- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เปิดแฟ้มคำสั่ง“บิ๊กตู่”ส่องอนาคต คสช.ดูชัด ๆ ลงจากอำนาจเมื่อไหร่?
เปิดแฟ้มคำสั่ง“บิ๊กตู่”ส่องอนาคต คสช.ดูชัด ๆ ลงจากอำนาจเมื่อไหร่?
“…กรอบระยะเวลาดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญจนมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่นั้น ให้เป็นไปตามระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติมบัญญัติไว้ มิใช่เป็นการสืบทอดอำนาจของ คสช. และคณะรัฐมนตรี…”
ภายหลังสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติ “คว่ำ” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ”
ส่งผลให้แม่น้ำ 2 สาย คือ สปช. และคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้อง “เหือดแห้ง” ไปในทันที พร้อม ๆ กับ “เรือแป๊ะ” ที่พยายามจะกรุยทาง “เฟ้นหา” แม่น้ำ 2 สายใหม่ คือ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อให้แล่นไปต่อได้อย่างสะดวกนั้น
พร้อมกับกางสูตร “6-4-6-4” ขอเวลา 20 เดือน ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จนกระทั่งปล่อยให้มีการเลือกตั้ง
คำถามจากสังคมก็พุ่งเป้าไปยัง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทันทีว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการเปิดช่อง “สืบทอดอำนาจ” ตัวเองหรือไม่
และ คสช. จะอยู่บริหารแผ่นดินไปจนถึงเมื่อไหร่ ?
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีข้อสั่งการถึงหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง คสช. อธิบายถึงการทำหน้าที่ของ คสช. ต่อจากนี้ ไว้ 2 ประเด็นหลัก ดังนี้
ประเด็นแรก คสช.-คณะรัฐมนตรี มีเจตนารมณ์จะผลักดันและเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศชาติให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ทัดเทียมกับอารยประเทศ คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นหลัก เป็นต้น
รวมถึงดำเนินการให้มีการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ ของประเทศอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างชัดเจนในห้วงการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล โดยให้ทุกส่วนราชการนำ 37 วาระการปฏิรูป 6 วาระการพัฒนา ของ สปช. มากำหนดแผนปฏิบัติการซึ่งแบ่งช่วงระยะเวลาดำเนินการเป็น 3 ระยะอย่างชัดเจน
ขณะเดียวกัน “บิ๊กตู่” ก็เอ่ยถึงสเป็คร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหมว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต้องเป็นประชาธิปไตยแบบสากล และอำนวยให้เกิดการปฏิรูป
ส่วนแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญและการขับเคลื่อนด้านการปฏิรูปที่จะดำเนินการต่อไป จะต้องสอดคล้องกับแนวทางที่ กมธ.ยกร่างฯ หรือ สปช. ดำเนินการที่ผ่านมา ส่วนกรอบระยะเวลาดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญจนมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่นั้น ให้เป็นไปตามระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติมบัญญัติไว้
“มิใช่เป็นการสืบทอดอำนาจของ คสช. และคณะรัฐมนตรี โดย คสช. และคณะรัฐมนตรีจะทุ่มเทปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างสูงสุด ทั้งนี้กรอบระยะเวลาดังกล่าวจะทำให้เร็วขึ้นได้หากคนในชาติทุกคนร่วมมือกันและไม่มีความขัดแย้งกัน”
ซึ่งข้อสั่งการดังกล่าวนี้ สอดคล้องกับคำพูดของ “เนติบริกร” วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ที่ยืนยันว่า “โร้ดแม็พ” 6-4-6-4 สามารถยืดหยุ่นได้ตามเหตุผลสมควร
ที่น่าสนใจคือ ต่อให้โร้ดแม็พดังกล่าวยืด-หดได้ตามใจชอบ คสช. ก็ตาม แต่ถ้าประเทศยังเกิด “ความขัดแย้ง” อยู่
ยังไงก็ไม่มีการเลือกตั้งอย่างแน่นอน !
ประเด็นที่สอง สิ่งที่ต้องดำเนินการในห้วงระยะเวลาต่อไป ได้แก่ การรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ สร้างกระบวนการปรองดอง โดยกำหนดเป้าหมายหรือแนวทางในการปรองดอง ตลอดจนสร้างกลไกในการขจัดความขัดแย้งที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย รวมถึงบริหารราชการแผ่นดินแบบบูรณาการ นโยบายที่เป็นวาระแห่งชาติให้ดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังเอ่ยถึง “โร้ดแม็พ” คร่าว ๆ ว่า แผนปฏิบัติการของส่วนราชการในช่วงการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลชุดนี้ (พล.อ.ประยุทธ์) แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นในช่วงการบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ ระยะที่ 2 การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลนี้ในปี 2558-2560 และระยะที่ 3 กลางปี 2560 การส่งต่อไปสู่การปฏิรูปและให้มีรัฐบาลต่อไป ต้องมีความชัดเจนและนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง โดยสร้างการรับรู้กับประชาชนเกี่ยวกับแผนปฏิบัติงานดังกล่าวด้วย
ย้ำชัดให้เห็นว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ไปอย่างน้อยที่สุดคือกลางปี 2560 !
ขณะเดียวกันให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเร่งรัดดำเนินการให้ส่วนราชการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
ไฮไลต์ที่ยังน่าสนใจคือ “บิ๊กตู่” สั่งการว่า ให้สร้างความเข้าใจกับองค์กรต่าง ๆ และต่างประเทศเกี่ยวกับการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 คำสั่งหรือประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ว่าเป็นการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของประเทศ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงของชาติเป็นสำคัญ โดยคำสั่งหรือประกาศดังกล่าวทุกคนต้องเคารพและปฏิบัติ
สะท้อนให้เห็นว่า ต่างชาติ ยังคงกดดันการทำงานของ “รัฐนาวาท็อปบู้ต” อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเด็นการใช้มาตรา 44 และคำสั่งหรือประกาศของ คสช. ในการเรียกตัวมาปรับทัศนคติ หรือการโยกย้ายตำแหน่งข้าราชการ ที่หลายองค์กรมองว่า “ละเมิดสิทธิมนุษยชน” อยู่
ทั้งหมดคือข้อสั่งการถึง “อนาคต” ของรัฐบาลชุดนี้ภายใต้การนำของ “บิ๊กตู่” ก่อนที่จะบินไปร่วมประชุมกับสหประชาชาติ
แต่จะทำได้จริงอย่างที่พูดหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด !
หมายเหตุ : ภาพประกอบ พล.อ.ประยุทธ์ จาก newsplus