- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- จุดชี้ขาด “ยิ่งลักษณ์” คดีจำนำข้าว ลอยตัวอาจไม่พ้นผิด?
จุดชี้ขาด “ยิ่งลักษณ์” คดีจำนำข้าว ลอยตัวอาจไม่พ้นผิด?
ป.ป.ช.งัด “มาตรา 11” พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน มาเป็นจุดชี้ขาด “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” คดีถอดถอน ปมจำนำข้าว ...ลอยตัวอาจไม่พ้นความผิด?
การออกแถลงการณ์ผ่านทีวีพูล (18 ก.พ.) และแฟนเพจส่วนตัว (20 ก.พ.) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) หวั่นไหวต่อการตรวจสอบการทุจริตจากโครงการรับจำนำข้าวโดย “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)” ที่ล่าสุดมีมติเป็นเอกฉันท์ให้แจ้งข้อกล่าวหากับ “ยิ่งลักษณ์” ในคดีถอดถอน พร้อมนัดให้มารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 27 ก.พ.นี้
โดยเฉพาะข้อความในแฟนเพจ “Yingluck Shinawatra” ที่โจมตีการทำงานของ ป.ป.ช.ในหลายประเด็น ทั้งใช้เวลาดำเนินการหลังตั้งอนุกรรมการไต่สวนเพียง 21 วันก็มีมติแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน และถือว่าเร็วมากเมื่อเทียบกับคดีทุจริตการระบายข้าวสมัยรัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่มีผู้ยื่นคำร้องมาตั้งแต่ปี 2552 แต่จนบัดนี้ ป.ป.ช.ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหากับบุคคลใด หรือกรณีที่ยิ่งลักษณ์ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม 2 ฉบับ ทั้งขอตรวจสอบพยานหลักฐาน และขอให้เปลี่ยนตัว “วิชา มหาคุณ” กรรมการป.ป.ช.จากการเป็นผู้รับผิดชอบสำนวนคดีนี้ แต่ยังไม่มีการตอบกลับจาก ป.ป.ช. ฯลฯ
“คณะกรรมการ ป.ป.ช. เองก็ต้องพิสูจน์ให้ชัดเจนต่อสาธารณชนว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ใช้อำนาจของตนอย่างถูกต้อง เที่ยงธรรม และเป็นไปตามหลักนิติธรรม ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดแล้วหรือไม่”
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=730131860364605&set=a.106877456023385.4057.105044319540032&type=1&theater
วันก่อน “สำนักข่าวอิศรา” มีโอกาสได้คุยกับ แหล่งข่าวในสำนักงาน ป.ป.ช. ที่รับผิดชอบคดีถอดถอนนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ได้รับการชี้แจงว่า จุดชี้ขาดคดีนี้ จะอยู่ที่ว่า ยิ่งลักษณ์รู้ว่าโครงการรับจำนำข้าวนี้มีปัญหาและมีความเสียหายหรือไม่? และเมื่อรู้แล้วได้ดำเนินการระงับ ยับยั้ง แก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงโครงการรับจำนำข้าวเช่นใดบ้าง?
“เพราะตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 11 นายกฯ มีหน้าที่กำกับการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบาย ดังนั้น จะมาปฏิเสธแล้วอ้างว่าได้มอบหมายให้บุคคลอื่นดูแลแทนโดยเด็ดขาด คงจะไม่ได้ ที่สำคัญ แม้แต่ กขช.เองก็แต่งตั้งขึ้นมาโดย พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 11”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กขช.ชุดปัจจุบันที่มี “ยิ่งลักษณ์” เป็นประธาน แต่งตั้งโดยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 153/2554 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 11 (6) ของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534
http://www.dit.go.th/contentdetail.asp?typeid=16&catid=11208&ID=3256
แหล่งข่าวยังกล่าวว่า จากพยานบุคคลและพยานเอกสาร ซึ่ง ป.ป.ช.รวบรวมมาตั้งแต่ปลายปี 2555 ภายหลังได้รับคำร้องขอให้ไต่สวนเอาผิด “ยิ่งลักษณ์” จากการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2555 ทำให้เชื่อว่า นายกฯ รับรู้ถึงปัญหาของโครงการดังกล่าวมาแต่ต้น แต่กลับไม่ดำเนินการใดๆ บางครั้ง ยังมีส่วนร่วมในการปกปิดปัญหาของโครงการดังกล่าว เห็นได้จากการตอบกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎร ปกป้องว่าการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) มีอยู่จริง
