- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เบื้องหลัง! ปปง.ตีปี๊บอายัดเศษกระดาษ 6.6พันล."ศุภชัย-อดีตพระธรรมกาย"
เบื้องหลัง! ปปง.ตีปี๊บอายัดเศษกระดาษ 6.6พันล."ศุภชัย-อดีตพระธรรมกาย"
"..เพราะในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำธุรกิจของบริษัทกลุ่มนายสถาพร หากมีการนำเงินสด มาใช้ในการเพิ่มทุนจดทะเบียนจริง และหลังการเพิ่มทุนจดทะเบียนก็มีการปล่อยกู้เงินทันทีก็เท่ากับว่ามีการผ่องถ่ายเงินออกไปจากบริษัทหมดแล้ว และตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าเงินไปอยู่ที่ไหนบ้าง เพราะนายสถาพร ยังไม่ยอมเดินทางเข้ามาให้ปากคำเพิ่มเติม สถานะใบหุ้นของบริษัททั้ง 3 แห่ง จำนวน 11 รายการ มูลค่ากว่า 6,670,000,000 บาท ที่ถูก ออกคำสั่งอายัดไว้ ก็มีค่าเป็นเพียงแค่ “เศษกระดาษ” ไม่กี่แผ่นเท่านั้น.."
ไม่ใช่เรื่องที่อยู่เหนือความคาดหมายของใครหลายคน เมื่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ออกคำสั่งอายัดทรัพย์ของ นายศุภชัย ศรีศุภอักษร และพวก ในคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด เพิ่มเติมรวมมูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2558 หลังจากตรวจสอบข้อมูลธุรกรรมทางการเงิน ของนายศุภชัย พบว่า มีความเชื่อมโยงไปถึงบุคคลอีกหลายคน
อย่างไรก็ตาม พิจารณารายละเอียดทรัพย์สินที่ถูกอายัดเพิ่มในรอบนี้ จำนวนกว่า 7,000 ล้านบาท จะพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับบุคคล 2 กลุ่ม คือ
1. กลุ่ม นายสถาพร วัฒนาศิริกุล (อดีตพระธรรมกาย) นางรินนา วัฒนาศิริกุล (แม่) นายกิตติธัช วัฒนาศิริกุล (พี่ชาย)
2. กลุ่มนายวัฒน์ชานนท์ นวอิศรารักษ์ นางสิริกร นวอิศรารักษ์ นางสาวอริสรา นวอิศรารักษ์ นายอภิชาติ ศรีม่วงงาม และนายธวัช ฮ่วนสกุล
โดยรายการทรัพย์สินที่มีคำสั่งอายัดไว้ มีจำนวน 6 รายการ ดังต่อไปนี้
1. หุ้นในบริษัท เอส.ดับเบิล.โฮลดิ้งกรุ๊ป , บริษัท เอส.ดับบลิว.ภูเก็ตกรุ๊ป , บริษัท เอส.ดับบลิว.ลันตากรุ๊ป (ประเทศไทย ) จำนวน 11 รายการ มูลค่าประมาณ 6,600,000,000 ล้านบาท (กลุ่ม นายสถาพร)
2. ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ในพื้นที่จ.ปทุมธานี จำนวน 7 รายการ (อยู่ระหว่างรอการประเมิน)
3. รถยนต์นั่งส่วนบุคคล จำนวน 4 รายการ (อยู่ระหว่างการประเมิน)
4. บัญชีเงินฝากธนาคารจำนวน 18 บัญชี ประมาณ 194,205 บาท
5. หุ้นในบริษัท จีแอลโอดับบลิว ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด จำนวน 3 รายการ มูลค่าประมาณ 500 ล้านบาท (กลุ่มนายวัฒน์ชานนท์)
6. ที่ดินตามโฉนดที่ดิน จำนวน 24 รายการ (อยู่ระหว่างรอการประเมิน)
7. ทองรูปพรรณ พระเครื่อง วัตถุมงคล เครื่องประดับ อาวุธปืน กรมธรรม์ประกันชีวิต บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ จำนวน 125 รายการ (อยู่ระหว่างรอการประเมิน)
เบื้องต้น หากโฟกัสเฉพาะรายละเอียด ใบหุ้น บริษัท เอส.ดับเบิล.โฮลดิ้งกรุ๊ป , บริษัท เอส.ดับบลิว.ภูเก็ตกรุ๊ป , บริษัท เอส.ดับบลิว.ลันตากรุ๊ป (ประเทศไทย ) จำนวน 11 รายการ มูลค่าประมาณ 6,600,000,000 ล้านบาท ซึ่งมีมูลค่ามากที่สุด ตามที่ ปปง.ออกคำสั่งอายัดไว้ จะพบข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้
@ บริษัท เอส.ดับบลิว.โฮลดิ้งกรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด
แยกเป็น 2 ส่วน
1. หุ้นในบริษัท เอส.ดับบลิว.โฮลดิ้งกรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด
รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 2 มกราคม 2556
นายสถาพร วัฒนาศิรินุกุล จำนวน 49,839,998 หุ้น มูลค่า 4,983,999,800 บาท
นางสาวพรพิมล คัทธมารถ จำนวน 100,001 หุ้น มูลค่า 10,000,100 บาท
นางสาววนิดา แซจั่ว จำนวน 10,001 หุ้น มูลค่า มูลค่า 1,000,100 บาท
นางรินนา วัฒนาศิรินุกุล จำนวน 5,550,000 หุ้น 555,000,000 บาท
รวมมูลค่า 5,550,000,000 บาท
2. หุ้นในบริษัท อิมพีเรียล รีซอร์ส ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ที่ บริษัท เอส.ดับบลิว.โฮลดิ้งกรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด เข้าไปถือหุ้นใหญ่สุด ณ วันที่ 16 พ.ค.57 จำนวน 11,000,000 หุ้น มูลค่า 1,100,000,000 บาท
รวมมูลค่าหุ้น 2 บริษัท เท่ากับ 6,650,000,000 บาท
@ บริษัท เอส.ดับบลิว.ภูเก็ต กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด
รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 30 เมษายน 2557
นาย สถาพร วัฒนาศิรินุกุล จำนวน 99,998 มูลค่า 9,999,800 บาท
นางสาว พรพิมล คัทธมารถ จำนวน 1 หุ้น มูลค่า 100 บาท
นาง รินนา วัฒนาศิรินุกุล จำนวน 1 มูลค่า 100 บาท
รวมมูลค่า 10,000,000 บาท
@ บริษัท เอส.ดับบลิว.ลันตากรุ๊ป (ประเทศไทย)
รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 30 เมษายน 2557
นาย สถาพร วัฒนาศิรินุกุล จำนวน 99,998 มูลค่า 9,999,800 บาท
นางสาว พรพิมล คัทธมารถ จำนวน 1 หุ้น มูลค่า 100 บาท
นาง รินนา วัฒนาศิรินุกุล จำนวน 1 มูลค่า 100 บาท
รวมมูลค่า 10,000,000 บาท
รวมรายการหุ้นทั้งหมด 11 รายการ มูลค่า 6,670,000,000 บาท
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลของสำนักข่าวอิศรา พบว่า บริษัท เอส.ดับเบิล.โฮลดิ้งกรุ๊ป , บริษัท เอส.ดับบลิว.ภูเก็ตกรุ๊ป , บริษัท เอส.ดับบลิว.ลันตากรุ๊ป (ประเทศไทย ) มีลักษณะการดำเนินธุรกิจที่เหมือนกัน คือ ภายหลังจากที่มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัท (กลุ่มนายสถาพร) เสร็จเรียบร้อย ก็จะมีการปล่อยกู้เงินจำนวนใกล้เคียงกับทุนจดทะเบียนบริษัท ให้กรรมการ ยืมต่อ ดังนี้
- บริษัท เอส.ดับบลิว.โฮลดิ้งกรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด มีทุนจดทะเบียน 5,550 ล้านบาท ปล่อยเงินให้กรรมการกู้ยืมระยะสั้น 5,192,700,000 บาท
- บริษัท อิมพีเรียล รีซอร์ส ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด มีทุนจดทะเบียน 4,320,000,000 บาท ปล่อยเงินให้กรรมการกู้ยืมระยะยาว 4,319,975,000 บาท
- บริษัท เอส.ดับบลิว.ภูเก็ต กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด มีทุนจดทะเบียน 10,000,000 บาท มีเงินให้กู้ยืมระยะสั้นแก่กรรมการ 9,600,000 บาท
- บริษัท เอส.ดับบลิว. ลันตา กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด มีทุนจดทะเบียน 10,000,000 บาท มีเงินให้กู้ยืมระยะสั้นแก่กรรมการ 9,600,000 บาท
รวมวงเงินปล่อยกู้ยืมกรรมการ ทั้งสิ้น 9,531,875,000 บาท มากกว่ามูลค่าใบหุ้นที่ ปปง.ออกคำสั่งอายัดไว้ เกือบเท่าตัว (ดูตารางประกอบ)
บริษัท | ทุนจดทะเบียน | ปล่อยกู้กรรมการ |
