- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ฉบับเต็ม!ผลสอบสตง. ชำแหละรถคันแรก 'ปู' เงินภาษีเสียหายร้อยล้าน
ฉบับเต็ม!ผลสอบสตง. ชำแหละรถคันแรก 'ปู' เงินภาษีเสียหายร้อยล้าน
"..มีรถยนต์มือสองค้างในสต็อกจำนวนมาก โดยมีเต็นท์รถยนต์มือสองหลายแห่งต้องปิดกิจการ นอกจากนี้ปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ก่อให้เกิดผลกระทบต่อปัญหาการจราจรและปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากผู้ซื้อรถยนต์คันแรกยังไม่มีความรู้ความชำนาญในการขับรถยนต์เพียงพอ.."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นรายงานการตรวจสอบการดำเนินงาน โครงการมาตรการรถยนต์คันแรก กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ฉบับเต็ม ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) รวมถึงกรณีไม่มีการใช้ประโยชน์จากเครื่องอ่านบัตรประจำตัวประชาชน (Smart CardReader) และเครื่องสแกนเนอร์ (Scanner)
------------------
การดำเนินงานโครงการมาตรการรถยนต์คันแรก เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต โดยเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ สร้างความสมดุล และความเข้มแข็งอย่างมีคุณภาพให้ระบบเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2554 วงเงินงบประมาณ 47,375.00 ล้านบาท กำหนดระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ตรวจสอบการดำเนินงานโครงการดังกล่าวของกรมสรรพสามิตกระทรวงการคลัง ตั้งแต่เริ่มโครงการปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 - 2558 เพื่อให้ทราบว่า การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล มีปัญหาอุปสรรคหรือไม่ อย่างไร และเสนอแนวทางการแก้ไข โดยมีข้อตรวจพบที่สำคัญและข้อสังเกต ดังนี้
@ ข้อตรวจพบที่ 1 ผู้ขอใช้สิทธิไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีและแนวทางที่กำหนด และไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด
จากการสุ่มตรวจสอบผู้ขอใช้สิทธิจากโครงการฯ จำนวน 4,340 ราย ของสรรพสามิตพื้นที่/พื้นที่
สาขา จำนวน 7 แห่ง พบว่ามีผู้ขอใช้สิทธิไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีและแนวทางที่กำหนด และไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.1 ยื่นเอกสารหลักฐานไม่ครบภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ตามมติคณะรัฐมนตรีและแนวทางที่กำหนด จำนวน 1,640 ราย คิดเป็นร้อยละ 37.79 ของจำนวนที่สุ่มตรวจสอบ ซึ่งกรมสรรพสามิตได้อนุมัติสิทธิและจ่ายเงินภาษีคืนคิดเป็นจำนวนเงิน 121.79 ล้านบาท
1.2 ยื่นเอกสารโดยไม่มีใบจอง หรือยื่นเพิ่มเติมเกิน 90 วัน ตามที่มติคณะรัฐมนตรีและแนวทางที่
กำหนด จำนวน 2 ราย ซึ่งกรมสรรพสามิตได้อนุมัติสิทธิและจ่ายเงินภาษีจำนวนเงิน 0.18 ล้านบาท
1.3 ผู้ขอใช้สิทธิไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยมีอายุไม่ถึง 21 ปี ทะเบียนบ้านคนละชื่อ
กับผู้ขอใช้สิทธิ รับรถยนต์ไม่ตรงรุ่น/หมายเลขเครื่องยนต์ และใบจองรถยนต์คนละชื่อกับผู้ขอใช้สิทธิ รวมจำนวน 6 ราย ซึ่งกรมสรรพสามิตได้อนุมัติจำนวนเงิน 0.26 ล้านบาทส่งผลให้รัฐจ่ายเงินคืนภาษีไม่ถูกต้องให้กับผู้ขอใช้สิทธิทั้ง 3 กรณีรวม 1,648 ราย คิดเป็นจำนวนเงินภาษี 122.23 ล้านบาท
สาเหตุเนื่องจาก เจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ตรวจรับเอกสารขาดความรอบคอบและความระมัดระวัง และเข้าใจว่าหากผู้ขอใช้สิทธิมายื่นใบจองรถยนต์ เจ้าหน้าที่จะนับระยะเวลาการให้สิทธิ 90 วัน โดยนับถัดจากวันรับมอบรถยนต์ โดยไม่พิจารณาถึงวันที่จดทะเบียนรถยนต์
ข้อเสนอแนะ ให้อธิบดีกรมสรรพสามิตพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. สั่งการให้สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่/พื้นที่สาขาทุกแห่งตรวจสอบเอกสารหลักฐานของผู้ได้สิทธิทั้งหมด หากพบไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีและแนวทางที่กำหนด และไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดให้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะข้อ 2
2. กรณีไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีและแนวทางที่กำหนด และไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดรวมจำนวน 1,648 ราย และที่ตรวจสอบพบเพิ่มเติม ให้ดำเนินการสอบข้อเท็จจริง หากพบเป็นการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการตามควรแก่กรณี แต่หากเป็นการกระทำผิดของผู้ขอใช้สิทธิให้เรียกเงินคืน
ข้อสังเกตที่ 1 การเรียกเงินคืนกรณีจ่ายเงินเกินสิทธิและผิดเงื่อนไขยังดำเนินการได้ล่าช้า
การเรียกเงินคืนกรณีจ่ายเงินเกินสิทธิ พบว่ามีการจ่ายเงินเกินสิทธิให้ผู้ขอใช้สิทธิจำนวน 5,955 รายเป็นเงินจำนวน 3.10 ล้านบาท ปัจจุบันเดือนกันยายน 2558 เป็นเวลา 2 ปี 10 เดือน กรมสรรพสามิตเรียกเงินคืนได้ จำนวน 3,804 ราย คิดเป็นร้อยละ 63.88 ของจำนวนทั้งหมด โดยยังมีเงินรอเรียกคืนจำนวน1.13 ล้านบาท ในส่วนของการเรียกเงินคืนกรณีผิดเงื่อนไข พบว่ามีผู้ขอใช้สิทธิปฏิบัติผิดเงื่อนไข ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 จำนวน 12,073 ราย เป็นจำนวนเงิน 702.55 ล้านบาท โดยผู้ขอใช้สิทธินำเงินส่งคืนแล้ว จำนวน 5,178 ราย จำนวน 256.91 ล้านบาท ไม่ต้องติดตามเรียกเงินคืน (เนื่องจากเสียชีวิตหลังครอบครองรถยนต์ครบ 1 ปี) จำนวน 612 ราย เป็นจำนวนเงิน 40.83 ล้านบาท ดังนั้น คงเหลือต้องติดตามเรียกเงินคืน จำนวน 6,283 ราย เป็นจำนวนเงิน 404.80 ล้านบาท
ทั้งนี้ ผู้ขอใช้สิทธิที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขเมื่อครบกำหนดไม่ได้นำเงินส่งคืนให้กับรัฐ จำนวน 1,239 ราย เป็นจำนวนเงิน 72.79 ล้านบาท ซึ่งกรมสรรพสามิตได้ส่งกรมบัญชีกลางให้ดำเนินการฟ้องแล้วเพียง 399 ราย คิดเป็นร้อยละ 32.20 ของจำนวนผู้ขอใช้สิทธิที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขและยังไม่ชำระเงินคืนให้กับรัฐจำนวน 1,239 ราย เป็นจำนวนเงิน22.82 ล้านบาท
ข้อเสนอแนะ
ให้อธิบดีกรมสรรพสามิตพิจารณาดำเนินการ โดยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบการเรียกเงินคืน กรณี
จ่ายเงินเกินสิทธิและผิดเงื่อนไข เร่งรัดการดำเนินการโดยเร็ว โดยเฉพาะการส่งให้กรมบัญชีกลางดำเนินการฟ้องร้อง
ข้อสังเกตที่ 2 การนำส่งเงินคืนกรณีผิดเงื่อนไขไม่เป็นไปตามระเบียบฯ
จากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายเงินที่สรรพสามิตพื้นที่ที่สุ่มตรวจสอบ พบว่าเจ้าหน้าที่การเงินของสรรพสามิตพื้นที่ขอนแก่น สาขาพล มีการส่งหลักฐานการรับเงินคืนจากผู้ใช้สิทธิเกินระยะเวลาที่กำหนด จำนวน 14 ราย เป็นเงิน 56,002 บาท ซึ่งกรณีดังกล่าว กรมสรรพสามิตได้ดำเนินการลงโทษแล้ว และเจ้าหน้าที่การเงินของสรรพสามิตพื้นที่พิจิตร มีการดำเนินการส่งเงินล่าช้า จำนวน 10 ราย เป็นเงิน 6,470 บาท เช่นเดียวกัน ปัจจุบันกรมสรรพสามิตยังไม่ได้ดำเนินการสอบข้อเท็จจริง
ข้อเสนอแนะ
ให้อธิบดีกรมสรรพสามิตพิจารณาดำเนินการสอบข้อเท็จจริงกรณีสรรพสามิตพื้นที่พิจิตรส่งเงินล่าช้าหากพบการกระทำผิดให้ดำเนินการตามควรแก่กรณีกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
ข้อสังเกตที่ 3 การดำเนินโครงการมาตรการรถยนต์คันแรกส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
จากการตรวจสอบ พบว่า การดำเนินโครงการฯ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งโดยตรงและโดยอ้อม กล่าวคือ ผลกระทบโดยตรง โครงการฯ ดังกล่าวสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้ฟื้นจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา รัฐยังสามารถเก็บภาษีต่อเนื่องได้เพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมต่อเนื่องมีการเติบโตได้ระยะหนึ่งแต่ขาดความยั่งยืน โดยเป็นการดึงอุปสงค์ (Demand) ในอนาคต คือ ความต้องการซื้อล่วงหน้ามาใช้ จึงส่งผลกระทบต่อโครงสร้างการผลิตรถยนต์ ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา ซึ่งในส่วนของกรมสรรพสามิตได้เชิญสภาอุตสาหกรรมเพื่อปรึกษาหารือและให้ข้อมูลเมื่อเริ่มต้นโครงการฯ ต่อมาเมื่อมีการดำเนินโครงการฯ แล้วและมีการขยายการดำเนินโครงการฯ สภาอุตสาหกรรมไม่ได้รับการปรึกษาหารือ จึงทำให้ขาดข้อมูลที่เพียงพอต่อการบริหารอุตสาหกรรมยานยนต์ในขณะนั้น
