- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เปิดหนังสือถึงนายกฯ ชำแหละเงื่อนงำจัดซื้ออาหารดิบ 137 เรือนจำ ส่อฮั้ว
เปิดหนังสือถึงนายกฯ ชำแหละเงื่อนงำจัดซื้ออาหารดิบ 137 เรือนจำ ส่อฮั้ว
ละเอียดยิบ!หนังสือถึงนายกฯ ชำแหละปมจัดซื้ออาหารดิบ 137 เรือนจำส่อผิดปกติ ต่ำกว่าราคากลางแค่ 1% เปิดช่อง ‘ฉ้อฉล’ ไฉนไม่ใช้ e-bidding ปิดกั้นรายย่อย สงสัยมีผู้รับผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง ก่อนหน้านี้เสียหาย 2 พันล./ปี ชี้คำสั่งจัดซื้อข้าวสารเลี้ยงผู้ต้องขังไม่เกิน 500 กรัมต่อคนต่อวัน เกินความต้องการจริง 328,000 กระสอบ
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 5 เม.ย.2559 สมาชิกชมรมผู้ประกอบการค้าอาหารดิบกรมราชทัณฑ์ จำนวน 11 ราย นำโดยนายพิชัย กาญจนศร นายยศพล คงนาม นายธีรเมธ ศรีสวัสดิ์ ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล ขอให้ตรวจสอบกรณีจัดซื้ออาหารดิบของกรมราชทัณฑ์ประจำปี 2559 ช่วง 8 เดือนสุดท้าย ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 – 30 กันยายน 2559 ที่เรือนจำ 137 แห่งจาก 140 แห่ง ได้ใช้วิธีจัดซื้อโดยกรณีพิเศษ จากหน่วยงานที่ได้รับสิทธิพิเศษเพียง 4-5 แห่ง ทั้งที่กรมราชทัณฑ์ได้กำหนดแนวทางจัดซื้ออาหารดิบไว้ 3 กรณี คือ โดยวิธีตกลงราคา วิธี e-bidding และวิธีกรณีพิเศษ โดยให้ผู้มีอำนาจใช้ดุลยพินิจพิจารณาแล้วเห็นว่าเหมาะสมและเป็นจำเป็นเพื่อประโยชน์ต่อทางราชการ คำสั่งลักษณะเช่นนี้จึงเป็นการส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่รัฐทำการทุจริต เปิดโอกาสให้มีการเรียกรับผลประโยชน์อันมิชอบมากมายมหาศาลทั้งจากตัวกรมราชทัณฑ์เองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำหนังสือร้องเรียนฉบับเต็มมารายงานดังนี้
กรณีจัดซื้ออาหารดิบของกรมราชทัณฑ์ประจำปี 2559 ช่วง 8 เดือนสุดท้าย ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 – 30 กันยายน 2559 ที่ทางกรมราชทัณฑ์ได้กำหนดแนวทางจัดซื้ออาหารดิบไว้ 3 กรณี คือ โดยวิธีตกลงราคา วิธี e-bidding และวิธีกรณีพิเศษ โดยให้ผู้มีอำนาจใช้ดุลยพินิจพิจารณาแล้วเห็นว่าเหมาะสมและเป็นจำเป็น เพื่อประโยชน์ต่อทางราชการนั้น ปรากฏชัดเจนว่า เรือนจำเกือบทุกแห่งทั่วประเทศ ได้เลือกที่จะทำการจัดซื้ออาหารนักโทษช่วง 8 เดือน ด้วนวิธี “กรณีพิเศษ”เป็นหลัก มีเรือนจำเพียง 2 หรือ 3 แห่งเท่านั้นที่ทำการจัดซื้อด้วยระบบ e-bidding ตามนโยบายของรัฐบาล
