- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เปิดบทประพันธ์อมตะ ‘ทองเนื้อเก้า’ เช็คภูมิหลัง ‘อีลำยอง’
เปิดบทประพันธ์อมตะ ‘ทองเนื้อเก้า’ เช็คภูมิหลัง ‘อีลำยอง’
ต้องยอมรับทีเดียวว่า 3 ตอนที่ผ่านมาสำหรับการแพร่ภาพละครรีเมคแห่งปี 2556 ‘ทองเนื้อเก้า’ ภายใต้ชายคาช่อง 3 นั้น เริ่มเข้มข้นขึ้นมาก โดยเฉพาะบทเอกอย่าง ‘ลำยอง’ ซึ่งถูกถ่ายทอดโดย ‘นุ่น วรนุช ภิรมย์ภักดี’ สามารถเรียกกระแสคอละครดีขึ้นเรื่อย ๆ เปรียบเสมือนความร้อนที่ใกล้แตะ 100 องศา
หากแต่หลายกระแสยังเกิดข้อสงสัยในบทละครโทรทัศน์หลายด้าน โดยเฉพาะการนำฉากสลัมเวอร์ชั่น ‘รชนีกร พันธุ์มณี’ มาเปรียบเทียบกับฉากปัจจุบันที่เป็นห้องแถวริมน้ำ จนข้องใจเสียเหลือเกินว่า “แท้จริงแล้วฉากละครมีลักษณะอย่างไร”
ดังนั้น เพื่อความกระจ่างแจ้ง...จึงนำมาสู่การเปิดบทประพันธ์อมตะของ ‘โบตั๋น’ เพื่อเช็คภูมิหลัง ‘อีลำยอง’ แห่ง ‘ทองเนื้อเก้า’
นวนิยาย ‘ทองเนื้อเก้า’ จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ มีนาคม 2529 หากนับระยะเวลาความอมตะจนถึงปัจจุบันมีอายุ 27 ปีแล้ว ซึ่งผู้ประพันธ์ได้ฉายภาพให้ ‘ลำยอง’ มีลักษณะผิวผ่องอวบอัด หน้าตาคมคาย จมูกโด่งเป็นสัน นัยน์ตาคมกริบเชือดเฉือนหัวใจชาย มีความรู้น้อย อ่านหนังสือพอได้ แต่เขียนไม่เป็นตัว เพราะเรียนไม่จบประถมศึกษาปีที่ 4
ส่วนพ่อและแม่ของลำยอง (ตาปอ-ยายแล) มีอาชีพขายฝรั่งดอง ขนมถ้วยตะไล อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ โดยตาปอมีเชื้อสายจีนอยู่บ้าง ดังนั้นจึงมีผิวขาวสะอาด ซึ่งลำยองมักจะช่วยยายแลขายขนมถ้วยที่เพิงข้างวัดเป็นประจำ เพื่อเฝ้าสันต์เมื่อยามเดินผ่านไปทำงานที่กรมอู่
ฟากพระเอกอย่าง ‘สันต์’ เรียนจบชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) มีน้องสาว 1 คน จบวิชาครูระดับต้น ขณะที่แม่ (ยายปั้น) เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 อ่านออกเขียนได้อย่างดี คิดบัญชีเก่ง ด้านพ่อ (พ่อสิน) ก็เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เช่นกัน บวชเรียนหลายปี
