- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- คำพิพากษาฉบับเต็ม!คดียึดทรัพย์"ณฐกมล"ลูกสาว”พล.อ.คนสนิท“บิ๊กจิ๋ว”68 ล.
คำพิพากษาฉบับเต็ม!คดียึดทรัพย์"ณฐกมล"ลูกสาว”พล.อ.คนสนิท“บิ๊กจิ๋ว”68 ล.
เปิดคำพิพากษาฉบับเต็ม!คดี “ณฐกมล”ลูกสาวพล.อ.คนสนิท “พล.อ.ชวลิต” ร่ำรวยผิดปกติ 68 ล้านอ้างรับเงินจากบิ๊กจิ๋ว 52 ล้าน 40 ล้านผ่านพ่อ อีก 12 ล้านรับส่วนตัว แต่ฟังไม่ขึ้น ไร้หลักฐานพิสูจน์
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นคำพิพากษาฉบับเต็มของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ระหว่างฝ่ายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ร้อง และฝ่าย น.ส.ณฐกมล นนทะโชติ อดีตข้าราชการประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกกล่าวหา คดีทรัพย์สินเพิ่มผิดปกติกว่า 68 ล้านบาท โดยขอให้ศาลฎีกาฯยึดทรัพย์สินให้ตกเป็นของแผ่นดิน
(อ่านประกอบ : ศาลฎีกาฯยึดทรัพย์"ลูกสาว" พลเอกคนสนิท“บิ๊กจิ๋ว” 68 ล.รวยผิดปกติ)
----
ศาลฎีกาฯพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงจากทางไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองประกอบรายงานการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังได้ในเบื้องต้นว่า
ผู้ถูกกล่าวหาได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งเป็นข้าราชการการเมืองตําแหน่งประจําสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2546 และได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตําแหน่ง เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2546 ต่อมาผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตําแหน่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2548 ได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินกรณีพ้นจากตําแหน่งเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2548 และกรณีพ้นจากตําแหน้งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2549
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินตามบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ถูกกล่าวหาที่ได้ยื่นไว้กรณีพ้นจากตําแหน่งเปรียบเทียบกับกรณีเข้ารับตําแหน่งปรากฏว่า ผู้ถูกกล่าวหามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นสุทธิ 57,027,812.19 บาท ประกอบด้วยเงินฝากธนาคาร 43,027,812.19 บาท พันธบัตรออมทรัพย์ 14,000,000 บาท เปรียบเทียบกรณีพ้นจากตําแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีกับกรณีเข้ารับตําแหน่งปรากฏว่า มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นสุทธิ 70,547,260.82 บาท
ประกอบด้วย เงินฝากธนาคาร 54,547,260.82 บาท พันธบัตรออมทรัพย์ 14,000,000 บาท (เป็นหลักทรัพย์รายการเดิมที่เพิ่มขึ้นเมื่อครั้งกรณีพ้นจากตําแหน่ง) ที่ดินเพิ่มขึ้น 2,000,000 บาท (รับให้จากบิดา) เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2552 ภายหลังผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงถึงที่มาของทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินกรณีมีเหตุสงสัยว่า ผู้ถูกกล่าวหาเมื่อครั้งดํารงตําแหน่งประจําสํานักนายกรัฐมนตรีมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงถึงที่มาของทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นมีใจความสําคัญสรุปได้ว่า เงินจํานวน 40,000,000 บาท เป็นของพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ที่ฝากให้เก็บรักษาไว้ เงินจํานวน 16,000,000 บาท ได้จากการขายทาวน์เฮาส์ 2 หลัง เลขที่ 35/150 - 151 พร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 20470 และ 20471 ตําบลบางตลาด อําเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ให้แก่พันตํารวจตรีหญิง ศรีสุภางค์ โสมกุล และเงินอีกจํานวน 12,104,000 บาท ได้จากพลเอก ชวลิต มอบให้เพื่อใช้ในกิจกรรมของกลุ่มต้นกล้าในพรรคความหวังใหม่ซึ่งมีผู้ถูกกล่าวหาเป็นหัวหน้ากลุ่ม เงินทั้งสามจํานวนได้ทยอยนําฝากเข้าบัญชีของผู้ถูกกล่าวหา 5 บัญชี ได้แก่
บัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) สาขาโชคชัย 4 ลาดพร้าว เลขที่บัญชี 230 - 0 - 62394 - 5 และเลขที่บัญชี 230 - 2 - 05369 - 5
บัญชีเงินฝากธนาคาร ยูโอบี จํากัด (มหาชน) สาขาเมืองทองธานี เลขที่บัญชี 938 - 001 - 107 - 3 (เดิมเป็นบัญชีธนาคารยูโอบี รัตนสิน จํากัด (มหาชน) สาขาแจ้งวัฒนะ เลขที่บัญชี 038 - 3 - 01107 - 2 และเปลี่ยนเป็นบัญชีธนาคารยูโอบี จํากัด (มหาชน) สาขาเมืองทองธานี เลขที่บัญชี 238 - 3 - 01107 - 5)
บัญชีเงินฝากธนาคารยูโอบี จํากัด (มหาชน) สาขาเมืองทองธานี เลขที่บัญชี 938 - 102 - 870 - 0 (เดิมเป็นบัญชีธนาคารยูโอบี รัตนสิน จํากัด (มหาชน) สาขาแจ้งวัฒนะ เลขที่บัญชี 038 - 2 - 02870 - 7 และเปลี่ยนเป็นบัญชีธนาคารยูโอบี จํากัด (มหาชน) สาขาเมืองทองธานี เลขที่บัญชี 238 - 2 - 02870 - 8)
และบัญชีธนาคารยูโอบี จํากัด (มหาชน) สาขาเมืองทองธานี เลขที่บัญชี 238 - 3 - 01183 - 6 (เดิมเป็นบัญชีธนาคารยูโอบี รัตนสิน จํากัด (มหาชน) สาขาแจ้งวัฒนะ เลขที่บัญชี 038 - 3 - 01183 - 2)
ระหว่างการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาจะมีการโอน ยักย้าย แปรสภาพ หรือซุกซ่อนทรัพย์สินที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2555 ให้อายัดทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาไว้เป็นการชั่วคราวตามที่คณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินเสนอ โดยได้ออกคําสั่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ 8 - 11/2556 ลงวันที่ 15 มกราคม 2556 ให้อายัดทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาไว้ชั่วคราว ดังนี้
เงินฝากสะสมทรัพย์ธนาคารกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) สาขาโชคชัย 4 ลาดพร้าว เลขที่บัญชี 230 - 0 - 62394 - 5 คงเหลือเงิน 33,144.25 บาท เงินฝากประจํา 7 เดือน ธนาคารกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) สาขาโชคชัย 4 ลาดพร้าว เลขที่บัญชี 230 - 2 - 10604 - 8 (ปิดบัญชีวันที่ 27 สิงหาคม 2555) เงินฝากออมทรัพย์ธนาคารยูโอบี จํากัด (มหาชน) สาขาเมืองทองธานี เลขที่บัญชี 938 - 102 - 870 - 0 คงเหลือเงิน 438,742.31 บาท เงินฝากประจํา 3 เดือน ธนาคารยูโอบี จํากัด (มหาชน) สาขาเมืองทองธานี เลขที่บัญชี 938 - 001 - 107 - 3 คงเหลือเงิน 275,917.44 บาท เงินฝากธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) สาขาเซ็นทรัลแอร์พอร์ตพลาซ่า เชียงใหม่ เลขที่บัญชี 497 - 0 - 15190 - 3 คงเหลือเงิน 169,389 บาท รถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ (BENZ) หมายเลขทะเบียน ษฉ 919 กรุงเทพมหานคร และรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า อัลพาด (TOYOTA ALPHARD) หมายเลขทะเบียน ศษ 3339 กรุงเทพมหานคร
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ผู้ถูกกล่าวหามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติสามกรณี ให้ส่งเอกสารทั้งหมดและรายงานการตรวจสอบไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดําเนินคดีในศาลนี้เพื่อขอให้สั่งให้ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาที่เพิ่มขึ้นผิดปกติดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 38 วรรคสอง
มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยประการแรกว่า ผู้ร้องมีอํานาจยื่นคําร้องคดีนี้หรือไม่
ผู้ถูกกล่าวหาคัดค้านว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. กําหนดประเด็นในการพิจารณาว่า ผู้ถูกกล่าวหา มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 262 วรรคสอง ที่บัญญัติให้ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ผลของการสอบสวนคดีนี้ซึ่งมีที่มาจากรัฐธรรมนูญมาตรานี้ จึงต้องถูกยกเลิกไปด้วยนั้น เห็นว่า
ตามคําร้องของผู้ร้องนอกจากจะอ้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 262 ขึ้นประกอบการร้องขอให้ทรัพย์สินที่พิ่มขึ้นผิดปกติตกเป็นของแผ่นดินแล้ว ยังอ้างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 38 วรรคสอง ขึ้นประกอบคําร้องด้วย ซึ่งในมาตรา 38 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “ในกรณีที่ปรากฏว่า ผู้ดำรงตําแหน่งทางการเมืองผู้ใดมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ให้ประธานกรรมการส่งเอกสารทั้งหมดที่มีอยู่พร้อมทั้งรายงานผลการตรวจสอบไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดําเนินคดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง เพื่อให้ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกตินั้นตกเป็นของแผ่นดินต่อไป และให้นําบทบัญญัติมาตรา 80 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม”
นอกจากนั้นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4 ให้บทนิยามคําว่า “ทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ” ไว้ ทั้งในมาตรา 37/1 และมาตรา 37/2 ของพระราชบัญญัติฉบับเดียวกันบัญญัติรายละเอียดขั้นตอนวิธีการดําเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการพิจารณาก่อนที่จะมีมติว่าทรัพย์สินของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองที่ได้ยื่นแสดงไว้ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินมีลักษณะเป็นการมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือไม่ และส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดําเนินคดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง โดยมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 (4) บัญญัติให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่ร้องขอให้ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมืองอื่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นตามที่กฎหมายบัญญัติตกเป็นของแผ่นดิน และในหมวด 3 ของพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว ได้บัญญัติถึงวิธีพิจารณาคดีที่มีการร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ตั้งแต่มาตรา 33 ถึงมาตรา 35 ด้วย
ซึ่งเห็นได้ว่าการดําเนินการของผู้ร้องในคดีนี้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ที่มีความสมบูรณ์ในตัวเองด้วย
ฉะนั้น แม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11/2557 มีใจความสำคัญว่า ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง แต่ก็ได้ยกเว้นให้ศาลทั้งหลายคงมีอำนาจพิจารณาและพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมายและประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และให้องค์กรอิสระ องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แสดงให้เห็นว่า บรรดาบทบัญญัติกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งได้ตราขึ้นและมีผลใช้บังคับอยู่แล้วในขณะที่มีการยึดอำนาจนั้น หาได้ถูกยกเลิกไปด้วยแต่ประการใดไม่
