- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เจาะถุงเงิน“Blue Sky-Asia Update” ก่อนแปลงโฉมชื่อใหม่ ใครอู้ฟู่ ?
เจาะถุงเงิน“Blue Sky-Asia Update” ก่อนแปลงโฉมชื่อใหม่ ใครอู้ฟู่ ?
เทียบชัด ๆ งบการเงินปี’56 “ช่องฟ้า-ช่องแดง” ก่อนแปลงโฉมเป็น “ฟ้าวันใหม่-PEACE TV” พบ “Blue Sky” โกยรายได้กว่า 124 ล้าน รายจ่ายอ่วม 128 ล้าน หนี้สินท่วม 64 ล้าน จดทะเบียนเพิ่มวัตถุประสงค์ทำธุรกิจขายตรงหลังจอดำเกือบเดือน – “Asia Upadate-DNN” แค่ 12 ล้าน กำไร 2.3 ล้าน
ไม่ว่าการกลับมาครั้งนี้ของสถานีโทรทัศน์สองขั้วสองอุดมการณ์อย่าง “Blue Sky” และ “Asia Update-DNN” ภายใต้ชื่อใหม่อย่าง “ฟ้าวันใหม่” และ “PEACE TV” จะมีจุดประสงค์อย่างไร
(อ่านประกอบ : “Peace TV-ฟ้าวันใหม่”สงครามเย็นสื่อ? หลังยุคสลายสีเสื้อ-คืนความสุข)
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าบรรดาแม่ยกแฟนคลับที่ติดสอยห้อยท้ายมาอย่างยาวนาน เริ่มหวนกลับมาเกาะขอบจอ รอดูรายการต่าง ๆ ของสองสถานีโทรทัศน์ดังกล่าวอีกครั้ง หลัง “จอดำ” ไปนานกว่า 4 เดือน
ที่น่าสนใจคือ หากหมุนเข็มนาฬิกากลับไปในห้วงท้ายปี 2556 ต่อด้วยต้นปี 2557 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บรรดาม็อบทั้งสองฝ่ายอย่าง คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และม็อบ นปช. กำลังเคลื่อนไหวอย่างร้อนแรงนั้น
สถานีโทรทัศน์ทั้งสองช่องต่างเป็นตัวแปรสำคัญ ที่ฉายภาพ-เกาะติดเหตุการณ์ภายในทั้งสองม็อบแทบจะตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงการโหมกระแสปลูกฝังความคิดอุดมการณ์ในฝั่งฝ่ายที่ตนเชื่อว่าถูกต้องมาโดยตลอด !
เชื่อหรือไม่ ? “Blue Sky” โกยรายได้ในช่วงปี 2556 สูงถึง 124 ล้านบาท ขณะที่ “Asia Update-DNN” กลับมีรายได้แตะแค่ 12 ล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบงบการเงินจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ของทั้งสองสถานีโทรทัศน์ดังกล่าว พบรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
“Blue Sky” (ปัจจุบันคือ “ฟ้าวันใหม่”)
จดทะเบียนในชื่อ บริษัท บลูสกาย แชนแนล จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2554 ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 2170 อาคารกรุงเทพทาวเวอร์ ชั้น 8 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ
รายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุด (แจ้งเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2557) มี 9 ราย บริษัท เทเลคาสท์ มีเดีย จำกัด ถือใหญ่สุด 245,000 หุ้น นายไพฑูรย์ ศรีรอด ถือ 70,000 หุ้น หุ้นละ 10 บาท นายภูษิต ถ้ำจันทร์ 60,000 หุ้น นายบุรฤทธิ์ ศิริวิชัย 60,000 หุ้น นายเถกิง สมทรัพย์ (ผอ.สถานีบลูสกาย) 10,000 หุ้น นายแหลมชาติ เกษมสันต์ 12,500 หุ้น นายเฉลียว นครจันทร์ 12,500 หุ้น น.ส.อัญชลี จิวะไพบูลย์ศักดิ์ 15,000 หุ้น และ น.ส.เอมอร ตันเถียร 15,000 หุ้น (หุ้นละ 10 บาท)
แจ้งงบการเงินรอบปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2556 ระบุว่า มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 48,902,270 บาท มีหนี้สินรวมทั้งสิ้น 108,086,803 บาท มีรายได้ทั้งสิ้น 124,076,983 บาท มีรายจ่ายทั้งสิ้น 128,825,573 บาท ขาดทุนสุทธิ 5,705,536 บาท
“Asia Update-DNN” (ปัจจุบันคือ “PEACE TV”)
