- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เปิดงบอุดหนุน อปท. ค่า'อาหารกลางวัน' นร. คนละ 20 บ. โยงปมหัวคิวฉาว จ.แพร่
เปิดงบอุดหนุน อปท. ค่า'อาหารกลางวัน' นร. คนละ 20 บ. โยงปมหัวคิวฉาว จ.แพร่
ว่าด้วยหัวคิวอาหารกลางวันเด็ก นร. รร.เทศบาล จ.แพร่!เปิดงบอุดหนุนการศึกษาของ อปท. ปี 59 จัดสรรให้ ร.ร. มือละ 20 บาท - อาหารเสริม นม หัวละ 7.37 บาท คลุมหมด เด็กอนุบาลถึง ป.6 ร.ร. ตชด. ยกเว้น ร.ร.กีฬา ให้ 40 บ. แต่ไม่เกินวันละ 150 บ./คน
กรณี นายนพดล วังใน รองประธานสภาเทศบาลเมืองแพร่ และ นายสันติ กุณาใหม่ สมาชกสภาเทศบาล (ส.ท.) เมืองแพร่ร้องเรียนให้ตรวจสอบ ร.ร.เทศบาลวัดหัวข่วง ที่ได้ทำสัญญาว่าจ้าง นางอัมพร บุญมา เป็นผู้รับจ้างจัดทำอาหารกลางวันสำหรับนักเรียน 289 คน ในระดับชั้นอนุบาล-ประถมการศึกษาของโรงเรียนฯ เป็นเวลา 90 วัน วงเงิน 624,180 บาท แบ่งจ่าย 6 งวด เริ่มงานตั้งแต่ 16 พ.ค. 2559 - 11 ต.ค. 2559 แต่ในทางปฏิบัติมิได้เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญา
ขณะที่ ล่าสุดพบโรงเรียนอีกอย่างน้อย 1 แห่ง ที่มีปัญหาในลักษณะเดียวกัน คือ ร.ร.เทศบาลวัดสวรรค์นิเวศ โดยโรงเรียนฯ มีการจ้างแม่ครัวทำอาหารกลางวันเดือนละ 3,000-4,000 บาท (ไม่มีการทำสัญญาจ้าง) แต่ทุกเดือนโรงเรียนจะออกเช็คให้แม่ครัวไปเบิกเงินกับธนาคาร แล้วนำเงินมาคืนให้ครูที่รับผิดชอบในจำนวนที่เบิก โดยครูจะให้เงินแม่ครัวไปซื้ออาหารมาทำกับข้าวให้เด็กนักเรียนวันละ 2,000 บาท และหากเหลือจากค่ากับข้าวแม่ครัวจะส่งคืนเงินดังกล่าวให้แก่ครู
(อ่านประกอบ :ส่งหลักฐาน‘อิศรา’ รร.จ.แพร่ หักหัวคิวอาหารกลางวันเด็ก นร.- ผอ.ยันมีฎีกาเบิกจ่าย ,อีกแห่ง! ร.ร.เทศบาล จ.แพร่ ปมหัวคิวอาหารกลางวัน นร.- รับเช็คเบิกเงินส่งคืนครู)
กรณีดังกล่าวอาจมีคำถามว่า ในแต่ละวันนักเรียนได้รับงบประมาณอุดหนุนเป็นค่าอาหารกลางวัน จากรัฐ คนละเท่าไหร่ และมีหลัเกณฑ์การจัดสรรอย่างไร?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำหนังสือแนวทางประมาณการรายรับ และจัดทำงบประมาณรายจ่ายรองรับเงินอุดหนุนทั่วไป ด้านการศึกษา ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ประจำปีงบฯ พ.ศ. 2559 ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย แนบท้ายหนังสือด่วนที่สุด ที่ มท 0893.3/ว 3149 ลงวันที่ 5 มิ.ย. 2558 มาเสนอดังนี้
รายการและหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไป ด้านการศึกษา อยู่ระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบฯ พ.ศ. 2559 ดังนั้น จึงให้ อปท. ระบุรายละเอียดในคำชี้แจงงบฯ ว่า “ทั้งนี้ จะเบิกจ่ายต่อเมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น”