นอกจากนี้ต่อมาคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังได้ออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 24/2557 ประกาศให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 คงมีผลใช้บังคับต่อไป อันเป็นการยืนยันการยังคงมีผลใช้บังคับของพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับดังกล่าว
ดังนั้น แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 จะถูกยกเลิกไป ก็หาได้ทําให้การดําเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. อันเป็นที่มาของคดีนี้สิ้นผลไปด้วยไม่ องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ว่า ผู้ร้องมีอํานาจยื่นคําร้องคดีนี้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า ทรัพย์สินจํานวน 68,104,000 บาท ตามคําร้องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าเป็นทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติต้องตกเป็นของแผ่นดินหรือไม่
ซึ่งผู้ถูกกล่าวหากล่าวอ้างโต้แย้งว่าทรัพย์สินดังกล่าวมิได้เป็นทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติ ผู้ถูกกล่าวหา จึงมีภาระการพิสูจน์ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 35 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะได้แยกวินิจฉัยตามข้อกล่าวอ้างโต้แย้งของผู้ถูกกล่าวหาเป็นแต่ละกรณีตามลําดับ
-กรณีเงินที่เพิ่มขึ้นจํานวน 40,000,000 บาท
เมื่อพิจารณาจากประวัติของผู้ถูกกล่าวหาที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากต่างประเทศ ผ่านการทํางานในตําแหน่งที่สําคัญ เป็นสมาชิกพรรคการเมือง เป็นหัวหน้ากลุ่มต้นกล้าในพรรค และได้รับแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการการเมืองตําแหน่งประจําสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ไม่น่าเชื่อว่าจะสับสนในเรื่องดังกล่าวเพราะไม่มีความซับซ้อนแต่อย่างใด นอกจากนี้ ในการนําเงินจํานวน 40,000,000 บาท ทยอยฝากไว้ในบัญชีธนาคารของผู้ถูกกล่าวหา 5 บัญชี
เมื่อมีการสอบถามถึงเงินแต่ละรายการในบัญชีดังกล่าว ผู้ถูกกล่าวหาไม่สามารถอธิบายได้ว่า เงินส่วนใดเป็นของพลเอก ชวลิต ทั้งยังให้การว่าเงินในบัญชีทั้งห้าบัญชีดังกล่าวมีทั้งที่เป็นเงินส่วนตัวของผู้ถูกกล่าวหาและมีการเบิกไปใช้จ่ายเป็นค่าเบี้ยประกันชีวิต และซื้อกองทุนบัวหลวงธนรัฐ 5/49 การที่ผู้ถูกกล่าวหานําเงินที่อ้างว่าพลเอก ชวลิต ฝากให้เก็บรักษาไว้ไปปะปนรวมกับเงินส่วนตัวและไม่อาจแยกแยะได้ว่าเงินส่วนใดเป็นเงินที่ได้รับฝากไว้ ทั้งมีการนําไปใช้จ่ายส่วนตัว ย่อมเป็นการผิดปกติวิสัยของการเก็บรักษาเงินที่ผู้อื่นให้เก็บรักษาไว้และมีจํานวนมากถึง 40,000,000 บาท สำหรับด้านที่มาของเงิน
แม้จะมีพลเอก สัมฤทธิ์มาเบิกความยืนยันว่า ได้เงินมาจากพลเอก ชวลิต ครั้งแรก 15,000,000 บาท เพื่อใช้ในโครงการ ครั้งที่สองเป็นเงินส่วนตัวของพลเอก ชวลิต ฝากไว้ 27,000,000 บาท และพลเอก ชวลิต มาเบิกความยืนยันว่า เงินดังกล่าวเป็นของตนซึ่งได้ฝากไว้และได้รับคืนหมดแล้วก็ตาม แต่เป็นเพียงคํากล่าวอ้างซึ่งปราศจากพยานหลักฐานอื่นใด ๆ สนับสนุน ที่อาจบ่งชี้ให้เห็นได้ว่าเป็นจริงดังที่ให้การไว้ ไม่ว่าในเรื่องการมอบเงินให้หรือการได้รับเงินคืน
