- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- คำชี้แจงพิสดาร“ณฐกมล”ที่มาของเงิน 68.1 ล้าน “บิ๊กจิ๋ว”หิ้วให้ปีละ 10 ล้าน
คำชี้แจงพิสดาร“ณฐกมล”ที่มาของเงิน 68.1 ล้าน “บิ๊กจิ๋ว”หิ้วให้ปีละ 10 ล้าน
ดูชัดๆคำชี้แจงพิสดาร!“ณัฐกมล”ลูกสาวคนสนิท พล.อ.ชวลิต ที่มาของเงิน 68.1 ล้าน อดีตนายกฯให้ผ่านพ่อปี 45-48 ครั้งละ 10 ล้าน ทยอยฝากเข้าบัญชีครั้งละ 1 ล้าน 5 บัญชี ขายบ้านให้ลูกสาว“บิ๊กจิ๋ว”16 ล้านรับเงินสด แต่โอนลอย แถมแจ้งบัญชีฯเป็นของตัวเอง อีก 12 ล้านรับกับมือ“พ่อใหญ่”เป็นส่วนตัว
ในคดีที่ น.ส.ณฐกมล นนทะโชติ (หรือนฤมล หรือณฐกมล หรืออินทร์ริตา นนทะโชติ หรือนนทะวัชรศิริโชติ) อดีตข้าราชการประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายึดทรัพย์สิน 68.1 ล้านบาทในข้อหาร่ำรวยผิดปกตินั้น (อ่านประกอบ : ศาลฎีกาฯยึดทรัพย์"ลูกสาว" พลเอกคนสนิท“บิ๊กจิ๋ว” 68 ล.รวยผิดปกติ) ปรากฏชื่อพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคความหวังใหม่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เนื่องจาก
1.น.ส.ณฐกมลอ้างว่าเงินดังกล่าว พล.อ.ชวลิตเป็นผู้มอบให้ผ่าน พล.อ.สัมฤทธิ์ นนทะโชติ บิดา จำนวน 40 ล้านบาท ระหว่างปี 2545-2548 ปีละ 10 ล้านบาท
2.เงินจากการขายบ้าน 2 หลังในย่านปากเกร็ด จ.นนทบุรี 16 ล้านบาทให้แก่ พ.ต.ต.หญิง ศรีสุภางค์ โสมกุล บุตรสาว พล.อ.ชวลิต เมื่อเดือน พ.ค.2547
และ 3. เงินที่พล.อ.ชวลิตมอบให้โดยตรงเป็นเงินสดในฐานะเป็นสมาชิกกลุ่มต้นกล้าของพรรคความหวังใหม่ ระหว่างปี 2547-2548 จำนวน 12,104,000 บาท
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำคำชี้แจงของน.ส.ณฐกมล (ผู้ถูกกล่าวหา) และคำวินิจฉัยของศาลฎีกาฯต่อคำชี้แจงของ น.ส.ณฐกมล มาเสนออย่างละเอียดดังนี้
กรณีเงินที่เพิ่มขึ้นจำนวน 40,000,000 บาท
ผู้ถูกกล่าวหากล่าวอ้างโต้แย้งว่า เป็นเงินของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งพลเอก สัมฤทธิ์ นนทะโชต นำมาให้ผู้ถูกกล่าวหาดูแลรักษาไว้ โดยมอบให้เมื่อปลายปี 2545 จํานวน 10,000,000 บาท ต้นปี 2546 ปี 2547 และปี 2548 ปีละ 10,000,000 บาท ในการรับมอบเงินครั้งแรกในปี 2545 ผู้ถูกกล่าวหาเข้าใจว่าเป็นของบิดา จึงเก็บรักษาไว้กับตัวเอง ต่อมาเมื่อได้รับเงินอีกเป็นครั้งที่สองในปี 2546 ทราบว่าเป็นเงินของ พลเอกชวลิต ให้เก็บรักษาไว้เพื่อที่จะใช้ในการดำเนินงานตามโครงการต่าง ๆ จึงทยอยนำไปฝากธนาคาร ครั้งละ 1,000,000 บาทเศษ โดยนำฝากเข้าบัญชีธนาคารยูโอบี สาขาเมืองทองธานี 3 บัญชี เลขที่บัญชี 938 – 001 – 107 -3 เลขที่บัญชี 938 – 102 – 870 - 0 และเลขที่ 238 – 3 – 01183 -6 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาโชคชัย4 ลาดพร้าว 2 บัญชี เลขที่บัญชี 230 – 2 – 05369 – 5 และเลขที่บัญชี 230 – 0 – 62394 – 5 ไม่เคยถอนเงินดังกล่าวออกมาใช้ จนกระทั่งเดือนสิงหาคม 2552 เริ่มทยอยถอนเงินครั้งละ 1,000,000 บาทเศษ คืนให้แก่พลเอก ชวลิต จนครบจำนวนแล้ว โดยมีพลเอกสัมฤทธิ์ และพลเอกชวลิต เป็นพยานชี้แจงข้อเท็จจริงในชั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. และเบิกความต่อศาลในทำนองเดียวกัน