เมื่อลำยองท้องลูกคนแรกกับสันต์ จึงมาอาศัยอยู่ในบ้านริมคลองใหญ่ฝั่งธนบุรีของสามี ซึ่งมีลักษณะเป็นกึ่งเรือนแพ โดยส่วนที่อยู่ในคลองเป็นร้านค้าที่แม่ปั้นใช้เป็นที่ขายผักและกับข้าว ส่วนบนฝั่งเป็นที่อยู่อาศัย แต่ใครจะไปล่วงรู้ว่า ก่อนที่ลำยองจะเกิดลูกชายที่แสนดีอย่าง ‘วันเฉลิม’ นั้น ลำยองเคยแท้งลูกคนแรกกับสันต์มาแล้ว จากการลื่นล้ม จากนั้นจึงตั้งท้องคนที่สองนั่นคือวันเฉลิมคลอดที่รพ.ศิริราช
ขณะที่ ‘หลวงปู่ปิ่น’ เป็นลุงแท้ ๆ ของลำยอง เนื่องจากเป็นพี่ชายคนโตของตาปอ บวชมานานและไม่คิดจะสึก เคยออกธุดงค์ครั้งละนาน ๆ แต่สาเหตุที่กลับมาจำพรรษาที่วัดนี้เนื่องจากสุขภาพไม่แข็งแรง ถือเป็นผู้มีบทบาทในการสั่งสอนวันเฉลิมให้เป็นคนดี
ส่วนข้อสงสัยว่าแท้จริงแล้วบ้านของลำยองมีลักษณะอย่างไร ต้องขอบอกว่าผู้ประพันธ์มิได้อธิบายได้ละเอียดนัก แต่จากข้อความที่ปรากฏในฉาก ‘สันต์โยนโหลยาดองทิ้งลงคลอง’ ที่ระบุตอนหนึ่งว่า “สันต์เอาทิ้งน้ำไปแล้วเขาช่างทำได้ลงคอ ลำยองกระโจนลงคลอง หล่อนไม่กลัวน้ำ เพราะเกิดมากับบ้านริมคลอง ว่ายน้ำแข็ง...”
จึงอาจอนุมานได้ว่า บ้านของลำยองอาจตั้งอยู่ริมคลองเช่นเดียวกับบ้านของสันต์ ซึ่งเมื่อคำนึงจากฐานะของหล่อนที่ยากจนแล้วก็อาจเป็นชุมชนสลัมริมคลองก็เป็นได้ ขึ้นอยู่กับการตีความจากบทประพันธ์
สำหรับวันเฉลิมนั้นมีการบรรยายไว้อย่างน่ารักน่าชัง เป็นเด็กน่าเอ็นดู เวลาหัวเราะจะเห็นลักยิ้มที่แก้มขวา มีไฝแดงที่ติ่งหูจัดจ้า จมูกโด่ง ชอบใช้ฟันแทะหมูทอดสมัยเด็ก ๆ
อย่างไรก็ตาม ผู้ประพันธ์พยายามให้ภูมิหลังลำยองไว้อย่างน่าสนใจ โดยแง่คิดที่สัมผัสได้และแฝงปรากฏอยู่ คือ แม้ลำยองจะขี้เกียจ ขี้เหล้าเมายา แต่อย่างน้อยหล่อนก็มีความกตัญญูต่อพ่อแม่ โดยเฉพาะการเชื่อฟังยายแลแทบทุกกระเบียดนิ้ว เพื่อทำทุกอย่างให้ตนเองมีความสุข รวมไปถึงครอบครัวด้วย แม้ท้ายที่สุดหล่อนจะต้องชดใช้กรรมในบางสิ่งบางอย่าง แต่สุดท้ายลูกชายบังเกิดเกล้าอย่างวันเฉลิมก็ได้นิสัยกตัญญูจากหล่อนมาโดยไม่รู้ตัว
จึงเชื่อว่า มิได้มีเพียง ‘วันเฉลิม’ เท่านั้นที่เปรียบเป็นทองเนื้อเก้า แต่ลึก ๆ แล้ว ‘ลำยอง’ ก็เป็นทองเนื้อเก้าเช่นกัน
ถึงบางอ้อ .
""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""
อ่านประกอบ:ล้วงโหล 'ยาดอง' หลังกระเเส 'ลำยอง' ฟีเวอร์!! ของดีบำรุงความงามจริงหรือ?
ตกม้าตาย ? คนดูส่ายหน้า ‘ทองเนื้อเก้า’ เซ็ตฉากหลอกตา
จับตา ‘ทองเนื้อเก้า’ เวอร์ชั่น ‘คุณนายนุ่น’ คืนบัลลังก์ราชินีดราม่า