- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ซัด พล.ร.อ.พบเอกชนข้างโลตัส -“นายพล”ช่วยเคลียร์! คดีเงิน 39.9 ล. ทร.
ซัด พล.ร.อ.พบเอกชนข้างโลตัส -“นายพล”ช่วยเคลียร์! คดีเงิน 39.9 ล. ทร.
เปิดคำขออุทธรณ์คดีเงินห้องเย็น ทร.39.9 ล้าน น.ต. 1 ใน 2 นายทหารถูกเชือด ซัดละเอียดยิบ มติคณะ ก.ก. สวัสดิการทัพเรือสัตหีบเปิดช่องเอื้อเอกชน อ้างบิ๊ก ทร.นัดพบเอกชนข้างโลตัส พอมีปัญหา“นายพล”สามีช่วยเคลียร์ สุดท้าย “นาย”ลอยตัวโยนผิด “ลูกน้อง”
กรณีคณะกรรมการสวัสดิการสัตหีบ กองบัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ ได้ให้เอกชนเข้ามาบริหารกิจการห้องเย็นสวัสดิการสัตหีบ กองทัพเรือ จนเกิดความเสียหาย 39.9 ล้านบาท ต่อมากองทัพเรือสรุปผลสอบสวนข้อเท็จจริงเอาผิดกับบุคคลที่กระทำการเข้าข่ายทุจริตและกล่าวโทษต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เอาผิดกับ 2 นายทหาร รวมเอกชน 1 ราย เป็น 3 ราย
1 ใน 2 รายคือ น.ต.พุทธิวัฒน์ สุขะวรรณทัศน์ หัวหน้าฝ่ายกิจการห้องเย็น (อ่านประกอบ: เปิดคำสั่งลับ ป.ป.ช.สอบ 2 นายทหาร-เมียนายพล คดีเงิน 39.9 ล.-12 คน“ล่องหน”) และมีคำสั่งทางปกครองให้ น.ต.พุทธิวัฒน์ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 15,991,726.86 บาท เนื่องจากเห็นว่าจงใจปฏิบัติหน้าที่ทำให้กองทัพเรือได้รับความเสียหาย และแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย (อ่านประกอบ:เปิดผลสอบ ก.คลังชุด“สุภา”ฉบับเต็ม!ฟัน 14 นายทหาร คดีเงินห้องเย็น 39.9 ล. )
ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายต่อผู้บัญชาการทหารเรือ แต่กองทัพเรือไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ ทำให้ น.ต.พุทธิวัฒน์ ยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองระยองโดยอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม (อ่านประกอบ:ฟ้องแหลกบิ๊ก ทร.คดียกกิจการห้องเย็นให้เอกชนบริหารสูญ 39.9 ล. โยนผิดลูกน้อง )
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำคำขออุทธรณ์ของ น.ต.พุทธิวัฒน์ ที่ยื่นต่อผู้บัญชาการทหารเรือ เมื่อ 22 พ.ค.56 มาเสนอ ความยาว 16 หน้ากระดาษ สรุปสาระสำคัญบางประการดังนี้
ข้อแรก ความเสียหายเกิดจากคณะกรรมการสวัสดิการสัตหีบได้ดำเนินการฝ่าฝืนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ.2547 การให้เอกชนเข้ามาบริหารกิจการห้องเย็น มิได้ผ่านความเห็นชอบจาก ทร.
ข้อที่สอง เกิดจากความบกพร่องต่อหน้าที่ของระบบตรวจสอบภายในของกองทัพเรือ น.ต.พุทธิวัฒน์ ระบุว่า ตลอดเวลาไม่เคยได้รับการแจ้งเตือนการให้เอกชนเช้ามาร่วมลงทุนเป็นการขั้นตอนที่ผิดระเบียบ ผู้จัดการกิจการห้องเย็นมักย้ำเสนอมาว่าไม่มีปัญหา เป็นนโยบายของผู้บังคับบัญชา แต่ไม่เคยมีหนังสือแจ้งมาเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งที่ร้าน KO เข้าโดยไม่มีการแข่งขัน จึงเกิดการผูกขาดและหาประโยชน์จากเงินกองทุนสวัสดิการ ทร.
ข้อที่สาม ความเสียหายเกิดจากความเข้าใจผิดที่คิดว่าการบริหารเงินนอกงบประมาณ องค์ภายนอกไม่สามารถตรวจสอบได้
ข้อที่สี่ ฐานทัพเรือสวัสดิการสัตหีบ (ฐท.สส.) ไม่เคร่งครัดในการสรรหาบุคลากรมาเป็นผู้บริหารกิจการห้องเย็น
ข้อที่ห้า ความเสียหายเกิดจากเมื่อทราบผลงานร้าน KO อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่ามาตรฐานแล้วยังฝืนรับความเสี่ยงให้เข้ามาร่วมทุนกับ ฐท.สส.