โดยพลเอก สัมฤทธิ์ เบิกความยืนยันว่าได้รับมอบเงินจากพลเอกชวลิต ครั้งแรกเมื่อปี 2536 จำนวน 15,000,000 บาท เพื่อใช้จ่ายเกี่ยวกับโครงการ มีการใช้เงินไป 1,000,000 บาทเศษ ครั้งที่ 2 เป็นเงินส่วนตัวของพลเอก ชวลิต นำมาฝากไว้เมื่อปี 2538 จำนวน 27,000,000 บาท ต่อมาปลายปี 2545 พยานมอบเงินให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาเก็บรักษาไว้ โดยได้รับอนุญาตจากพลเอกชวลิต แล้ว พลเอกชวลิต เบิกความยืนยันว่าเงินจำนวน 40,000,000 บาท เป็นของตนเองที่ได้มอบให้พลเอก สัมฤทธิ์ เก็บรักษาไว้ และภายหลังให้ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้เก็บรักษาไว้แทน ผู้ถูกกล่าวหาได้ทยอยคืนเงินจํานวนดังกล่าวให้แก่พยานตั้งแต่ปี 2552 จนครบถ้วนแล้วในปี 2555
เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน ที่มีอยู่จริงในวันที่เข้ารับตําแหน่ง วันที่พ้นจากตำแหน่งและในวันที่ครบหนึ่งปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง เพื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินตามที่ได้ยื่นแสดงไว้ การจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ มีผลให้ผู้ยื่นต้องพ้นจากตำแหน่ง และห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นเวลาห้าปี นอกจากนี้ยังเป็นความผิดมีโทษทางอาญาจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 32 มาตรา 34 มาตรา 35 และมาตรา 119 ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นผู้ดํารงตําแหน่ง ทางการเมืองย่อมต้องทราบและเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดีว่า การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองเป็นเรื่องสําคัญที่ต้องกระทําด้วยความระมัดระวังรอบคอบ ข้อมูลที่เสนอ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับทรัพย์สินและหนี้สินต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ซึ่งในการยื่นบัญชี แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ถูกกล่าวหาในกรณีพ้นจากตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2548 ยื่นเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2548 ผู้ถูกกล่าวหาได้แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินว่ามีเงินในบัญชีเงินฝาก 59,062,247 บาท เงินลงทุน ที่เป็นหลักทรัพย์รัฐบาลและที่รัฐบาลค้ำประกันรวมมูลค่า 16,000,000 บาท โดยมีการรับรองว่า รายการทรัพย์สินและหนี้สินที่แสดงถูกต้องพร้อมกับลงลายมือชื่อไว้
ต่อมาเมื่อผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตําแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2549 ได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอีกครั้งเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2549 ผู้ถูกกล่าวหาได้แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่เป็นของผู้ถูกกล่าวหาว่ามีเงินในบัญชีเงินฝาก 60,586,514 บาท เงินลงทุนที่เป็นหลักทรัพย์รัฐบาลและที่รัฐบาลค้ำประกันรวมมูลค่า 16,000,000 บาท ที่เป็นหลักทรัพย์และเงินลงทุนอื่น (กองทุนรวมบัวหลวงธนรัฐ 5/49) 20,000,000 บาท โดยมีการรับรองว่ารายการทรัพย์สินและหนี้สินที่แสดงไว้ถูกต้องพร้อมกับลงลายมือชื่อไว้ พร้อมกับแนบสําเนารายการเคลื่อนไหวทางบัญชีของผู้ถูกกล่าวหา แต่ละบัญชีที่แสดงไว้ตลอดจนหลักฐานการถือครองพันธบัตรและเงินลงทุนเป็นหลักฐานประกอบการยื่นทุกครั้ง
