- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ปูมหลัง 6 อรหันต์ "ไม้บรรทัด" สอบปมบิ๊กสื่อ 19 รายรับเงิน"ซีพีเอฟ"
ปูมหลัง 6 อรหันต์ "ไม้บรรทัด" สอบปมบิ๊กสื่อ 19 รายรับเงิน"ซีพีเอฟ"
พลิกปูมหลัง 6 อรหันต์ ! อดีตบิ๊ก คตส.2 ราย นักวิชาการสื่ออีก 3 ราย 2 สภาวิชาชีพสื่อ ตั้งสอบปมเอกสารหลุดบิ๊กสื่อ 19 ราย รับเงิน “ซีพีเอฟ”
จากกรณีสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ร่วม และตั้งคณะกรรมการอิสระ 6 คน เพื่อสอบสวนกรณีข้อกล่าวหาสื่อมวลชนรับเงินบริษัทเอกชนเพื่อปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพ โดยอ้างว่าเป็นของฝ่ายประชาสัมพันธ์บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารครบวงจร ที่มีเนื้อหาสำคัญที่ส่งผลประทบต่อความเชื่อถือของสื่อทั้งระบบ
โดยคณะกรรมการดังกล่าวตั้งนายกล้าณรงค์ จันทิก อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นประธานคณะกรรมการฯ
(อ่านประกอบ : เปิดชื่อ 6 อรหันต์สอบปมบิ๊กสื่อรับเงินซีพีเอฟ "กล้านรงค์-สัก-สิทธิโชค"มาครบ )
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ขอนำเสนอประวัติและเบื้องหลังการทำงานที่ผ่านมาของคณะกรรมการทั้ง 6 คน มาเผยแพร่ ดังนี้
1.นายกล้านรงค์ จันทิก
อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 (สสร.50) อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และอดีตกรรมการ ป.ป.ช. จากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารเมื่อปี 2549
เริ่มต้นการทำงานจากการทำหน้าที่เป็นเลขานุการส่วนตัว ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นได้ไต่เต้าขึ้นเป็นเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) ในปี 2540 หลังจากนั้นในปี 2549 ได้ร่วมลงนามทูลเกล้าฯถวายฎีกาขอนายกฯพระราชทาน ต่อมาภายหลังเกิดรัฐประหารในปี 2549 ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ ป.ป.ช.
ทั้งนี้ นายกล้านรงค์ มีชื่อโดดเด่นจากการทำคดีปกปิดทรัพย์สินของพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น กรณีการกู้ยืมเงิน 45 ล้านบาทจากบริษัท เอ เอ เอส ออโต้ เซอร์วิส จำกัด หลังจากนั้นก็โด่งดังเป็นพลุแตกภายหลังตรวจสอบเชิงลึกจนปิดคดี “ซุกหุ้น” ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯได้สำเร็จ
นายกล้านรงค์ มีบทบาทอย่างมากภายหลังรัฐประหารปี 2549 นอกจากถูกตั้งเป็นกรรมการ ป.ป.ช. แล้วยังตั้งเป็นกรรมการ คตส. เพื่อสอบสวนคดีทุจริตของพ.ต.ท.ทักษิณ และนั่งเป็น สสร.50 เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550
และเคยเป็นรองประธานสภาก่ารหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
2.นายสัก กอแสงเรือง
อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ เมื่อปี 2549 อดีตส.ว.สรรหา เมื่อปี 2554 อดีตโฆษกกรรมการ คตส. จากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารปี 2549 และอดีตนายกสภาทนายความ
นายสัก มีบทบาทอย่างมากในช่วงรับตำแหน่งโฆษกกรรมการ คตส. ในเรื่องการตรวจสอบเส้นทางการเงิน และเรื่องหุ้นของพ.ต.ท.ทักษิณ และคดีการปล่อยเงินกู้ให้กับพม่าของธนาคารเอ็กซิมแบงก์ ซึ่งส่อเอื้อผลประโยชน์กับบริษัท ชินคอร์ป ที่มีพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ถือหุ้นในขณะนั้น รวมถึงเป็นผู้ประกาศอายัดทรัพย์สิน พ.ต.ท.ทักษิณ 7.3 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม นายสัก ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี พร้อมดำเนินคดีอาญา กรณีมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากพ้นจากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังไม่ถึง 5 ปี ในช่วงเข้ารับตำแหน่ง ส.ว.สรรหา เมื่อปี 2554
3.ศ.พิเศษ สิทธิโชค ศรีเจริญ
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
อดีตประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ สภาการหนังสือพิมพ์ และอดีตทนายความ ป.ป.ช. เคยว่าความในคดีสำคัญหลายครั้ง เช่น คดีฟ้องพ.ต.ท.ทักษิณ และอดีตครม.พ.ต.ท.ทักษิณ ในคดียักยอกทรัพย์กรณีการออกฉลากหวยบนดินของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นต้น
ส่วนคดีที่ได้รับการจับตามากที่สุดคือ คดีทุจริตรถ-เรือดับเพลิง กทม. มูลค่ากว่า 6 พันล้านบาท เอาผิดนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน-นายสมัคร สุนทรเวช อดีตผู้ว่าฯกทม. นายโภคิน พลกุล อดีตรมว.มหาดไทย นายประชา มาลีนนท์ อดีตรมช.มหาดไทย และนายวัฒนา เมืองสุข อดีตรมว.พาณิชย์ จนท้ายสุดศาลฎีกาแผนกคดีอาญาทางการเมืองตัดสินให้นายประชา และนายสมัคร มีความผิดทางอาญา ส่งผลให้นายประชาหลบหนีไปต่างประเทศ
4.รศ.ดร.ดรุณี หิรัญรักษ์
อดีตคณบดีนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ และนักวิชาการอิสระด้านนิเทศศาสตร์ เคยถูกมอบหมายให้เป็นประธานคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อกำหนดอนาคตขอสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ จากคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกฯขณะนั้น มีหน้าที่รับผิดชอบรับฟังความคิดเห็นของประชาชานทั่วประเทศ และประมวลความคิดเห็นจากกลุ่มต่าง ๆ กรณีอนาคตของทีไอทีวี
ทั้งนี้ ในช่วงดังกล่าวสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ถูกคุณหญิงทิพาวดีให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีผู้บริหาร โดยดำเนินการฟ้องเรียกคืนหนี้สินต่าง ๆ ทั้งหนี้สินค่าสัมปทาน และหนี้สินที่ตกค้างเรื่องการส่งมอบทรัพย์สินที่ปรากฎในสัญญา และเรื่องค่าปรับ ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการฟ้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ
5.รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ปัจจุบันดำรงตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นที่รู้จักกันในด้านนักวิชาการทางกฎหมาย เคยทำรายการเกี่ยวกับประเด็นกฎหมายตามสื่อต่าง ๆ เคยเป็นพิธีกรรายการเล่าข่าวเช้านี้ทางช่อง 11 คู่กับนายแทนคุณ จิตต์อิสระ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และเคยเป็นวิทยกรรายการ “ช่วยคิด ช่วยทำ” ทางช่อง 3 คู่กับ รศ.สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง
รศ.ดร.เจษฎ์ โด่งดังภายหลังถูกนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธิกรชื่อดัง เชิญมาออกรายการ “เจาะข่าวเด่น” โดยนำมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับรศ.สุขุม นวลสกุล ในประเด็นการเคลื่อนไหวของม็อบ กปสส. นอกจากนี้ยังเป็นที่กล่าวขวัญถึงในการ “ดีเบต” เรื่องการเมืองกับนายเอกชัย ไชยนุวัต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ร่วมมหาวิทยาลัยเดียวกันอีกด้วย
6.นายเจษฎา อนุจารี
ผู้อำนวยการสำนักฝึกอบรมวิชาชีพว่าความ สภาทนายความ
เคยเป็นทนายความของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และเลขาธิการกลุ่ม กปปส. โดยทำคดีให้กับนายสุเทพหลายคดี เช่น ในช่วง กปปส. เคลื่อนไหวทางการเมืองเมื่อปลายปี 2556 ที่นายสุเทพ ถูกศาลอาญาออกหมายจับ และคดีความในช่วงสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 เป็นต้น นอกจากนี้ยังเคยขึ้นปราศรัยบนเวที กปปส. วิพากษ์วิจารณ์ระบอบทักษิณ
ทั้งหมดนี้คือปูมหลังทั้งหมดของคณะกรรมการพิเศษ 6 คนที่สภาการหนังสือพิมพ์ และสภาการวิทยุและโทรทัศน์ แต่งตั้งขึ้นมาสอบสวนขยายผลกรณีข้อกล่าวหาสื่อมวลชนรับเงินบริษัทเอกชนเพื่อปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพ
ดูจากรายชื่อและภูมิหลังแต่ละคนอยู่ในระดับอรหันต์การันตี ผลสอบสวนจะออกมาอย่างไร ต้องติดตามกันต่อไป
อ่านประกอบ :
2 สภาวิชาชีพสื่อ ตั้ง "กล้านรงค์" สอบปม "ซีพีเอฟ" จ่ายเงินบิ๊กสื่อ 19 ราย
"ซีพีเอฟ" ยันไม่ใช้เงินซื้อบิ๊กสือ 19 ราย ปั้นภาพลักษณ์ทางธุรกิจบริษัท
ปูดข้อมูลบ.ยักษ์ใหญ่ ตั้งงบลับ จ่ายเงินบิ๊กสื่อ 19 ราย ปั้นภาพลักษณ์ธุรกิจ