“ในช่วงที่ผมทำงานกับ พล.ร.ต.ชัชวาล วิรุฬห์ประภา (ผู้จัดการกิจการห้องเย็น) ร้าน KO เข้ามาติดต่อค้าขายเสบียง ผมและผู้ร่วมงานทำงานด้านนี้มานาน จะรู้ซึ้งถึงพฤติกรรมร้านค้าเสบียงต่าง ๆ ในพื้นที่สัตหีบ ได้พยายามคัดค้าน พล.ร.ต.ชัชวาลฯ แล้ว แต่ท่านให้โอกาสทดลองเข้ามาค้าเสบียงร่วมกับร้านค้าอื่น ๆ เป็นการเปิดกว้างให้เกิดการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม เมื่อดำเนินการไปได้ 1 วัน ผู้ซื้อได้ตำหนิถึงคุณภาพสินค้าไม่ได้มาตรฐาน และเกิดการไม่ยอมรับ จึงต้องล้มเลิกการให้ร้าน KO เข้ามาขายเสบียงกับกิจการห้องเย็น และไม่ติดต่อจัดซื้ออีก หรือหน่วยเรือบางลำ เคยสั่งซื้อจากร้าน KO เกิดปัญหาก็ถูกสั่งเลิกซื้อ”
“ เมื่อเปลี่ยนผู้จัดการ ร้าน KO จึงเริ่มเข้ามามีบทบาทอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้เป็นการเข้ามาจากนโยบาย ฐท.สส. มิใช่พนักงานเป็นคนนำเข้ามา ทั้งที่ผมได้คัดค้านไว้หลายครั้งถึงผลงานร้าน KO ในอดีต ผู้จัดการ พล.ร.ต.ธงชัยฯ พูดย้ำว่า เป็นนโยบาย ฐท.สส. ในการร่วมทุน (พล.ร.ท.ชาญชัยฯ) ซึ่งที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบ จึงมีมติให้ดำเนินการได้แทนร้านค้าเก่าทั้งหมด โดยมิได้มีการประมูลแต่อย่างใด”
“ทุกคนได้รับการย้ำเหมือน ๆ กันว่าเป็นการร่วมทุน เป็นเรื่องนโยบายที่ผู้บังคับบัญชาเปิดไฟเขียว แต่พนักงานไม่เคยได้อ่านเอกสารจาก ฐท.สส. นอกจากคำพูดจากผู้จัดการฯ เท่านั้น ผมมีข้อสังเกตว่า หลังจากร้าน KO เข้ามาร่วมทุนกับเงินกองทุนสวัสดิการ ทร.แล้ว ทร.ยังมีนโยบายให้หน่วยในพื้นที่สัตหีบสนับสนุนกิจการห้องเย็นอีก เป็นการเพิ่มยอดขายให้กับร้าน KO โดยเพิ่มเงินกองทุนสวัสดิการ ทร.ให้กับ ฐท.สส. ที่มีการใช้จ่ายสูงขึ้นมาก จึงเข้าใจได้ว่าเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพื่อสนับสนุนร้าน KO ในระดับนโยบายจากผู้บังคับบัญชา ดังนั้นผู้ที่นำร้าน KO เข้ามาแล้ว เกิดความเสียหายกับ ทร. ทั้ง ๆ ที่มีผู้คัดค้านแล้ว จึงควรรับผิดชอบด้วย”
ส่วนหนึ่งของคำขออุทธรณ์ในข้อที่เจ็ด ระบุว่า
“เมื่อเกิดปัญหากับร้าน KO จะมีสามีร้าน KO (พล.ร.ต….นายทหารรุ่นเดียวกับผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของ ทร.) เข้ามาเคลียร์ปัญหาทันที ท่านมีตำแหน่งเป็นรองผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ เป็นที่รับรู้และเกิดความเกรงใจ ของพนักงานที่เกี่ยวข้องทุกคน นอกจากนี้ท่านยังทำหน้าที่ประสานหน่วยต่าง ๆ ในพื้นที่สัตหีบ ให้ช่วยสั่งซื้อกิจการห้องเย็น
“ในอดีตผมและพนักงานเคยคัดค้านถึงความไม่เหมาะสมของผลงานร้าน KO ในด้านความด้อยมาตรฐานเสบียง แต่ผู้จัดการฯ (พล.ร.ต.ธงชัย ใจเย็น) ไม่รับฟัง ถึงกับทุบโต๊ะต่อหน้าผมและพนักงาน (พ.จ.อ.เทศน์ฯ, พ.จ.อ.ธีระฯ, จ.อ.ปิยะฯ, คุณสิรินาทฯ และคุณสาครินทร์ฯ) ท่านเข้าใจว่าผมกีดกันร้าน KO ไม่ให้เข้ามาค้าขาย เพราะใกล้ชิดร้านค้าเก่า และต้องปฏิบัติตามนโยบายหน่วยเหนือ”
“ผมเห็นว่าเป็นเงินกองทุนสวัสดิการ ทร. ที่ฐท.สส. ควบคุมอยู่ อาจถูกกล่าวหาว่า กระทำขัดต่อนโยบายคณะกรรมการสวัสดิการสัตหีบ ซึ่งผมไม่เคยมีโอกาสเข้าชี้แจง ผมจึงอยู่ในฐานะเป็นฝ่ายตรงข้ามกับร้าน KO มิใช่เป็นฝ่ายคล้อยตามร้าน KO ร้าน KO จึงไม่ชอบในตัวผมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทั้งนี้ การปฏิบัติต่อใบแจ้งหนี้/ใบส่งของ เข้าสู่กระบวนการต่อไปนั้น เป็นความรับผิดชอบของ น.อ.เสริมเกียรติฯ”