ครั้นต่อมาเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สิน และความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งพบว่า ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาในส่วนที่เป็นเงินฝากและเงินลงทุนมีการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสําคัญ จึงมีหนังสือให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงเกี่ยวกับที่มาของทรัพย์สินดังกล่าว
ผู้ถูกกล่าวหามีหนังสือชี้แจงลงวันที่ 10 เมษายน 2551 ยืนยันว่าเงิน 40,000,000 บาท เป็นของตนเองที่ได้รับให้จากครอบครัวในช่วงปี 2546 ถึงปี 2548 ทั้งยังได้แนบเอกสารซึ่งลงนาม โดยพลเอก สมฤทธิ์ บิดาของผู้ถูกกล่าวหายืนยันว่าได้มอบเงิน 40,000,000 บาท ให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา เพื่อให้ช่วยดูแลน้องๆ หลังจากนั้นต่อมาเมื่อมีการตั้งคณะอนุกรรมการ
ตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินกรณีมีเหตุสงสัยว่า ผู้ถูกกล่าวหาเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ และคณะอนุกรรมการได้เชิญผู้ถูกกล่าวหาไปให้ถ้อยคําเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2549 ผู้ถูกกล่าวหาจึงได้ชี้แจงว่า เป็นเงินของพลเอก ชวลิต ที่ได้ฝากให้พลเอก สัมฤทธิ์ เป็นผู้ดูแลรักษาไว้เพื่อที่จะใช้ในการดำเนินงานด้านการพัฒนาชนบท และพลเอก สัมฤทธิ์ นำมามอบให้ ผู้ถูกกล่าวหาดูแลรักษาไว้แทนโดยมอบให้ปีละ 10,000,000 บาท ตั้งแต่ปี 2549 ถึงปี 2548 ผู้ถูกกล่าวหาเพิ่งทราบว่าเป็นเงินของพลเอก ชวลิต เมื่อพลเอก สัมฤทธิ์ นำเงินมามอบให้ครั้งที่ 2 ในปี 2546 จึงได้ทยอยนำไปฝากไว้ที่ธนาคารครั้งละ 1,000,000 บาทเศษ
โดยที่ผู้ถูกกล่าวหามิได้อธิบายว่า เหตุใดในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินตลอดจนการชี้แจงข้อเท็จจริงที่ผ่านมาผู้ถูกกล่าวหา จึงได้ยืนยันตลอดมาว่าเป็นเงินของตนเอง โดยเฉพาะการทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามหนังสือลงวันที่ 10 เมษายน 2551 ที่ผู้ถูกกล่าวหายืนยันว่า เงิน 40,000,000 บาท เป็นของตนเองที่ได้รับจากครอบครัว ก็เป็นเวลาภายหลังจากที่ผู้ถูกกล่าวหาได้ทราบแล้วว่าเงิน 40,000,000 บาท เป็นของพลเอก ชวลิต ข้ออ้างของพยานที่ว่าอาจจะสับสน เอกสารอาจมีความผิดพลาดนั้น เมื่อพิจารณาจากประวัติของผู้ถูกกล่าวหาที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากต่างประเทศ ผ่านการทำงานในตำแหน่งที่สำคัญ เป็นสมาชิกพรรคการเมือง เป็นหัวหน้ากลุ่มต้นกล้าในพรรค และได้รับแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการการเมืองตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ไม่น่าเชื่อว่า จะสับสนในเรื่องดังกล่าวเพราะไม่มีความซับซ้อนแต่อย่างใด นอกจากนี้ในการนำเงินจํานวน 40,000,000 บาท ทยอยฝากไว้ในบัญชีธนาคารของผู้ถูกกล่าวหา 5 บัญชี
เมื่อมีการสอบถามถึงเงิน แต่ละรายการในบัญชีดังกล่าว ผู้ถูกกล่าวหาไม่สามารถอธิบายได้ว่า เงินส่วนใดเป็นของพลเอก ชวลิต ทั้งยังให้การว่าเงินในบัญชีทั้งหาบัญชีดังกล่าวมีทั้งที่เป็นเงินส่วนตัวของผู้ถูกกล่าวหาและมีการเบิกไปใช้จ่าย เป็นค่าเบี้ยประกันชีวิต และซื้อกองทุนบัวหลวงธนรัฐ 5/49 การที่ผู้ถูกกล่าวหานําเงินที่อ้างว่า พลเอกชวลิต ฝากให้เก็บรักษาไว้ไปปะปนรวมกับเงินส่วนตัวและไม่อาจแยกแยะได้ว่าเงินส่วนใด เป็นเงินที่ได้รับฝากไว้ ทั้งมีการนำไปใช้จ่ายส่วนตัว ย่อมเป็นการผิดปกติวิสัยของการเก็บรักษาเงินที่ผู้อื่นให้เก็บรักษาไว้และมีจำนวนมากถึง 40,000,000 บาท