บริษัท เอส.ดับบลิว.โฮลดิ้งกรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด | 5,550 ล้านบาท | 5,192,700,000 บาท |
บริษัท อิมพีเรียล รีซอร์ส ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด | 4,320 ล้านบาท | 4,319,975,000 บาท |
บริษัท เอส.ดับบลิว.ภูเก็ต กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด | 10,000,000 บาท | 9,600,000 บาท |
บริษัท เอส.ดับบลิว. ลันตา กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด | 10,000,000 บาท | 9,600,000 บาท |
จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ 2 ประการ คือ
หนึ่ง ก่อนหน้าที่จะออกคำสั่งอายัดใบหุ้นบริษัททั้ง 11 รายการ มูลค่ากว่า 6,670,000,000 บาท ดังกล่าว ปปง.ได้เข้าไปตรวจสอบธุรกรรมการเงิน ในการประกอบธุรกิจของบริษัทกลุ่มนี้แล้วหรือไม่
โดยเฉพาะประเด็นการปล่อยกู้ยืมเงินให้กับกรรมการ ซึ่งวงเงินใกล้เคียงกับทุนจดทะเบียน หลังจากที่มีการแจ้งเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทของกลุ่มนายสถาพร
ขณะที่มีกระแสข่าวดังออกมาว่า กระบวนการสอบสวนคดีนี้ ของ ปปง. เริ่มมีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน กับผู้มีอำนาจในหน่วยงาน ที่ไม่ต้องการให้ ปปง.ทุ่มกำลังเข้าไปตรวจสอบคดีนี้เต็มที่มากนัก เพราะได้รับการร้องขอจากฝ่ายการเมืองบางกลุ่ม
2. ในการเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทกลุ่มนี้ ซึ่งมีวงเงินเป็นหลักพันล้านบาท และมีการแสดงหลักฐานเป็น “ใบสำคัญการรับเงิน” ของบริษัท ระบุว่าได้รับ "เงินสด" จากกรรมการและผู้ถือหุ้น
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแล การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในประเทศโดยตรง เคยมีการเข้าไปตรวจสอบข้อมูลความถูกต้องของผู้ประกอบการที่แจ้งข้อมูลเข้ามาให้รับทราบหรือไม่ว่าเป็นข้อมูลจริงหรือ ข้อมูลเท็จ มีเงินจริงหรือมีแค่ตัวเลข เพราะการรับผิดชอบหน้าที่สำคัญเช่นนี้ วันๆ จะมานั่งดูแค่เอกสารอย่างเดียว ผู้ประกอบการว่าอย่างไรก็ว่าตามนั้นคงไม่พอ
เพราะในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำธุรกิจของบริษัทกลุ่มนายสถาพร หากมีการนำเงินสด มาใช้ในการเพิ่มทุนจดทะเบียนจริง และหลังการเพิ่มทุนจดทะเบียนก็มีการปล่อยกู้เงินทันที
ก็เท่ากับว่ามีการผ่องถ่ายเงินออกไปจากบริษัทหมดแล้ว และตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าเงินไปอยู่ที่ไหนบ้าง เนื่องจากนายสถาพร ยังไม่ยอมเดินทางเข้ามาให้ปากคำเพิ่มเติม
สถานะใบหุ้นของบริษัททั้ง 3 แห่ง จำนวน 11 รายการ มูลค่ากว่า 6,670,000,000 บาท ที่ถูก ออกคำสั่งอายัดไว้ ก็มีค่าเป็นเพียงแค่ “เศษกระดาษ” ไม่กี่แผ่นเท่านั้น
และเปิดโอกาสให้ "คนบางกลุ่ม-บางคน" ที่ติดนิสัย "นักการเมือง" ฉวยโอกาสนำข้อมูลนี้มาใช้ประโยชน์ "ตีปี๊บ" สร้างผลงานกู้ภาพลักษณ์กับเจ้านาย และหลอกให้ความหวังชาวบ้านไปวันๆ หนึ่ง
ทั้งที่ "รู้อยู่แก่ใจ" ดีอยู่แล้ว ว่าอะไรเป็นอะไร แบบที่เห็นและเป็นอยู่ในขณะนี้!
#เชิญชวนติดตามข่าวสารสำนักข่าวอิศรา ได้ด้วยการกด "Like" ที่ แฟนเพจ "I love isranews"
อ่านประกอบ
1.64 หมื่นล้าน! ขุมธุรกิจ "อดีตพระธรรมกาย" ขนเงินลงทุน7บริษัท
ชะตากรรม "พ่อ-แม่-พี่" อดีตพระธรรมกาย ในวันโดนสอบทรัพย์สิน "ยกครัว"
เจาะคำสั่งอายัดทรัพย์ "ศุภชัย-พวก" 4.4พันล. เหลือ "ธรรมกาย" ตามคืนไม่ได้