- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- พลิกปูม 10 “กุนซือ” นั่งแท่นที่ปรึกษา คสช.
พลิกปูม 10 “กุนซือ” นั่งแท่นที่ปรึกษา คสช.
พลิกปูมหลัง “กุนซือ” 10 รายโผล่นั่งแท่นที่ปรึกษา คสช. คนสนิท “บูรพาพยัคฆ์” พรึ่บ ! พ่วง “ขงเบ้ง” ยุค “ทักษิณ” ด้วย
เป็นเวลา 1 สัปดาห์แล้วที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้า คสช. ทำการ “ยึดอำนาจ” จากรัฐบาลรักษาการณ์ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมเข้าควบคุมบริหารการทำงานของส่วนราชการต่าง ๆ โดยทันที
ทั้งนี้ “พล.ประยุทธ์” แบ่งโครงสร้างการบริหารประเทศนำกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ จำแนกออกเป็น 8 ฝ่าย โดยมีฝ่ายที่มีความสำคัญอย่างน้อย 5 ฝ่าย คือ ฝ่ายความมั่นคง, ฝ่ายเศรษฐกิจ, ฝ่ายสังคมและจิตวิทยา, ฝ่ายกฎหมาย และฝ่ายกิจการพิเศษ พร้อมกับจัดสรรให้ 3 ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นผู้กำกับดูแล
และเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา “พล.อ.ประยุทธ์” จัดตั้งคณะที่ปรึกษา คสช. จำนวน 10 คน มีหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะ ความเห็นแก่ คสช. พร้อมแต่งตั้งคณะบุคคลทำหน้าที่อนุกรรมการ หรือคณะทำงานและเจ้าหน้าที่ตามความเหมาะสม
อย่างไรก็ดีในทีมปรึกษาดังกล่าว มีบุคคลประเภท “บิ๊กเนม” เข้าร่วมอยู่เป็นจำนวนมาก และบางคนเป็นที่สนิทชิดเชื้อกับ “พล.อ.ประยุทธ์” อย่างแน่นแฟ้นอีกด้วย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ขอจำแนก “ปูมหลัง” ของแต่ละบุคคลดังนี้
1.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานที่ปรึกษา
พล.อ.ประวิตร หรือ “บิ๊กป้อม” พี่ใหญ่ทหาร “บูรพาพยัคฆ์” จบโรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 6 และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่นที่ 17 รุ่นเดียวกับพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และหัวหน้าคณะรัฐประหารปี 2549 และพล.อ.วินัย ภัทธิยกุล อดีตเลขาธิการคณะรัฐประหารปี 2549
พล.อ.ประวิตร เป็นนายทหารที่เติบโตมาจากกองทัพภาคที่ 1 สังกัดกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) หรือที่เรียกกันว่า “ทหารเสือราชินี” ต่อมาได้ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกเมื่อปี 2547 และเป็นหนึ่งในสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายหลังคณะรัฐประหารปี 2549
หลังจากนั้นได้ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองโดยรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จด้านความมั่นคงอย่างสูงจนสื่อขนานนามว่า “ป้อมทะลุเป้า”
2.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รองประธานที่ปรึกษา
พล.อ.อนุพงษ์ หรือ “บิ๊กป๊อก” น้องรองทหาร “บูรพาพยัคฆ์” จบโรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 10 รุ่นเดียวกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่นที่ 21 ภายหลังได้รับตำแหน่ง ผบ.ทบ. ในปี 2550
พล.อ.อนุพงษ์ เป็นหนึ่งในทหารผู้ก่อการรัฐประหารปี 2549 โดยขณะนั้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ทั้งนี้พล.อ.อนุพงษ์ เป็นนายทหารที่อยู่ในสายงานคุมกำลังรบมาตั้งแต่เริ่มรับราชการใหม่ เคยเป็นผู้บัญชาการ ร.21 รอ. ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.)