สำหรับด้านที่มาของเงินแม้จะมีพลเอก สมฤทธิ์ มาเบิกความยืนยันว่า ได้เงินมาจากพลเอก ชวลิต ครั้งแรก 15,000,000 บาท เพื่อใช้ในโครงการ ครั้งที่สองเป็นเงินส่วนตัวของพลเอก ชวลิต ฝากไว้ 27,000,000 บาท
และพลเอก ชวลิต มาเบิกความ ยืนยันว่า เงินดังกล่าวเป็นของตนซึ่งได้ฝากไว้และได้รับคืนหมดแล้วก็ตาม แต่เป็นเพียงคํากล่าวอ้าง ซึ่งปราศจากพยานหลักฐานอันใดๆ สนับสนุน ที่อาจบ่งชี้ให้เห็นได้ว่าเป็นจริงดังที่ให้การไว้ ไม่ว่าในเรื่อง การมอบเงินให้หรือการได้รับเงินคืน ทั้งยังมีข้อความขัดแย้งกับที่พลเอก สัมฤทธิ์ เคยทําหนังสือชี้แจ้งต่อ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับเงิน 40,000,000 บาท ว่าได้มอบให้ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นบุตรสาวคนโต เพื่อให้ช่วยดูแลน้องสาวอีกสองคน
ส่วนที่อ้างเหตุของการไม่มีหลักฐานว่าเป็นความไว้วางใจก็ดี การมีตําแหน่งทางการทหารก็ดี หรือการดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ดี ล้วนเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้นทั้งสิ้น เมื่อได้พิจารณาจากพยานหลักฐานต่างๆ ที่ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงในชั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตลอดจนพยานหลักฐานในชั้นไต่สวนของศาลแล้ว เห็นว่า เป็นเพียงข้อกล่าวอ้างที่เลื่อนลอยปราศจาก พยานหลักฐานใดๆ สนับสนุน ทั้งมีข้อพิรุธขัดแย้งหลายประการดังวินิจฉัยไปแล้วข้างต้น องค์คณะผู้พิพากษา จึงมีมติด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ว่า พยานหลักฐานของผู้ถูกกล่าวหายังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ตามที่กล่าวอ้าง
กรณีเงินที่เพิ่มขึ้นจำนวน 16,000,000 บาท
ผู้ถูกกล่าวหากล่าวอ้างโต้แย้งว่าเป็นเงินที่ผู้ถูกกล่าวหาได้มาจากการขายทาวน์เฮาส์ 2 หลัง เลขที่ 35/150 – 151 ปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ 20470 และ 20471 ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เนื้อที่ 37 เศษ 6 ส่วน 10 ตารางวา และ 24 เศษ 4 ส่วน 10 ตารางวา ตามลําดับ ให้แก่พันตํารวจตรีหญิง ศรีสุภางค์ โสมกุล เมื่อเดือนพฤษภาคม 2547 ในราคา 16,000,000 บาท โดยมีพันตํารวจตรีหญิง ศรีสุภางค์ เป็นพยานชี้แจงข้อเท็จจริงนี้ไว้ในชั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. และมาเป็นพยานเบิกความต่อศาล ยืนยันทำนองเดียวกันว่า เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2547 ผู้ถูกกล่าวหาขายทาวน์เฮาส์ 2 หลัง ในหมู่บ้านยิ่งรวยนิเวศน์ พร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 20470 และ 20471 ให้แก่พันตํารวจตรีหญิง ศรีสุภางค์ ในราคา 16,000,000 บาท แต่ชำระเงินจริงเพียง 15,600,000 บาท เนื่องจากได้หักค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ครั้งแรกที่ได้ชำระไปในปี 2545 ออก โดยยังไม่มีการจดทะเบียนโอนให้แก่กัน เนื่องจากพันตํารวจตรีหญิง ศรีสุภางค์ ต้องการขายต่อ มีข้อตกลงกันว่าให้ผู้ถูกกล่าวหาโอนลอยไว้ โดยทําหนังสือมอบอํานาจให้พันตํารวจตรีหญิง ศรีสุภางค์ มีอำนาจจดการโอนขายทาวน์เฮาส์พร้อมที่ดินดังกล่าว สําหรับเงิน 15,600,000 บาท ผู้ถูกกล่าวหาทยอยนำเงินเข้าฝากธนาคารจำนวน 5 บัญชี ซึ่งเป็นบัญชีเดียวกับที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่านําเงิน 40,000,000 บาท เข้าฝาก โดยนำเงินเข้าฝากครั้งละ 1,000,000 บาทเศษ เห็นว่า เกี่ยวกับทาวน์เฮาส์ 2 หลัง ซึ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ 20470 และ 20471 นั้น
