- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เปิดคำฟ้อง"วู้ดดี้"นำรูปไปใช้ไม่ขออนุญาต ทำ"จักริน"คิดเลิกสอนถ่ายภาพ!
เปิดคำฟ้อง"วู้ดดี้"นำรูปไปใช้ไม่ขออนุญาต ทำ"จักริน"คิดเลิกสอนถ่ายภาพ!
"..เรื่องนี้สร้างผลกระทบทางจิตใจต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานอย่างมากถึงขั้นมีความคิดจะเลิกงานสอนการถ่ายภาพเลยทีเดียวเนื่องจาก ความไม่เป็นธรรมในการถูกนำผลงานที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นมาไปใช้หากำไรทางการค้าโดยตนไม่อนุญาต.."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นรายละเอียดคำฟ้องในคดี นายจักริน ภัสสรดิลกเลิศ อาจารย์สอนถ่ายภาพชื่อดัง ในฐานะโจทก์ ได้มอบหมายให้ทนายความส่วนตัวยื่นฟ้อง บริษัท วู้ดดี้ เวิลด์ จํากัด จำเลยที่ 1 และนายวุฒิธร มิลินทจินดา หรือ "วู้ดดี้" พิธีกรชื่อดังเจ้าของรายการ "วู้ดดี้เกิดมาคุย" ในความผิดเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ภาพถ่าย "ประตูเมืองขอนแก่น" โดยยื่นฟ้องเป็นคดีอาญาต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 22 ส.ค.57 ที่ผ่านมา
(อ่านประกอบ : "ช่างภาพดัง"ยื่นฟ้อง"วู้ดดี้" นำรูปถ่ายไปใช้โปรโมทรายการไม่ขออนุญาต)
------------
โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์ศิลปกรรมประเภทงานภาพถ่าย อันเป็นงานสร้างสรรค์ภาพที่เกิดจากการใช้เครื่องมือบันทึกภาพโดยให้แสงผ่านเลนซ์ไปยังฟิล์มหรือกระจก และล้างด้วยน้ำยาซึ่งมีสูตรเฉพาะหรือด้วยกรรมวิธีใดๆอันทำให้เกิดภาพขึ้นหรือการบันทึกภาพโดยเครื่องมือหรือวิธีการอย่างอื่น ซึ่งเป็นงานภาพถ่ายอันมีลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 4 (5) โดยมีชื่อภาพว่า “ประตูเมืองขอนแก่น” ซึ่งในการสร้างสรรค์งานภาพถ่ายนี้ขึ้นมานั้นต้องอาศัยประสบการณ์ฝึกหัดถ่ายภาพเป็นระยะเวลาหลายปีเพื่อฝึกหัดการจัดองค์ประกอบของแสง คำนวณระยะเวลาพระอาทิตย์ขึ้นโดยตื่นแต่เช้ามาเพื่อรอดูแสงสว่างจากธรรมชาติว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าวที่จะถ่ายภาพปริมาณแสงสว่างทางท้องฟ้ามีเพียงพอหรือไม่
หากในวันดังกล่าวมีเมฆมากก็จะไม่สามารถถ่ายภาพได้ ซึ่งต้องใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการออกแบบงานภาพถ่ายในความคิดแล้วจึงรอจังหวะที่ดีที่สุดในแต่ละวันมาเพื่อคัดเลือกภาพที่ดีที่สุด
โจทก์ต้องตื่นก่อนพระอาทิตย์ขึ้นเป็นเวลาหลายเดือนเพื่อรอให้จังหวะของแสงสมดุลกันมากที่สุด ต้องทุ่มเทความรู้ วิจารณญาณ ฝีมือแรงงานในขั้นตอนการถ่ายภาพ “ประตูเมืองขอนแก่น” ต้องเลือกมุมและเลือกเลนซ์เฉพาะที่จะใช้ถ่ายเพื่อให้กล้องสามารถบันทึกแสงพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าพร้อมภาพประตูเมืองขอนแก่นในช่วงระยะเวลาที่มีประชาชนทั่วไปสัญจรไปมาน้อยที่สุด โดยต้องคำนวณให้ดวงอาทิตย์อยู่ระหว่างกึ่งกลางของประตูเมืองขอนแก่นให้พอดีองศาที่สวยงาม
โจทก์ได้ถ่ายภาพนี้เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2551 เวลา 6.01 น. ด้วยกล้อง Nikon D300 , รูรับแสง F22 สปีด ¼ วินาที, Iso200 แบบใช้ขาตั้งกล้อง รายละเอียดปรากฏตามภาพถ่าย “ประตูเมืองขอนแก่น”
โดยภาพดังกล่าวได้จัดทำเป็นโปรสการ์ดและทำสำเนาจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไปมาโดยตลอด สร้างรายได้แก่โจทก์จำนวนหลายแสนบาทต่อปี และบุคคลในวงการงานภาพถ่ายของจังหวัดขอนแก่นก็ต่างรู้จักโจทก์เป็นอย่างดีว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งานภาพถ่ายชิ้นนี้ขึ้นเนื่องจากโจทก์เป็นผู้ฝึกสอนการถ่ายภาพแก่ประชาชนทั่วไปที่สนใจในนามของชมรมการถ่ายภาพของแต่ละจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โจทก์เป็นบุคคลสัญชาติไทยได้สร้างสรรค์งานขึ้นในประเทศไทย โจทก์จึงเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมประเภทงานภาพถ่าย ตาม พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์
จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภท บริษัท จำกัด จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย โดยจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน
จำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการการจัดสร้างภาพยนตร์ ผลิตรายการวิทยุและโทรทัศน์ รายละเอียดปรากฏตามสำเนาหนังสือรับรอง กรมพัฒนาธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์
ข้อ 2. เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันจัดงานกิจกรรมโดยมีวัตถุประสงค์ทางการค้าโดยการหาค่าเช่าช่วงเวลาเพื่อโฆษณาสินค้าชนิดต่างๆในรายการ “วู้ดดี้เกิดมาคุย” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ อ.ส.ม.ท. ช่อง 9 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้โฆษณาประชาสัมพันธ์งานให้ประชาชนรู้จักโดยได้ละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานของโจทก์นำไปทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์
โดยเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2557 จำเลยที่ 2 ได้นำสำเนาภาพถ่าย เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 3 ลงภาพถ่ายในแอพพลิเคชั่น “instagram” ส่วนตัวของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีในสาธารณะชนว่า เจ้าของ “instagram” ใช้ชื่อในการใช้งานว่า “ @woodytalk” ซึ่งมีสาธารณชนเข้าถึงข้อมูลนี้อยู่กว่า 620,000 คน ที่มีประชาชนทั่วไปเข้าถึงข้อมูลเยอะนั้นเพราะจำเลยที่ 2 เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคมไทยและเป็นพิธีกรชื่อดัง โดยนอกจากการลงข้อภาพถ่ายอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์ใน “instagram” ของจำเลยที่ 2 เองแล้วยังได้บังอาจดัดแปลง ทำซ้ำ เผยแพร่ต่อสาธารณชน งานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ในรายการ “ตื่นมาคุย” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ อ.ส.ม.ท. ช่อง 9 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2557 เวลา 8.00 – 9.00 น. เพื่อโฆษณากิจกรรมทางการค้าของจำเลยทั้งสองเอง รายละเอียดปรากฎตามสำเนางานภาพถ่ายที่ปรากฎในรายการดังกล่าว
ซึ่งเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เพื่อแสวงหาผลประโยชน์อันเกิดจากการนำงานภาพถ่ายของโจทก์ไปใช้โฆษณาเพื่อหารายได้จากงานกิจกรรมที่จำเลยทั้งสองร่วมกันจัดขึ้นในงาน “ม่วนซื่นโฮแซว...ชาวขอนแก่น” กับ วู้ดดี้ มิลินทจินดา ซึ่งการจัดงานดังกล่าวสร้างรายได้ให้แก่จำเลยทั้งสองผ่านการรับโฆษณาสินค้าหลากหลายชนิด โดยจำเลยทั้งสองนำงานภาพถ่ายของโจทก์ ซึ่งมีความสวยงามและดึงดูดสายตาคนทั่วไปเพื่อนำมาหากำไรทางการค้าโดยมิได้ลงน้ำพักน้ำแรงในการสร้างสรรค์งานศิลปกรรมอันจำเป็นต้องอาศัยความเพียรอุตสาหะอดทน ใช้จิตวิญญาณในการสร้างสรรค์ผลงาน ใช้มุมมองทางศิลป์และฝีมือการหัดถ่ายภาพเป็นเวลาหลายปีเพื่อสร้างสรรค์ผลงานดีๆออกมาหนึ่งชิ้นให้มีคนสนใจ แต่การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ได้รับอนุญาตตาม มาตรา 15(5) ให้ถือว่าเป็นการเป็นละเมิดลิขสิทธิ์ ได้กระทำดังต่อไปนี้
1)ทำซ้ำหรือดัดแปลง
2)แผยแพร่ต่อสาธารณชนและจำเลยทั้งสองกลับนำงานภาพถ่ายของโจทก์ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อหาผลประโยชน์ทางการค้าโดยทั้งจำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น โดยกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อหากำไร ซึ่งได้กระทำการดังต่อไปนี้
1)ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า ให้เช่าซื้อ หรือเสนอให้เช่าซื้อ 2)แผยแพร่ต่อสาธารณชน 3)แจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ นอกจากนี้โจทก์ได้เคยทักทวงเรื่องการนำงานภาพถ่ายของโจทก์ไปยังทีมงานของจำเลยทั้งสองแล้วแต่ได้คำตอบว่าจำเลยทั้งสองมีสิทธิใช้ได้เนื่องจากเป็นภาพจากอินเตอร์เน็ตใครๆก็มีสิทธิใช้ ซึ่งคำตอบนี้สร้างความเจ็บช้ำให้แก่โจทก์ในฐานะผู้สร้างสรรค์ผลงานอย่างรุนแรงเพราะกว่าโจทก์จะสร้างงานภาพถ่าย “ประตูเมืองขอนแก่น” ชิ้นนี้ได้ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ การฝึกฝีมือและความอดทนอย่างสูงกว่าคนทั่วไป แต่จำเลยทั้งสองก็มิได้ใส่ใจ