การที่กรมราชทัณฑ์ไม่ออกคำสั่งให้ชัดเจน แต่กลับออกคำสั่งในลักษณะคลุมเครือโดยมอบให้ผู้บัญชาการเรือนจำ เป็นผู้ใช้อำนาจและใช้ดุลยพินิจเองว่า จะเลือกใช้วิธีการแบบใดในการจัดการกับงบประมาณของรัฐนั้น คำสั่งลักษณะเช่นนี้จึงเป็นการส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่รัฐทำการทุจริต เปิดโอกาสให้มีการเรียกรับผลประโยชน์อันมิชอบมากมายมหาศาลทั้งจากตัวกรมราชทัณฑ์เองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่าชัดเจนว่า เรือนจำกว่า 137 แห่งจากจำนวนทั้งหมด 140 แห่งทั่วประเทศ เลือกที่จะจัดซื้ออาหารนักโทษครั้งนี้ ในแนวทางเดียวกันทั้งหมดคือโดย “วิธีกรณีพิเศษ” ย่อมส่อให้เห็นถึงความผิดปรกติ ของการจัดซื้อครั้งนี้ได้อย่างชัดเจน และที่สำคัญ ผลการจัดซื้ออาหารดิบนักโทษที่มีงบประมาณกว่า 5,000 ล้านบาท จากหน่วยงานที่ได้รับสิทธิพิเศษตามมติ ค.ร.ม.นั้น ปรากฏว่ากรมราชทัณฑ์และรัฐบาล สามารประหยัดงบประมาณลงไปได้เพียงแค่ 50 – 60 ล้านบาท หรือน้อยลงแค่ 1% เท่านั้น ซึ่งนับเป็นโครงการจัดซื้อที่รัฐได้รับประโยชน์น้อยที่สุด และเสียหายมากที่สุดโครงการหนึ่งทีเดียว
กรมราชทัณฑ์ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม เลือกที่จะทำการจัดซื้ออาหารนักโทษด้วยวิธีกรณีพิเศษ กับหน่วยงานที่ได้รับสิทธิพิเศษเพียง 4-5 แห่ง ทั้งที่มีการร้องเรียนจากเอกชนผู้ประกอบการค้าอาหารมาโดยตลอดหลายปีว่า เป็นการดำเนินการจัดซื้อที่ไม่เป็นธรรม เป็นการปิดกั้นไม่ให้ผู้ค้าเอกชนรายอื่นได้มีโอกาสเข้ามาแข่งขันโดยเสรี ทำให้รัฐเสียหาย และเสียค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องซื้ออาหารเพื่อเลี้ยงดูนักโทษเพื่อขึ้นเกือบ 2,000 ล้านบาททุก ๆ ปี
การซื้อด้วยวิธีกรณีพิเศษของกรมราชทัณฑ์ จึงทำให้เกิดข้อเคลือบแคลงสงสัยในกลุ่มเอกชนผู้ค้าอาหารที่ถูกกีดกันว่า การจัดซื้ออาหารนักโทษด้วยวิธีกรณีพิเศษน่าจะมีผลประโยชน์มากมายมหาศาลแอบแฝงอยู่ ทำไมกรมราชทัณฑ์จึงไม่เคยเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดซื้อ และยืนยันที่ใช้กรณีพิเศษกับหน่วยงานรัฐ 4-5 แห่งอย่างต่อเนื่องมาตลอด
ข้าพเจ้าในฐานะเอกชนผู้ประกอบการส่งอาหาร ขอให้ท่านนายกรัฐมนตรี สอบสวนการจัดซื้อ และการทุจริตใน การจัดซื้ออาหารนักโทษ ปี 2559 นี้ว่า
1. หน่วยงานที่ได้รับสิทธิพิเศษ ของกรมราชทัณฑ์ แข่งขันเสนอราคากันแบบไหน มีการสมยอมราคากันหรือไม่ ทำไมงบประมาณทั้งประเทศจึงลดลงไปเพียงแค่ 1%
2. ทำไมกรมราชทัณฑ์ต้องหลีกเลี่ยงไม่ยอมสั่งให้ทำ e-action หรือ e-bidding เพียงอย่างเดียว หรือนั่นเป็นเพราะว่า การจัดซื้ออาหารนักโทษแบบ “กรณีพิเศษ” ที่เรือนจำต่าง ๆเลือกใช้ มีใครได้รับผลประโยชน์อะไรอยู่และเท่าไรบ้าง มีการเรียกรับผลประโยชน์จากการออกคำสั่งนี้เท่าไร อย่างไร มีข้าราชการชั้นสูงเกี่ยวข้องหรืออยู่เบื้องหลังด้วยหรือไม่
3. แม้จะมีการร้องเรียนจากเอกชนผู้ประกอบการ หลายกลุ่ม หลายครั้ง ทำไมกระทรวงยุติธรรมจึงไม่สั่งการหรือดำเนินการใด ๆ ให้เด็ดขาด กลับปล่อยปะละเลยให้เกิดการร้องเรียนซ้ำซากอยู่ตลอดเวลา