โดยบทบาทด้านการเมือง พล.อ.อนุพงษ์ ได้รับความไว้วางใจจากนายสมชาย วงษ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ให้นั่งตำแหน่งผู้อำนวยการกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในปี 2551 เพื่อปราบปรามการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ โดยในครั้งนั้น พล.อ.อนุพงษ์ ได้เรียกส่วนราชการต่าง ๆ มาประชุมกัน ซึ่งเรียกกันว่า "ปฏิวัติหน้าจอ"
ต่อมาพล.อ.อนุพงษ์ ถือเป็นขุนพลคู่ใจรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ในการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553 โดยรับตำแหน่งหัวหน้าผู้ปฏิบัติงานศูนย์อำนวยการรักษาสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)
3.ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองประธานที่ปรึกษา
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร หรือ “หม่อมอุ๋ย” จบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ต่อมาเริ่มทำงานที่ธนาคารกสิกรไทย ก่อนเข้าดำรงตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน และพล.อ.สุจินดา คราประยูร หลังจากนั้นดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาในปี 2535 – 2536 ต่อมาเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารประเทศไทยเมื่อปี 2544 ก่อนจะรับรางวัลผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งเอเชียในปี 2549
บทบาทด้านการเมือง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลังสมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ต่อมาได้ยื่นใบลาออกในปี 2550 เนื่องจากไม่พอใจที่รัฐบาลนำนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์มาทำงาน และการดำเนินงานของรัฐมนตรีบางคนเอื้อผลประโยชน์ให้สื่อบางรายเป็นกรณีเฉพาะ
4.นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา
นายสมคิด ขุนพลเศรษฐกิจฝีมือฉมังในสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ต้นตำรับนโยบายประชานิยม จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวิสเทิร์น
นายสมคิด ผู้คว่ำหวอดงานการเมืองด้านเศรษฐกิจมาอย่างยาวนาน ดำรงตำแหน่งครั้งแรกเป็นเลขานุการรมว.คลัง สมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ หลังจากนั้นเติบโตขึ้นตามลำดับจนได้รับตำแหน่งรมว.คลังในปี 2544, 2546 และ 2547 รองนายกรัฐมนตรีปี 2545, 2547 และ 2548 และตำแหน่งสุดท้ายเป็นรมว.พาณิชย์ในปี 2548 ก่อนเกิดรัฐประหารในปี 2549
ภายหลังรัฐประหารได้รับตำแหน่งจากรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ แต่ทนแรงกดดันไม่ไหวต้องลาออกในไม่กี่วัน หลังจากนั้นถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี เพราะพรรคไทยรักไทย (ทรท.) ถูกยุบ ต่อมาก่อตั้งพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา โดยนั่งเป็นที่ปรึกษาพรรค
5.นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ที่ปรึกษา
นายณรงค์ชัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สมัยรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี จบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ออสเตรเลีย ปริญญาโทและปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยจอนส์อปกินส์
โดยนายณรงค์ชัย เป็นนักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจด้านการเงิน เคยดำรงตำแหน่งรมว.พาณิชย์ และดำรงตำแหน่งส.ว.ในปี 2549 พร้อมกับได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในปีเดียวกัน
6.นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา
นายวิษณุ นักกฎหมายมือฉมังสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนักเขียนและคอลัมนิสต์มือฉกาดให้หลายสื่อ มีผลงานด้านกฎหมายเป็นจำนวนมากทั้งด้านวิชาการ และปฏิบัติ จบปริญญาตรีนิติศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิตไทยสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ปริญญาโท Master of Laws (LL.M.) และปริญญาเอก Doctor of the Science of Law (J.S.D.) มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียน เบิร์กลีย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
นายวิษณุ เริ่มต้นรับราชการด้วยการเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนเข้ารับตำแหน่งรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในปี 2539 และเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในปี 2536 – 2545 ระหว่างนั้นดำรงตำแหน่งส.ว.ในปี 2535 – 2543 ด้วย