ข้อที่แปด ความเสียหายเกิดจาก ผบ.ฐส.สส. ชักนำร้าน KO เข้ามาร่วมทุนกับกิจการห้องเย็น ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง
เมื่อเดือน ม.ค.50 ผบ.ฐส. สส. ประธาน กรรมการสวัสดิการสัตหีบ เชิญเจ้าของร้าน KO (นางอังคณา เข็มเพชร หรือ อุณหกะ )ร่วมหารือ และขอให้ช่วยดำเนินการจัดส่งเสบียงร่วมกับกิจการห้องเย็น เนื่องจากในรอบ 3 ปี (ปี47-50) ที่ผ่านมากิจการห้องเย็นประสบภาวะขาดทุน เจ้าของร้าน KO จึงประสานกับผู้จัดการกิจการห้องเย็น และได้มีการตกลงเกี่ยวกับการดำเนินการจัดส่งเสบียงร่วมกัน โดยกิจการห้องเย็น สนับสนุนในการจัดซื้อเสบียง และให้ร้าน KO ดำเนินการตั้งแต่เดือน มี.ค.50 เป็นต้นมา
“ผมได้รับทราบจากผู้จัดการฯ (พล.ร.ต.ธงชัย ใจเย็น) ว่าก่อนที่จะนำการร่วมทุนของร้าน KO เข้าที่ประชุมคณะกรรมการสวัสดิการสัตหีบ ได้เคยนำเรียนด้วยวาจากับ พล.ร.ท.ชาญชัยฯ (ยศในขณะนั้น ปัจจุบัน พล.ร.อ. และ เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ) ในครั้งแรกได้รับการปฏิเสธโดยสิ้นเชิง แต่ในครั้งต่อมาหลังจากครั้งแรก 15 วัน พล.ร.ท.ชาญชัยเปลี่ยนใจอนุญาตให้ร้าน KO เข้ามาได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ ผู้จัดการฯ เห็นการพบปะของร้าน KO กับ พล.ร.ท.ชาญชัย ที่ร้านเอกชนรายหนึ่งข้างโสตัส...”
“ผมถือว่าเป็นการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด ส่งผลให้กิจการห้องเย็นต้องเผชิญเคราะห์กรรมดังปรากฎ แต่ ทร.ไม่ได้คำนึงถึงผู้รับผิดชอบในส่วนเริ่มแรกนี้เลย”
ข้อที่เก้า มีการปกปิดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผลการสอบสวนทั้งๆที่ตนเองถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด และการแสวงหาเอกสารหลักฐานของทางราชการเพื่อแก้ข้อกล่าวหาต่อสู้คดีเป็นไปด้วยความยากลำบาก
ข้อที่สิบ ไม่มีการกล่าวหาหรือลงโทษ รอง ผบ. ฐส.สส. สามีของนางอังคณา เจ้าของร้าน KO จนสามารถออกจากราชการได้ตามปกติ และร้านมีฐานะร่ำรวย ทั้งๆที่กองทัพเรือมีอำนาจดำเนินการได้
น.ต.พุทธวัฒน์ระบุในตอนท้ายว่า การปฏิบัติงานภายในกิจการห้องเย็นล้วนเป็นเรื่องที่ผู้จัดการกิจการห้องเย็นตัดสินใจและปฏิบัติตามคำสั่งหน่วยเหนือทั้งสิ้น
“ท่านรับนโยบายมาจากคณะกรรมการสวัสดิการสัตหีบ ผมอยู่ในฐานะผู้คัดค้านการนำร้าน KO เข้าร่วมทุนตั้งแต่แรก จึงเป็นคนที่รักษาผลประโยชน์ของกิจการห้องเย็น ตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่จะทำได้ เมื่อเกิดความเสียหายผู้บังคับบัญชาได้รับการปกป้องและโยนความผิดไปให้ผู้ใต้บังคับบัญชารับผิดชอบแทน”
อ่านประกอบ:
เปิดผลสอบ ก.คลังชุด“สุภา”ฉบับเต็ม!ฟัน 14 นายทหาร คดีเงินห้องเย็น 39.9 ล.
เปิดเช็ค 12 ฉบับ 36.9 ล. ชนวนเชือด 14 นายทหาร-พล.ร.อ.คดีเงิน“ห้องเย็น”ทร.
เปิดคำสั่งลับ ป.ป.ช.สอบ 2 นายทหาร-เมียนายพล คดีเงิน 39.9 ล.-12 คน“ล่องหน”
14 นายทหาร-พลเรือเอก พันคดีเงิน“ห้องเย็น”39.9 ล.-ส่ง ป.ป.ช.สอบแค่ 2 คน
ฟ้องแหลกบิ๊ก ทร.คดียกกิจการห้องเย็นให้เอกชนบริหารสูญ 39.9 ล. โยนผิดลูกน้อง