จดทะเบียนในชื่อ บริษัท เดโมรเครซี นิวส์ เน็ตเวิร์ค จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2552 ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 2539 อาคารอิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว ชั้น 5 ถนนลาดพร้าว แขวงคลองเจ้าคุณสิงห์ เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ
รายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุด (แจ้งเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2557) มี 3 ราย นายวรุธ ทัฬหสุคนธ์ ถือใหญ่สุด 49,998 หุ้น น.ส.ธณัฐฐา นกวิเชียร ถือ 1 หุ้น และ น.ส.อุษาวดี กมล ถือ 1 หุ้น (หุ้นละ 25 บาท)
แจ้งงบการเงินรอบปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2556 ระบุว่า มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 5,330,044 บาท มีหนี้สินรวมทั้งสิ้น 2,213,180 บาท มีรายได้ทั้งสิ้น 12,250,233 บาท มีรายจ่ายทั้งสิ้น 9,511,970 บาท กำไรสุทธิ 2,390,297 บาท
ทั้งหมดนี้คืองบการเงินที่เปรียบเทียบให้เห็นกันชัด ๆ ว่า ช่องไหนมีโกยเม็ดเงินจากบรรดาแม่ยกแฟนคลับเข้ากระเป๋าได้มากกว่ากัน
อย่างไรก็ดีหากคิดเพียงแค่ตัวเลข จะเห็นได้ว่า “Blue Sky” มีรายได้รวมมากกว่า “Asia Update-DNN” อย่างชัดแจ้ง เบ็ดเสร็จกว่า 112 ล้านบาท
แต่หากดูในแง่ของรายจ่าย และหนี้สิน จะเห็นได้ว่า “Blue Sky” มียอดติดลบอย่างฮวบฮาบ โดยรายจ่ายติดลบกว่า 128 ล้านบาท ขณะที่หนี้สินก็เป็นมีสูงถึงกว่า 108 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีเงินกู้ยืมระยะยาวจากบุคคลอื่นถึง 68.4 ล้านบาท เลยทีเดียว !
ที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือ ผู้สอบบัญชีบริษัท บลูสกายฯ เขียนเน้นไว้อย่างชัดเจนว่า บริษัทมีผลขาดทุนสะสมในปี 2556 เป็นจำนวนเงินถึง 64.18 ล้านบาท โดยมีการกู้ยืมเงินระยะยาวจากบุคคลที่เกี่ยวข้องกันและบุคคลอื่นเพื่อใช้ในการดำเนินงานเป็นจำนวน 68.40 ล้านบาท ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นเหตุให้สงสัยเกี่ยวกับความสามารถของบริษัทที่ดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
และด้วยปัจจัยด้านการเงินที่ติดลบดังกล่าวข้างต้น ทำให้ “Blue Sky” ต้องดิ้นรนมากกว่า “Asia Update-DNN” หลายเท่าตัว
จากการตรวจสอบล่าสุด พบว่า บริษัท บลูสกายฯ ได้แก้ไขบริคณห์สนธิในส่วนของวัตถุประสงค์การดำเนินงานของบริษัท โดยเพิ่มในส่วนของ “ประกอบธุรกิจการตลาดแบบตรง” เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2557 หลังจากถูกปิดจอดำไปแล้วเกือบ 1 เดือน
โดยในห้วงนั้น จะเห็นได้ว่า มีการประกาศขายสินค้าของ “Blue Sky” กันอย่างครึกโครม ขณะที่ “เถกิง” ผอ.บลูสกายฯ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กบอกร่ำ ๆ นับถอยหลังการอยู่รอดของ “Blue Sky” เป็นระยะ ๆ เช่นเดียวกัน
นี่คือการต่อสู้ครั้งใหญ่ ของ “Blue Sky” ก่อนหน้าที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการวิทยุโทรทัศน์ (กสท.) จะรับลูกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีมติอนุญาตให้สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม 12 ช่อง ที่ถูกระงับการเผยแพร่ภาพหลังการรัฐประหารให้เผยแพร่ภาพได้ ตามเงื่อนไขของ คสช.
ขณะที่ฟากฝั่ง “Asia Update-DNN” นิ่งสงบ-ไม่แสดงอาการเดือดร้อนแต่อย่างใด ?
หมายเหตุ : ภาพประกอบ เงินสด จาก never-age.com