- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- จาก‘Single Gateway’ถึงใส่ ‘อาชีพ-รายได้’บัตร ปชช.บทเรียนตีกลับ รบ.?
จาก‘Single Gateway’ถึงใส่ ‘อาชีพ-รายได้’บัตร ปชช.บทเรียนตีกลับ รบ.?
“…ทั้งสองเรื่องนี้คือ ‘บทเรียน’ ที่สะท้อนให้เห็นถึงการบริหารแผ่นดินของรัฐบาลชุดนี้ ที่ออกนโยบายค่อนข้าง ‘พิสดาร’ และแทบไม่มีประเทศไหนใช้ หรือปัจจุบันหลายประเทศเหล่านั้นไม่ใช้กันแล้ว ดังนั้น ต้องจับตาดูกันต่อไปว่ารัฐบาลจะยัง ‘ดื้อ’ ฝืนออกนโยบายใส่อาชีพ-รายได้ในบัตรประชาชน โดยไม่แยแสกระแสคัดค้านอย่างกว้างขวาง หรือจะ ‘ปัดตก’ ไป เหมือนกับกรณี Single Gateway แล้วก็ทำเหมือนกับว่าไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้นกันแน่…”
ท่ามกลางกระแสข่าวความไม่ชอบมาพากลในการก่อสร้าง ‘อุทยานราชภักดิ์’ กำลังซากระแสลงไป อยู่ระหว่างที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงกลาโหม กำลังสอบอยู่นั้น
ก็มีประเด็นใหม่ ที่ร้อนแรงจนทำให้ทุกองคาพยพในสังคมจับตา-วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างถึงพริกถึงขิง !
นั่นคือกรณีรัฐบาล ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผุดไอเดียให้มีการใส่ ‘รายได้-อาชีพ’ ลงไปในบัตรประชาชน
‘บิ๊กตู่’ ระบุในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2558 ตอนหนึ่งว่า “ในปี 2560 บัตรประชาชนน่าจะมีการระบุอาชีพและรายได้ เพื่อแยกแยะให้ได้ว่ารัฐบาลจะได้ใช้งบประมาณอย่างไรให้เหมาะสม”
จนกระทั่งนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ ‘ทางลบ’ อย่างหนาหู เนื่องจากรัฐบาลมีเหตุผล-ความจำเป็นอะไร ถึงต้องใส่อาชีพและรายได้ลงในบัตรประชาชน
ขณะเดียวกันกรณีนี้อาจเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวด้วยหรือไม่ เพราะปกติแล้วเรื่องของ ‘เงินเดือน’ มักเป็นความลับ แม้แต่เพื่อนฝูงก็ยังไม่ถามไถ่กัน ?
เช้าวันต่อมา พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล กล่าวถึงกรณีนี้ทำนองว่า มาตรการช่วยเหลือประชาชนในส่วนการลดภาระค่าครองชีพยังลงไปไม่ถึงกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง ดังนั้นการทำฐานข้อมูลเหล่านี้ไว้ จะเป็นการแสดงตัวช่วยให้นโยบายลดภาระค่าครองชีพลงไปช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ไม่ใช่เหมารวมทั้งหมดเหมือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมระบบภาษีที่ต้องการให้ทุกคนเข้าสู่ระบบ เพื่อนำเงินมาพัฒนาประเทศ
“ยืนยันว่าการแสดงข้อมูลมีจุดประสงค์ชัดเจนที่จะนำไปช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย ไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และอยากถามผู้ที่ตั้งข้อสังเกตว่า มีวิธีแก้ปัญหาแบบอื่นหรือไม่ อย่าเพียงตั้งข้อสังเกต แต่ต้องมีข้อเสนอแนะด้วย เพื่อไม่ให้ประเทศเกิดความสับสน และขอให้มองเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศด้วย” ‘เสธ.ไก่อู’ ระบุ
ไม่ว่าเหตุผล-ความจำเป็นที่แท้จริงของรัฐบาลต่อกรณีนี้จะเป็นอย่างไร ?
