- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เปิดบ้าน"ธนิต"ตัวแทนเสิ่นเจิ้นฯขายแท็บเล็ตพันล.-เพิ่งสมัครงานเป็นล่าม?
เปิดบ้าน"ธนิต"ตัวแทนเสิ่นเจิ้นฯขายแท็บเล็ตพันล.-เพิ่งสมัครงานเป็นล่าม?
บุกพิสูจน์บ้าน"ธนิต คูศิวิไลส์"ตัวแทน"เสิ่นเจิ้นอิงถัง"ซื้อขายแท็บเล็ต"สพฐ" พันล้านคนในครอบครัวยัน"ลูกชาย" เพิ่งได้งาน เป็นล่ามแปลภาษา!
เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานความคืบหน้าล่าสุดในการตรวจสอบข้อมูล นายธนิต คูศิวิไลส์ ซึ่งถูกระบุว่าเป็นตัวแทน บริษัทเสิ่นเจิ้น อิงถัง อินเทลลิเจ้นท์ คอนโทรล จำกัด แจ้งยกเลิกการเป็นผู้จัดหาแท็บเล็ตให้กับสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)จำนวนกว่า 8 แสนเครื่อง คิดเป็นวงเงิน 1,628 ล้านบาท ว่า ได้เดินทางไปตรวจสอบข้อมูลนายธนิต คูศิวิไลส์ ตามที่อยู่ของบริษัท คูไลส์แบตเตอรี่จักรยานยนต์ จำกัด คือ เลขที่ 154/3-5 ถ.ดำรงรักษ์ คลองมหานาค ป้อมปราบ กทม. ซึ่งนายเอี่ยมอาจ คูศิวิไลส์” เจ้าของได้ระบุว่ามีความสัมพันธ์ เป็นพ่อลูกกับนายธนิต และปัจจุบันนายธนิต ยังพักอาศัยอยู่ที่นี่
ทั้งนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวเดินทางไปถึงที่อยู่ดังกล่าว พบว่าเป็นอาคารตึกแถวคอนกรีต ประตูเหล็กเลื่อน อยู่ในย่านร้านค้าไม้แปรรูปและเฟอร์นิเจอร์ไม้บน ถ.ดำรงรักษ์ ภายในบ้านมีรถมอร์เตอร์ไซค์จอดอยู่ และมีอุปกรณ์คล้ายยางอะไหล่วางเรียงรายอยู่ประปราย
(ดูรูปเรื่องประกอบ)
เมื่อผู้สื่อข่าวแนะนำตัวและแจ้งความประสงค์ว่าต้องการขอสัมภาษณ์นายธนิต กรณีที่มีชื่อปรากฏว่าเป็นผู้รับมอบอำนาจของ บ .เสิ่นเจิ้นอิงถังฯ
มารดาของนายธนิต ซึ่งเป็นหญิงวัยประมาณ 60 ปี ได้กล่าวยืนยันว่า “เขาไม่รู้เรื่องอะไรหรอก อย่าทำอะไรให้เป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตไป เขาเป็นแค่ล่าม เพราะบังเอิญว่าเขาพูดภาษาจีนได้ ฟังภาษาจีนรู้เรื่องแล้วก็แปลเป็นไทยได้ และแปลให้คนจีนเข้าใจได้ เพราะเขาเคยไปเรียนที่เมืองจีน ก็แค่นั้นเอง ไม่มีอะไรเลย”
ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่เจ้าหน้าที่ สพฐ.กล่าวว่านายธนิตได้รับมอบอำนาจ ไม่ใช่เป็นล่าม เพราะเจ้าหน้าที่ สพฐ. ระบุว่าผู้ที่ทำหน้าที่ล่ามชื่อ “เสี่ยวเฟย” จึงต้องการจะขอพบนายธนิตเพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงได้หรือไม่
มารดานายธนิต ตอบว่า
“ทำไม จะถามอะไรอีกล่ะ ไม่มีอะไรหรอก เขาไม่รู้อะไรเลย เขาแค่เป็นล่าม แค่แปลภาษาแค่นั้นแหละ จบกฎหมายอะไรที่ไหนกัน เขาจบวิศวะแล้วก็ไปเรียนต่อเมืองจีน ไปเรียนต่อที่ปักกิ่ง งานที่ บ.เสิ่นเจิ้นฯ นี่ เขาไปทำได้เดือน-2 เดือน แล้วก็ลาออก ตอนนี้ก็ออกมาได้หลายเดือนแล้ว จะเจอเขาได้ยังไง ก็ไม่รู้ เพราะทุกวันนี้แม่-ลูก ก็ไม่ค่อยได้เจอกัน เพราะเขาจะออกจากบ้านไปตั้งแต่ตี 4 ตี 5 แล้วก็กลับเข้ามาประมาณ 4-5 ทุ่มทุกวัน พอเขากลับมาแม่ก็นอนแล้ว ก็ไม่ได้เจอกันหรอก”
อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามโทรศัพท์ติดต่อ นายธนิต แต่ถูกปฏิเสธ
โดยมารดา ของนายธนิต ระบุว่า “ไม่มี บ้านนี้ไม่ใช้โทรศัพท์” (เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์สัมภาษ์นายเอี่ยมอาจ บิดาของนายธนิตไปแล้ว)
ทั้งนี้ ในระหว่างที่พูดคุยอยู่กับ มารดานายธนิต นายเอี่ยมอาจ บิดาของนายธนิต ได้เดินออกจากบ้านมาพบผู้สื่อข่าวที่ยืนอยู่หน้าประตูบ้าน และได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการทำงานของนายธนิตที่บ.เสิ่นเจิ้น อิงถัง ฯ ซึ่งส่วนใหญ่ คล้ายกับที่มารดาของนายธนิตตอบ
แต่นายเอี่ยมอาจได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า
“เขา ( ธนิต ) เรียนจบวิศวะจาก บางมด (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้า ธนบุรี ) แล้วก็ไปเรียนต่อด้านประวัติศาสตร์ที่เมืองจีน ไปเรียนต่อที่ปักกิ่ง จบปริญญาตรีมาอีกใบ จบด้านประวัติศาสตร์ เรื่องที่ บ.เสิ่นเจิ้นฯ เขาแค่ไปเป็นล่าม เรื่องอื่นเขาก็ไม่รู้อะไรหรอก ก่อนที่จะไปทำงานที่ บ.เสิ่นเจิ้นฯ เขาก็ทำงานอยู่โรงงานที่ผลิตเกี่ยวกับพลาสติกที่อยู่ใกล้ๆ กัน”
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายธนิตไปทำงานที่ บ.เสิ่นเจิ้น อิงถังฯ ได้อย่างไร มารดาของนายธนิต ตอบว่า “เขาก็เปิดหนังสือพิมพ์จีน แล้วคงเห็นประกาศรับสมัคร ก็เลยไปสมัคร ก็แค่นั้น ไม่มีอะไร”
นายเอี่ยมอาจ ยังระบุด้วยว่า ทุกวันนี้ ตนไม่รู้ว่านายธนิตทำงานอะไร เพราะนายธนิตไม่เคยบอกให้ทราบ และตนก็ไม่ได้ถาม
ส่วนเรื่องการทำงานในบริษัทเสิ่นเจิ้น นายเอี่ยมอาจเพียงกล่าวย้ำว่า นายธนิตทำหน้าที่เป็นล่ามแปลภาษาเท่านั้น
เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามถามอีกว่า ปัจจุบันนายธนิตทำงานอะไร ทราบหรือไม่ นายเอี่ยมอาจยังคงยืนยันว่าไม่รู้
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าหากจะขอมาพบนายธนิตเพื่อสัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงข้อเท็จจริงอื่นๆ และความเกี่ยวพันของนายธนิตกับ บ.เสิ่นเจิ้น อิงถังฯ ควรต้องมาเวลาใดจึงจะได้พบนายธนิต นายเอี่ยมอาจตอบว่า
“ไม่รู้ พ่อกับลูกทุกวันนี้ก็ไม่ค่อยได้คุยกัน เขาจะไปไหน ทำอะไรก็ไม่บอก ทุกวันนี้ทำงานอะไรก็ไม่บอก ไปไหนก็ไม่บอก”
นี่คือข้อมูลล่าสุดที่เกี่ยว นายธนิต คูศิวิไลส์ และ บริษัทเสิ่นเจิ้น อิงถัง อินเทลลิเจ้นท์ คอนโทรล จำกัด
ที่เข้ามาติดต่อซื้อขายแท็บเล็ตกับสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มูลค่านับพันล้านบาท และกำลังมีปัญหาเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้