อนึ่ง ในโอกาสนี้ข้าพเจ้าขอเรียนฯพณฯท่านประยุทธ์ จันทร์โอชา ทราบอีกว่า ตามคำสั่งของกรมราชทัณฑ์ลงวันที่ 22 มกราคม 2559 ที่อ้างว่ากรมราชทัณฑ์ได้กำหนดให้ผู้ต้องขังในเรือนจำ และทัณฑสถานบริโภคข้าวสารได้ไม่เกิน 500 กรัม ต่อคนต่อวันนั้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ต้องขังบริโภคข้าวสารจริง ๆไม่เกิน 350 กรัม ต่อคนต่อวันมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว การที่กรมราชทัณฑ์พยายามเขียนไว้ในคำสั่งของกรมราชทัณฑ์ว่า ผู้ต้องขังบริโภคข้าวสารไม่เกิน 500 กรัมต่อคนต่อวัน เป็นการให้ข้อมูลเพื่อเปิดทางให้กรมราชทัณฑ์มีข้าวเหลือจากการบริโภค 150 กรัมต่อคนต่อวัน ซึ่งเฉลี่ยจะมีข้าวเหลือจากบริโภคประมาณวันละ 45,000 กิโลกรัม หรือกว่า 16,425,000 กิโลกรัม (328,000 กระสอบ) ต่อปี เป็นเงินค่าข้าวสารเหลือปีละกว่า 300 ล้านบาท และในขณะนี้เป็นที่รู้จักกันว่า ข้าวในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลไม่มีแล้วในปี 2560
ฉะนั้นต่อไปกรมราชทัณฑ์จะต้องซื้อข้าวจาก 4 หน่วยงานของรัฐที่ได้รับสิทธิพิเศษอย่างแน่นอน และหน่วยงานดังกล่าวก็ร่วมกันกับกรมราชทัณฑ์และพ่อค้าข้าวหรือตัวแทนค้าข้าว ทำการทุจริตข้าวสาร 150 กรัมต่อหัวต่อคนที่เหลือจากการบริโภค โดยไม่ให้เอกชนทั่วไปได้มีสิทธิ์เข้าไปขายข้าวเช่นเดียวกับการขายอาหารดิบและเครื่องปรุงกับกรมราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นการปิดกั้นและเป็นการทุจริตทำให้รัฐต้องเสียเงินงบประมาณปีละหลายพันล้านบาท จึงขอให้ฯพณฯท่านได้ ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าผู้ต้องขังบริโภคข้าวสารวันละ 350 กรัมต่อหัวต่อคน หรือ 500 กรัมต่อหัวต่อคน เป็นต้น
สุดท้ายนี้ เพื่อความโปร่งใส่และเป็นธรรม พวกข้าพเจ้าในฐานะประชาชนผู้ประกอบการรายย่อย ขอฯพณฯท่านประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วยดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามข้อร้องเรียนดังกล่าว พร้อมทั้งยกเลิกสิทธิพิเศษของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนและประชาชนผู้ประกอบการส่งอาหารทั่วไป ได้มีโอกาสเข้ามาร่วมแข่งขันเสนอราคากับราชทัณฑ์ด้วยวิธีการ e-action หรือ e-bidding ทั้งอาหารดิบและข้าวสารต่อไป
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
หนังสือร้องเรียนได้ชี้ให้เห็นถึงความผิดปกติในกระบวนการจัดซื้ออาหารดิบและการจัดซื้อข้าวสาร (ดูหนังสือประกอบ)
ต้องติดตามกันต่อไปว่ากระทรวงยุติธรรมในระดับนโยบายจะแก้ปัญหาให้เกิดความโปร่งใสอย่างไร หรือไม่? เนื่องจากถูกมองว่าเป็นขุมทรัพย์ของคนบางกลุ่มบางพวกมานานหลายปี?
อ่านประกอบ:
จัดซื้ออาหารดิบ 137 เรือนจำส่อผิดปกติ!ยื่นนายกฯสอบ'ไอ้โม่ง'- ปมข้าวสารด้วย
ต้องทลาย (ความฉ้อฉล?) จัดซื้ออาหาร‘นักโทษ’ 5 พันล.ที่กรมราชทัณฑ์