- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เปิดเอกสารคตร.อ้าง 33 'องค์กร' เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน รับทุนสสส.8ปี 3พันล.
เปิดเอกสารคตร.อ้าง 33 'องค์กร' เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน รับทุนสสส.8ปี 3พันล.
"... คตร. ได้สรุปข้อมูลรายชื่อกรรมการหรือผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อกลั่นกรองทางวิชาการของ สสส.ซึ่งมีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้องกับมูลนิธิหรือองค์กรที่ได้รับเงินอุดหนุนจาก สสส.ตั้งแต่ ปี 2550 -2557 รวมจำนวน 33 แห่ง 139 โครงการ วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 3,005,115,411.30 บาท เพื่อเสนอให้รมว.ยุติธรรมพิจารณาเช่นกัน โดยมุ่งประเด็นไปที่เรื่องการมีผลประโยชน์ทับซ้อน ในเรื่องการขออนุมัติงบประมาณ.."
นอกเหนือจากรายชื่อ 17 โครงการ รวมวงเงิน 109,345,340 บาท ที่คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ(คตร.) กล่าวอ้างว่ามีการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อย่างชัดเจน และนำเสนอให้ 'พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พิจารณาอย่างเป็นทางการ ตามข้อมูลที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำมาเสนอไปแล้ว
(อ่านประกอบ : เปิด 17 โครงการ 109 ล.!คตร.อ้างไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์จัดตั้ง สสส.?)
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า ในขณะเดียวกัน 'คตร.' ได้สรุปข้อมูลรายชื่อกรรมการหรือผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อกลั่นกรองทางวิชาการของ สสส. ซึ่งมีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้องกับมูลนิธิหรือองค์กรที่ได้รับเงินอุดหนุนจาก สสส. ตั้งแต่ปี 2550 - 2557 รวมจำนวน 33 แห่ง 139 โครงการ วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 3,005,115,411.30 บาท เพื่อเสนอให้ รมว.ยุติธรรม พิจารณาเช่นกัน โดยมุ่งประเด็นไปที่เรื่องการมีผลประโยชน์ทับซ้อน ในเรื่องการขออนุมัติงบประมาณ (ดูรายละเอียดในตาราง)
(หมายเหตุ : รายงานบุคคลที่ถูก คตร. ขีดชื่อออกไปในส่วนของมูลนิธิเด็กและเครือข่ายครอบครัว คือ นายโสภณ สุภาพงษ์ ส่วนมูลนิธิหัวใจอาสาและมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธาส อินทปัญโญ คือ คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม)
ขณะที่ นายมานิจ สุขสมจิตร ประธานกรรมการมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า ปัจจุบันตนเองมีตำแหน่งเป็นเพียงแค่ที่ปรึกษา คณะกรรมการ(บอร์ด) สสส. เท่านั้น ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการอนุมัติงบประมาณแต่อย่างใด
"ผมเคยเข้าไปนั่งเป็นบอร์ด สสส. ด้วย เมื่อปี 51-52 แต่หลังจากนั้นมีตำแหน่งเป็นเพียงแค่ที่ปรึกษา ทำหน้าที่ให้คำแนะนำเรื่องที่เขาถาม เช่น กฎหมาย หรือเรื่องทั่วไป ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการอนุมัติงบ ไม่ได้เข้าไปยกมืออะไรด้วยเลย"
เมื่อถามว่า มีคนพยายามมองว่าเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะนั่งเก้าอี้ที่ปรึกษา และเป็นกรรมการมูลนิธิที่ได้รับทุนด้วย นายมานิจ ตอบว่า "ที่ปรึกษาไม่มีสิทธิ์ลงคะแนน ไม่มีสิทธิ์อะไรทั้งนั้น นอกจากนี้เเล้วคนที่ไปทำสัญญาไม่ใช่ผม จะได้รับเรื่องก็ภายหลัง จากที่เขาไปได้สัญญามาแล้ว ซึ่งในกระบวนการตรวจสอบของหน่วยงานราชการ ต้องมีข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้าน ดูว่า ตำแหน่งที่เกี่ยวข้องจริงๆ คืออะไร มีอำนาจผูกพันการอนุมัติหรือไม่ ไม่ควรตีคลุมแบบกว้าง เพราะไม่เช่นนั้น จะทำให้เกิดการเข้าใจผิดขึ้น คนอื่นจะเสียหาย"
เมื่อถามว่า อาจจะมองได้ว่า คุณมานิจ เป็นคนมีชื่อเสียง เป็นที่ปรึกษาด้วย การให้งบก็อาจจะแบบเกรงใจ ก็เลยต้องให้?