ทั้งยังมีข้อความขัดแย้งกับที่พลเอก สัมฤทธิ์ เคยทําหนังสือชี้แจงต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับเงิน 40,000,000 บาท ว่าได้มอบให้ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นบุตรสาวคนโตเพื่อให้ช่วยดูแลน้องสาวอีกสองคน ส่วนที่อ้างเหตุของการไม่มีหลักฐานว่าเป็นความไว้วางใจก็ดี การมีตําแหน่งทางการทหารก็ดี หรือการดํารงตําแหน่งทางการเมืองก็ดี ล้วนเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้นทั้งสิ้น
เมื่อได้พิจารณาจากพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงในชั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตลอดจนพยานหลักฐานในชั้นไต่สวนของศาลแล้ว เห็นว่า เป็นเพียงข้อกล่าวอ้างที่เลื่อนลอยปราศจากพยานหลักฐานใด ๆ สนับสนุน ทั้งมีข้อพิรุธขัดแย้งหลายประการดังวินิจฉัยไปแล้วข้างต้น
องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ว่า พยานหลักฐานของผู้ถูกกล่าวหายังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ตามที่กล่าวอ้าง
-กรณีเงินที่เพิ่มขึ้นจํานวน 16,000,000 บาท
พฤติการณ์ที่ผู้ถูกกล่าวหาทยอยนําเงินเข้าฝากอันเป็นการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบย่อมทําให้ไม่อาจพิสูจน์ได้โดยแน่ชัดถึงที่มาของเงินว่าได้มาจากการซื้อขายทาวน์เฮาส์ 2 หลัง พร้อมที่ดินหรือได้มาโดยประการอื่นใด เมื่อประกอบกับปรากฏหลักฐานจากการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ถูกกล่าวหากรณีพ้นจากตําแหน่ง เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2548 และกรณีพ้นจากตําแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2549 ผู้ถูกกล่าวหายังได้แสดงว่าทาวน์เฮาส์เลขที่ 35/150 - 151 พร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 20470 และ 20471 เป็นของผู้ถูกกล่าวหาตลอดมา ทั้งที่เป็นเวลาภายหลังจากที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่าได้ขายทาวน์เฮาส์ 2 หลัง พร้อมที่ดินให้แก่พันตํารวจตรีหญิง ศรีสุภางค์ ไปแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2547 อันเป็นการขัดแย้งกับข้อกล่าวอ้างโต้แย้งของผู้ถูกกล่าวหา พยานหลักฐานของผู้ถูกกล่าวหาจึงไม่มีน้ำหนักให้น่าเชื่อถือ
ด้วยเหตุผลดังวินิจฉัยมาข้างต้น องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีพยานหลักฐานที่เพียงพอพิสูจน์ได้ว่าเงิน 16,000,000 บาท ที่เพิ่มขึ้น ได้มาจากการขายทาวน์เฮาส์ 2 หลัง พร้อมที่ดินให้แก่พันตํารวจตรีหญิง ศรีสุภางค์ ในเดือนพฤษภาคม 2547 ตามที่กล่าวอ้างโต้แย้ง
-กรณีเงินที่เพิ่มขึ้นจํานวน 12,104,000 บาท
จากการนําสืบของผู้ถูกกล่าวหาถึงที่มาของเงินจํานวน 12,104,000 บาท หากเป็นจริงก็มิใช่เรื่องที่เป็นความลับซึ่งจะต้องปกปิดแหล่งที่มาของเงิน ทั้งการรับเงินก็เพื่อการดําเนินกิจกรรมของกลุ่มต้นกล้า ซึ่งควรทําโดยเปิดเผยโดยเฉพาะสมาชิกในกลุ่มควรต้องรับทราบ
แต่กลับปรากฏว่ามีเพียงผู้ถูกกล่าวหาและพลเอก ชวลิต เท่านั้นที่ทราบเรื่องนี้ แม้กระทั่งสมาชิกอื่นในกลุ่มต้นกล้าก็ไม่มีบุคคลใดทราบเรื่องดังกล่าว เมื่อผู้ถูกกล่าวหาได้รับเงินมาทั้งสองครั้งเป็นจํานวนครั้งละไม่น้อยแต่ก็ไม่ได้นําเข้าฝากธนาคารทั้งจํานวนอันจะทําให้น่าเชื่อได้ว่ามีการรับเงินจํานวนดังกล่าวในช่วงเวลาที่กล่าวอ้างจริง แต่กลับมีการทยอยนําเงินเข้าฝากธนาคารครั้งละ 1,000,000 บาทเศษ โดยข้ออ้างที่มีเพียงว่าทําตามคําแนะนําของเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อความสะดวกในเรื่องเอกสาร ซึ่งเป็นเหตุผลที่ยังไม่อาจรับฟังได้ถึงความจําเป็นที่ต้องกระทําเช่นนั้น แต่การกระทําดังกล่าวอีกด้านหนึ่ง ก็ถูกพิจารณาได้ว่าเป็นการปกปิดที่มาของเงินทําให้ไม่อาจตรวจสอบถึงที่มาของเงินได้ชัดเจน