“ป.ป.ช.ตรวจสอบเรื่องนี้มาปีเศษ ไม่ใช่แค่ 21 วันอย่างที่นายกฯ กล่าวอ้าง แต่สาเหตุที่เพิ่งมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนคุณยิ่งลักษณ์ เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2556 ก็เนื่องจากเราเพิ่งได้ข้อสรุปชัดเจนว่า จีทูจีขายข้าวให้จีนไม่มีอยู่จริง แต่เป็นการอำพรางนำข้าวมาขายเวียนเทียนในประเทศ ป.ป.ช.จึงมีมติแจ้งข้อกล่าวหากับคุณบุญทรง (เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์) กับพวกรวม 15 คน เมื่อรวมกับพยานหลักฐานอื่นๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับคุณยิ่งลักษณ์ ที่ ป.ป.ช.รวบรวมมาตั้งแต่ปี 2555 จึงได้ข้อสรุปว่าควรจะไต่สวนคุณยิ่งลักษณ์ด้วย”
ทั้งนี้ หลักฐานสำคัญ 5 ประการที่ ป.ป.ช.มองว่า “ยิ่งลักษณ์” รับรู้ว่าโครงการรับจำนำข้าวมีปัญหา “แต่ไม่ทำอะไร” ประกอบด้วย
1.ได้รับหนังสือทักท้วงจาก ป.ป.ช.ว่าโครงการจำนำข้าวจะก่อให้เกิดการทุจริตอย่างมหาศาลและทุกขั้นตอน
2.ทราบการทุจริตในการดำเนินโครงการจากการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร
3.ได้รับรายงานจากประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการที่ระบุว่ามีความเสียหายถึง 2 แสนล้านบาท
4.มีชาวนาที่ร่วมโครงการจำนำข้าวจำนวนมากที่ไม่ได้รับเงิน
และ 5.มีหนังสือจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ขอให้ทบทวนและยุติโครงการดังกล่าว เพราะการดำเนินการในปัจจุบัน ได้ทำให้เกิดปัญหาทั้งการจำนำข้าว การระบายข้าว และการชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรผู้ร่วมโครงการ
http://www.nacc.go.th/images/article/freetemp/article_20140218141420.pdf
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ซึ่งในวันที่ 27 ก.พ.นี้ หาก “ยิ่งลักษณ์” มารับทราบข้อกล่าวหาจาก ป.ป.ช. ตามกฎหมายและระเบียบของป.ป.ช.จะให้เวลาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน โดยสามารถขอขยายเวลาได้ตามสมควร อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา นายกฯ สามารถอ้างพยานหลักฐานให้ ป.ป.ช.ไปไต่สวนเพิ่มเติมอีกได้ แต่ต้องนำมาพิจารณาว่า เป็นพยานหลักฐานที่มีความเกี่ยวข้องหรือไม่ มีความจำเป็นหรือไม่ และ ป.ป.ช.เคยไต่สวนไปแล้วหรือไม่ จึงไม่ได้แปลว่า พยานหลักฐานทุกอย่างที่นายกฯ อ้าง ป.ป.ช.จะต้องไปไต่สวนเพิ่มทั้งหมด
“ตามปกติ ขั้นตอนการไต่สวนของ ป.ป.ช.ในคดีถอดถอนจะเร็วกว่าคดีอาญา เพราะคดีถอดถอน กฎหมายเขียนว่า “ส่อว่า” ป.ป.ช.ก็สามารถชี้มูลได้เลย แต่คดีอาญาต้องไปดู “เจตนา” ด้วยว่า เป็นอย่างที่ถูกกล่าวหาจริงหรือไม่ สำหรับคดีนี้จะใช้เวลาดำเนินการนานเท่าใด ยังตอบไม่ได้ เพราะต้องรอให้คุณยิ่งลักษณ์มาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาก่อน”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จุดตายในคดีนี้ไม่ได้อยู่ที่ตัวเนื้อหาคดีที่จะนำไปสู่การถอดถอนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270-274 เท่านั้น แต่ยังอยู่ที่บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคสี่ ที่ระบุว่า หาก ป.ป.ช.มีมติชี้มูล “ผู้ดำรงตำแหน่งที่ถูกกล่าวหา” จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้จนกว่า ส.ว.จะลงมติเรื่องการถอดถอนเสร็จสิ้น
ดังนั้น หาก “ยิ่งลักษณ์” ถูกป.ป.ช.ชี้มูลในคดีนี้ ก็จะเกิดสุญญากาศไม่มีนายกฯ ไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง แม้รองนายกฯ คนใดจะสามารถขึ้นมารักษาการแทนได้ก็ตาม
ที่สนใจอีกอย่าง ก็คือ คำวินิจฉัยคดีนี้ของ ป.ป.ช.ยังอาจเป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคตด้วยว่า สำหรับฝ่ายนโยบายที่มีอำนาจหน้าที่ การลอยตัวอยู่เหนือปัญหา แม้จะอ้างว่าได้มอบหมายงานให้บุคคลอื่นโดยเด็ดขาดแล้ว จะถือเป็นความผิดในสายตาของ ป.ป.ช.หรือไม่ ?