ปรากฏหลักฐานทางทะเบียนที่ดินว่า เดิมพันตํารวจตรีหญิง ศรีสุภางค์ ซื้อมาจาก บริษัทยิ่งรวยเรียลเอสเตท จำกัด โดยจดทะเบียนซื้อขายในราคา 4,000,000 บาท ตามหนังสือสัญญาขายที่ดิน ลงวันที่ 7 เมษายน 2542 ต่อมาพันตำรวจตรีหญิง ศรีสุภางค์ จดทะเบียนโอนขายให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาในราคา 4,000,000 บาท ตามหนังสือสัญญาขายที่ดิน ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2545 หลังจากนั้น ผู้ถูกกล่าวหาจดทะเบียนโอนขายคืนให้แก่พันตํารวจตรีหญิง ศรีสุภางค์ ในราคา 15,600,000 บาท ตามหนังสือสัญญาขายที่ดินรวมสองโฉนด ลงวันที่ 11สิงหาคม 2554 และพันตำรวจตรีหญิง ศรีสุภางค์ จดทะเบียนโอนขายต่อให้แก่บริษัทคอสโม ดีเวลลอปเม้นท์ (ไทยแลนด์) จำกัด ในราคา 10,000,000 บาท ตามหนังสือสัญญาขายที่ดินรวมสองโฉนด ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2554
การที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่า ผู้ถูกกล่าวหาขายทาวน์เฮาส์ 2 หลัง พร้อมที่ดินคืนให้แก่พันตำรวจตรีหญิง ศรีสุภางค์ ตั้งแต่ประมาณ เดือนพฤษภาคม 2547 และมีการชำระเงินให้แก่กันในเวลานั้นแล้วด้วยเงินสด ซึ่งแตกต่างจากสัญญา จะซื้อจะขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและการจดทะเบียนโอนที่ดินซึ่งกระทําในปี 2554 นั้น ผู้ถูกกล่าวหา คงมีเพียงตัวผู้ถูกกล่าวหาและพันตํารวจตรีหญิง ศรีสุภางค์ ที่เบิกความยืนยันในเรื่องดังกล่าว โดยมีหลักฐานประกอบข้อกล่าวอ้างคือหนังสือมอบอำนาจฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2547 ที่มีข้อความเพียงว่าผู้ถูกกล่าวหามอบให้พันตำรวจตีหญิง ศรีสุภางค์ เป็นผู้มีอำนาจจัดการขายทาวน์เฮาส์ 2 หลัง พร้อมที่ดิน เท่านั้น ทั้งที่การซื้อขายตามที่กล่าวอ้าง มีราคาซื้อขายกันสูงถึง 16,000,000 บาท แต่กลับชำระราคากันด้วยเงินสดและไม่มีการทำหนังสือสัญญาใด ๆ ที่มีข้อความแสดงให้เห็นว่ามีการซื้อขายทาวน์เฮาส์ 2 หลัง พร้อมที่ดินกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
แม้ผู้ถูกกล่าวหาจะอ้างว่า เป็นเรื่องความไว้วางใจต่อกันเนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาทำงานในพรรคความหวังใหม่ซึ่งพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคเป็นบิดาของพันตำรวจตรีหญิง ศรีสุภางค์ ก็ตาม แต่อย่างน้อยในการชําระเงินให้แก่กันด้วยเงินสด ก็ควรที่จะต้องมีเอกสารการรับเงิน การจ่ายเงินไว้เป็นหลักฐาน พันตำรวจตรีหญิง ศรีสุภางค์ เองได้ให้การไว้ในชั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่ามีอาชีพซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ จึงย่อมต้องทราบเป็นอย่างดีว่า ลําพังใบมอบอํานาจที่มีข้อความเพียงการมอบอํานาจให้ไปจัดการขายทรัพย์สิน ไม่มีข้อความใดที่แสดงว่า ได้มีการซื้อขายและชําระราคาให้แก่กันแล้ว ซึ่งการขาดหลักฐานที่สําคัญเช่นนี้อาจเป็นปัญหาพิพาทกันในอนาคตได้ อันเป็นการผิดปกติวิสัยของการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาซื้อขายตามที่อ้างสูงถึง 16,000,000 บาท โดยเฉพาะสําหรับผู้มีอาชีพซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องทําด้วยความรอบคอบเพื่อป้องกันปัญหาตามมาในภายหลัง นอกจากนี้พันตํารวจตรีหญิง ศรีสุภางค์ อ้างว่าจะนำทาวน์เฮาส์พร้อมที่ดินไปขายต่อ แต่กลับปรากฏว่า ยังยึดถือโฉนดที่ดินซึ่งเคลือบพลาสติกและปล่อยระยะเวลาล่วงเลยไปนานหลายปีโดยไม่ได้ให้ผู้ถูกกล่าวหา ไปดำเนินการออกใบแทนโฉนดที่ดินเพื่อเตรียมไว้สําหรับการขายต่อ ทําให้ข้อกล่าวอ้างของผู้ถูกกล่าวหา
ที่ว่าขายทาวน์เฮาส์พร้อมโฉนดที่ดินให้แก่พันตํารวจตรีหญิง ศรีสุภางค์ ในเดือนพฤษภาคม 2547 มีพิรุธไม่น่าเชื่อถือ
สำหรับด้านผู้ถูกกล่าวหาที่อ้างว่าได้รับเงินสดจํานวน 15,600,000 บาท จากพันตํารวจตรีหญิง ศรีสุภางค์ ในวันซื้อขาย หลังจากนั้นนําเงินไปแยกฝากเข้าบัญชีของผู้ถูกกล่าวหา 5 บัญชี โดยทยอยนำเข้าฝากครั้งละ 1,000,000 บาทเศษ โดยอ้างว่าทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ธนาคาร เพื่อไม่ต้องยุ่งยากในเรื่องเอกสารและปฏิบัติเช่นนี้มาตั้งแต่ก่อนเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว และยังคงปฏิบัติเช่นนั้นต่อเนื่องเรื่อยมา แต่ผู้ถูกกล่าวหาไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเงินในบัญชีทั้งห้าบัญชี ส่วนใดเป็นเงินที่ได้จากการขายทาวน์เฮาส์ 2 หลัง พร้อมที่ดินให้แก่พันตํารวจตรีหญิง ศรีสุภางค์ ซึ่งในกรณีเช่นนี้หากเงินจํานวน 15,600,000 บาท เป็นเงินที่ผู้ถูกกล่าวหาได้จากการขายทาวน์เฮาส์ 2 หลัง พร้อมที่ดินให้แก่พันตํารวจตรีหญิง ศรีสุภางค์ จริง ก็เป็นเงินซึ่งมีที่มาชัดเจนคือได้จากการขายทรัพย์สินของตนเอง สามารถแสดงที่มาของเงินได้ โดยไม่ยุ่งยากเรื่องเอกสาร แต่ผู้ถูกกล่าวหากลับยังคงใช้วิธีทยอยนำเงินเข้าฝาก เพื่อหลีกเลี่ยงการอธิบายถึงที่มาของเงิน โดยไม่ได้แสดงเหตุผลให้ปรากฏว่าเหตุใดกระทําเช่นนั้น สําหรับกรณีนี้ด้วย พฤติการณ์ที่ผู้ถูกกล่าวหาทยอยนําเงินเข้าฝากอันเป็นการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ ย่อมทำให้ไม่อาจพิสูจน์ได้โดยแน่ชัดถึงที่มาของเงินว่าได้มาจากการซื้อขายทาวน์เฮาส์ 2 หลัง พร้อมที่ดินหรือได้มาโดยประการอื่นใด เมื่อประกอบกับปรากฏหลักฐานจากการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ถูกกล่าวหากรณีพ้นจากตําแหน่ง เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2548 และกรณี พ้นจากตําแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2549 ผู้ถูกกล่าวหายังได้แสดงว่า ทาวน์เฮาส์เลขที่ 35/150 – 151 พร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 20470 และ 20471 เป็นของผู้ถูกกล่าวหาตลอดมา ทั้งที่เป็นเวลาภายหลังจากที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่าได้ขายทาวน์เฮาส์ 2 หลัง พร้อมที่ดินให้แก่พันตํารวจตรีหญิง ศรีสุภางค์ ไปแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2547 อันเป็นการขัดแย้งกับข้อกล่าวอ้างโต้งแย้งของผู้ถูกกล่าวหา พยานหลักฐานของผู้ถูกกล่าวหาจึงไม่มีให้น่าเชื่อถือ ด้วยเหตุผลดังวินิจฉัยมาข้างต้น องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีพยานหลักฐานที่เพียงพอ พิสูจน์ได้ว่าเงิน 16,000,000 บาท ที่เพิ่มขึ้น ได้มาจากการขายทาวน์เฮาส์ 2 หลัง พร้อมที่ดินให้แก่พันตํารวจตรีหญิง ศรีสุภางค์ ในเดือนพฤษภาคม 2547 ตามที่กล่าวอ้างโต้แย้ง