นอกจากนั้นปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหานําเงินทั้งสองจํานวนดังกล่าวไปฝากในบัญชี 5 บัญชี ปะปนกับเงินที่อ้างว่าได้รับมา 40,000,000 บาท 16,000,000 บาท และเงินส่วนตัว ไม่สามารถชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินได้ว่าเงินยอดใดในแต่ละบัญชีเป็นเงินส่วนนี้ ทั้งในระหว่างเวลานั้นก็มีการเบิกถอนเงินจากบัญชีดังกล่าวไปใช้จ่ายส่วนตัว เช่น วันที่ 26 พฤษภาคม 2548 มีการเบิกเงิน 3,082,020 บาท เพื่อซื้อแคชเชียร์เช็คชําระค่ารถยนต์
นอกจากนี้ในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้คัดค้านในกรณีพ้นจากตําแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี ผู้ถูกกล่าวหาก็ได้นําเงินจํานวนนี้ไปแสดงไว้ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินในส่วนเงินฝากในธนาคารว่าเป็นของตนเอง โดยไม่ได้มีหมายเหตุในบัญชีให้ทราบว่ามีเงินของกลุ่มต้นกล้ารวมอยู่ด้วย อันเป็นการผิดปกติวิสัยทั่วไปของการเก็บรักษาเงินซึ่งได้รับมอบมาโดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้ที่ชัดเจนไม่อาจนําไปใช้ส่วนตัวได้
ที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างต่อมาว่าเหลือเงิน 9,000,000 บาทเศษ และคืนเงินที่เหลือนี้ให้แก่พลเอก ชวลิต แล้วโดยทยอยคืนตั้งแต่ปี 2552 ถึงปี 2555 นั้น ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีการตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ถูกกล่าวหา โดยที่ไม่ปรากฏเหตุผลว่าเหตุใดจึงมีการยกเลิกการดําเนินกิจกรรมของกลุ่มต้นกล้าและต้องคืนเงินในช่วงเวลาดังกล่าว
ข้อกล่าวอ้างของผู้ถูกกล่าวหาล้วนเป็นข้อกล่าวอ้างที่เลื่อนลอยปราศจากหลักฐานใด ๆ สนับสนุน ซึ่งทําให้ยากแก่การตรวจสอบ และไม่น่าเชื่อถือ องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ว่า พยานหลักฐานของผู้ถูกกล่าวหาไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าเงินจํานวน 12,104,000 บาท ที่เพิ่มขึ้นเป็นเงินที่ได้มาจากพลเอก ชวลิต ตามที่กล่าวอ้าง
เมื่อผู้ถูกกล่าวหาไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินจํานวน 68,104,000 บาท ได้มาอย่างไรในวิถีทางตามปกติ ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวพร้อมดอกผลที่เกิดขึ้นจึงเป็นทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติซึ่งต้องตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 35 วรรคสอง
พิพากษาให้ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาจํานวน 68,104,000 บาท ซึ่งรวมถึงทรัพย์สินที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคําสั่งยึดหรืออายัดไว้ชั่วคราวตามคําสั่งที่ 8 - 11/2556 ลงวันที่ 15 มกราคม 2556 พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน
ให้ผู้ถูกกล่าวหาส่งมอบทรัพย์สินหรือชําระเงินจํานวนดังกล่าวแก่กระทรวงการคลัง หากไม่ส่งมอบทรัพย์สินหรือไม่ชําระเงินให้บังคับคดีเอาจากทรัพย์สินอื่นของผู้ถูกกล่าวหา แต่ต้องไม่เกินมูลค่าของทรัพย์สินที่ศาลสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดิน ให้ผู้ถูกกล่าวหาส่งมอบเอกสารสิทธิและเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินหรือเงิน 68,104,000 บาท แก่กระทรวงการคลัง คําขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
(อ่านฉบับเต็ม : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/A/002/12.PDF)
อ่านประกอบ : พลิกปูมคดียึดทรัพย์ 10 นักการเมือง- ขรก.ก่อนศาลฎีกาฯฟัน“ณฐกมล”68 ล้าน