สำหรับผลกระทบโดยอ้อม จากการที่ยอดการผลิตรถยนต์ลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องเลิกจ้างแรงงานบางส่วน มีการยึดรถขายทอดตลาดจำนวนมาก และยังส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์มือสอง ซึ่งมีรถยนต์มือสองค้างในสต็อกจำนวนมาก โดยมีเต็นท์รถยนต์มือสองหลายแห่งต้องปิดกิจการ นอกจากนี้ปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ก่อให้เกิดผลกระทบต่อปัญหาการจราจรและปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากผู้ซื้อรถยนต์คันแรกยังไม่มีความรู้ความชำนาญในการขับรถยนต์เพียงพอ
ข้อเสนอแนะ
ให้อธิบดีกรมสรรพสามิตพิจารณาดำเนินการ โดยในอนาคตหากมีการดำเนินโครงการฯ ในลักษณะนี้ควรให้ผู้มีส่วนได้เสียทั้งภาครัฐและเอกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานโครงการฯ โดยการปรึกษาหารือและให้รับทราบข้อมูลที่จำเป็น หรืออาจส่งผลกระทบกับผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อจะได้เตรียมตัวและวางแผนงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันหรือลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น
@ ข้อตรวจพบที่ 2 ไม่มีการใช้ประโยชน์จากเครื่องอ่านบัตรประจำตัวประชาชน (Smart CardReader) และเครื่องสแกนเนอร์ (Scanner)
จากการสุ่มตรวจสอบสรรพสามิตพื้นที่/พื้นที่สาขา ทั้ง 7 แห่ง ซึ่งได้รับการจัดสรรเครื่องอ่านบัตรประจำตัวประชาชน (Smart Card Reader) แห่งละ 1 เครื่อง พบว่า ไม่มีการใช้ประโยชน์เครื่องอ่านบัตรประจำตัวประชาชน (Smart Card Reader) คิดเป็นร้อยละ 100.00 ของจำนวนอุปกรณ์ที่สุ่มตรวจสอบและมี สรรพสามิตพื้นที่จำนวน 5 แห่ง ที่ได้รับการจัดสรรเครื่องสแกนเนอร์ (Scanner) แห่งละ 1 เครื่อง(2 แห่งที่สุ่มตรวจสอบเป็นสรรพสามิตพื้นที่สาขา ไม่ได้รับการจัดสรรเครื่องสแกนเนอร์) ไม่มีการใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ คิดเป็นร้อยละ 100.00 ทำให้การใช้จ่ายเงินของรัฐในการจัดซื้อเครื่องอ่านบัตรประจำตัวประชาชน (Smart Card Reader) เป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพคิดเป็นจำนวนเงิน 0.16 ล้านบาท และการจัดสรรเครื่องสแกนเนอร์ (Scanner) ในโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนโครงการฯ ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ โดยไม่สามารถค้นหาเอกสารต่าง ๆ ได้สะดวก
สาเหตุเนื่องจาก เครื่องอ่านบัตรประจำตัวประชาชน (Smart Card Reader) ไม่สามารถอ่านข้อมูลจากบัตรประจำตัวประชาชนไทยของสำนักทะเบียนราษฎร์ กระทรวงมหาดไทยได้ตามคุณลักษณะที่กำหนดจึงทำให้การปฏิบัติงานล่าช้า บางพื้นที่ได้รับเครื่องล่าช้า จำนวนเครื่องไม่สามารถรองรับกับผู้ขอใช้สิทธิที่มีจำนวนมาก และเจ้าหน้าที่สรรพสามิตที่รับผิดชอบไม่ได้ใช้ประโยชน์เครื่องสแกนเนอร์ เพื่อสแกนเอกสารจากผู้ขอใช้สิทธิให้ครบถ้วนตามเงื่อนไขของโครงการฯ เพื่อจัดเก็บหลักฐานตามวัตถุประสงค์
ข้อเสนอแนะ ให้อธิบดีกรมสรรพสามิตพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. สอบข้อเท็จจริงกรณีเครื่องอ่านบัตรประจำตัวประชาชน (Smart Card Reader) ไม่สามารถอ่านข้อมูลจากบัตรประจำตัวประชาชนไทยของสำนักทะเบียนราษฎร์ กระทรวงมหาดไทยได้ตามคุณลักษณะที่กำหนด หากพบการกระทำผิดให้ดำเนินการตามควรแก่กรณีกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
2. สั่งการให้เจ้าหน้าที่สรรพสามิตที่รับผิดชอบใช้เครื่องสแกนเนอร์ (Scanner) เพื่อสแกนเอกสารหลักฐานทั้งหมดของผู้ขอใช้สิทธิ เพื่อบริหารการจัดเก็บข้อมูลตามวัตถุประสงค์