวัตถุประสงค์และความจำเป็นในการตั้งงบกลาง ประเภทของเงินสำรองจ่ายดังกล่าว และการกระทำดังกล่าวอาจเป็นเหตุให้ผู้กระทำต้องรับผิดทางวินัยงบประมาณและการคลัง รวมทั้งระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2541 และตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากงานซ่อมแซมปรับปรุงถนนลาดยาง Dobble Surface Treatment ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ในปีงบประมาณ 2556 - 2557 จำนวน 30 โครงการ ซึ่งอยู่ภายในเขตพื้นที่หลายอำเภอของจังหวัดอุบลราชธานี พบว่า ยังมีถนนสายอื่นหายสายขององค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้รับการถ่ายโอนจากหน่วยงานราชการอื่น และมีสภาพชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก แต่ยังไม่ได้รับการซ่อมแซมปรับปรุงแก้ไขบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนส่วนรวมโดยทั่วไปภายในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ประกอบกับเป็นการก่อสร้างถนนตัดผ่านป่าสงวนแห่งชาติซึ่งต้องสงวนคุ้มครองหรือรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ
@เบียดเบียนประโยชน์ส่วนรวม-ต้องทบทวน
ดังนั้น การดำเนินการโครงการตามแผนงานโครงการก่อสร้างถนนลาดยางผิวจราจรแอสฟัสท์ติกคอนกรีตดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นการใช้จ่ายงบประมาณของทางราชการไม่คุ้มค่าและอาจเป็นไปเพื่อประโยชน์ของบุคคลเฉพาะกลุ่มหรือประโยชน์ส่วนตนโดยเบียดเบียนหรือคุกคามประโยชน์ส่วนรวมหรือประโยชน์ของรัฐหรือการมีผลประโยชน์ทับซ้อนกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ของรัฐในลักษณะที่ส่งผลดีต่อตนในทางหนึ่งทางใด เพื่อประโยชน์ของทางราชการ
จึงเห็นควรให้สภาองค์การบริหารจังหวัดอุบลราชธานี ดำเนินการพิจารณาทบทวนแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือระงับยับยั้งการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2559 จากงบกลาง ประเภทเงินสำรองจ่ายในการจัดจ้างโครงการก่อสร้างถนนดังกล่าวเพื่อป้องกันความเสียหายการใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวโดยให้คำนึงถึงความคุ้มค่าและประโยชน์สาธารณะ รวมทั้งดำเนินการด้วยความโปร่งใส เป็นไปเพื่อมิให้ต้องรับผิดตามวินัยทางงบประมาณและการคลัง รวมทั้งระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ.2540 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยเคร่งครัด
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการ และแจ้งผลการดำเนินการดังกล่าวให้สำนักตรวจสอบพิเศษภาค 5 (จังหวัดอุบลราชธานี) ทราบโดยเร็ว เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ต่อไป (ดูหนังสือประกอบท้ายเรื่อง)
กรณีนี้มีความเห็นแย้งจาก อบจ.อุบลฯ ถึงความจำเป็นในการตัดถนนเส้นดังกล่าว ขณะที่ สตง.ส่งเรื่องให้ ผู้ว่าฯอุบลฯ กำกับและติดตามอีกทางหนึ่ง
ต้องติดตามกันต่อไป