กรณีเงินที่เพิ่มขึ้นจํานวน 12,104,000 บาท
ผู้ถูกกล่าวหากล่าวอ้างโต้แย้งว่าเป็นเงินซึ่งผู้ถูกกล่าวหาได้รับจากพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ในฐานะที่ผู้ถูกกล่าวหาเคยเป็นสมาชิกพรรคความหวังใหม่ก่อนที่จะมีการยุบพรรค และได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้ากลุ่มต้นกล้าคนรุ่นใหม่ มีหน้าที่ช่วยเหลือพัฒนาสังคม และชนบทในด้านการสร้างรายได้ให้ประชาชนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง หลังจากที่พรรคความหวังใหม่ถูกยุบพรรค
เมื่อปี 2545 กลุ่มต้นกล้ายังคงดำเนินกิจกรรมอยู่ ต่อมาปลายปี 2547 พลเอก ชวลิต เรียกผู้ถูกกล่าวหาไปที่บ้านและมอบเงินสดให้ 7,000,000 บาทเศษ ต้นปี 2548 มอบให้อีก 4,000,000 บาทเศษ โดยไม่ได้แจ้งที่มาของเงิน เพียงแต่แจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหานําเงินทั้งสองจํานวนไปใช้ดําเนินกิจกรรมเกี่ยวกับทางด้านพัฒนาสังคมและสร้างรายได้ให้ชนบทตามอุดมการณ์ของกลุ่มต้นกล้า ผู้ถูกกล่าวหานำเงินเข้าฝากธนาคาร ในบัญชีเงินฝาก 5 บัญชี ที่มีการนําเงิน 40,000,000 บาท เงิน 16,000,000 บาท และ เงินส่วนตัวของผู้ถูกกล่าวหา โดยจำไม่ได้ว่าเงินฝากในบัญชีรายการใดเป็นเงินที่มาจากเงินส่วนใด เงินดังกล่าวคงเหลือ 9,000,000 บาทเศษ ได้ทยอยมอบคืนพลเอก ชวลิต ครบถ้วนแล้วในปี 2555
โดยมีพลเอก ชวลิต เป็นพยานเบิกความสนับสนุนในทำนองเดียวกันกับที่ให้การไว้ในชั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า ได้มอบเงินจำนวน 12,104,000 บาท ให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของกลุ่มต้นกล้าที่ยังมีการดำเนินกิจกรรมอยู่ เงินดังกล่าวได้มาจากการขายเสื้อพรรค ของที่ระลึก เงินยืมส่วนตัวและ เงินบริหารสาขาพรรค ที่สมาชิกพรรคและสาขาพรรคส่งคืนหลังจากการยุบพรรคเมื่อปี 2545 พยานเห็นว่าพรรคถูกยุบแล้วเห็นควรส่งให้องค์กรพรรคที่ยังมีการเคลื่อนไหวอยู่ จึงทยอยมอบให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มต้นกล้าที่ประกอบด้วยบุคคล 6 คน นอกจากผู้ถูกกล่าวหาแล้วสมาชิกกลุ่มต้นกล้าคนอื่น ไม่ทราบเรื่องดังกล่าว
เห็นว่า จากการนำสืบของผู้ถูกกล่าวหาถึงที่มาของเงินจำนวน 12,104,000 บาท หากเป็นจริงก็มิใช่เรื่องที่เป็นความลับซึ่งจะต้องปกปิดแหล่งที่มาของเงิน ทั้งการรับเงินก็เพื่อการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มต้นกล้า ซึ่งควรทำโดยเปิดเผยโดยเฉพาะสมาชิกในกลุ่มควรต้องรับทราบ แต่กลับปรากฏว่า มีเพียงผู้ถูกกล่าวหาและพลเอก ชวลิต เท่านั้นที่ทราบเรื่องนี้ แม้กระทั่งสมาชิกอื่นในกลุ่มต้นกล้าก็ไม่มีบุคคลใดทราบเรื่องดังกล่าว
เมื่อผู้ถูกกล่าวหาได้รับเงินมาทั้งสองครั้งเป็นจํานวนครั้งละไม่น้อยแต่ก็ไม่ได้นำเข้าฝากธนาคารทั้งจำนวนอันจะทำให้น่าเชื่อได้ว่ามีการรับเงินจำนวนดังกล่าวในช่วงเวลาที่กล่าวอ้างจริง แต่กลับมีการทยอยนำเงินเข้าฝากธนาคารครั้งละ 1,000,000 บาทเศษ โดยข้ออ้างที่มีเพียงว่า ทําตามคําแนะนําของเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อความสะดวกในเรื่องเอกสาร ซึ่งเป็นเหตุผลที่ยังไม่อาจรับฟังได้ ถึงความจําเป็นที่ต้องกระทําเช่นนั้น
