- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- 1.4 แสนล.! รายได้ 'แม็คโคร' ก่อน ก.ล.ต.สั่งปรับซีอีโอ 'ซีพีออลล์' อินไซเดอร์ซื้อหุ้น
1.4 แสนล.! รายได้ 'แม็คโคร' ก่อน ก.ล.ต.สั่งปรับซีอีโอ 'ซีพีออลล์' อินไซเดอร์ซื้อหุ้น
"..น่าเสียดายที่ดีลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จครั้งนี้ ต้องมา 'แปดเปื้อน' จากการกระทำของผู้บริหารระดับสูงของซีพีกลุ่มหนึ่ง ที่อาศัยข้อมูลภายในเข้าไปซื้อหุ้น สร้างผลประโยชน์ตอบแทนให้กับตนเอง จนถูก ก.ล.ต. ตรวจสอบพบและมีคำสั่งปรับเงินแบบที่เกิดขึ้น ผลงานและชื่อเสียง ที่สะสมกันมายาวนานหลายปี ต้องมาพังทลายใน 'พริบตา'..."
สร้างความตกตะลึงให้กับคนในแวดวงธุรกิจเป็นอย่างมาก!
เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีคำสั่งปรับผู้บริหารระดับสูงในเครือบริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) หลายราย จากกรณีอาศัยข้อมูลภายในซื้อหุ้นบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO ในช่วงปี 2556
สำหรับรายชื่อผู้บริหารระดับสูงในเครือบริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) ที่ถูกสั่งปรับครั้งนี้ ประกอบไปด้วย 1.นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการรบริหารบริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) 2.นายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล รองประธานกรรมการบริหารบริษัทซีพี ออลล์ฯ 3.นายพิทยา เจียรวิสิฐกุล รองประธานกรรมการบริหารบริษัท ซีพี ออลล์ฯ 4.นายอธึก อัศวานันท์ รองประธานกรรมการและหัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มด้านกฎหมาย บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด รวมถึงสั่งปรับ 5.นายสมศักดิ์ เจียรวิสิฐกุล และ 6.น.ส.อารียา อัศวานันท์ ซึ่งให้การช่วยเหลือสนับสนุน เป็นรายละ 333,333 บาท
(อ่านประกอบ : ก.ล.ต.ปรับปธ.ซีพีออลล์-รอง ปธ.ทรูฯ-พวก 4 ราย 33 ล.ใช้ข้อมูลวงในซื้อหุ้นแม็คโคร)
แต่มีข้อมูลอีกชุดหนึ่งที่น่าสนใจ และหลายคนอาจจะยังไม่ทราบ คือ ผลประกอบการทางธุรกิจของบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO หลังถูกซีพีเข้าซื้อหุ้น เติบโตทำรายได้กว่า 1.4 แสนล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ค.พฤษภาคม 2558 บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) นำส่งงบการเงินแสดงผลประกอบธุรกิจล่าสุด ปี 2557 แจ้งว่ามีรายได้รวม 140,992,672,839 บาท
แยกเป็น รายได้จากการขายสินค้า 137,725,576,676 บาท รายได้จากการบริการ 2,559,042,336 บาท รายได้อื่น 708,053,827 บาท
ส่วนรายจ่ายแจ้งว่า มีต้นทุนสินค้าที่ขาย 125,521,474,176 บาท ค่าใช้จ่ายในการขาย 7,403,988,586 บาท ค่าใช้จ่ายในการบริหาร 1,802,049,463 บาท รวมรายจ่าย 134,727,512,225 บาท
กำไรสุทธิ 4,843,242,729 บาท
เมื่อเปรียบเทียบงบการเงินปี 2556 และ 2555 (ก่อนหน้าที่ ซีพีจะเข้าไปซื้อหุ้นในช่วงปี 2556) พบว่า ในปี 2555 บริษัทฯ แจ้งว่า มีรายได้รวม113,787,961,165 บาท กำไรสุทธิ 3,520,931,816 บาท ปี 2556 แจ้งว่า มีรายได้รวม 128,411,891,716 บาท กำไรสุทธิ 4,261,097,855 บาท
ขณะที่งบการเงินที่แจ้งไว้กับ ตลาดหลักทรัพย์ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 แจ้งว่า มีรายได้รวม 115,271.30 ล้านบาท แยกเป็นรายได้จากการขายและหรือการให้บริการ 114,785.87 ล้านบาท รายได้อื่นๆ 485.42 ล้านบาท กำไรสุทธิ3,955 ล้านบาท
ชี้ให้เห็นว่าผลประกอบการของบริษัท บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ส่วนกรรมการผู้มีอำนาจ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบันประกอบไปด้วย นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ นายอำรุง สรรพสิทธิ์วงศ์นายณรงค์ เจียรวนนท์ นายประเสริฐ จารุพนิช นางสุชาดา อิทธิจารุกุล นางเสาวลักษณ์ ถิฐาพันธ์ นายพิทยา เจียรวิสิฐกุล และ นายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล
ปัจจุบันบริษัทฯ มีทุน 2,400,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 3498 ชั้น 2 ถนนลาดพร้าว แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภค ผลิตและจำหน่ายเบเกอรี่ขนมปัง
สำหรับ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ล่าสุดนำส่งงบการเงินแสดงผลประกอบธุรกิจ ปี 2557 แจ้งว่า มีรายได้รวม 228,995,947,120 บาท
แยกเป็นรายได้จากการขายและบริการ 210,775,640,576 บาท ดอกเบี้ยรับ 193,471,289 บาท รายได้เงินปันผลรับ 4,540,678,761 บาท กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา 437,246,917 บาท รายได้อื่น 13,048,909,577 บาท
ส่วนรายจ่าย แจ้งว่า มีต้นทุนขายและบริการ 152,393,558,467 บาท ค่าใช้จ่ายในการขาย 48,139,454,752 บาท ค่าใช้จ่ายในการบริหาร 10,756,171,689 บาท ต้นทุนทางการเงิน 8,355,306,998 บาท รวมรายจ่าย 219,644,491,906 บาท
กำไรสุทธิ 8,677,689,540 บาท
ขณะที่งบการเงินปี 2555 แจ้งว่ามีรายได้รวม 194,695,145,775 บาท กำไรสุทธิ 9,982,004,196 บาท ปี 2556 แจ้งว่า มีรายได้รวม 217,494,924,385 บาท กำไรสุทธิ 10,259,609,203 บาท
ชี้ให้เห็นว่า บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ก็มีการเติบโตทางธุรกิจที่ดีขึ้นเช่นกัน
แต่น่าเสียดายที่ดีลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จครั้งนี้ ต้องมา 'แปดเปื้อน' จากการกระทำของผู้บริหารระดับสูงของซีพีกลุ่มหนึ่ง ที่อาศัยข้อมูลภายในเข้าไปซื้อหุ้น สร้างผลประโยชน์ตอบแทนให้กับตนเอง จนถูก ก.ล.ต. ตรวจสอบพบและมีคำสั่งปรับเงินแบบที่เกิดขึ้น
ผลงานและชื่อเสียง ที่สะสมกันมายาวนานหลายปี ต้องมาพังทลายใน 'พริบตา' จากการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย
และสถานการณ์ปัจจุบัน บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ก็คงต้องทำงานกันอย่างหนัก เพื่อหาทางกู้วิกฤตภาพลักษณ์บริษัทที่เสียหายไปจากกรณีให้กลับคืนมาให้ได้
ส่วนจะถึงขั้นต้องตัด 'เนื้อร้าย' ออกไปหรือไม่ คงต้องจับตาดูกันต่อไป