- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- พลิกปูมข่าวเจาะ“โกงแวต 4 พันล.-ทรัพย์สินแซม” ก่อนคว้าช่อสะอาด
พลิกปูมข่าวเจาะ“โกงแวต 4 พันล.-ทรัพย์สินแซม” ก่อนคว้าช่อสะอาด
พลิกปูมหลัง 2 ข่าวเจาะ “สำนักข่าวอิศรา” คว้า 2 รางวัลช่อสะอาดจาก ป.ป.ช. – คดีโกงภาษีมูลค่าเพิ่ม 4.3 พันล้านบาท – คดี “แซม-ยุรนันท์” ปกปิดบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ 14 ล้าน
ในงานพิธีมอบรางวัลช่อสะอาด ซึ่งเป็นรางวัลเพื่อให้กำลังใจคนทำงานด้านสื่อสารมวลชน ในการรังสรรค์สื่อต้านคอร์รัปชั่น ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2557 ที่ผ่านมา
สำนักข่าวอิศรา และมูลนิธิอิศรา สถาบันพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ได้รับรางวัลดังกล่าว ในส่วนของผู้สร้างสรรค์สื่อสนับสนุน และผู้เผยแพร่สื่อสนับสนุน เรื่อง “เปิดโปงทุจริตคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 4.3 พันล้านบาท และการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินหรือหนี้สินของนักการเมืองไม่แจ้งทรัพย์สิน 14 ล้าน ป.ป.ช.”
ข่าวทั้ง 2 ชิ้นมีที่มาที่ไป และมีความสำคัญอย่างไร ถึงได้รับรางวัลดังกล่าว ?
เพื่อขยายภาพให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ประมวลภูมิหลังข่าวทั้ง 2 ชิ้น ไว้ดังนี้
1.กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนายยุรนันท์ กรณีจงใจปกปิดการถือครองหุ้นบริษัท วิลล่า เมดิก้า (ประเทศไทย) จำกัด 14 ล้านบาท และบัญชีเงินฝากสหกรณ์การบินไทยของคู่สมรส 3 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2554 สำนักข่าวอิศรา เสนอข่าว ตรวจสอบบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น บริษัท วิลล่า เมดิก้า (ประเทศไทย) จำกัด โดยปรากฏชื่อนายยุรนันท์ ถือครองหุ้นบริษัทดังกล่าวอยู่ 144,500 หุ้น (มูลค่าหุ้นละ 100 บาท ทั้งหมด 940,000 หุ้น) เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2554 และจากการตรวจสอบบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น บริษัท โทรญ่า จำกัด พบนางมาริษา ภมรมนตรี (คู่สมรส) ถือครอง 3,000 หุ้น (มูลค่าหุ้นละ 100 บาท) เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2554
อย่างไรก็ดีในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯของนายยุรนันท์ ที่ยื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2554 ไม่ได้ระบุเงินลงทุนทั้ง 2 รายการแต่อย่างใด
เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555 นายยุรนันท์ ภมรมนตรี ชี้แจงข้อเท็จจริงกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ยอมรับว่าไม่ได้แจ้งการถือครองหุ้นบริษัท วิลล่า เมดิก้าฯ ต่อ ป.ป.ช. จริง โดยเป็นความผิดพลาดในขั้นตอนการจัดทำเอกสาร เนื่องจากช่วงนั้นเกิดน้ำท่วมใหญ่ ทำให้ต้องไปช่วยงานอยู่ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ขณะเดียวกันบ้านตนเองก็น้ำท่วม ทำให้มีเอกสารบางส่วนตกหล่นไป แต่ได้แจ้งข้อมูลกับ ป.ป.ช. ไว้แล้ว จึงไม่ถือว่าเป็นการปกปิดแต่อย่างใด
ส่วนการไม่แจ้งถือครองหุ้นบริษัท โทรญ่าฯ ของคู่สมรส นายยุรนันท์ ชี้แจงว่า เกิดจากความเข้าใจผิดของตนเองและภรรยา ที่คิดว่าไม่มีหุ้นอยู่ในบริษัทดังกล่าวแล้ว เนื่องจากคู่สมรสได้ขายหุ้นออกไปนานแล้ว แต่ทางบริษัทยังไม่ได้มีการเปลี่ยนชื่อออก ทั้งนี้ทางพฤตินัยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรอีก และได้มีการแจ้งข้อมูลส่วนนี้ให้ ป.ป.ช. ทราบแล้วเช่นกัน
ต่อมาเรื่องดังกล่าวได้เข้าไปอยู่ในชั้นไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยมีการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า นายยุรนันท์ ไม่ได้ยื่นข้อมูลการถือครองหุ้นในสหกรณ์การบินไทยของคู่สมรส จำนวน 3 ล้านบาทอีก 1 รายการด้วย
หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2556 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนน 7 เสียง เห็นชอบตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่เสนอว่า นายยุรนันท์ จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ และเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่งด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ
โดยไม่แสดงรายการเงินลงทุนของตนเองที่เป็นหุ้นในบริษัท วิลล่า เมดิก้าฯ จำนวน 14,450,000 บาท และไม่แสดงเงินฝากของคู่สมรส บัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษ สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัท การบินไทย จำกัด จำนวน 3,216,231 บาท
ให้เสนอเรื่องให้ศาลีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 263 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2554) มาตรา 34 ห้ามมิให้นายยุรนันท์ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2556 และขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 119 ด้วย
ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2557 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายยุรนันท์ จงใจปกปิดบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ โดยมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียงเห็นว่า นายยุรนันท์ ไม่มีเจตนาจงใจที่จะปกปิดบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ เห็นสมควรให้ยกคำร้อง