แต่การกระทําดังกล่าวอีกด้านหนึ่ง ก็ถูกพิจารณาได้ว่าเป็นการปกปิดที่มาของเงินทำให้ไม่อาจตรวจสอบถึงที่มาของเงินได้ชัดเจน นอกจากนั้นปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหา นำเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวไปฝากในบัญชี 5 บัญชี ปะปนกับเงินที่อ้างว่าได้รับมา 40,000,000 บาท 16,000,000 บาท และเงินส่วนตัว ไม่สามารถชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินได้ว่า
เงินยอดใดในแต่ละบัญชีเป็นเงินส่วนนี้ ทั้งในระหว่างเวลานั้นก็มีการเบิกถอนเงินจากบัญชีดังกล่าวไปใช้จ่ายส่วนตัว เช่น วันที่ 26 พฤษภาคม 2548 มีการเบิกเงิน 3,082,020 บาท เพื่อซื้อแคชเชียร์เช็คชำระค่ารถยนต์
นอกจากนี้ในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้คัดค้านในกรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้ว เป็นเวลาหนึ่งปี ผู้ถูกกล่าวหาก็ได้นําเงินจํานวนนี้ไปแสดงไว้ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ในส่วนเงินฝากในธนาคารว่าเป็นของตนเอง โดยไม่ได้มีหมายเหตุในบัญชีให้ทราบว่ามีเงินของกลุ่มต้นกล้ารวมอยู่ด้วย อันเป็นการผิดปกติวิสัยทั่วไปของการเก็บรักษาเงินซึ่งได้รับมอบมาโดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้ที่ชัดเจน ไม่อาจนําไปใช้ส่วนตัวได้
ที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างต่อมาว่าเหลือเงิน 9,000,000 บาทเศษ และคืนเงินที่เหลือนี้ ให้แก่พลเอก ชวลิต แล้วโดยทยอยคืนตั้งแต่ปี 2552 ถึงปี 2555 นั้น ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีการตั้ง คณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ถูกกล่าวหา โดยที่ไม่ปรากฏเหตุผลว่าเหตุใด จึงมีการยกเลิกการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มต้นกล้าและต้องคืนเงินในช่วงเวลาดังกล่าว
ข้อกล่าวอ้าง ของผู้ถูกกล่าวหาล้วนเป็นข้อกล่าวอ้างที่เลื่อนลอยปราศจากหลักฐานใด ๆ สนับสนุน ซึ่งทำให้ยาก แก่การตรวจสอบ และไม่น่าเชื่อถือ องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉนท์ว่า พยานหลักฐานของผู้ถูกกล่าวหาไม่มีนําหนักให้รับฟังได้ว่าเงินจํานวน 12,104,000 บาท ที่เพิ่มขึ้นเป็นเงินที่ได้มาจากพลเอก ชวลิต ตามที่กล่าวอ้าง
เมื่อผู้ถูกกล่าวหาไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินจํานวน 68,104,000 บาท ได้มาอย่างไร ในวิถีทางตามปกติ ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวพร้อมดอกผลที่เกิดขึ้นจึงเป็นทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ซึ่งต้องตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 35 วรรคสองพิพากษาให้ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาจํานวน 68,104,000 บาท ซึ่งรวมถึงทรัพย์สินที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคําสั่งยึดหรืออายัดไว้ชั่วคราวตามคําสั่งที่ 8-11/2556 ลงวนที่ 15 มกราคม 2556
พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน ให้ผู้ถูกกล่าวหาส่งมอบทรัพย์สินหรือชําระเงินจำนวนดังกล่าวแก่กระทรวงการคลัง หากไม่ส่งมอบทรัพย์สินหรือไม่ชำระเงินให้บังคับคดีเอาจากทรัพย์สินอื่นของผู้ถูกกล่าวหา แต่ต้องไม่เกินมูลค่าของทรัพย์สินที่ศาลส่งให้ตกเป็นของแผ่นดิน ให้ผู้ถูกกล่าวหา