1.เงินอุดหนุนสำหรับสนับสนุนอาหารเสริม (นม) โดยข้อมูลระบุว่า จัดสรรสำหรับเด็กอนุบาล และเด็ก ป.1 - ป.6 (ใช้ข้อมูลจำนวนเด็ก ณ วันที่ 10 มิ.ย. 2558) และให้พิจารณาตั้งงบฯ รองรับในอัตราคนละ 7.37 บาท จัดสรร 100% ทุกสังกัด ประกอบด้วย
(1) ร.ร.สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 260 วัน (52 สัปดาห์ ๆ ละ 5 วัน เว้นวันเสาร์-อาทิตย์)
(2) ร.ร.สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 260 วัน (52 สัปดาห์ ๆ ละ 5 วัน เว้นวันเสาร์-อาทิตย์)
(3) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) ที่ อปท. จัดตั้งขึ้นเองและรับถ่ายโอน จำนวน 280 วัน
(4) ร.ร.สังกัดกรมสามัญศึกษา จำนวน 280 วัน (ร.ร.ศึกษาสงเคราะห์,ร.ร.ศึกษาพิเศษ)
(5) สถานศึกษาสังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียน จำนวน 280 วัน (ศูนย์การเรียนชุมชนบนพื้นที่ราบสูง)
(6) สถานศึกษากรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จำนวน 280 วัน (ศูนย์รับเลี้ยงเด็กของกรมประชาสงเคราะห์ เดิม)
โดยในส่วนลักษณะของงบประมาณ ระบุให้ตั้งในงบดำเนินการ หมวดค่าตอบแทน ใช้สอยและวัสดุ รายการค่าวัสดุ ประเภทค่าอาหารเสริม (นม) โดยให้ อปท. เป็นหน่วยจัดซื้อจัดจ้างให้แก่สถานศึกษาตามภารกิจถ่ายโอนงบฯ และอัตราจัดสรรคนละ 7.37 บาท ไม่ใช่ราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้างอาหารเสริม (นม) เป็นเพียงราคาจัดสรรตามหลักเกณฑ์ที่ได้ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ
2.เงินอุดหนุนสำหรับสนับสนุนอาหารกลางวัน โดยข้อมูลระบุว่า จัดสรรสำหรับเด็กอนุบาล และเด็ก ป.1 – ป.6 (ใช้ข้อมูลจำนวนเด็ก ณ วันที่ 10 มิ.ย. 2558) และให้พิจารณาตั้งงบฯ ในอัตรามื้อละ 20 บาทต่อคน จัดสรร 100% ทุกสังกัด ประกอบด้วย
(1) ร.ร.สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อัตรามื้อละ 20 บาทต่อคน จำนวน 200 วัน
(2) ร.ร.สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อัตรามื้อละ 20 บาทต่อคนจำนวน 200 วัน ยกเว้น ร.ร.กีฬา อัตรามื้อละ 40 บาทต่อคน จำนวน 200 วัน (ทั้งนี้ เมื่อรวมแล้วต้องไม่เกิน 150 บาทต่อวัน)
(3) ร.ร.สังกัดกองบัญชาการตำรวจตะเวนชายแดน (ตขด.) อัตรามื้อละ 20 บาทต่อคนจำนวน 200 วัน โดยให้ อปท. ที่ได้รับมอบหมายจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นให้เป็นหน่วยตั้งงบ ให้แก่ โรงเรียน ตชด.