แต่จำกันได้หรือไม่ ก่อนหน้านี้รัฐบาลเคยโดนสังคมวิพากษ์วิจารณ์กันยกใหญ่มาแล้ว กับกรณีปัดฝุ่นนำนโยบาย ‘Single Gateway’ กลับมาใช้อีกครั้ง !
นโยบาย ‘Single Gateway’ อธิบายให้เข้าใจง่ายคือ เป็นเส้นทางการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างเครือข่ายหนึ่งไปอีกเครือข่ายหนึ่ง โดยการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจะถูกรวมอยู่ที่จุด ๆ เดียว ไม่กระจายตัวเหมือนแบบในปัจจุบัน
นอกจากนี้รัฐบาลสามารถตรวจสอบความเคลื่อนไหว และพฤติกรรมของประชาชนในอินเทอร์เน็ตได้ทั้งหมดอีกด้วย !
สำหรับความเคลื่อนไหวแนวคิดนี้ ช่วงปลายเดือน มิ.ย. 2558 พล.อ.ประยุทธ์ มีข้อสั่งการถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกันกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในทางที่ไม่เป็นประโยชน์ และก่อปัญหาต่อพฤติกรรมและคุณภาพในการเรียนรู้ของเด็ก เช่น การติดเกมส์ออนไลน์ การเข้าถึงสื่อที่ไม่เหมาะสม
รวมทั้งให้กระทรวงไอซีทีร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ดำเนินการจัดตั้ง Single Gateway เพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุมเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมและการไหลเข้าของข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต โดยให้ตรวจสอบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หากมีความจำเป็ฯต้องออกกฎหมายเพิ่มเติม ให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วต่อไปด้วย
พร้อมทั้งรายงานให้ พล.อ.ประยุทธ์ ทราบทุกขั้นตอนในการดำเนินการ ซึ่งในข้อสั่งการของ “บิ๊กตู่” ทุกครั้งจะเน้นคำว่า “โดยด่วน” ตลอด
ภายหลังนโยบายนี้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ โดยอ้างเรื่อง ‘ความมั่นคง’ แต่ก็เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น รัฐบาลถูกกระแสตีกลับอย่างรุนแรง โดนวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก เพราะนโยบายนี้อาจเข้าข่ายการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการใช้ Single Gateway ซึ่งเป็นระบบเก่าเมื่อประมาณเกือบยี่สิบปีที่แล้วนั้น จะทำให้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตช้าลงอย่างเห็นได้ชัด
ทำให้รัฐบาลต้อง ‘พับเก็บ’ นโยบายนี้ไว้ก่อน แต่ใครจะไปรู้ว่าอนาคตข้างหน้าอาจมีการปัดฝุ่นมาใช้ใหม่ก็เป็นได้ ?
ทั้งสองเรื่องนี้คือ ‘บทเรียน’ ที่สะท้อนให้เห็นถึงการบริหารแผ่นดินของรัฐบาลชุดนี้ ที่ออกนโยบายค่อนข้าง ‘พิสดาร’ และแทบไม่มีประเทศไหนใช้ หรือปัจจุบันหลายประเทศเหล่านั้นไม่ใช้กันแล้ว
ดังนั้น ต้องจับตาดูกันต่อไปว่ารัฐบาลจะยัง ‘ดื้อ’ ฝืนออกนโยบายใส่อาชีพ-รายได้ในบัตรประชาชน โดยไม่แยแสกระแสคัดค้านอย่างกว้างขวาง
หรือจะ ‘ปัดตก’ ไป เหมือนกับกรณี Single Gateway แล้วก็ทำเหมือนกับว่าไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้นกันแน่ ?
อ่านประกอบ : ปรากฏการณ์ลั่นกลองรบป่วนเว็บไซต์รัฐ “Single Gateway”สำคัญไฉน?
หมายเหตุ : ภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จาก tnews