โดยศาลพิเคราะห์พยานหลักฐาน เห็นว่า ช่วงขณะเกิดเหตุนายยุรนันท์ เป็นผู้อำนวยการ ศปภ. จึงทำให้เกิดความยากลำบากในการค้นหาเอกสาร อีกทั้งนายยุรนันท์เพิ่งถือครองหุ้นดังกล่าวปี 2552 จึงไม่ได้ยื่นแสดงเงินลงทุนนี้ ประกอบกับขณะนั้นมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯนายยุรนันท์และคู่สมรส มีหลายรายการมูลค่ามากกว่าเงินลงทุนดังกล่าว รวมถึงมูลค่าทรัพย์สินที่ไม่มากนักและมีการยื่นข้อมูลเพิ่มเติมในภายหลัง ส่วนเงินฝากในบัญชีของคู่สมรส ในนสหกรณ์การบินไทย รับฟังได้ว่า นายยุรนันท์ เพิ่งทราบเรื่องนี้จากคู่สมรสภายหลัง ต่อมาได้มีการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯเพิ่มเติมแล้ว
อ่านประกอบ :
อวสาน “แซม -ยุรนันท์” ป.ป.ช.มติเอกฉันท์จงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สิน
"แซม-ยุรนันท์"รอด! ศาลฏีกาฯพิพากษายกคำร้องคดีปกปิดทรัพย์สิน
2.กรณีคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 4.3 พันล้านบาท
เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2556 สำนักข่าวอิศรา เสนอข่าว กรณีกรมสรรพากรอนุมัติคินภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ 30 บริษัทปริศนาเป็นเงินกว่า 3,647 ล้านบาท ต่อมาเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2556 ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ บ้านนายกิตติศักดิ์ อัญญโชติ กรรมการบริษัทเครือข่ายคืนภาษีในจังหวัดนครสวรรค์ พบเป็นบ้านญาติ ภูมิลำเนาเดิมจังหวัดตาก ก่อนหน้านี้ 6 มิถุนายน 2556 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบที่ตั้งบริษัทหลายแห่งในพื้นที่สีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ เช่น บริษัท หอกิตติทรัพย์ จำกัด บริษัท จีจีพีเอสไอ จำกัด พบเป็นห้องเช่าว่างเปล่า บางแห่งปิดล็อคประตู
ต่อมา 13 มิถุนายน 2556 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีคำสั่งระงับการแจ้งเลิกและเสร็จการชำระบัญชีนิติบุคคลจำนวน 49 ราย และวันเดียวกันนายศุภกิจ ริยะการ สรรพากรพื้นที่ 22 ทำหนังสือขอให้ระงับการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีบริษัทที่ถูกตรวจภาษีอากรอย่างน้อย 5 บริษัท
ทั้งนี้ในช่วงเดือนมิถุนายน ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ตรวจสอบหลายบริษัทที่พัวพันเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ในหลายพื้นที่ นอกจากนี้ในส่วนของกรรมการบริษัทก็ปรากฏเป็นชาวบ้านธรรมดา และอาศัยอยู่จังหวัดอื่น ๆ
ต่อมา 26 มิถุนายน 2556 นายมานิตย์ พลรัตน์ นักวิชาการสรรพากรชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติราชการแทนสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 ได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักบริการข้อมูลธุรกิจ อายัดนิติบุคคล จำนวน 30 ราย หลังจากนั้นวันที่ 28 มิถุนายน 2556 นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ รองปลัดกระทรวงการคลั แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง มีนายประสิทธิ์ สืบชนะ ผู้ตรวจราชการเป็นประธาน
30 มิถุนายน 2556 พบชื่อนายวีรยุทธ แซ่หลก เจ้าของเครือข่าย 58 บริษัทคืนภาษีนั่งที่ปรึกษาประธาน กมธ.การเงิน สภาผู้แทนราษฎร ร่วมคณะดูงานประเทศจีนช่วงปลายปี 2555 ต่อมาวันที่ 4 กรกฎาคม 2556 คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา มีมติเห็นชอบรับกรณีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ตรวจสอบอย่างเป็นทางการ หลังจากนั้นวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 ศาลอาญาอนุมัติหมายจับผู้เกี่ยวข้องตามข้อเสนอของดีเอสไอ จำนวน 5 ราย เป็นเอกชนทั้งหมด
ต่อมาวันที่ 22 สิงหาคม 2556 คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของกระทรวงการคลัง สรุปผลมีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง 18 ราย เป็นข้าราชการระดับสูง ซี 9 จำนวน 4 ราย และระดับปฏิบัติงานอีก 14 ราย ขณะที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดที่อธิบดีกรมสรรพากรแต่งตั้ง แถลงข่าวว่ามีเจ้าหน้าที่สรรพากรเกี่ยวข้องด้วยจำนวน 10 ราย
หลังจากนั้น 27 สิงหาคม 2556 คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน วุฒิสภา เรียกนายสาธิต รังคสิริ และผู้เกี่ยวข้องให้ข้อมูล
ท้ายสุดเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2556 นายสาธิต รังคสิริ ในฐานะอธิบดี ย้ายข้าราชการระดับสูงจำนวน 3 ราย คือ นายศุภกิจ ริยะการ นายพายุ สุขสดเขียวและนายกู้ศักดิ์ จันทราช เป็นผู้ตรวจราชการกรม
ก่อนที่ 7 พฤศจิกายน 2556 นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง มีคำสั่งย้ายนายพายุ เป็นสรรพากรพื้นที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ปัตตานี นายศุภกิจ เป็นสรรพาการพื้นที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่นราธิวาส และนายกู้ศักดิ์ เป็นสรรพากรพื้นที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ยโสธร
อ่านประกอบ : บรรทัดสุดท้าย!!คดีฉ้อโกงภาษี VAT รัฐสูญแน่ 4.3 พันล.