นายมานิจ ตอบว่า "ไม่เกี่ยวกับผมเลย ในส่วนมูลนิธิฯ เป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ทำ ทำเสร็จก็มารายงานผม แล้วเวลารายงานก็ไม่ได้มาแยกแยะให้เห็นว่า ให้ที่นี่เท่าไหร่ๆ ไม่ได้มาแยกแยะให้เห็น และทุกครั้งที่มีการประชุม เขาให้เซ็นรับรองว่า ไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องอยู่ด้วยอยู่แล้ว"
เมื่อถามว่า ทำไมต้องมาของบที่ สสส. ทำไมไม่ไปของบที่อื่น นายมานิจ ตอบว่า "ก็เป็นเรื่องของการนำเงินมาพัฒนา เรื่องของสุขภาวะ การพัฒนาสื่อก็เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดสุขภาวะที่ดีแก่สังคมไทยได้ ซึ่งมันตรงตามวัตถุประสงค์ สสส. เมื่อทางฝ่ายสถาบันอิศราไปขอ แล้วมันตรงกับวัตถุประสงค์กับทางนู้น เขาก็ให้มีคนรีวิวโครงการ แล้วเขาก็ให้มา"
"เรื่องจำนวนเงินที่ได้รับทุนก็สำคัญนะ ลองไปเทียบดู ตั้งแต่ปี 2550-2557 เราได้งบมาประมาณ 89 ล้านบาท เฉลี่ยแต่ละปีมันเท่าไร เยอะหรือไม่เยอะ แล้วโครงการที่ทำเป็นสิบๆโครงการ เช่น โครงการที่ไปพัฒนาอาจารย์ โครงการพัฒนาสื่อต่างจังหวัด สื่อที่เข้าใหม่อะไรต่ออะไรต่างๆ เหล่านี้"
เมื่อถามว่า ถูกมองว่าเป็นการผูกขาด ได้ยาว ได้ต่อเนื่อง
นายมานิจ ตอบว่า "ไม่ได้ผูกขาด ขึ้นอยู่กับ สสส. ว่าให้ใคร เราไม่ได้บังคับให้เขาต้องให้งบเรา พิจารณาจากเนื้อหาโครงการเป็นหลัก"
เมื่อถามว่า การขออนุมัติทุนของอิศรา อาจไม่เข้าข่ายเรื่องสุขภาวะ นายมานิจ ระบุว่า "เมื่อสื่อดีแล้ว เสนอข่าวตามหลักวิชาการ เสนอข่าวตามหลักจริยธรรมแล้ว สังคมก็จะได้เสพแต่ข่าวดีๆ ข่าวที่ถูกต้อง ครบถ้วน และรอบด้าน มันเลยทำให้เกิดสุขภาวะที่ดีต่อไป ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ สสส. ขณะเดียวกันเราก็ถูกตรวจสอบ โดย สสส. เอง และผู้ตรวจสอบบัญชีของเราเอง ทางฝ่าย สสส. ก็ส่งคนมาตรวจสอบการใช้จ่ายเงินทุกบาททุกสตางค์อยู่เเล้ว
นายมานิจ ยังระบุด้วยว่า ส่วนการที่รัฐบาลจะเข้ามาตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของ สสส.นั้น ในวันนี้ (26 ต.ค.58) มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ได้มีการจัดประชุม เพื่อแจ้งให้กรรมการรับทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นกัน
"ที่ประชุมได้มีมติเห็นพ้องกันว่าจะต้องมีการตรวจสอบการใช้เงินของ สสส. ขณะเดียวกัน ในส่วนของมูลนิธิและในส่วนของสถาบันอิศรา เราก็ทำตามวัตถุประสงค์ที่ได้ทำไว้กับ สสส. ทุกอย่าง งานที่ทำขึ้นก็เพื่อให้เกิดสุขภาวะที่ดีแก่สังคมไทย และเราก็มีความโปร่งใสพอสมควร ที่ให้มีการตรวจสอบเรา แม้แต่ใบรับเงินใบเดียวก็ต้องตรวจสอบ"
ขณะที่ ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี บอรด์ สสส. ซึ่งถูกระบุชื่อว่า มีความเกี่ยวข้องกับมูลนิธิวิถีสุข และได้รับเงินอุดหนุนโครงการมากที่สุด จำนวน 25 โครงการ วงเงิน 631 ล้านบาท ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า ไม่ทราบว่า ทางหน่วยงานตรวจสอบนำข้อมูลมาจากไหน แต่ในข้อเท็จจริง ตนไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับมูลนิธิวิถีสุข มาตั้งแต่ปี 2550 หลังจากที่มีการตั้งกรรมการใหม่ เมื่อปี 2551
"เข้าใจว่าหน่วยงานตรวจสอบ คงใช้วิธีการดูข้อมูลย้อนหลัง ว่าผมเคยเป็นกรรมการมูลนิธิอะไรมาบ้าง แล้วก็มาดูรายชื่อมูลนิธิที่ได้รับทุน แต่ความจริงผมลาออกจากมูลนิธิวิถีสุขมานานแล้ว ตั้งแต่หมดปี 2550 พอขึ้นปี 2551 ก็ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวอะไรด้วย ซึ่งข้อมูลส่วนนี้ เข้าใจว่าผู้แทนจากสสส. ที่เข้าไปชี้แจงข้อมูลกับ รมว.ไพบูลย์ ในวันที่ 26 ต.ค.นี้ มีอยู่แล้ว"
"ต้องรอดูว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ถ้ารมว.ไพบูลย์ ยังไม่ได้ข้อมูลที่ชัดเจน แล้วจะให้ผมไปชี้แจงเพิ่มเติมก็พร้อมและยินดีเสมอ" ภก.สงกรานต์ ระบุ