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2557 โจทก์ได้มอบหมายให้ทนายความทำหนังสือทวงถามเพื่อให้จำเลยทั้งสองซื้อลิขสิทธิ์งานภาพถ่ายของโจทก์ไปให้ถูกต้องตามกฎหมาย รายละเอียดปรากฏตามสำเนาหนังสือทวงถามและใบตอบรับไปรษณีย์ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ซึ่งจำเลยทั้งสองได้ให้ฝ่ายกฎหมายของจำเลยที่ 1 ตอบหนังสือกลับและส่งมาทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ของทนายความโจทก์ รายละเอียดว่ายอมรับผิดที่ได้นำภาพดังกล่าวไปลงข้อความด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของทีมงานปรากฎ ฉบับลงวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2557 ซึ่งโจทก์ก็ได้แจ้งไปในไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ติดต่อกับทีมงานของจำเลยที่ 1 เพื่อขอให้เจรจาซื้อลิขสิทธิ์ภาพไปจะได้ไม่ต้องนำเรื่องมาฟ้องต่อศาล
แต่ต่อมาฝ่ายกฎหมายของจำเลยที่ 1 ได้ตอบมาเป็นหนังสืออีกฉบับทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์มีเนื้อหาว่าจำเลยทั้งสองมีสิทธิ์นำภาพดังกล่าวไปใช้ได้โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทนแต่เจ้าของผลงงาน เรื่องนี้สร้างผลกระทบทางจิตใจต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานอย่างมากถึงขั้นมีความคิดจะเลิกงานสอนการถ่ายภาพเลยทีเดียวเนื่องจาก ความไม่เป็นธรรมในการถูกนำผลงานที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นมาไปใช้หากำไรทางการค้าโดยตนไม่อนุญาต
การกระทำของจำเลยทั้งสองถือว่าเป็นการกระทำผิดพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 โดยจำเลยทั้งสองได้กระทำการทำซ้ำหรือดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชนแก่งานอันนี้ลิขสิทธิ์ โดยรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานนั้นเพื่อหากำไร ให้ถือว่าจำเลยทั้งสองกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยได้กระทำการ
1) ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า ให้เช่าซื้อ หรือเสนอให้เช่าซื้อ 2)เผยแพร่ต่อสาธารณชน 3)แจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ โดยเหตุที่จำเลยทั้งสองได้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ต่อโจทก์นั้นเป็นไปโดยเพื่อแสวงหาผลกำไรทางการค้าจากการนำศิลปกรรมประเภทงานภาพถ่ายไปจัดทำภาพโฆษณาเชิญชวนสาธารณชนเข้าร่วมงานโดยหากำไรจากการขายโฆษณา อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27, 31, 69 วรรคสอง, 70 วรรคสอง, 74, 75และมาตรา 76 ในพระราชบัญญัติเดียวกัน รวมถึงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91
เหตุเกิดที่ สถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ แขวงทุ่งสองห้อง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 28 ถึงวันที่วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2557 ในเวลากลางวัน
อนึ่ง โจทก์เพิ่งทราบการละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยทั้งสองต่อโจทก์ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2557 จากการประชาสัมพันธ์จากสื่อมวลชนทางช่องทางแอพพลิเคชั่น “instagram” และทางการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ อ.ส.ม.ท. ช่อง 9
คดีนี้ โจทก์มิได้แจ้งความร้องทุกข์ไว้ต่อพนักงานสอบสวน เพราะประสงค์จะดำเนินคดีเอง
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
หมายเหตุ: ภาพประกอบเรื่องจาก Google
(ภาพต้นฉบับ)
(สื่อโปรโมทรายการผ่าน IG)
(หนังสือชี้แจงครั้งที่ 1 )
(หนังสือชี้แจงครั้งที่ 2 )