ด้านการเมือง นายวิษณุ ได้รักษาการตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในปี 2535 สมัยรัฐบาลพล.อ.สุจินดา คราประยูร ก่อนจะรับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี 2 สมัย ในรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณปี 2545 ต่อมาหลังรัฐประหารปี 2549 ได้รับแต่งตั้งเป็น สนช. หลังจากสิ้นสุดภารกิจ สนช. ก็ไม่ได้เข้ารับตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ แต่ยังรับหน้าที่ในคณะกรรมการของรัฐอีกหลายคณะ
7.นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ ที่ปรึกษา
นายยงยุทธ หลานของดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และเป็นบุคคลหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการศึกษาและวิจัยวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยลอนดอน และปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด
เริ่มต้นด้วยการเป็นอาจารย์ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยงานวิจัยส่วนใหญ่เป็นงานด้านการพัฒนายาต้านมาลาเรีย โดยเป็นผู้มีผลงานโดดเด่นด้านมาลาเรียจนได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาชีวเคมี ในปี 2527 และเป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกของโลกที่ค้นพบโครงสร้าง 3 มิติของโปรตีนของเชื้อมาลาเรีย ที่มีความสำคัญโดยเป็นเป้าหมายของยาต้านมาลาเรีย ค้นพบเอนไซม์ใหม่และวิถีปฏิกิริยาใหม่ของเชื้อมาลาเรีย อันเป็นแนวทางในการพัฒนายาต้านมาลาเรียชนิดใหม่
8.พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ที่ปรึกษา
พล.อ.อ.อิทธพร หรือ “บิ๊กเฟื่อง” จบโรงเรียนเตรียมทหารรุ่น 11 และโรงเรียนนายเรืออากาศรุ่น 18 เริ่มรับราชการในสังกัดกองทัพอากาศจนปี 2538 ได้รับตำแหน่งผู้บังคับการกองบิน 21 เจ้ากรมยุทธการทหารอากาศในปี 2547 ผู้ช่วยเสนาธิการทหารอากาศฝ่ายยุทธการในปี 2549 รองเลขาธิการทหารอากาศในปี 2550 ก่อนขึ้นเป็นเสนาธิการทหารอากาศในปีเดียวกัน หลังจากนั้นได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ในปี 2551
โดย พล.อ.อ.อิทธพร ได้รับความไว้วางใจจากพล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผบ.ทอ.คนก่อนหน้า ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำคณะรัฐประหารปี 2549 ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ทหารของประชาชน” อย่างแท้จริง
9.พล.อ.นพดล อินทปัญญา ที่ปรึกษา
พล.อ.นพดล หรือ “บิ๊กกี๋” จบโรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 6 รุ่นเดียวกับพล.อ.ประวิตร พี่ใหญ่ “บูรพาพยัคฆ์” และพล.อ.สนธิ หัวหน้าคณะรัฐประหารปี 2549 ใช้ชีวิตราชการทหารที่ พล.1 รอ. อย่างยาวนาว โดยได้รับตำแหน่งผบ.พล.1 รอ. ในปี 2541 หลังจากนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายเสนาธิการประจำรมว.กลาโหม ในสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ก่อนที่จะได้รับตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในยุคที่พล.อ.ประวิตร เป็นรมว.กลาโหม สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
10.พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ที่ปรึกษา และเลขานุการ
พล.อ.ดาว์พงษ์ หรือ “บิ๊กหนุ่ย” จบโรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 12 รุ่นเดียวกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.คนปัจจุบัน โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่นที่ 23 และโรงเรียนเสนาธิการทหารบก โดยเป็นนายทหารที่เติบโตมาจากกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) จนได้เป็นผู้บังคับการกรมในปี 2530 หลังจากนั้นได้เป็นผบ.พล.1 รอ. ต่อมาดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1
ทั้งนี้ พล.อ.ดาว์พงษ์ เป็นผู้มีบทบาทสูงในเหตุการณ์ล้อมปราบสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 ซึ่งขณะนั้นมียศเป็นพลโท ในตำแหน่งเลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ออกแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์ ซึ่งได้รับการวิจารณ์ว่าทำได้ดี และชี้แจงได้อย่างเข้าใจ จนได้เป็นเสนาธิการทหารบกในปี 2553 และเลื่อนยศเป็นพลเอก
กล่าวกันว่าเพราะความสนิทสนมกับพล.อ.ประยุทธ์ จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเสนาธิการทหารบก โดยเป็นทหารสาย “วงศ์เทวัญ” เพียงคนเดียวที่ได้เลื่อนยศในยุคทหารสาย “บูรพาพยัคฆ์” มีอำนาจ และก่อนจะเกษียณยังได้รับตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบกอีกด้วย
ทั้งหมดนี้คือปูมหลังบางห้วงบางตอนของบรรดาคณะที่ปรึกษา คสช. ภายหลัง “พล.อ.ประยุทธ์” เดินหน้าใช้ยุทธศาสตร์ “สลายสีเสื้อ” คลายความขัดแย้งในสังคมที่บาดหมางร้าวลึกกันมานานกว่า 10 ปี
และจะสามารถเป็นตัวความหวังให้กับ คสช. ได้หรือไม่ ต้องจับตาดูต่อไป !