(4) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) ที่ อปท. จัดตั้งขึ้นเองและรับถ่ายโอน อัตรามื้อละ 20 บาทต่อคน จำนวน 280 วัน
(5) สถานศึกษาสังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียน จำนวน 280 วัน (ศูนย์การเรียนชุมชนบนพื้นที่ราบสูง)
สำหรับ ลักษณะของงบประมาณในส่วนเงินอุดหนุนอาหารกลางวัน ถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ สถานศึกษาในสังกัด อปท. ,สถานศึกษาสังกัดหน่วยงานอื่น และ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) ที่รับถ่ายโอนจากกรมการศาสนา
กรณีสถานศึกษา (โรงเรียน,ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก) ในสังกัด อปท. ให้ตั้งในงบดำเนินงาน หมวดค่าตอบแทน ใช้สอยและวัสดุ รายการค่าใช้สอย ประเภทรายจ่ายเกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติราชการที่ไม่เข้าลักษณะรายจ่ายหมวดอื่น ๆ โครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายการบริหารสถานศึกษา และวิธีการ ขั้นตอนในการเบิกหักผลักส่งเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารในนามของสถานศึกษาให้ปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนมาก ที่ มท 0893.2/ว 1918 ลงวันที่ 16 มิ.ย. 2552
ส่วนกรณีสถานศึกษาสังกัดหน่วยงานอื่น กำหนดให้ตั้งในหมวดเงินอุดหนุน โดยให้ถือปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนมาก ที่ มท 0808.2/ว 74 ลงวันที่ 8 ม.ค. 2553 และหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ มท 0808.2/ว 1201 ลงวันที่ 30 มิ.ย. 2553 และกรณี ศพด. ที่รับถ่ายโอนจากกรมการศาสนา (วัด,มัสยิด) มอบอำนาจให้ อปท. จัดซื้อจัดจ้างอาหารกลางวัน โดยให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับสถานศึกษาในสังกัด อปท. (ดูเอกสาร)
ทั้งนี้ เมื่อนำเงินจำนวน 624,180 บาท ซึ่งเป็นงบฯ ค่าอาหารกลางวันเป็นเวลา 90 วัน ของ ‘ร.ร.เทศบาลวัดหัวข่วง’ มาคิดเป็นรายวัน อยู่ที่ประมาณ 6,935.5 บาทต่อวัน และเมื่อคำนวณเป็นรายหัวจากนักเรียนจำนวน 289 คน ค่าอาหารกลางวันของนักเรียนจะอยู่ที่ประมาณ 24 บาทต่อคน
ส่วนงบฯ ค่าอาหารกลางวันของ ร.ร.เทศบาลวัดสวรรค์นิเวศ ที่มีนักเรียนจำนวน 132 คน ยังไม่ปรากฏข้อมูลแน่ชัดว่าใช้งบฯ เท่าใด โดยนางมุกดา ศิริวาท ผอ.โรงเรียนฯ คนปัจจุบัน ยืนยันว่า เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งดังกล่าวเมื่อ เม.ย. 2559 และยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ร.ร.เทศบาลวัดสวรรค์นิเวศ มี ส.อ.อนันต์ เชื้อทอง เป็นผู้อำนวยการสถานศึกษา โดยจากการตรวจสอบล่าสุด พบว่า ปัจจุบัน ส.อ.อนันต์ ดำรงตำแหน่งเป็น ผอ.โรงเรียนเทศบาลวัดชัยมงคล ถ.ช่อแฮ ต.ในเวียง อ.เมืองแพร่ จ.แพร่
ทั้งหมด คือ ข้อมูลล่าสุด ปมค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียนของโรงเรียนเทศบาล ใน จ.แพร่ ที่กำลังถูกร้องเรียน และน่าจะเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งที่ทะลุขึ้นมาจากโรงเรียนในสังกัด อปท.จำนวนมาก
ต้องติดตามผลการตรวจสอบของหน่วยงานที่รับผิดชอบกันต่อไป
อ่านประกอบ :
โชว์ลายมือ ‘หักเงิน’ ค่าอาหารกลางวัน นร. ร.ร. จ.แพร่ 6.2 แสน! ไฉนไม่มีใบเสร็จ?